หากสอง เกาหลี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รวมกันอีกครั้ง

หากสอง เกาหลี เกาหลีใต้ เกาหลีเหนือ รวมกันอีกครั้ง

ดูเหมือนขอบฟ้าแห่งสันติภาพระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะเริ่มเรืองรองขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางการคาดการณ์จากประชาคมโลกว่า การประชุมสุดยอดระหว่างสองผู้นำเกาหลีในครั้งนี้อาจนำไปสู่การสิ้นสุดของความขัดแย้งที่ยึดเยื้อยาวนานเกือบ 70 ปี

การประชุมครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง คิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ และมุน แจ-อิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อ 09.30 น. ของวันที่ 27 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น ณ อาคารสันติภาพ (Peace House) ในหมู่บ้านปันมุนจอม ซึ่งตั้งอยู่ในเขตปลอดทหารระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างสองเกาหลีที่เดินสายพัฒนาประเทศไปในรูปแบบที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง หลังห้ำหั่นทำสงครามต่อสู้กันนานสามปี ระหว่างปี 1950 – 1953 ก่อนจะร่วมลงนามในข้อตกลงหยุดยิง และนำมาสู่การก่อตั้งเขตปลอดทหารระหว่างพรมแดนตามมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมรดกสุดท้ายจากยุคสงครามเย็นที่เรายังคงเห็นผลกระทบได้ในปัจจุบัน เมื่อประเทศหนึ่งต้องถูกฉีกแบ่งออกเป็นสอง

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีใต้จับมือกับประธานาธิบดีมุน แจอินก่อนเริ่มการประชุมหารือ ซึ่งนับเป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งที่ 3 ของสองเกาหลี ตลอดความขัดแย้งยาวนานกว่า 70 ปี
ภาพถ่ายโดย China Xinhua News

ในอดีตผู้นำทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้เคยพบปะกันอย่างเป็นทางการมาแล้วสองครั้ง และการหารือครั้งล่าสุดนี้นับเป็นการหารือครั้งที่สาม และเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี ของสองเกาหลี โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2000 ในสมัยที่คิม แดจุง เป็นประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ทั้งสองประเทศลงนามปฏิญญาร่วมกันว่าจะเคารพความแตกต่างในการปกครองของกันและกัน, พัฒนาความร่วมมือด้านประวัติศาสตร์ การศึกษา เทคโนโลยี และสังคม รวมไปถึงผลักดันโครงการให้บรรดาญาติพี่น้องที่พลัดพรากจากการแบ่งประเทศได้กลับมาพบกัน ต่อมาในปี 2007 การประชุมเกิดขึ้นอีกครั้ง โน มู-ฮย็อน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้พบปะกับผู้นำเกาหลีเหนือ คิม จอง อิล ผู้เป็นพ่อของผู้นำคนปัจจุบันและเจ้าหน้าที่ระดับสูงเพื่อหารือแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และมีการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมแกซอง ในฝั่งเกาหลีเหนือ

 

ความเห็นจากประชาชน

ช่วงเวลาที่แยกจากกันนานเกือบเท่าหนึ่งชั่วอายุคนได้หล่อหลอมให้ประชาชนจากทั้งสองเกาหลีแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ABC News รายงานผลสำรวจชาวเกาหลีใต้ พบว่าทั้งสองช่วงวัยมีมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนต่อสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี

ในกลุ่มผู้มีอายุอย่าง Yong-cheol Jun นั้น ความหวังก่อนตายของเขา คือการเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดในเกาหลีเหนือ เนื่องจากสงครามเกาหลีทำให้เขาต้องพลัดพรากจากแม่และน้องชายอีกสองคน ซึ่งไม่ทราบข่าวคราวอีกเลยจนวันนี้ “ผมเศร้าและรู้สึกผิดครับที่ทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง เมื่อใดที่ร้องเพลงก็จะคิดถึงแม่ขึ้นมา และจะรู้สึกเจ็บปวดมาก” เขากล่าว ประมาณการว่าจำนวนครอบครัวที่ต้องพลัดพรากจากกันมีมากถึง 60,000 ครอบครัว และเกือบทั้งหมดคาดหวังให้ทั้งสองประเทศกลับมารวมกันอีกครั้ง “ถ้ามีการแลกเปลี่ยนระหว่างเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ การรวมประเทศก็เป็นไปได้แน่นอนครับ”

