ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา มองความสัมพันธ์ “คน” กับ “ต้นไม้ในเมือง” บทบาทที่เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้

ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา มองความสัมพันธ์ “คน” กับ “ต้นไม้ในเมือง” บทบาทที่เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้

สนทนากับ ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา นักพฤกษศาสตร์ ผู้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของพืช ถึงโมเดลความสัมพันธ์ระหว่างคนกับต้นไม้ในเมือง 

ในบ่ายที่อากาศอบอ้าว ใครสักคนกำลังคิดถึงอดีตพื้นที่สีเขียวใกล้ๆบ้าน ซึ่งปัจจุบันถูกถางล้อมรั้วมิดชิดเพื่อเตรียมก่อสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร

ขณะที่ในวันซึ่งเต็มไปด้วย ฝุ่น PM2.5 น่าจะมีใครหลายคนเลือกซุกตัวอยู่ในห้อง นั่งมองต้นไม้เล็กๆ บนระเบียง พลางคิดถึงต้นไม้ใหญ่ในสวนที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์  กระทั่งไม้พุ่มนานาชนิดที่ช่วยดักจับฝุ่นในเมืองได้

ต้นไม้อยู่ในความทรงจำของผู้คนอย่างไม่ต้องสงสัย และแต่ละคนล้วนมีความทรงจำกับต้นไม้แตกต่างกัน แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่า การขยายตัวและความเปลี่ยนแปลงของเมืองก็มีส่วนพรากความทรงจำเหล่านั้นไป

ทำไมถึงตัดต้นไม้ตรงนี้ไปพื้นที่จำกัดปลูกอะไรดีไม่มีเวลาปลูกแล้วจะรอดไหม? และอีกหลากคำถามว่าด้วยการปลูกต้นไม้ในเมือง

เมื่ออากาศร้อน มลพิษมาก ทัศนียภาพที่ดูแห้งแล้ง ทำให้คนเมืองคิดถึงต้นไม้ National Geographic Thailand จึงชวน ฉัตรทิพย์ รอดทัศนา อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของพืช มาให้มุมมองว่าคนกับต้นไม้ในเมือง สามารถอยู่ร่วมกันแบบไหน เพื่อให้มีความสัมพันธ์ที่พอดีแบบที่ต่างฝ่ายไม่ต้องพยายามกับความสัมพันธ์นี้มากจนเกินไป

  • เมืองร้อน ฝุ่นมาก เพราะขาดต้นไม้?

อากาศร้อนและมลพิษในเมืองมาก การมีอยู่ของต้นไม้ในเมืองช่วยได้หรือจริงไหม? อาจารย์ฉัตรทิพย์ อธิบายว่า ถ้าพูดถึงอากาศร้อน (อุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น) อันมาจากสภาวะโลกร้อน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่แล้วแม้ว่าจะมีต้นไม้ในเมืองมากน้อยแค่ไหน สภาวะโลกร้อนในภาพกว้างนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นวัฏจักร (cycle) แบบทีละน้อยและเกิดขึ้นในกรอบเวลาที่ยาวนาน จนเราอาจรู้สึกไม่ได้ ดังนั้นสภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นอย่างเร็วนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า การมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวกระตุ้นมีส่วนเร่งให้อุณหภูมิสูงขึ้น และส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาตินั้นเกิดเร็วขึ้น

“ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ส่วนหนึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น การตัดต้นไม้ การทำลายระบบนิเวศ ทำให้สมดุลในธรรมชาติ สูญเสียไป และทำให้ปรากฏการณ์ที่เกิดจากสภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นเร็วและรุนแรงขึ้น ต้นไม้ในธรรมชาติคอยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อย่างไรก็ตามต้นไม้ก็ไม่ใช่พระเอกที่ทำเพื่อมนุษย์ทั้งหมด เพราะต้นไม้ก็ต้องการอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป นั่นคือต้นไม้ต้องการปัจจัยที่จำเป็นในการเจริญเติบโต เช่น น้ำ ธาตุอาหาร และที่ขาดไม่ได้คือคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เป็นวัตถุดิบในการสังเคราะห์ด้วยแสง โดยคาร์บอนที่ต้นไม้ตรึงมานี้จะนำไปสร้างเป็นเนื้อเยื่อต่างๆ ดังนั้นการที่ต้นไม้ช่วยเราเพราะเขาต้องการเหมือนกัน แต่ปัจจุบันความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ต้นไม้มีการตอบสนองต่อสภาวะดังกล่าว บางชนิดก็เติบโตเร็วขึ้น ขณะที่บางชนิดก็ไม่เปลี่ยนแปลง อาจคล้ายกับมนุษย์ที่ถึงจะมีอาหารให้บริโภคมากเท่าไหร่ แต่เราก็ไม่สามารถกินได้มากเกินกว่าความจุของกระเพาะอาหาร ต้นไม้ก็เช่นกันที่ไม่สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากเกินไปได้”

ส่วนอากาศร้อนกับการมีอยู่ของต้นไม้ในเมือง สามารถช่วยได้แค่ไหน? อาจารย์ฉัตรทิพย์ กล่าวว่า ต้นไม้ใหญ่มีประโยชน์ที่ชัดเจนคือการให้ร่มเงา หากเรายืนใต้ต้นไม้จะรู้สึกเย็นกว่ายืนกลางแจ้ง และยิ่งถ้าเราปลูกต้นไม้จำนวนมาก เรือนยอดของต้นไม้ที่ต่อเนื่องกันจะสร้างร่มเงาช่วยกักเก็บความชื้นที่ที่ระเหยจากดินได้

“ลองนึกถึงเวลาที่เราตั้งหม้อน้ำแล้วปิดฝาไว้ ไอน้ำที่ระเหยจะเกาะบนฝาหม้อ เรือนยอดก็ทำหน้าที่เหมือนฝาหม้อที่จะเก็บกักความชื้นไว้ในพื้นที่สีเขียวในเมือง ดังนั้นจึงชะลอการสูญเสียน้ำหรือความชื้นในบริเวณนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่ของต้นไม้ที่ช่วยลดความร้อนและช่วยไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิที่ฉับพลันในระหว่างวัน”

“อย่างช่วงกลางวันและกลางคืน อุณภูมิอากาศจะแตกต่างกัน การมีอยู่ของต้นไม้จะทำให้การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่ต่างกันแบบกลางวันร้อนจัดกลางคืนเย็นจัด เมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลงน้อย สิ่งที่ชีวิตที่อยู่ภายใต้เรือนยอดของต้นไม้จึงได้รับผลกระทบไม่มากจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ไม่นานมานี้มีการวิจัยรายงานว่าบริเวณในเมืองที่มีต้นไม้ปกคลุมช่วยลดอุณหภูมิในบริเวณนั้นได้จริง[1]

“ส่วนประเด็นของฝุ่น ถ้าถามว่าต้นไม้ช่วยได้แค่ไหน ก็ต้องบอกว่าช่วยได้ค่อนข้างมาก เพราะฝุ่นเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ถ้าอยู่ในบ้านเราก็จะเห็นฝุ่นเกาะตามโต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้เองก็เช่นกัน ฝุ่นจะเกาะตามใบไม้หรือพื้นผิวของลำต้น แต่เราต้องเข้าใจว่าต้นไม้ไม่สามารถดูดฝุ่นเข้าไปในต้นเหมือนเครื่องฟอกอากาศได้ ดังนั้นข้อได้เปรียบของการมีต้นไม้ในเมืองคือการชะลอไม่ให้ฝุ่นฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ รอเวลาที่ฝนจะตกและชะล้างให้ฝุ่นตกลงสู่ดิน ซึ่งเมื่อดินมีอนุภาคความชื้น มันก็จะไปเกาะกับดิน สรุปคือต้นไม้เป็นตัวที่ดักและชะลอฝุ่นไว้ แต่ไม่ได้มีคุณสมบัติในการฟอกอากาศ”

