จากต้นไม้ “ป่า” สู่ต้นไม้ “ปลูก” เพราะเหตุใดเราจึงควรประคบประหงมต้นไม้ราวกับเป็นลูกของเรา?

“Why we pamper plants as our own child”

ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากพืชตามธรรมชาติทั้งในแง่ของอาหาร เส้นใยสำหรับเครื่องประดับและเครื่องนุ่งห่ม แล้วเมื่อไหร่กันที่มนุษย์เริ่มเพาะปลูกพืช? ทำไมในปัจจุบันหลายคนจึงให้ความสำคัญกับพืชต้นโปรดในกระถาง จนเกิดเป็น “plant aficionado” กลุ่มคนที่รักพืชยิ่งกว่าสิ่งใด

ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 กระแสการปลูกไม้กระถางในบ้าน (indoor houseplants) ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่เจเนอเรชั่นมิลเลเนียลที่ให้ความสนใจและมีส่วนทำให้ตลาดต้นไม้กระถางเติบโตเป็นอย่างมากในปี ค.ศ. 2021 [1] นอกจากนี้ยังมีผู้ที่หลงใหลในพืชที่ดูแลเอาใจใส่พืชไม่ต่างกับพ่อแม่ที่ดูแลลูก จนเกิดกระแส “plant parent” (พ่อแม่ต้นไม้) ทั่วโลก และทำให้เกิดคำใหม่ในวงการไม้กระถาง นั่นคือ “plant butler” ที่เป็นกระแสในหมู่คนรักต้นไม้ที่ประเทศเกาหลีใต้ [2] แล้วเราสงสัยไหมว่าเมื่อไหร่ที่มนุษย์เริ่มเพาะปลูกพืชและหลงใหลในพืช?

ประวัติศาสตร์ของการเพาะปลูกพืชเริ่มต้นมาตั้งแต่ราว 13,000 ปีก่อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ประโยชน์โดยตรงจากพืช โดยเฉพาะพืชอาหาร เช่น ธัญพืชต่าง ๆ ต่อมาได้มีการปรับปรุงพันธุ์พืชให้มีลักษณะที่ตอบโจทย์การนำมาใช้ประโยชน์มากขึ้น [3] การปลูกพืชเพื่อความงามและสุนทรีภาพนั้นมีหลักฐานย้อนหลังไปถึงอารยธรรมอียิปต์และเมโสโปเตเมีย ไปจนถึงช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ที่การปลูกไม้ประดับและสะสมพันธุ์ไม้เกิดเป็นกระแสเฟื่องฟูในยุโรป ซึ่งโลกตะวันตกนั้นเกิดกระแสไม้กระถางคู่ขนานไปกับโลกตะวันออก เช่น ในจีนที่พบการปลูกไม้ประดับที่เกี่ยวข้องกับศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาที่เผยแพร่มายังประเทศจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น  [4] และการปลูกบอนไซ (ไม้ต้นแคระในกระถาง) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในจีนและญี่ปุ่น ตั้งแต่ 700 ปีก่อนคริสตกาล [5]

ในอดีตพืชที่ถูกนำมาปลูกในอาคารบ้านเรือนกลุ่มแรก ๆ ไม่ใช่ไม้ประดับสวยงามที่เราคุ้นตา แต่เป็นพืชที่มีประโยชน์ เช่น การปลูกต้นส้มนับพันกระถางในอาคารของพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ต้นส้มสามารถเติบโตได้ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นของฝรั่งเศสในช่วงฤดูหนาว จึงเป็นที่มาของชื่อว่า “Orangery” ที่ใช้เรียกเรือนกระจกปลูกต้นไม้ เช่น Orangery ที่สวนพฤกษศาสตร์คีว (Kew) ในสหราชอาณาจักร (ปัจจุบันเป็นร้านอาหาร คาเฟ่และสถานที่จัดเลี้ยง) โดยต้นส้มเหล่านี้ไม่เพียงแต่ทำให้บรรยากาศภายในอาคารหรือสวนสวยงาม แต่ดอกส้มนั้นยังถูกนำมาผลิตน้ำหอมตามความต้องการของผู้ปลูกอีกด้วย [6] นอกจากนี้ Orangery ยังมีบทบาทเป็นแหล่งรวบรวมพืชพันธุ์อื่น ๆ นอกเหนือจากพืชกลุ่มส้ม-มะนาว (Citrus) อีกด้วย

ทิวทัศน์ของต้นส้มนับพันใน Orangery ของพระราชวังแวร์ซาย

ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 การเดินทางไปต่างแดนเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทำให้ผู้คนเริ่มนำพืชพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามายังประเทศของตน

โดยพืชเหล่านี้จะถูกเพาะเลี้ยงอย่างดีเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลให้เหล่านักพฤกษศาสตร์และนักวิชาการ เหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นในสวนพฤกษศาสตร์ โดยพืชต่างถิ่น (exotic plant) ที่มีลักษณะสวยงามแปลกตาต่างจากพืชท้องถิ่น (native plant) ดึงดูดความสนใจของผู้ที่หลงใหลในความงามของพืช จนนำไปสู่กระแสการสะสมพืช ที่นักสะสมพืช (plant collector) จะรวบรวมพืชกลุ่มที่สนใจไว้ในคอลเลคชั่นพืช (plant collection) ที่เปรียบเสมือนสมบัติล้ำค่า

ในช่วงเริ่มต้น การเดินทางไปยังแหล่งพืชต่างถิ่นนั้นมีข้อจำกัดมาก  การดูแลพืชในสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างไปจากก็ต้องใช้เงินมาก ทำให้ผู้ที่สะสมพืชได้มักเป็นขุนนางหรือชนชั้นสูงเท่านั้น กว่าพืชต่างถิ่นจะมาถึงมือนักสะสม ต้องผ่านการค้นพบและเดินทางที่ยาวนาน หนึ่งในเคล็ดลับการรักษาสภาพพืชให้สดและมีชีวิตระหว่างการเดินทางในคริสต์ศตวรรษที่ 17 คือ Wardian case ที่มีลักษณะเป็นกล่องกระจกปิดทำหน้าที่เป็นเรือนเพาะชำขนาดย่อม ซึ่งนักพฤกษศาสตร์พกพาไปเพื่อใช้เก็บตัวอย่างพืชและรักษาให้ยังคงมีชีวิต จนในเวลาต่อมาเกิดเป็นแฟชั่นการปลูกพืชในขวดแก้วหรือกล่องแก้ว ที่เรียกว่า terrarium (สมัยนั้นเรียก vivarium) ที่แพร่หลายในชนชั้นสูงในยุโรปและอังกฤษ

ลักษณะของ Wardian case ที่มีรูปร่างคล้ายเรือนกระจกขนาดเล็ก ช่วยรักษาความชื้นและลดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิภายใน ซึ่งช่วยให้พืชมีชีวิตได้ตลอดการเดินทางที่ยาวนาน

 

เมื่อความรู้ด้านพฤกษศาสตร์มีมากขึ้นและเทคโนโลยีการเกษตรพัฒนาขึ้น รวมถึงการเข้าใจหลักการทางพันธุศาสตร์ที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถผสมพันธุ์พืชเพื่อสร้างลักษณะใหม่ ๆ หรือรักษาลักษณะเดิมของพืชให้คงอยู่ได้ในหลายชั่วรุ่น อีกทั้งการปรับปรุงพันธุ์พืช (plant breeding) ทำให้เกิดพืชที่มีลักษณะสวยงามตามความต้องการของตลาด จนเกิดเป็นตลาดไม้ประดับสวยงามที่มุ่งเน้นความงามและสุนทรียภาพแทนที่จะเป็นแค่แหล่งอาหารของมนุษย์ [7]

จุดเริ่มต้นของแฟชั่นไม้กระถางบนเวทีโลก

กระแสไม้กระถางในโลกตะวันตกและตะวันออกมีความแตกต่างกัน โดยได้รับอิทธิพลจากค่านิยมและสังคมในยุคนั้น ในโลกตะวันตก การเดินทางและการค้นพบเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นและท้าทายความสามารถของมนุษย์ เหล่าพืชพันธุ์ที่เดินทางกลับมาพร้อมเหล่านักเดินทางจึงเป็นสิ่งที่นักสะสมต้นไม้ให้ความสนใจ เช่น กล้วยไม้ ที่แม้ว่าจะเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเขตร้อนก็ตาม

ในขณะเดียวกัน โลกตะวันออกให้ความสำคัญกับความงามตามธรรมชาติ โดยเฉพาะไม้ดัดหรือไม้ต้นแคระ ที่เรารู้จักว่า “บอนไซ” ซึ่งเป็นหนึ่งในไม้กระถางสะสมที่มีมูลค่าสูง โดยมีแนวคิดในการจำลองย่อส่วนธรรมชาติให้อยู่ในกระถาง เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้แม้จะอยู่ในอาคารบ้านเรือน

ดังนั้น “ไม้กระถาง” หรือพืชที่ปลูกเพื่อความสวยงาม จึงเปรียบเสมือนเครื่องประดับของบ้านและเป็นดังแฟชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา โดยในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พืชยอดนิยมได้เปลี่ยนจากไม้ดอกมาเป็นไม้อวบน้ำ แคคตัส และไม้ใบ รวมถึงพันธุ์ไม้ที่แปลกตาอย่างไม้ด่าง (variegated plant) และการจัดสวนถาดหรือ terrarium ที่จำลองภูมิทัศน์ขนาดย่อมไว้ในภาชนะ เห็นได้ว่าแฟชั่นไม้กระถางนั้นมีการพัฒนาไปตามความสนใจของเหล่าคนรักต้นไม้อย่างต่อเนื่อง

แล้วการปลูกไม้กระถางในอาคารมีประโยชน์อย่างไร?