ความหวังสุดท้ายก่อนตายของ Young-cheol Jun (ภาพซ้าย) คือการได้กลับไปยังเกาหลีเหนือบ้านเกิด และ Hyunsook Kim (คนขวา) ได้พบหน้าลูกสาวของเธอเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ของการแบ่งประเทศ
ภาพถ่ายโดย Brant Cumming, ABC News

Hyun-sook Kim วัย 91 ปี โชคดีกว่าตรงที่เธอมีโอกาสได้พบกับลูกสาวอีกครั้งในโครงการเพื่อครอบครัวที่พลัดพราก ซึ่งจัดขึ้นในกรุงเปียงยาง เมื่อปี 2015 “ฉันไม่รู้จะอธิบายความรู้สึกยังไง ฉันอยากเจอเธออีกครั้ง และมีทางเดียวที่ระบายความคิดถึงออกได้คือการร้องไห้ ลูกสาวของฉันต้องเติบโตโดยปราศจากแม่ ชีวิตคงลำบากมาก”

แต่สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว พวกเขาคิดว่าความแตกต่างระหว่างสองประเทศ ห่างไกลเกินกว่าที่จะรวมกันได้ Tae-wan Kim นักศึกษามหาวิทยาลัยในเกาหลีใต้ให้ความเห็นว่า เขาไม่ต้องการให้เกาหลีใต้ทุ่มเงินเป็นล้านล้านดอลลาร์ไปกับการรวมเกาหลี “คนรุ่นผมคิดกันว่า ทำไมเราต้องเสียเงินมากมายไปกับการรวมประเทศด้วย มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา แทนที่จะเอาไปพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น” เช่นเดียวกับ Kyeyu Kwak นักศึกษาเกาหลีใต้เห็นด้วยว่า หากการรวมประเทศเกิดขึ้นจริง การไหลบ่าของชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาในประเทศอาจกระทบต่อการหางานไปจนถึงสถานศึกษาของชาวเกาหลีใต้ “คนรุ่นเราไม่ได้คิดมากเกี่ยวกับเกาหลีเหนือเช่นสื่อหรอกค่ะ” เธอกล่าว “เราอาจจะไม่ต้องการรวมประเทศ แต่ใช่ว่าเราจะสร้างสันติภาพร่วมกันไม่ได้”

Tae-wan Kim (ภาพซ้าย)ไม่ต้องการให้เกาหลีใต้สูญเงินปริมาณหลายล้านดอลล่าร์ไปกับการรวมประเทศ ส่วน Kyeyu Kwak (ภาพขวา) เชื่อว่าทั้งสองเกาหลีขณะนี้ไม่มีสิงใดที่เหมือนกันอีกแล้ว
ภาพถ่ายโดย Brant Cumming, ABC News

 

ชายคนหนึ่งเขียนข้อความลงบนธงรวมประเทศที่แขวนอยู่บริเวณรั้วของค่ายทหาร ในเขต Paju ใกล้กับเขตปลอดทหาร ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2018 ก่อนหน้าการประชุมของสองผู้นำเพียงหนึ่งวัน
ภาพถ่ายโดย Jung Yeon-Je, AFP

แล้วบรรดาชาวเกาหลีเหนือคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ Huffpost รายงานผลสำรวจชาวเกาหลีเหนือจำนวน 100 คนที่อาศัยและทำงานอยู่ในจีน เมื่อปี 2015 โดยนักวิจัยนาม Chosun llbo ร่วมกับศูนย์ศึกษาวัฒนธรรมผสมผสาน โดยย้ำว่าชาวเกาหลีเหนือเหล่านี้เป็นแรงงานข้ามชาติที่ต้องกลับประเทศ หาใช่ผู้แปรพักตร์แต่อย่างใด ซึ่งมุมมองของพวกเขานั้นเห็นตรงกันอย่างน่าอัศจรรย์