  • เมืองเปลี่ยน ต้นไม้เปลี่ยน

คงไม่มีใครที่จะไม่ชอบต้นไม้ หรือไม่ชอบมองสีเขียวให้สบายตา สบายใจ แต่ถึงเช่นนั้นก็ต้องยอมรับว่า ความเป็นเมืองได้ลดทอนพื้นที่สีเขียวและทำให้ต้นไม้บางส่วนหายไปจากเมือง พื้นที่สีเขียวที่เราเคยผูกพันธ์ก็อาจกลายเป็นตลาดนัด คอนโด ลานจอดรถ ฯลฯ

ประเด็นนี้ แม้ผู้ที่คลุกคลีกับต้นไม้ ก็มองว่า มันเป็นแนวโน้มปกติที่เกิดขึ้น เพราะทุกคนต้องการแหล่งที่อยู่ และเมืองใหญ่ทั่วโลกก็กำลังประสบกับเหตุการณ์นี้ ซึ่งทางออกส่วนใหญ่คือการทำสวนแนวตั้ง (vertical garden) หรือสวนลอยฟ้า (rooftop garden) เพื่อชดเชยพื้นที่แนวราบที่ถูกใช้ประโยชน์ด้านอื่น อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การปลูกต้นไม้กระถางหรือต้นไม้ขนาดเล็กที่อาจมีอายุสั้น ให้ประโยชน์และมีบทบาทที่ต่างจากไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถให้ร่มเงา ให้ผล ให้ส่วนต่างๆ ไปใช้ประโยชน์ได้ในระยะเวลาที่ยาวยาน

ก่อนจะปลูกต้นไม้ ก็ต้องถามตัวเราก่อนว่าปลูกไปเพื่ออะไร วัตถุประสงค์ของการปลูกคืออะไร และควรพิจารณาวาพื้นที่ที่จำกัดในเมืองเช่นนี้สามารถปลูกพืชได้ตามวัตถุประสงค์ของเราหรือไม่ ตัวอย่างเช่นถ้าต้องการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และดักฝุ่นในอากาศ ควรปลูกต้นไม้ยืนต้นหรือไม้พุ่มอายุหลายปีที่มีเนื้อไม้ที่จะเป็นการสะสมคาร์บอนได้ดีในระยะยาว อีกทั้งมีเรือนยอดหรือทรงพุ่มขนาดใหญ่ที่ดักจับฝุ่นได้มาก หากต้องการปลูกเพื่อให้เกิดร่มเงาอาจปลูกในพื้นที่ที่มีกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น บริเวณทางเดินเชื่อมต่อ บริเวณลานกิจกรรม เป็นต้น หรือถ้าเป็นสำนักงานที่มีพื้นที่จำกัด ควรเลือกไม้ต้นที่มีทรงพุ่มไม่แผ่กว้างมากและง่ายในการดูแล

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ดีที่สุด การปลูกต้นไม้ในเมืองที่เหมาะกับเมืองไทยก็น่าจะเป็นไม้เขตร้อนที่เจริญเติบโตและอยู่รอดได้ภายใต้อุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง และที่สำคัญคือเลือกปลูกต้นไม้ท้องถิ่นที่เหมาะกับแต่ละสภาพแวดล้อมในพื้นที่และตรงตามวัตถุประสงค์ของพื้นที่สีเขียวในเมืองแต่ละแห่ง

“การเลือกปลูกต้นไม้ในเมืองจึงมีคุณค่าทางสังคมที่เราต้องพิจารณาไปพร้อมๆ กับความเหมาะสมทางนิเวศวิทยา ถ้าจะปลูกเพื่อเป็นแหล่งอาหาร ก็ควรหาพืชที่สามารถเจริญเติบโตและปลูกหมุนเวียนได้เร็ว ดังนั้นจึงต้องดูว่าพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์เพื่ออะไร โดยต้องเข้าใจว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองมีการเปลี่ยนแปลงได้ แต่เราต้องรู้ว่าปลูกไปเพื่ออะไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง”

  • คนและต้นไม้ ผู้ให้และผู้รับ

เมื่อคนและต้นไม้ต่างก็ต้องการพื้นที่ในการดำรงชีวิต คนทำให้เมืองต้องขยาย แล้วต้นไม้จะอยู่ตรงไหนในเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป?

