ถ้าโลกนี้ไร้ช็อคโกแลตเพราะโลกร้อน?

ความเป็นไปของโกโก้ วัตถุดิบสำคัญในการผลิตช็อคโกแลต ขนมหวานที่คนทั่วโลกโปรดปราน ซึ่งอาจสูญพันธุ์จากปัญหาโรคร้อน

มีการคาดการณ์กันว่าหากเรายังปล่อยให้สภาพแวดล้อมของโลกแย่ลงเรื่อยๆอีกไม่นานนอกจากสัตว์หลายชนิดที่จะสูญพันธุ์แล้วยังมีพืช ผัก ผลไม้ที่ก้าวเข้าสู่จุดเปลี่ยนของการกลายพันธุ์ หรือแม้กระทั่งการสูญพันธุ์ ถ้าการคาดการณ์เป็นจริงนั่นจึงเป็นเรื่องที่น่ากลัวมากเพราะโลกของเราจะเข้าสู่ยุคขาดแคลนอาหาร ผู้คนอดอยาก คนยากจนเข้าถึงอาหารได้ยาก อาหารสะอาดและสดใหม่อาจเป็นเรื่องไกลตัวของประชากรบางกลุ่ม

 จากเนื้อหาด้านบนเมื่อสรุปรวมหลายคนยังมองไม่เห็นปัญหาและไม่คิดว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ แต่จริงๆแล้วธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาแถลงถึงวิกฤติขาดแคลนอาหารตั้งแต่เดือนเมษายน 2565 ในครั้งนั้นวิกฤติอันดับหนึ่งเกิดจากสงครามระหว่างรัสเซีย และยูเครน อันดับสองเป็นผลพวงจากสงครามคือราคาปุ๋ยที่แพงขึ้นเนื่องจากวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยส่วนใหญ่ส่งออกจากรัสเซีย และอันดับสามหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือภาวะโลกรวน (Climate change)

หนึ่งในผลไม้ที่อ่อนไหวต่อสภาพอากาศคือโกโก้ (Cacao) ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการทำช็อคโกแลตเป็นหนึ่งในพืชพันธุ์ที่มีความเปราะบางต่อสภาพอากาศ มีรายงานของ Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ว่าหากเรายังปล่อยให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเรื่อยๆในเวลาไม่เกิน 40 ปี โก้โก้จะสูญพันธุ์ไปจากโลก นั่นคือเราจะไม่มีวัตถุดิบในการทำช็อคโกแลต ขนมหวานยอดนิยมของคนทั่วโลก

 มีการบันทึกไว้ว่ามนุษย์เราค้นพบเครื่องดื่มที่ทำมาจากเมล็ดโกโก้เป็นเวลานานย้อนไปตั้งแต่ยุคเมโสอเมริกา (Mesoamerica)ในกลุ่มชาวมายา (Maya) ประมาณ ค.ศ.250 ก่อนที่จะถ่ายทอดอารยธรรมสู่ชาวแอซเท็ก (Aztec Ampire) ในเวลาต่อมาซึ่งเป็นกลุ่มชนที่ครอบครองพื้นที่เมโสอเมริกาในศตวรรษที่ 14 ครอบคลุมพื้นที่เม็กซิโก อเมริกากลาง ความนิยมโกโก้ในยุคแรกไม่ได้มาจากรสชาติหวานอร่อยเช่นปัจจุบัน แต่มาจากผลของการดื่มโกโก้แล้วรู้สึกกระปรี้กระเปร่าตื่นตัวทำให้ผู้คนในยุคนั้นชื่นชอบ

ต่อมาในศตวรรษที่ 15 เข้าสู่ยุคการล่าอาณานิคมจากยุโรป สเปนได้เข้ามาถึงอเมริกากลางและรบชนะชาวพื้นเมืองจึงได้นำเมล็ดโกโก้กลับสู่ประเทศได้รับความนิยมในราชสำนัก และกลุ่มบุคคลชั้นสูง ต่อมาอีกร้อยปีโกโก้และช็อคโกแลตได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วยุโรป เรียกว่าได้รับความนิยมเป็นอย่างมากและยังได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราของชนชั้นนำเพราะในบางประเทศช็อคโกแลตจะมีการซื้อขายเฉพาะในกลุ่มคนชั้นนำของประเทศเท่านั้น

