สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ผ่านมา(ตามเวลาประเทศไทย) พื้นที่หลายแห่งทางตอนใต้และตะวันออกของสเปนต้องเผชิญกับน้ำท่วมเฉียบพลันซึ่งเกิดจากฝนตกหนักมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 นิ้วภายในวันเดียว ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณฝนโดยเฉลี่ยของรอบปี และยังเป็นปริมาณฝนที่ตกหนักที่สุดในรอบ 28 ปีตามรายงานของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งรัฐ
รายงานระบุว่าในเมืองบาเลนเซีย นั้นได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 95 รายแล้วและมีผู้สูญหายอีกหลายสิบราย ทางหลวงส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้งานได้และรถยนต์ถูกน้ำพัดพาไป เจ้าหน้าที่เชื่อว่ายังมีผู้คนอีกราว 1,200 รายที่ติดอยู่ตามส่วนต่าง ๆ โดยกำลังเร่งให้การช่วยเหลือ
“มันไม่ใช่ฝนตกหนัก แต่เหมือนเขื่อนแตก” เอมีเลียโน การ์เซีย-เพจ (Emiliano García-Page) ประธานรัฐบาลแคว้นคาสตีล-ลามันชา เปรียบเทียบน้ำท่วมครั้งนี้กับสิ่งที่รุนแรงกว่า “ผู้คนโทรไปแจ้งหมายเลขฉุกเฉิน ร้องขอความช่วยเหลือ แต่แทบจะติดต่อไม่ได้เลย”
ปริมาณฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและรวดเร็วทำให้หลายคนประหลาดใจอย่างยิ่ง ทางนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ (Pedro Sanchez) ของสเปนกล่าวว่า รัฐบาลจะใช้ทุกวิถีทางที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากน้ำท่วม โดยขอให้ประชาชนเฝ้าระวังไว้ก่อนและอยู่ในสถานที่ปลอดภัย
ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของสเปน มาร์การิตา โรเบลส์ (Margarita Robles) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับทางสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นภูมิภาคสเปนว่า เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้เป็น “ปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” พร้อมระบุว่าทหารกว่า 1,000 ถูกส่งไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ว
แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่ฟันธงและยังเผื่อความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่จะระบุว่าเหตุการณ์รุนแรงใด ๆ นั้นเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ แต่ครั้งนี้บรรดานักวิจัยก็รีบชี้ให้เห็นอย่างรวดเร็วว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมีส่วนทำให้ปัญหาอุทกภัยในสเปนเลวร้ายลง
ซึ่งเกิดจากมลพิษหรือก๊าซเรือนกระจกจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้วัฏจักรน้ำในโลกเกิดความผันผวน โลกที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นนี้ทำให้มีความร้อนเพิ่มเติมซึ่งเพิ่มการระเหยของน้ำให้มากขึ้น ขณะเดียวกับชั้นบรรยากาศที่ร้อนก็สามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้มากขึ้น และนำพาปริมาณน้ำมหาศาลไปในที่ต่าง ๆ
“ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฝนที่ตกหนักเหล่านี้มีความรุนแรงมากขึ้นเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ” ดร. ฟรีเดอริเก ออตโต (Friederike Otto) จากวิทยาลัยอิมพีเรียลลอนดอน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่พยายามทำความเข้าใจถึงบทบาทของภาวะโลกร้อนในเหตุการณ์ประเภทนี้
“ด้วยอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิชทุก ๆ เสี้ยววินาที ชั้นบรรยากาศก็จะสามารถกักเก็บความชื้นไว้ได้มากขึ้น ส่งผลให้มีฝนตกหนักมากขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณฝนที่เมฆเหล่านี้พัดพามา โดยทำให้ปริมาณฝนเพิ่มขึ้น 7% ในทุก ๆ 1 องศาเซลเซียสที่สูงขึ้น” ดร. ฟรีเดอริเก ระบุ