คำตอบที่ได้มาคงไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว เพราะเป็นเรื่องธรรมดาที่ทุกสิ่งมีชีวิต ต่างต้องปรับตัวเพื่อการอยู่รอด และทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง

“ถ้าเราไปอยู่ในห้องที่อุณหภูมิสูงหรือต่ำมาก เราก็อาจจะหนีออกจากห้องไป สัตว์เองสามารถทำได้ แต่ต้นไม้นั้นเคลื่อนที่หนีไม่ได้ ถ้าต้นไม้ไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ก็จะตายไป แต่ถ้าสามารถทนและปรับตัวอยู่ได้ เมื่อสร้างเมล็ดสร้างผล ดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปอาจทำให้ต้นไม้รุ่นต่อไปสามารถปรับตัวทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อมนั้นได้ดีขึ้น นอกจากนี้ในพื้นที่หนึ่งเมื่อมีต้นไม้ตายไป ก็จะเกิดพื้นที่ว่างเอื้อให้ต้นใหม่สามารถเข้ามาเจริญเติบโตได้ เป็นพลวัตหรือการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ ดังนั้นการสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงอาจประยุกต์พลวัตที่เกิดขึ้นนี้ โดยปล่อยให้ต้นไม้เติบโตตามธรรมชาติ แต่อาจมีการจัดการและดูแลให้น้อยที่สุด เช่น การตกแต่งเพื่อความปลอดภัยของผู้อาศัยหรือสัญจรผ่านไปมา การรดน้ำให้ปุ๋ย ซึ่งก็ถือเป็นการรักษาระยะห่างระหว่างต้นไม้กับมนุษย์ ให้มีความสัมพันธ์กันอย่างยั่งยืน”

ศาสตร์ “รุกขกรรม” (Arboriculture) เป็นทักษะการดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธีจึงมีความสำคัญมากในการจัดการต้นไม้ในเมืองและสำหรับคนธรรมดาอย่างเราๆ อาจจะไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดการต้นไม้มากมาย เพียงแต่ยึดหลักว่าปล่อยบ้างให้เป็นไปตามธรรมชาติและดูแลบ้างให้เราอยู่ร่วมกันได้ เพราะถ้ามองถึงความยั่งยืน เราควรมีพื้นที่สีเขียวที่อนุญาตให้ต้นไม้ได้ออกดอก ออกผล รวงหล่นและเติบโตได้ใหม่ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปถอนไปจัดการมาก (ไม่ใช่แค่สวนสาธารณะหรือสวนในเมืองที่เราต้องจัดการมาก) เช่นปัจจุบันมีการสร้างพื้นที่ป่าในเมืองซึ่งเลียนแบบสภาพธรรมชาติเป็นทางเลือกพื้นที่สีเขียวในเมืองอีกทางหนึ่ง

“ต้นกล้าใหม่ที่รอดได้ก็จะเติบโต และสามารถทนแทนต้นเก่าที่ตายไปได้ เป็นวัฏจักรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ที่มันไม่ค่อยสำเร็จเพราะเราเข้าไปก้าวก่ายและจัดการมากเกินไป แต่ความจริงต้นไม้สามารถเติบโตเองได้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม อย่างเช่นเราอาจเคยเห็นต้นไม้ที่งอกออกมาจากรอยแยกตามตึกที่มีความชื้น ดังนั้นในพื้นที่สีเขียวในเมืองถ้าเราปล่อยบ้าง ดูแลบ้าง ให้ต้นไม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม แล้วปล่อยให้โตตามธรรมชาติ การสร้างพื้นที่สีเขียวในเมืองอาจมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการดูแลและจัดการที่มากเกินไป”

