หน้าตาห้องทำงานของเออูเจนีโอ อัลลีอาตา ในเมืองเยรูซาเลม เหมือนห้องทำงานหลักของนักโบราณคดีทั่วไปที่ชอบทำงานกลางแจ้งและมือไม้สกปรก ตรงมุมหนึ่งมีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่พังแล้ว ฝุ่นจับเขรอะ และมีกองรายงานการขุดสำรวจวางปะปนอยู่กับตลับสายวัดและเครื่องมืออื่นๆ เว้นแต่ว่าอัลลีอาตาสวมชุดยาวสีน้ำตาลไหม้ของนักบวชคณะฟรันซิสกัน และสำนักงานใหญ่ของท่านอยู่ในอารามแห่งพระมหาทรมาน ซึ่งตามขนบความเชื่อที่มีมายาวนานของศาสนจักร อารามแห่งนี้คือจุดที่พระเยซูคริสต์ผู้ทรงถูกตัดสินประหารชีวิต ถูกทหารโรมันเฆี่ยนตีและสวมมงกุฎหนาม
“ตามขนบความเชื่อ” เป็นคำที่คุณจะได้ยินบ่อยมากในมุมนี้ของโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักจาริกแสวงบุญจำนวนมากมายังสถานที่หลายสิบแห่งเหล่านี้ ซึ่งตามขนบความเชื่อแล้วเป็นสถานที่สำคัญในพระชนม์ชีพของพระเยซูคริสต์จากสถานที่ประสูติในเมืองเบทลิเฮมไปจนถึงสถานที่ฝังพระศพในเมืองเยรูซาเลม
สำหรับนักโบราณคดีที่ผันตัวมาเป็นนักหนังสือพิมพ์อย่างฉัน ซึ่งรู้แน่แก่ใจว่าวัฒนธรรมทั้งหมดรุ่งเรืองแล้วก็ล่มสลาย ทิ้งไว้เพียงร่องรอยไม่กี่อย่างของกาลเวลาช่วงนั้นบนโลกใบนี้ การเสาะหาไปตามแหล่งโบราณเพื่อหาร่องรอยของชีวิตคนคนหนึ่งจึงรู้สึกเหมือนเป็นงานของคนโง่
คุณพ่ออัลลีอาตาต้อนรับฉันเสมอ และตอบคำถามด้วยความอดทน ในฐานะศาสตราจารย์สาขาวิชาโบราณคดีคริสต์ศาสนาและผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ของสตูดีอุมบีบลีกุมฟรันชิสกานุม ท่านจึงเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจของคณะฟรันซิสกันในการดูแลปกปักรักษาโบราณสถานทางศาสนาในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ และการขุดสำรวจตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ดำเนินมาตั้งแต่ศตวรรษที่สิบเก้า
ในฐานะบุคคลผู้มีศรัทธา คุณพ่ออัลลีอาตาดูจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับสิ่งที่โบราณคดีทั้งที่สามารถและไม่อาจไข แสดงถึงบุคคลผู้เป็นศูนย์กลางของคริสต์ศาสนาได้ “เป็นเรื่องพิเศษและแปลกประหลาด ที่เราจะหาข้อพิสูจน์ของ [บุคคลผู้หนึ่ง] เมื่อ 2,000 ปีมาแล้ว” ท่านยอมรับ “แต่เราก็พูดไม่ได้ว่าไม่มีร่องรอยของพระเยซูอยู่ในประวัติศาสตร์ครับ”
จนถึงขณะนี้ร่องรอยสำคัญที่สุด และอาจเป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด คือพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ โดยเฉพาะสี่เล่มแรก ได้แก่ พระวรสารตามคำบอกเล่าของนักบุญมัทธิว มาระโก ลูกา และยอห์น แต่หนังสือโบราณเหล่านี้ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่หนึ่ง และขนบความเชื่อที่เป็นผลสืบต่อมานั้นเกี่ยวข้องกับงานของนักโบราณคดีอย่างไร
“ขนบความเชื่อทำให้โบราณคดีมีชีวิตชีวามากขึ้น และโบราณคดีก็ทำให้ขนบความเชื่อมีชีวิตชีวามากขึ้นเช่นกันครับ” คุณพ่ออัลลีอาตาตอบ “บางครั้งทั้งสองอย่างก็สอดคล้องต้องกันดี บางครั้งก็ไม่” ท่านหยุดชั่วครู่ ยิ้มน้อยๆ “นี่จึงน่าสนใจยิ่งขึ้นครับ”