เช่นเดียวกับทาง สเตฟาโน มาเทเรีย (Stefano Materia) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศชาวอิตาลีจากศูนย์ซูเปอร์คอมพิวเตอร์บาร์เซโลนาระบุว่า งานวิจัยหลายชิ้นได้เชื่อมโยงภัยแล้งในทะลเมดิเตอร์เรเนียนกับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ ผ่านการหมุนเวียนในชั้นบรรยากาศที่ตอนนี้กำลังร้อนขึ้นอย่างรุนแรง
“นั่นหมายถึงพลังงานที่มากขึ้น ไอระเหยของน้ำที่มากขึ้น ความไม่เสถียรที่มากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดพายุที่น่ากลัวเมื่อสภาพบรรยากาศเอื้ออำนวย” เขากล่าวและเปรียบว่า ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเปรียบเสมือนระเบิดเวลาในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามสำนักงานอุตุินิยมวิทยาแห่งชาติของสเปน (AEMET) ระบุว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เนื่องจากคำว่า ‘ฝนตกหนัก’ นั้นสามารถเกิดจาก ‘หย่อมความกดอากาศต่ำ’ ซึ่งหมายถึงแอ่งอากาศเย็นที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศสูง ซึ่งสามารถแยกตัวจากกระแสลมเจ็ต
จนทำให้อากาศดังกล่าวเคลื่อนที่ได้ช้าและมักทำให้เกิดฝนตกหนักได้ สิ่งสำคัญก็คือปราฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงฤดูใบไม้ร่วง กระนั้นก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงเป็นพิเศษและเกินความปกติไปมาก
งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นชี้ว่า สเปน โปรตุเกส อิตาลี และกรีซนั้นกำลังเผชิญกับสิ่งเลวร้ายซึ่งนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศเรียกมันว่าเป็น ‘อันตรายที่ทวีคูณขึ้น’ และเป็น ‘ผลกระทบแบบลูกโซ่’ เนื่องจากคลื่นความร้อนกำลังเปลี่ยนป่าไม้ให้กลายเป็นเหมือนกล่องไม้ขีดไฟ
ทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงขึ้นพร้อมกับปกคลุมเมืองด้วยควัน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ดินแห้งเหือดกลายเป็นภัยแล้งและไม่สามารถดูดซับน้ำได้ ขณะเดียวกันด้านบนก็มีฝนตกหนักลงมาบนดินเหล่านี้ อย่างไรก็ตามดินที่แห้งนี้ไม่สามารถดูดซับน้ำได้ เมื่อฝนตกหนักเป็นพิเศษ มันจึงทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันแบบพิเศษด้วย
“นอกจากปริมาณฝนที่ตกหนักขึ้นแล้ว เรายังเห็นฤดูร้อนที่ร้อนขึ้นซึ่งทำให้ดินอบอ้าวและดูดซับน้ำได้น้อยลง” ศาสตราจารย์มาร์ก สมิธ (Mark Smith) จากมหาวิทยาลัยลีดส์กล่าวและว่า “นั่นได้ส่งผลกระทบโดยตรงจากปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักเพิ่มขึ้นรุนแรง เนื่องจากน้ำไหลลงสู่แม่น้ำมากขึ้น”
ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศกล่าวว่า อุทกภัยเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเครื่องเตือนใจให้ลดมลพิษจากภาวะโลกร้อน และปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้าพร้อมกับแผนตอบสนองอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความเป็นไปได้สูงว่าภัยพิบัติธรรมชาติเช่นนี้อาจเกิดขึ้นอีกได้หลายครั้ง และไม่ใช่แค่ในยุโรปเท่านั้นแต่รวมถึงทั่วโลกในแบบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เช่นในประเทศไทย
“ผลที่น่าเศร้าของเหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าเรายังต้องก้าวไปอีกไกล” ลิซ สตีเฟนส์ (Liz Stephens) นักวิทยาศาสตร์ด้านความเสี่ยงด้านสภาพอากาศจากมหาวิทยาลัยเรดดิ้งกล่าว “ผู้คนไม่ควรเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศที่คาดการณ์ได้เช่นนี้ในประเทศที่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะทำได้ดีกว่านี้”
สืบค้นและเรียบเรียง วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ภาพประกอบน้ำท่วมไม่เกี่ยวกับเรื่องโดย Mika Baumeister on Unsplash
ที่มา
https://edition.cnn.com/2024/10/30/europe/spain-flash-floods-intl/index.html
https://www.nytimes.com/2024/10/30/world/europe/spain-floods-valencia.html
https://www.bbc.com/news/articles/c98eylqeg06o