 และไม่นานเมล็ดพันธุ์ต้นโกโก้ก็มาถึงทวีปแอฟริกา ดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นในยุคล่าอาณานิคมของประเทศแถบยุโรป เมล็ดพันธุ์ถูกนำมาเพาะปลูกเพื่อนำผลผลิตกลับไปผลิตผงโกโก้หลายประเทศในยุโรปไม่ว่าอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เบลเยี่ยม รวมถึงประเทศอื่นในภูมิภาคนี้ การเดินทางของเมล็ดพันธุ์ทำให้ค้นพบว่าพื้นที่แถบเส้นศูนย์สูตรเหมาะกับการปลูกโกโก้ ให้ผลผลิตสูงและคุณภาพดี การปลูกโกโก้เพื่อการค้าขายได้เริ่มขึ้นในตอนนั้น

หลังจากนั้นไม่นานพื้นที่ปลูกโก้โก้มากที่สุดในโลกได้เปลี่ยนขั้วไปที่แอฟริกาใต้เพราะพื้นที่ปลูกในยุโรปให้ผลผลิตน้อยไม่เพียงพอจึงต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกในประเทศอาณานิคม โดยพื้นที่ใหญ่ในการใช้ปลูกและให้ผลผลิตดีคือพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน (Tropical rain forest) แหล่งปลูกโกโก้มากที่สุดคือไอเวอร์รี่โคสต์ (Ivory Coast) รองลงมาคือกานา (Ghana) อินโดนีเซีย (Indonesia) อเมริกาใต้ (South America) บราซิล (Brazil) เอกวาดอร์ (Ecaudor) ตามลำดับ

ในส่วนพื้นที่นิยมรับประทานโก้โก้และผลิตภัณฑ์แปรรูปโกโก้มากที่สุดคือยุโรป รองลงมาคืออเมริกา และเอเชียตามลำดับ ส่วนพื้นที่ปลูกต้นโกโก้เองมีการบริโภคเมล็ดโกโก้น้อยที่สุดเพราะเมล็ดโกโก้มักได้รับการผูกขาดเพื่อการส่งออกไปยังประเทศผู้บริโภคทำให้เมล็ดโกโก้ภายในประเทศผู้ผลิตมีราคาแพง หาซื้อยาก อีกทั้งเป็นสินค้าราคาสูงเกินกว่าแรงงานภาคเกษตรจะจับจ่ายทำให้ไม่ได้รับความนิยม

ความนิยมบริโภคโกโก้และผลิตภัณฑ์แปรรูปในพื้นที่ยุโรปมีปริมาณสูงทำให้ผลผลิตไม่พอกับความต้องการของตลาด จากการปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกรเลยเกิดการรุกล้ำเขตป่าฝน มีการตัดทำลายป่าไม้ในเขตป่าฝนเมืองร้อนมากขึ้นจนที่สุดก็เกิดปัญหาความแห้งแล้งของพื้นที่เอง บวกกับภาวะโลกรวนที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกส่งผลให้ผลผลิตโกโก้เริ่มลดลง

แต่ข่าวร้ายคือโกโก้เป็นหนึ่งในพืชพันธุ์เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ต้องการอากาศที่พอเหมาะ ชอบความร้อนชื้น เมื่ออุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง ฝนตกลดลง ความชื้นในอากาศลดลง ผลผลิตก็ลดลงตามรวมทั้งคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไม่ดีเช่นเดิมทำให้มีการศึกษาผลกระทบกันอย่างจริงจังจนได้คำตอบว่าทุกหนึ่งองศาเซลเซียสที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นโกโก้ยิ่งให้ผลผลิตลดลง และหากเรายังปล่อยให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ท้ายที่สุดโกโก้จะไม่ออกผล และเราอาจจะไม่ได้กินโกโก้หรือช็อคโกแลตในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

 มีการติดตามการทำลายพื้นที่ป่าฝนประเทศในแถบแอฟริกา โดยเฉพาะประเทศที่ส่งโกโก้ออกขายเป็นอันดับต้นๆในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการทำลายป่าฝนเพื่อเพิ่มพื้นที่ปลูกโกโก้จนปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าเพียง 1 ส่วนจากพื้นที่ป่า 10 ส่วน หากยังปล่อยให้สถานการณ์การตัดไม้ป่าดำเนินต่อไป ในปี ค.ศ.2030 พื้นที่ไอเวอร์รี่ โคสต์จะไม่เหลือป่าฝนเขตร้อนเลย

 จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมโลกทำให้หลายประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้หาข้อตกลงเพื่อรักษาสภาพแวดล้อมร่วมกัน วันที่ 25 กันยายน ค.ศ.2015 ประเทศสมาชิกได้รับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน Sustainable Development Golds (SDGs) หรือ Agenda 2030 ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย หนึ่งในนั้นคือการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืนไม่ทำลายสภาพแวดล้อมโลก ทำให้แบรนด์ช็อคโกแลตระดับโลกหลายแบรนด์ที่มีแหล่งผลิตในยุโรปได้ตั้งข้อกำหนดการรับซื้อเมล็ดโกโก้จากสวนที่ทราบแหล่งที่มาและไม่ทำลายป่าฝนเขตร้อนเพื่อความหวังว่าจะรักษาป่าฝนซึ่งเป็นตัวรักษาสภาพอากาศโลกไว้

สำหรับประเทศไทย คาดว่ามีการปลูกโกโก้มาเมื่อประมาณหนึ่งร้อยปีก่อน แต่การปลูกไม่เป็นที่นิยมเพราะอุปสรรคหลายอย่างทั้งปัญหาพันธุ์โกโก้ที่ปลูก ผลผลิตที่ได้ไม่มากพอและคุณภาพไม่ดีเท่าแอฟริกาหรืออินโดนีเซีย และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือเรื่องตลาดรับซื้อเมล็ดโกโก้ในประเทศมีน้อยและไม่สามารถประกันราคาซื้อขายได้ การปลูกโกโก้ในยุคแรกๆของประเทศจึงไม่ใช่เพื่อการเกษตรหรือการค้า แต่เป็นการปลูกในครัวเรือน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 กรมวิชาการเกษตรได้มีการสนับสนุนให้มีการปลูกโกโก้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่จากกรณีศึกษาการปลูกโกโก้ที่แอฟริกาน่าจะเป็นต้นแบบการปลูกโกโก้ให้ประเทศไทยเราต่อไป หนึ่งในนั้นคือการเพาะปลูกพืชผลเกษตรอย่างยั่งยืนตามนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

อีกทั้งบริษัทผลิตผงโกโก้รวมทั้งช็อคโกแลตรายใหญ่ของโลกต่างวางแผนการผลิตสินค้าของตนภายใต้นโยบาย ดังจะเห็นว่าปัจจุบันไม่ว่า ทอปเบอโรน (Toblerone) แคดเบอร์รี่ (Cadbury) ภายใต้สัญลักษณ์ Cocoa life และ เนสเล่ห์ (Nestle) กับสัญลักษณ์ Cocoa plan ต่างวางเป้าหมายในการรับซื้อเมล็ดโกโก้จากแหล่งปลูกที่ชัดเจนไม่บุกรุกทำลายป่า โดยเฉพาะแคดเบอร์รี่ที่ตอนนี้เข้าถึงเป้าหมายการรับซื้อเมล็ดโกโก้จากแหล่งปลูกที่ชัดเจนจนสามารถประทับตราสัญลักษณ์ Cocoa Life นั่นคือรับรองว่ารับซื้อเมล็ดโกโก้จากเกษตรกรที่มีแหล่งปลูกชัดเจนและไม่ทำลายป่าธรรมชาติได้บนซองผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะออกขายที่ประเทศไหนแม้แต่ในประเทศไทยเอง

และจากบทเรียนของการปลูกโกโก้เพื่อการค้าในแอฟริกากับภาวะโลกรวน ในครั้งแรกมนุษย์เรายังขาดความรู้ ความใส่ใจในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน การเพาะปลูกเพื่อการค้าจึงคำนึงถึงเพียงผลผลิตและเม็ดเงินที่ได้มาจนขาดการคำนึงถึงผลเสียที่เกิดขึ้น แต่เมื่อทุกคนรับทราบถึงผลกระทบและผลเสีย จึงพยายามสร้างวัฒนธรรมการเพาะปลูกและค้าขายอย่างยั่งยืนขึ้น

การปลูกโกโก้เพื่อการค้าทางการเกษตรในประเทศไทยเราจึงหวังว่าจะนำบทเรียนสำคัญของแอฟริกามาใช้และดำเนินไปภายใต้นโยบายความยั่งยืน ไม่ทำลายป่าและหวังว่าเมล็ดโกโก้จากประเทศไทยจะเป็น Cocoa sustainable ทราบแหล่งที่มาชัดเจน ไม่ทำลายป่า เพื่อที่เมล็ดโกโก้จากไทยจะเป็นเมล็ดโกโก้ที่สะอาดไม่สร้างภาวะโลกรวน และเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก และหวังว่าหน้าซองผลิตภัณฑ์โกโก้หรือช็อกโกแลตจากไทยจะได้สัญลักษณ์แสดงถึงความยั่งยืนในการปลูกโกโก้

เรื่องและภาพ : แก้ว การะบุหนิง

อ่านเพิ่มเติม : สถานที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการเดินทางของเหล่าคนรักช็อกโกแลต

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.