ดูเหมือนว่าญาติห่างๆ ของเราจะอพยพเดินเท้าออกจากทวีปแอฟริกาเร็วกว่าที่มนุษย์สมัยใหม่เคยคาดการณ์กันเอาไว้ และการค้นพบ เครื่องมือหิน ใหม่ล่าสุดนี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์ รายงานการค้นพบล่าสุดนี้ถูกเผยแพร่ลงใน Nature
ทีมนักบรรพชีวินวิทยาค้นพบเครื่องมือหินเกือบร้อยชิ้น ในแหล่งโบราณคดีของเมือง Shangchen มณฑลเหอหนาน ทางตอนกลางของจีน ย้อนอายุกลับไปได้ถึง 1.3 – 2.1 ล้านปีก่อน หรือเก่าแก่กว่าเครื่องมือหินที่พบในจอร์เจียถึง 300,000 ปี ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผลงานของโฮโม อีเร็คตัส ญาติห่างๆ ของมนุษย์สมัยใหม่ที่สูญพันธุ์ไปแล้ว
“การพบเครื่องมืออายุ 2 ล้านปีนอกทวีปแอฟริกา สำหรับผมในฐานะนักบรรพชีวินวิทยาแล้วมันน่าตื่นเต้นมากๆ” Robin Dennell ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยกล่าว ด้าน Gerrit van den Bergh นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยวูลลองกอง ในออสเตรเลียกล่าวเสริมว่าตัวเขาเคยคิดไว้ว่าถ้าทีมวิจัยจีนค้นหาหลักฐานประเภทเดียวกับที่พบในแอฟริกา ต้องพบอะไรใหม่ๆ แน่นอน และก็เป็นจริงตามนั้น “การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าสิ่งที่เรารู้ในปัจจุบันยังน้อยนิด”
ผู้อพยพแรกเริ่ม
ทุกวันนี้เรารู้กันว่ามนุษย์สายพันธุ์โฮโม เซเปียนส์ หรือมนุษย์สมัยใหม่เริ่มเดินเท้าอพยพออกจากแอฟริกาเมื่อ 60,000 ปีก่อน แต่จากหลักฐานอื่นๆ ที่พบบ่งชี้ว่าเราไม่ใช่สายพันธุ์แรกๆ ที่เริ่มต้นเดินทางออกจากทวีปแอฟริกา ตั้งแต่จอร์เจียไปจนถึงเกาะชวาของอินโดนีเซียมีการค้นพบบางส่วนของโครงกระดูกมนุษย์โฮโม อีเร็คตัส ในขณะที่มนุษย์นีแอนเดอร์ทัลเองก็ตั้งถิ่นฐานกระจัดกระจายไปทั่วยุโรปตั้งแต่ 500,000 ปีก่อน และย้อนกลับไปราว 700,000 ปี โฮมินินกลุ่มแรกๆ เดินทางถึงภูมิภาคแปซิฟิกใต้ พวกเขาคือ โฮโม ฟลอเรเสียนซิส หรือมนุษย์ฮอบบิท และเรื่องราวของพวกเขาถูกบอกเล่าผ่านเครื่องมือมากมายที่ค้นพบบนเกาะฟลอเรส ในอินโดนีเซีย
ในทวีปเอเชียเองมีหลักฐานจำนวนหนึ่งที่บ่งบอกการมาถึงของโฮมินินจากโลกโบราณ เช่นในปี 1980 ทีมนักวิจัยพบว่าเครื่องมือหินที่พบในปากีสถานนั้นมีอายุเก่าแก่มากถึง 2 ล้านปี หรือในปี 2004 ทีมนักวิทยาศาสตร์จีนขุดค้นพบเครื่องมือหินอายุ 1.66 ล้านปี ในภูมิภาคทางตอนเหนือ และเมื่อเร็วๆ นี้ในปี 2015 มีการค้นพบว่าหัวกะโหลกของมนุษย์โฮโม อีเร็คตัสที่พบห่างออกไปจากเมือง Shangchen ราว 4.8 กิโลเมตร ย้อนอายุกลับไปได้ถึง 1.6 ล้านปี
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่พบแล้วทำให้ Zhaoyu Zhu นักธรณีวิทยาจากสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ในฐานะผู้นำในการวิจัยครั้งนี้เชื่อว่าต้องมีหลักฐานใหม่ๆ รอให้ค้นพบ เขาและทีมจึงเริ่มขุดค้นตามแหล่งโบราณคดีของเมือง Shangchen ตั้งแต่ปี 2004
เดือนกรกฎาคม ปี 2007 หนึ่งในทีมสำรวจของ Zhu สังเกตเห็นก้อนหินก้อนหนึ่งจากชั้นหินที่โผล่พ้นพื้นผิวดินขึ้นมา ในภายหลังจึงพบว่ามันคือเครื่องมือหินของโฮมินิน และตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงปี 2017 ทีมของ Zhu ขุดค้นชั้นดินของเมือง Shangchen ไปแล้วลึกกว่า 240 ฟุต พวกเขาพบเครื่องมือหินในชั้นดินถึง 17 ชั้น “ลูกทีมและผมตื่นเต้นกันมาก” Zhu กล่าว “มันเป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่น่าดู” ทว่าใครกันคือผู้ประดิษฐ์เครื่องมือหินเหล่านี้? ในการจะหาคำตอบทีมของ Zhu วัดค่าสนามแม่เหล็กที่แตกต่างกันในแต่ละชั้นของดิน
เมื่อชั้นของดินก่อตัวขึ้น แร่เหล็กในหินจะสามารถบอกทิศทางของสนามแม่เหล็กโลกในช่วงเวลานั้นได้ ผ่านการเรียงตัวกัน เรียกวิธีการนี้ว่า “การลำดับชั้นสนามแม่เหล็กบรรพกาล” ซึ่งนักธรณีวิทยาสามารถพบชั้นดินที่มีแร่เหล็กเรียงตัวต่างจากชั้นอื่นๆ ได้ จากการสลับขั้วแม่เหล็กโลก ซึ่งเกิดขึ้นในอดีตตั้งแต่หมื่นปีไปจนถึงล้านปี และด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลที่เก็บได้กับชั้นดินที่พบเครื่องมือหินในแอฟริกาช่วยให้ Zhu สามารถกำหนดช่วงเวลาของหลักฐานที่พบในเมือง Shangchen ได้ โดย 6 ใน 96 ของเครื่องมือหินที่พบนั้นถูกฝังอยู่ในชั้นดินที่มีอายุเก่าถึง 2.12 ล้านปีก่อน
ใครเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องมือ?
