สำรวจเทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อการประเมินคาร์บอนในป่า สู่ภารกิจที่ทุกคนช่วยลดโลกร้อนได้

ติดตาม สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ลงพื้นที่เพื่อประเมินคาร์บอนเครดิตในป่า และตอบคำถามที่ว่าเทคโนโลยีดาวเทียมช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกือบทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยร่วมลงนามและให้สัตยาบันในความตกลงปารีส Paris Agreement เพื่อร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุด ซึ่งหนึ่งในแนวทางที่ช่วยส่งเสริมคือกลไกคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่องค์กรต่าง ๆ สามารถกักเก็บได้หรือลดการปล่อยได้

GISTDA ได้เข้ามามีบทบาทในภารกิจนี้โดยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ร่วมกับแบบจำลองเชิงพื้นที่ มาช่วยในการติดตามพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ และประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้และการเกษตร เพื่อสนับสนุนการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในอากาศจากพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวของประเทศ

เทคโนโลยีอวกาศเกี่ยวข้องกับการกักเก็บคาร์บอนอย่างไร? ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เราได้เดินทางไปสังเกตการณ์การทำงานของ GISTDA ในระหว่างที่เข้าไปสำรวจการเก็บกักคาร์บอนในพื้นที่ป่าบก จังหวัดระยอง และป่าชายเลน จังหวัดจันทบุรี โดยการสำรวจครั้งนี้ได้ใช้เทคโนโลยีไลดาร์จากอุปกรณ์สำรวจภาคพื้น เพื่อสร้างแบบจำลอง 3 มิติของต้นไม้ ในลักษณะของข้อมูล Point Clouds โดยในแต่ละจุดจะแสดงค่าพิกัดและความสูงของวัตถุต่าง ๆ ในตำแหน่งทางราบและทางดิ่งในแปลงตัวอย่าง

การประเมินการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าบก จังหวัดระยอง ใช้เครื่องมือที่ชื่อ LiBackpack ซึ่งใช้เทคโนโลยีไลดาร์แบบพกพา โดยเป็นการใช้ เพื่อวัดความโตและความสูงของต้นไม้ในแปลงตัวอย่าง ซึ่งหลักการทำงานคือการส่งแสงเลเซอร์ไปกระทบวัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ ซึ่งระหว่างทางระบบจะทำการคำนวณเวลาในการเดินทางของแสงตั้งแต่ถูกปล่อยออกจากอุปกรณ์จนสะท้อนกลับมาที่ตัวรับสัญญาณ

กระบวนการสำรวจป่าบกด้วยเครื่องมือนี้ เริ่มที่การประเมินพื้นที่ป่าจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ว่ามีพื้นที่ทั้งหมดกี่ไร่ มีประเภทป่าอะไรบ้าง เมื่อทราบขนาดพื้นที่และประเภทป่าที่ต้องการ จะคำนวณสุ่มพื้นที่วางแปลงตัวอย่าง ขนาด 40 x 40 เมตร และใช้เครื่อง LiBackpack เดินเก็บข้อมูลลักษณะกายภาพของต้นไม้ในแปลงตัวอย่าง ตามรูปแบบที่ได้กำหนดไว้ จากนั้นจะเข้าโปรแกรมเพื่อคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในแปลงตัวอย่างแบบอัตโนมัติ

ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่นี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างพื้นที่ เพื่อใช้เป็นตัวแทนของการคำนวณค่ามวลชีวภาพ และการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่า โดยใช้เทคโนโลยีไลดาร์ เพื่อเพิ่มความถูกต้อง แม่นยำ และมีความน่าเชื่อถือในการนำข้อมูลไปใช้งานให้เพิ่มมากขึ้น

GISTDA มีความตั้งใจในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้และการเกษตรของประเทศ ด้วยข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็น Green Carbon จากป่าบก เช่น ป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ฯลฯ และ Blue Carbon จากป่าชายเลน และหญ้าทะเล โดยอาศัยคุณสมบัติเด่นของดาวเทียมต่าง ๆ โดยเฉพาะดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยประเมินพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนไทยมีความตระหนักถึงการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหันมาสนับสนุนธุรกิจหรือองค์กรสีเขียว ที่มีส่วนช่วยลดการปล่อยคาร์บอนจากกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นได้

การสำรวจพื้นที่สวนยางพารา จังหวัดระยอง โดยพื้นที่ลักษณะนี้ GISTDA จะใช้เครื่อง TLS หรือ Terrestrial Laser Scan ร่วมกับลูกบอล หรือ สเฟียร์ส เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงในการเชื่อมต่อข้อมูลแต่ละตำแหน่งให้การเก็บข้อมูลเป็นชุดเดียวกัน ซึ่งช่วยทำให้สามารถมองเห็นแบบจำลอง 3D เสมือนจริงของต้นยางพาราในแปลงตัวอย่างได้อย่างชัดเจน หลักการทำงานของเครื่องมือนี้คือการยิงแสงเลเซอร์ออกมาจากเครื่อง TLS เมื่อเลเซอร์กระทบวัตถุหรือต้นยางพาราก็จะสะท้อนกลับไปยังตัวกล้อง จากนั้นกล้องก็จะทำการคำนวณเวลาไปกลับของคลื่น โดยสัญญาณที่ส่งกลับมาจะถูกบันทึกในลักษณะของค่าพิกัด 3 มิติ และข้อมูลจะถูกส่งไปจัดเก็บที่คอมพิวเตอร์ จากนั้นกล้องจะหมุนและยิงแสงเลเซอร์ต่อไปจนเก็บข้อมูลลักษณะกายภาพของต้นยางพาราได้ครบทุกต้นในแปลงตัวอย่าง

ปัจจุบัน GISTDA ยังใช้เทคโนโลยีไลดาร์ และกล้องหลายช่วงคลื่น (Multispectral) ติดกับโดรน เพื่อบันทึกภาพ จำแนกชนิด ประเมินความสมบูรณ์ และได้ข้อมูล Point Clouds สำหรับจัดทำข้อมูลสามมิติของพื้นที่ป่าชายเลน จังหวัดจันทบุรี โดยข้อมูลที่ได้จากเซนเซอร์ที่ติดกับโดรนนั้นเมื่อทำการเก็บข้อมูลแล้วจะต้องนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลตรวจวัดภาคพื้นดิน เช่น TLS เพื่อคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในต้นไม้ต่อไป

GISTDA กับการใช้เทคโนโลยีเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ

ขอขอบคุณ ผู้สนับสนุนสถานที่ถ่ายทำ

  1. เทศบาลตําบลมะขามคู่ (ป่าเขาจอมแห จังหวัดระยอง)

  2. ป้าเล็ก (สวนยางพารา จังหวัดระยอง)

  3. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.9 จังหวัดจันทบุรี)


อ่านเพิ่มเติม : Marine GI Portal by GISTDA แพลตฟอร์มบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อวางแผนงานทะเลไทยอย่างเป็นระบบ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.