“ต้นไม้ในเมืองมีพลวัต (Dynamic) ของมัน สิ่งที่เราต้องยอมรับคือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจจะมากจะน้อยก็ได้ บางครั้งเราอาจเอาความรู้สึกของคนไปไว้ที่ต้นไม้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าต้นไม้รู้สึกนึกคิดแบบนี้จริงไหม การไปตัดแต่ง ก็ไม่รู้ว่าดีต่อต้นไม้หรือไม่

“ในทางวิชาการ ปัจจุบันยังไม่มีการค้นพบว่าต้นไม้ มีความรู้สึกนึกคิด (Sense) แบบเดียวกับสัตว์ มีเพียงแค่การตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่างๆ เช่น การหุบของใบต้นไมยราบเมื่อเราสัมผัส ต้นไม้จึงไม่สามารถแสดงออกสิ่งที่กำลังเผชิญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีการประเมินว่าต้นไม้ยังมีสุขภาพหรือสมบูรณ์ดีหรือไม่ โดยอาศัยดัชนีชี้วัดที่พิจารณาหลายส่วนประกอบกัน เช่น การสังเกตจากลักษณะภายนอก ทั้งสีใบ ความเหี่ยวแห้ง และอื่นๆ แต่ถึงเช่นนั้นการประเมินด้วยดัชนีเหล่านี้เพียงแค่ครั้งสองครั้งก็บอกไม่ได้ทั้งหมดอยู่ดีว่าต้นไม้จะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ เพราะสำหรับบางต้นเวลาติดดอก ออกผล ต้นก็จะเหี่ยวแห้งไป ดังนั้นการติดตามระยะยาวจะช่วยให้สามารถประเมินต้นไม้ในเมืองได้อย่างเหมาะสม โดยอาจสังเกตจากบริบทโดยรอบด้วย เช่นการสังเกตต้นกล้าเกิดใหม่ในบริเวณใกล้ๆ กับต้นไม้ที่ปลูก หรือการสำรวจสัตว์ในละแวกนั้นที่เข้ามาใช้ประโยชน์จากต้นไม้ในเมือง เช่น สิ่งมีชีวิต อย่าง นก กระรอก ที่อยู่บนเรือนยอดของไม้ยืนต้น แมลงหรือผีเสื้อที่อาศัยต้นไม้ระดับเตี้ยๆ เพื่อเป็นแหล่งอาหาร เมื่อไหร่ที่ต้นไม้อยู่รวมกันมากๆ จนเกิดเป็นสวนหรือสังคมพืช จะกลายเป็นที่พักพิงให้สัตว์น้อยใหญ่ เช่น กระรอก ผีเสื้อ หรือนกที่รับบทช่วยถ่ายละอองเรณูเพื่อทำให้พืชติดผลได้และเป็นนักกระจายพันธุ์พืชที่ทำให้เมล็ดเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ และเจริญเป็นต้นกล้าต่อไปได้ กล่าวได้ว่าเกิดเป็นระบบนิเวศย่อมๆ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่นั้นว่าจะเป็นไปในลักษณะใด ซึ่งถ้าต้นไม้มีความเป็นอยู่ดีเขาก็จะเป็นผู้ให้กับเมือง ทั้งในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ร่มเงา เป็นตัวชะลออุณหภูมิในเมืองไม่ให้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

แม้เมืองจะเปลี่ยนไป แต่ทั้งต้นไม้และคน ก็ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวเก่ง ต่างดิ้นรนในแบบของตัวเองเพื่อให้ชีวิตไปต่อได้ แบบเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับในเวลาเดียวกัน

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : ณัฐวรรธน์ ไทยเสน

 

อ่านเพิ่มเติม : “เจ้าหน้าที่ด้านนี้ไม่มีใครไม่รักต้นไม้”พูดคุยกับเขตดุสิตที่ตัดแต่งต้นไม้ริมถนนได้ดี

Recommend