เนื่องจากไม่มีฟอสซิลของโฮมินินใดๆ ถูกฝังอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณที่พบเครื่องมือหิน ดังนั้นจึงไม่ชัดเจนว่าใครเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องมือเหล่านี้
ทีมวิจัยสันนิษฐานว่ามนุษย์โฮโม อีเร็คตัส ผู้ประดิษฐ์เครื่องมือหินในเมือง Dmanisi ของจอร์เจีย น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเครื่องมือหินที่พบในจีน ทว่าฟอสซิลของมนุษย์สายพันธุ์นี้ที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยพบมามีอายุเพียงแค่ 1.8 ล้านปีเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าอายุของเครื่องมือหินจากเมือง Shangchen มาก
“มีความเป็นไปได้ว่าโฮโม อีเร็คตัสอาจเดินท่องไปบนผืนแผ่นดินจีนในเวลานั้น แต่จากช่วงอายุของเครื่องมือหินและชั้นดินที่พบแล้ว เป็นไปได้เหมือนกันว่าในเวลานั้นดินแดนดังกล่าวอาจถูกครอบครองโดยโฮโมสายพันธุ์อื่น เช่น โฮโม แฮบิลิส” Michael Petraglia นักบรรพมานุษยวิทยาจากสถาบันมักซ์พลังค์ ผู้ศึกษาเครื่องมือหินโบราณที่พบในทวีปเอเชียกล่าว
María Martinón-Torres ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์แห่งชาติสเปน หรือ CENIEH กล่าวเสริมว่ามันคุ้มค่าที่จะตามหาว่าใครคือเจ้าของเครื่องมือหินเหล่านั้น “ถึงเวลาแล้วที่ต้องยอมรับว่าตัวอย่างของโฮมินินทุกชิ้นที่พบในทวีปเอเชีย ใช่ว่าจะต้องเป็นโฮโม อีเร็คตัสเสมอไป” หลังการค้นพบจำนวนมากในเอเชียเผยการดำรงอยู่ของโฮโม อีเร็คตัสในอดีต “และฉันคิดว่าคำถามที่ว่าใครคือโฮมินินแรกแแห่งเอเชีย เรายังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน”
อย่างไรก็ดีมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับขนาดสมองของมนุษย์โฮโม อีเร็คตัส ซึ่งมีขนาดสมองเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น เมื่อเทียบกับมนุษย์สมัยใหม่ ซึ่งสร้างความงงงวยให้แก่นักวิชาการว่า เมื่อสองล้านปีก่อนมนุษย์โบราณที่มีสมองเล็กเหล่านี้เดินทางจากแอฟริกาไปถึงจีนได้อย่างไร
คำตอบของข้อสงสัยทั้งหลายเหล่านี้จะถูกคลี่คลายก็ต่อเมื่อมีการค้นพบและวิจัยใหม่ๆ ในอนาคต ด้าน Dennell เผยว่าปัจจุบันพวกเขาไม่สามารถขุดค้นทางโบราณคดีในเมือง Shangchen ได้อย่างเคย เนื่องจากหลายพื้นที่ถูกเปลี่ยนเป็นฟาร์ม แต่เชื่อว่าในพื้นที่อื่นๆ ของเอเชียจะต้องมีตัวอย่างที่น่าตื่นเต้นกำลังรอให้พวกเขาไปค้นพบอยู่อย่างแน่นอน
“เป็นเวลานานแล้วที่เอเชียไม่ได้อยู่ในลำดับแรกเท่าแอฟริกา เมื่อเราพูดถึงการหาคำตอบของวิวัฒนาการ” Martinón-Torres “แต่การวิจัยภาคสนามที่ผ่านมา ฉันค่อนข้างมั่นใจว่าเอเชียยังมีอะไรให้เราตื่นเต้นอีกมาก”
เรื่อง มิคาเอล เกรสโค
อ่านเพิ่มเติม