ภาพกราฟิกแสดงให้เห็นโอวิแรปตอโรซอร์กำลังกกไข่ภายในรัง
จินตนาการถึงนกฮัมมิ่งเบิร์ดกำลังกกไข่ใบจิ๋วของพวกมัน น่ารักดีใช่ไหม? แต่หากเปลี่ยนจากเจ้านกเล็กจ้อยเป็นไดโนเสาร์ตัวใหญ่บิ๊กบึ้มล่ะ ดูจากขนาดตัวแล้วหาก ไดโนเสาร์กกไข่ ไข่ของมันทั้งหมดคงเละแบบออมเลทเป็นแน่แท้
แต่ผลการศึกษาใหม่เกี่ยวกับรังของไดโนเสาร์ ประกอบกับหลักฐานจากฟอสซิลแสดงให้เห็นว่าไดโนเสาร์ที่มีน้ำหนักตัวมากนั้นมีกลยุทธ์ในการหลีกเลี่ยงไม่ให้ไข่โดนทับจนแตก ด้วยการวางไข่ไดโนเสาร์เรียงเป็นวงแหวนไว้ภายในรัง
ผลการค้นพบครั้งนี้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Biology Letters พิสูจน์ให้เห็นว่าพฤติกรรมการทำรังของนกในทุกวันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่บรรพบุรุษไดโนเสาร์ “พฤติกรรมการนั่งกกไข่ในรังนั้นวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์” Darla Zelenitsky หนึ่งในนักบรรพชีวินวิทยาผู้ร่วมศึกษาวิจัยจากมหาวิทยาลัย Calgary ในแคนาดากล่าว
ระวังแตก!
ทีมนักวิจัยของ Zelenitsky ศึกษารังของไดโนเสาร์โอวิแรปตอโรซอร์จำนวน 40 รัง สายพันธุ์ไดโนเสาร์เหล่านี้มีชีวิตอยู่เมื่อ 65 ล้านปีก่อน และมีความหลากหลายมากชนิดที่ว่าพวกมันมีน้ำหนักตั้งแต่ไม่กี่ปอนด์ไปจนถึงราว 4,000 ปอนด์ (1,800 กิโลกรัม) ด้วยขนาดตัวที่ใหญ่พอๆ กับฮิปโปโปเตมัส และแรดในปัจจุบัน ส่วนรังของพวกมันนั้นมีขนาดความกว้างตั้งแต่ฟุตเดียวไปจนถึง 10 ฟุต
ในรังขนาดเล็ก Zelenitsky กล่าวว่า ไข่ถูกวางกระจุกรวมกันหรือมีพื้นที่ว่างเพียงน้อยนิด แต่หากว่าเจ้าของรังมีขนาดใหญ่มากขึ้น พวกมันต้องเพิ่มพื้นที่ว่างตรงกลาง ในขณะที่ไข่ถูกวางเป็นวงแหวนรอบๆ พื้นที่ว่างอย่างประนีตบรรจง ว่าแต่ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? Zelenitsky กล่าวว่ามันยากที่จะรู้คำตอบแน่ชัด “นกส่วนใหญ่นั่งกกไข่เพื่อให้ความอบอุ่น” เธอกล่าว “แต่เราไม่ทราบว่าในกรณีของโอวิแรปตอโรซอร์เป็นอย่างไร เราไม่แน่ใจว่าไดโนเสาร์กกไข่เพื่อแค่ปกป้องไข่หรือให้ความอบอุ่น”
(และนี่คือ สัตว์ดึกดำบรรพ์ ที่เชื่อกันว่ามีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา)
ฟอสซิลหายาก
เมื่อเดือนเมษายน ทีมนักวิจัยอีกทีมหนึ่งเปิดตัวฟอสซิลรังไดโนเสาร์ที่สวยงามสมบูรณ์ จากทะเลทรายโกบี ของมองโกเลีย จัดแสดงโดยพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน
“นี่เป็นสิ่งหายากของสิ่งที่หายากมากๆ” Greg Erickson นักบรรพชีวินวิทยา จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา ในเมืองแทลลาแฮสซีกล่าว เจ้าของรังเป็นไดโนเสาร์ที่มีชื่อว่า Citipati osmolskae หนึ่งในสายพันธุ์โอวิแรปตอโรซอร์ที่มีขนาดตัวเท่ากับนกอีมู ดูเหมือนว่ามันจะตายจากทรายถล่มไม่ก็พายุทราย โดยดูจากท่าทางที่มันยังคงปกป้องรัง Erickson รายงานจากฟอสซิลแสดงให้เห็นว่าไข่ถูกเรียงเป็นวงแหวน เหลือพื้นที่ว่างไว้ตรงกลางสำหรับรองรับน้ำหนักไดโนเสาร์ขณะกกไข่
ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าไดโนเสาร์กกไข่ตัวนี้เป็นเพศเมีย หรือเพศผู้ ซึ่งทีมนักวิจัยกล่าวว่ามีความเป็นไปได้ว่าหน้าที่สร้างรังอาจเป็นของไดโนเสาร์ตัวผู้ เช่นเดียวกับนกสมัยใหม่ อย่างไรก็ตามจากหลักฐานที่ปรากฏบ่งชี้ว่ามันเป็นพ่อแม่ไดโนเสาร์ที่ดีมากๆ เพราะไดโนเสาร์ตัวนี้ตายในขณะที่ส่วนแขนหรือปีกของมันกางเหยียดออกเพื่อปกป้องไข่ทั้ง 12 ใบ ซึ่งพฤติกรรมการกางปีกออกเพื่ออำพรางรัง หรือปกป้องไข่จากสภาพอากาศยังคงพบเห็นได้ในนกสมัยใหม่
นกยุคแรก
“ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือข้อเท็จจริงที่บ่งชี้ว่านกวิวัฒนาการมาจากไดโนเสาร์” Stephen Brusatte นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ในสกอตแลนด์กล่าว “ใครๆ ก็เชื่อกันว่าไดโนเสาร์คือกิ้งก่าตัวใหญ่ยักษ์ ที่เคลื่อนไหวอย่างอุ้ยอ้าย แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่” ตรงกันข้ามไดโนเสาร์หลายชนิดเหมือนนกเสียด้วยซ้ำ
และในความเป็นจริง Erickson เสริมว่า “คุณสามารถเดินออกไปข้างนอกและพบเห็นไดโนเสาร์กว่า 10,000 สายพันธุ์กำลังกระพือปีกอยู่”
เรื่อง Erika Engelhaupt
อ่านเพิ่มเติม