การปลูกพืชในอาคารช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งสร้างบรรยากาศให้เรารู้สึกผ่อนคลายและใกล้ชิดกับธรรมชาติได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ไม้กระถางยังกลายเป็นเครื่องแสดงฐานะทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสนิยม ราวกับเป็นแฟชั่นที่ทำให้คนรักต้นไม้ต้องคอยเกาะขอบรันเวย์อยู่เรื่อยมา

จุดเริ่มต้นของการปลูกไม้กระถางในอาคารอาจมาจากการจัดดอกไม้ในแจกัน โดยบ้านใดที่สรรหาดอกไม้พืชพันธุ์แปลกตาจากต่างถิ่นก็ถือว่าเป็นเครื่องประดับชั้นเลิศ เช่น สัปปะรดในแจกันของชาวดัตช์ หรือ การใช้ไม้เมืองหนาวในการจัดแจกันในเขตร้อน และไม้ลักษณะแปลกตาหายาก เช่น หม้อข้าวหม้อแกงลิง ซึ่งในปัจจุบันแฟชั่นของเหล่าไม้กระถางไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไม้ดอกสวยงามและไม้ผล  แต่รวมถึงไม้ใบ ไม้อวบน้ำ และพืชพันธุ์อื่น ๆ อีกมากมาย ที่ช่วยสร้างความสวยงามและบรรยากาศที่ดีในบ้านของเรา

 

ภาพวาด Still life with fruit (1808) โดย Jacobus Linthorst ที่จัดวางให้สัปปะรดเป็นจุดเด่นของภาพ 

ในปัจจุบันไม้กระถางเป็นแฟชั่นให้เหล่านักสะสมต้นไม้ได้อวดโฉมแบ่งปันกันผ่านโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จนเกิดคำศัพท์ใหม่ขึ้นมา คือ “plantstagrams” ที่เป็นการแชร์ภาพพืชสุดรักทาง โซเชียลมีเดีย ซึ่งสะท้อนถึงกระแสของกลุ่มคนที่หลงใหลในความงามของไม้กระถางที่ได้รับการดูแลด้วยความทะนุถนอม โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ที่เกิดคำศัพท์เรียกคนกลุ่มที่ดูแลทะนุถนอมต้นไม้สุดรัก ว่า “plant butler” เพื่อเรียกผู้ที่ดูแลต้นไม้ต้นไม้สุดรักราวกับเป็นพ่อบ้านส่วนตัว นอกจากนี้ยังเกิดธุรกิจใหม่ ๆ เช่น โรงแรมสำหรับต้นไม้ (plant hotel) และบริษัทที่ให้บริการดูแลต้นไม้ (plant care service) ซึ่งคล้ายกับโรงแรมสัตว์เลี้ยง ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถฝากต้นไม้ที่รักไว้กับผู้ดูแลมืออาชีพได้อย่างสบายใจ [1]

กลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับวงการคนรักพืชเริ่มต้นจากนักพฤกษศาสตร์ (botanist) ที่ค้นพบและระบุชนิดของพืช รวมถึงศึกษาชีววิทยาและนิเวศวิทยาของพืช ไปจนถึงนักพืชสวน (horticulturist) ที่เชี่ยวชาญในการปลูกและดูแลพืช รวมถึงการปรับปรุงพันธุ์ ผู้ที่มีความรู้ในทั้งสองสาขานี้ยังทำหน้าที่เป็นหมอต้นไม้ (plant doctor) ที่วินิจฉัยโรคหรืออาการผิดปกติของพืชโดยอิงจากความรู้ทางพฤกษศาสตร์อีกด้วย ด้วยความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ทำให้เราในฐานะคนรักพืชสามารถดูแลต้นไม้ที่เรารักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้มีความสำคัญไม่ต่างจากสัตว์เลี้ยง โดยเป็นพืชเลี้ยง “pet plant” ที่เราดูแลเอาใจใส่ในฐานะ plant butler นั่นเอง

เรื่อง 

ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา

เอกสารอ้างอิง

https://terrariumtribe.com

https://www.nature.com

https://ethnobiomed.biomedcentral.com

https://www.bonsaiempire.com

https://en.chateauversailles.fr

https://www.sciencedirect.com


อ่านเพิ่มเติม : ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา มองความสัมพันธ์ “คน” กับ “ต้นไม้ในเมือง”

บทบาทที่เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.