95 คนกล่าวว่า การรวมประเทศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ และพวกเขาเองก็เชื่อว่าจะได้ประโยชน์จากการยุติความขัดแย้ง และเมื่อถามต่อไปว่า กระบวนการรวมประเทศจะเกิดขึ้นได้อย่างไร 8 ใน 100 คนเชื่อว่า จะเกิดขึ้นโดยรัฐบาลเกาหลีเหนือ อีก 7 คนคิดว่าภาพฝันที่พวกเขาวาดหวังจะเป็นจริงต่อเมื่อรัฐบาลเกาหลีเหนือล่มสลาย อีก 22 คนเชื่อว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เกาหลีใต้จะกลืนเกาหลีเหนือ ส่วนที่เหลือเชื่อว่าสันติภาพจะเกิดขึ้นได้ก็จาก “การเจรจาของทั้งสองประเทศในฐานะเท่าเทียมกัน”

 

หากเกาหลีกลับมาเป็นหนึ่ง

ภาพคิม จอง-อึน ผู้นำเกาหลีเหนือจูงมือประธานาธิบดีมุน แจ-อิน แห่งเกาหลีใต้ข้ามเส้นกำหนดเขตทหารกลายมาเป็นภาพประวัติศาสตร์ที่น่าจดจำ รวมถึงข้อความที่ว่า “ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เริ่มขึ้นแล้ว –  จุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์และยุคของสันติภาพเริ่มต้นที่นี่” ที่คิม จอง-อึน เขียนลงในสมุดเยี่ยมของอาคารสันติภาพ ในเกาหลีใต้ จุดประกายความเชื่อมั่นขึ้นมาอีกครั้งว่ามีความเป็นไปได้ที่เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้จะกลับมารวมกันอีกครั้งในอนาคต แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากทั้งสองเกาหลีกลับมารวมกันเป็นหนึ่ง Times ได้รวบรวมมุมมองไว้ในหลายประเด็น

การเมือง – ความแตกต่างของระบอบการปกครองคือจุดเด่นชัดที่สุดที่ทั้งสองประเทศนี้ไม่อาจเข้ากันได้ ฉะนั้นแล้วเป็นไปได้ว่าหากการรวมประเทศเกิดขึ้นจริง เกาหลีอาจใช้โมเดล เช่น จีน-ฮ่องกง ที่เป็น “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ซึ่งข้อนี้นับเป็นผลประโยชน์ของเกาหลีเหนือ และจะนำมาซึ่งนโยบายการค้าที่ผ่อนปรนมากขึ้นจากเดิมที่เคยถูกคว่ำบาตรจากนานาประเทศ ตามมาด้วยการกระตุ้นให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจของชาวเกาหลีใต้และชาวเกาหลีเหนืออีกกว่า 25 ล้านคนที่ยังคงมีฐานะยากจน

เศรษฐกิจ – อีกหนึ่งความยากลำบากคือเรื่องของเศรษฐกิจ เกาหลีเหนือมี GDP น้อยกว่า 1% เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก ทั้งยังโดดเด่นด้านเทคโนโลยี ดังนั้นแล้วหากจะแก้ไขปัญหานี้เกาหลีใต้อาจใช้กระบวนการรวมประเทศไปทีละขั้นละตอน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่าสิบปี ในการช่วยให้เศรษฐกิจของเกาหลีเหนือเติบโต ซึ่งถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากเพราะทุกวันนี้เกาหลีใต้เองก็ยังคงต้องต่อสู้กับปัญหาคนวัยทำงานมากมายที่ว่างงานในประเทศ

บรรยากาศยามค่ำคืนของถนนในย่าน Myeongdong ในกรุงโซล
ภาพถ่ายโดย SeongJoon Cho, Bloomberg

สังคม – สังคมของเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือคือสังคมที่ต่างกันคนละขั้ว เกาหลีใต้ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจบันเทิง ตามหัวมุมถนนเต็มไปด้วยคาเฟ่หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดีประเทศนี้ยังคงมีอัตราความเครียดสูง ชาวเกาหลีใต้ติดอันดับชั่วโมงทำงานมากที่สุดเป็นอันดับสอง เด็กนักเรียนเองก็มีชั่วโมงการเรียนถึง 16 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงที่ต้องสอบไล่เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ทั้งยังเป็นหนึ่งในประเทศที่วัยรุ่นมีอัตราการฆ่าตัวตายสูง ความแตกต่างสุดขั้วนี้จะทำให้สถานที่นี้คือโลกใบใหม่ของชาวเกาหลีเหนือ ฉะนั้นแล้วหากการรวมประเทศเกิดขึ้นจริงรัฐบาลต้องจัดหาโครงการพัฒนาทักษะความรู้ ตลอดจนเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้ชาวเกาหลีเหนือมีโอกาสแข่งขันกับชาวเกาหลีใต้ได้ แต่ต้องยอมรับว่าอาจเกิดความไม่พอใจในสังคมตามมา

ภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ – แต่ละประเทศมีพันธมิตร เกาหลีใต้และญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกา ในขณะที่เกาหลีเหนือมีจีนและรัสเซียหนุนหลัง และเกาหลีเหนือคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้อเมริกาตั้งฐานทัพในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น และการรวมประเทศหรือแม้แต่ข้อตกลงสันติภาพจะทำให้เกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดสหรัฐฯ ยังคงตั้งฐานทัพในคาบสมุทรเกาหลี และจากนโยบายของจีนที่ยืนยันหนักแน่นในการต่อต้านการใช้ระบบป้องกันขีปนาวุธชั้นสูง หรือ THAAD ของสหรัฐฯ และเกาหลีใต้ อาจกำลังบอกเป็นนัยถึงอำนาจของจีนเพียงประเทศเดียวในคาบสมุทรเกาหลี เมื่อสหรัฐฯ หมดข้ออ้างในภูมิภาคนี้อีกต่อไป

ประชาชนส่วนใหญ่ในเกาหลีเหนือยังมีฐานะยากจน ภาพนี้ถ่ายเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2017 แม่ลูกเข็นรถเลื่อนไปตามถนนของเมือง Kiliju ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเกาหลีเหนือ
ภาพถ่ายโดย Ed Jones, AFP

ความปลอดภัย – อาวุธนิวเคลียร์และบรรดาอาวุธเคมีที่เกาหลีเหนือสะสมไว้คือเรื่องน่ากังวลว่า พวกเขาจะจัดการหรือป้องกันไม่ให้อาวุธเหล่านี้ถูกขายหรือตกไปอยู่ในมืออาชญากรได้อย่างไร ที่ผ่านมาประชาคมโลกรู้เรื่องราวเกี่ยวกับที่ตั้งและประสิทธิภาพของอาวุธเหล่านี้ไม่มากนัก เนื่องจากเกาหลีเหนือปกปิดข้อมูลของพวกเขาเป็นอย่างดี ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งหัวข้อสำคัญที่ต้องติดตามว่า ในการประชุมอีกหนึ่งเดือนข้างหน้ากับผู้นำสหรัฐฯ ผลการเจรจาเกี่ยวกับอาวุธนิวเคลียร์จะเป็นอย่างไร เนื่องจากล่าสุดสถานการณ์มีท่าทีไปในทางบวก เมื่อผู้นำเกาหลีเหนือได้สั่งยุติการทดลองอาวุธนิวเคลียร์แล้วเช่นกัน

ทั้งนี้ Leonid Petrov นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย คาดการณ์ไว้ว่า กระบวนการรวมประเทศระหว่างสองเกาหลีนั้นน่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้นราว 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี กว่าจะรวมกันได้ คำถามต่อมาก็คือใครควรเป็นผู้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเหล่านี้ในการสมานแผลที่เกิดขึ้นจากสงคราม

 

อ่านเพิ่มเติม

10 เรื่องน่ารู้ความสัมพันธ์ เกาหลีเหนือ -เกาหลีใต้

 

ขอบคุณข้อมูล

https://www.huffingtonpost.com/entry/korean-reunification-the_b_7597430

http://mobile.abc.net.au/news/2018-04-26/the-resistance-to-reuniting-two-koreas-could-come-from-youth/9697976?pfmredir=sm

https://www.independent.co.uk/news/world/asia/north-south-korea-reunification-kim-jong-un-dictator-donald-trump-president-nuclear-war-ballistic-a7710001.html

http://time.com/5255381/north-south-korea-kim-jong-un-reunification/

https://www.reuters.com/article/us-northkorea-southkorea-unification-ins/impossible-dream-unification-less-of-a-priority-as-korean-leaders-prepare-to-talk-idUSKBN1HW0P0

https://www.posttoday.com/world/549244

https://www.posttoday.com/world/549261

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.