ฉันจึงเริ่มออกเดินตามรอยพระบาทของพระเยซู ย้อนรอยเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้รจนาพระวรสารได้กล่าวไว้และการตีความจากผู้รู้หลายชั่วอายุคน ตลอดเส้นทางนี้ ฉันหวังว่าจะได้เห็นการเปรียบเทียบกันระหว่างเรื่องราวและขนบความเชื่อในคริสต์ศาสนา กับการค้นพบของนักโบราณคดีที่เริ่มต้นขุดค้นผืนทรายของดินแดนศักดิ์สิทธิ์นี้อย่างจริงจังเมื่อราว 150 ปีมาแล้ว
แต่ก่อนจะเริ่มการเดินทางครั้งนี้ ฉันจำต้องสืบค้นลึกลงไปถึงคำถามที่ละเอียดอ่อนคำถามหนึ่ง นั่นคือ เป็นไปได้ไหมที่พระเยซูคริสต์ไม่เคยมีตัวตนจริง เรื่องราวต่างๆบนหน้าต่างกระจกสีล้วนเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นทั้งสิ้น นี่เป็นคำประกาศยืนยันที่ท้าทายจากผู้กังขาฝีปากกล้าบางคน แต่ฉันกลับพบว่าข้อสงสัยนี้ไม่ได้มาจากนักวิชาการคนใดเลย โดยเฉพาะนักโบราณคดีที่งานของพวกเขาเป็นการดึงเอาความฝันเฟื่องทั้งหลายลงมาสู่โลกแห่งความจริง
“ผมไม่เคยได้ยินว่ามีนักวิชาการกระแสหลักคนใดไม่เชื่อเรื่องพระเยซูในแง่ประวัติศาสตร์นะครับ” เอริก ไมเยอร์ส นักโบราณคดีและศาสตราจารย์เกียรติคุณ กล่าว “มีการถกเถียงกันในรายละเอียดมาหลายศตวรรษ แต่ไม่มีใครสงสัยว่าพระองค์ไม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์”
ฉันได้ยินคำตอบคล้ายๆกันนี้จากไบรอน แมกเคน นักโบราณคดีและศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์ เขาบอกว่า “ผมนึกตัวอย่างไม่ออกว่ามีบุคคลใดที่มีชีวิตเข้ากับช่วงเวลาและสถานที่ได้อย่างเหมาะเจาะดีมาก แต่ผู้คนกลับบอกว่าไม่มีตัวตนจริงเลยครับ”
แม้แต่จอห์น โดมินิก ครอสแซน อดีตบาทหลวงและประธานร่วมของกลุ่มประชุมชวนโต้เถียงทางวิชาการ ก็ยังเชื่อว่าพวกข้องใจอย่างสุดโต่งนั้นกล่าวเกินไป จริงอยู่ว่าการทำอัศจรรย์ต่างๆของพระเยซูในความคิดของคนสมัยใหม่ ล้วนเป็นสิ่งที่ยากจะเข้าใจและยอมรับได้ แต่นั่นไม่ใช่เหตุผลที่จะสรุปว่าพระเยซูแห่งนาซาเรทเป็นเพียงนิทานทางศาสนา
“คุณบอกว่าพระองค์ดำเนินบนผิวน้ำ แต่ไม่มีใครทำอย่างนั้นได้ ฉะนั้นพระองค์จึงไม่มีตัวตนอย่างนั้นหรือ นั่นเป็นคนละเรื่องกันนะครับ” ครอสแซนบอกฉัน “ความจริงที่ว่าพระองค์ทรงกระทำสิ่งนั้นในแกลิลีบ้าง ทำสิ่งนี้ในเยรูซาเลมบ้าง และทรงทำให้พระองค์เองถูกประหาร ผมคิดว่าเรื่องทั้งหมดนี้เข้ากับสภาพการณ์บางอย่างได้อย่างเหมาะเจาะทีเดียวครับ”
นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องพระเยซูแบ่งออกเป็นสองฝ่ายตรงข้ามกัน ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าพระเยซูผู้ทรงทำอัศจรรย์ที่กล่าวถึงในพระวรสารเป็นพระเยซูองค์จริง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งคิดว่าพระเยซูที่แท้จริงซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวในพระวรสาร การจะมองเห็นได้ต้องอาศัยการค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์ข้อเขียนต่างๆ ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างวิชาโบราณคดีเป็นเครื่องสนับสนุน
พระเยซูคริสต์จะทรงเคยเป็นหรือเป็นผู้ใดก็ตาม แต่ความหลากหลายและศรัทธาของบรรดาสานุศิษย์สมัยใหม่นั้นอยู่ในขบวนแห่หลากสีสัน ในวันที่ฉันไปถึงเบทลิเฮม เมืองโบราณที่เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระเยซู
ฉันเดินไปทันกลุ่มนักแสวงบุญชาวไนจีเรียที่จัตุรัสเมนเจอร์ และเดินตามพวกเขาลอดทางเข้าเตี้ยๆของโบสถ์พระกุมารบังเกิด ช่องทางเดินสูงชะลูดในมหาวิหารถูกห่อหุ้มอยู่ในผ้าใบกันน้ำและนั่งร้าน ทีมนักอนุรักษ์กำลังวุ่นอยู่กับการทำความสะอาดเขม่าเทียนหลายศตวรรษให้ออกจากภาพโมเสกเคลือบทองสมัยศตวรรษที่สิบสอง เราค่อยๆ เดินรอบบริเวณที่เปิดไว้ให้เห็นการสร้างโบสถ์นี้ในยุคแรกสุดเมื่อทศวรรษ 330 ตามพระบัญชาของจักรพรรดิคอนสแตนติน จักรพรรดิชาวคริสต์องค์แรกของโรม
บันไดอีกชุดหนึ่งนำเราลงไปยังถ้ำที่ตามตะเกียงไว้และมีช่องเล็กๆตกแต่งด้วยหินอ่อน ที่นี่มีดาวสีเงินดวงหนึ่งเป็นเครื่องบ่งบอกถึงจุดที่ตามขนบความเชื่อแล้วเป็นที่ซึ่งพระเยซูทรงบังเกิด ผู้แสวงบุญพากันคุกเข่าลงจุมพิตดาวดวงนี้ และทาบมือลงบนหินที่เย็นและเป็นมันวาว ไม่นานเจ้าหน้าที่ของโบสถ์ขอให้พวกเขารีบเดินต่อไปเพื่อให้กลุ่มอื่นได้เข้ามาสัมผัสหินศักดิ์สิทธิ์นี้ด้วย
โบสถ์พระกุมารบังเกิดเป็นโบสถ์คริสต์เก่าแก่ที่สุดที่ยังใช้งานอยู่ทุกวันก็จริง แต่ไม่ใช่นักวิชาการทุกคนจะเชื่อว่า พระเยซูประสูติที่เบทลิเฮม พระวรสารเพียงสองในสี่เล่มเท่านั้นที่กล่าวถึงการบังเกิดของพระองค์ และยังกล่าวไว้แตกต่างกัน นักวิชาการบางคนตั้งข้อสังเกตว่า ผู้รจนาพระวรสารกล่าวว่าพระเยซูบังเกิดในเมืองเบทลิเฮมเพื่อผูกเรื่องชาวบ้านแกลิลีกับนครของชาวยูเดียตามคำพยากรณ์ในพระคริสตธรรมคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมที่ว่า นครแห่งนี้จะเป็นที่ประสูติของพระเมสสิยาห์หรือพระผู้ไถ่
วงการโบราณคดียังเงียบในเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ เพราะถึงอย่างไร จะมีโอกาสสักแค่ไหนในการขุดหาหลักฐานการลี้ภัยของคู่สามีภรรยาชาวบ้านเมื่อสองพันปีมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้การขุดสำรวจภายในและรอบๆ บริเวณโบสถ์พระกุมารบังเกิดยังไม่พบศิลปวัตถุใดๆที่มีอายุอยู่ในช่วงคริสตกาล ไม่มีร่องรอยใดๆบ่งบอกว่าชาวคริสต์ในยุคแรกถือว่าที่นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หลักฐานที่ชัดเจนชุดแรกของการเลื่อมใสศรัทธามาจากศตวรรษที่สาม เมื่อนักเทววิทยา ออริเจน บันทึกไว้ว่า “ในเบทลิเฮมมีการแสดงถ้ำที่ [พระเยซู] ทรงบังเกิด” ต้นศตวรรษที่สี่ จักรพรรดิคอนสแตนตินทรงส่งคณะผู้แทนพระองค์ไปหาสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระชนม์ชีพของพระเยซู และทำให้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยการสร้างโบสถ์และแท่นบูชาขึ้น เมื่อพวกเขาพบสถานที่ซึ่งเชื่อว่าเป็นถ้ำที่พระกุมารบังเกิดแล้ว จึงสร้างโบสถ์งดงามขึ้นหลังหนึ่ง เป็นโบสถ์หลังแรกก่อนจะมาเป็นโบสถ์หลังปัจจุบัน
นักวิชาการหลายคนที่ฉันพูดคุยด้วยไม่ออกความเห็นใดๆในเรื่องสถานที่ประสูติ เนื่องจากหลักฐานที่เป็นรูปธรรมยังไม่ชัดเจนพอจะสรุปได้ ภาษิตเก่าแก่ที่ฉันร่ำเรียนมาในวิชาโบราณคดี 101 ที่ว่า “การไม่มีหลักฐานหาใช่หลักฐานของการไม่มี” ใช้ได้กับกรณีนี้
เรื่อง คริสติน โรมีย์
ภาพถ่าย ไซมอน นอร์ฟอล์ก
อ่านเพิ่มเติม