ภารกิจตามหาญาติของมนุษย์ฮอบบิท

ในแวบแรกโครงกระดูกที่ถูกค้นพบจากถ้ำ Liang Bua บนเกาะฟลอเรส ของอินโดนีเซียนี้ ดูคล้ายกับโครงกระดูกเด็ก เจ้าของกระดูกคือโฮมินินเพศหญิงที่มีความสูงเพียง 3.5 ฟุตเท่านั้น (ราว 1.06 เมตร) ทว่าเธอไม่ได้อยู่ในวัยเด็กแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้เธอพิเศษไม่ใช่แค่ความสูงอันน้อยนิดเมื่อเทียบกับโฮมินิดส์อื่นๆ เพราะเธอคือมนุษย์สายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน และได้รับการตั้งชื่อว่า โฮโม ฟลอเรเสียนซิส (Homo floresiensis) หรือ มนุษย์ฮอบบิทในเวลาต่อมา

การค้นพบนี้เกิดขึ้นในปี 2004 จุดประกายการถกเถียงถึงความเชื่อมโยงของสายพันธุ์มนุษย์โบราณนี้กับมนุษย์แคระที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน และล่าสุดผลการศึกษาใหม่โดย Richard E. Green ในงานวิจัยชื่อ “ปริศนาของมนุษย์ฮอบบิท” ได้ถูกเผยแพร่ลงในวารสาร Science

ในฐานะของนักชีววิทยาด้านสารสนเทศศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เมืองซานตาครูซ Green ร่วมมือกับทีมวิจัยต่างชาติเพื่อตรวจวิเคราะห์พันธุกรรมของชนเผ่าปิ๊กมี่ Rampasasa ที่อาศัยอยู่ใกล้กับถ้ำซึ่งค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์โฮโม ฟลอเรเสียนซิส หรือที่นิยมเรียกกันว่า มนุษย์ฮอบบิท โดยมีคำถามสำคัญคือดีเอ็นเอของมนุษย์ฮอบบิทจะยังปรากฏอยู่ในมนุษย์แคระที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันหรือไม่

“คำตอบของเรื่องราวมหากาพย์นี้สั้นนิดเดียวคือ ไม่” Green กล่าว “จากการวิจัยอย่างหนักที่ผ่านมา เราไม่พบหลักฐานใดๆ” ตรงกันข้ามดูเหมือนว่ามนุษย์ฮอบบิทจะแยกสายวิวัฒนาการออกมาจากมนุษย์กลุ่มอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อหลายหมื่นปีก่อน

 

“คนประหลาดที่น่าค้นหา”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทีมนักวิจัยรวบรวมเรื่องราวของมนุษย์โฮโม ฟลอเรเสียนซิส ดูเหมือนว่าโฮมินินเหล่านี้จะสืบทอดเชื้อสายมาจากมนุษย์โฮโม อีเร็กตัสที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในภูมิภาคนี้เมื่อหลายล้านปีก่อน ทั้งนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามนุษย์ฮอบบิทเดินทางมายังหมู่เกาะฟลอเรสได้อย่างไร แต่จากหลักฐานของขากรรไกรและฟันที่ค้นพบใกล้กับถ้ำนั้นบ่งชี้การมีตัวตนอยู่ของมนุษย์แคระมาตั้งแต่ 700,000 ปีก่อน ส่วนเรื่องราวของมนุษย์ฮอบบิทนั้นนักโบราณคดีเชื่อว่าพวกเขามีอายุอยู่ในช่วง 100,000 – 60,000 ปีก่อน ในขณะที่ผลการวิเคราะห์เครื่องมือหินระบุว่าพวกเขาอาจมีชีวิตอยู่ราว 190,000 – 50,000 ปีมาแล้ว

ทุกวันนี้ยังมีคนเชื่อว่ามนุษย์ฮอบบิทไม่ใช่มนุษย์สายพันธุ์ใหม่ แต่เป็นผู้มีภาวะดาวน์ซินโดรมหรือภาวะแคระ จึงเป็นสาเหตุของขนาดร่างกายที่เล็กกว่าปกติ สำหรับงานวิจัยล่าสุดนี้ต่อยอดมาจากผลการศึกษาในปี 2011 ซึ่งระบุว่ามนุษย์โฮโม ฟลอเรเสียนซิสเผชิญกับภาวะศีรษะเล็ก ส่งผลให้ร่างกายเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ด้าน Green ไม่เชื่อแนวความคิดนี้ และระบุว่างานวิจัยดังกล่าวมองข้ามความน่าสนใจอื่นๆ ไป

Douglas Hobbs นักโบราณคดีออกสำรวจถ้ำ Liang bua สถานที่ค้นพบโครงกระดูกของมนุษย์ฮอบบิท
ภาพถ่ายโดย Fairfax Media, Getty Images

และในปีเดียวกันนั้นเอง Green กำลังเริ่มต้นงานวิจจัยเรียงลำดับจีโนมของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล ในบางส่วนของการทำงานทีมวิจัยของเขาพบร่องรอยของยีนมนุษย์โบราณที่ปรากฏอยู่ในมนุษย์สมัยใหม่ การค้นพบนี้เป็นเรื่องใหม่ทางวิทยาศาสตร์ และนำมาสู่ความคิดที่ว่ามนุษย์ฮอบบิทเองก็อาจมีการผสมของยีนด้วยเช่นกัน

ดังนั้น Green และทีมวิจัย ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงทีมจากยุโรป, ออสเตรเลีย และอินโดนีเซีย จึงร่วมกันจัดลำดับและวิเคราะห์จีโนมของมนุษย์ปิ๊กมี่ เพื่อหาคำตอบว่าบรรพบุรุษของพวกเขามีส่วนผสมของยีนจากมนุษย์โฮโม ฟลอเรเสียนซิสหรือไม่

 

ล่าม 2 คนกับตัวอย่างจาก 32 ตัวอย่าง

นับตั้งแต่มนุษย์โฮโม ฟลอเรเสียนซิส ถูกค้นพบ ชนเผ่าปิ๊กมี่ Rampasasa เองก็เชื่อกันว่านั่นคือบรรพบุรุษของพวกเขา รายงานจาก Serena Tucci หนึ่งในนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน นอกจากนั้นพวกเขายังนำดอกไม้และอาหารไปถวายให้แก่ถ้ำที่ค้นพบอีกด้วย

ก่อนที่จะรวบรวมตัวอย่าง ทีมวิจัยต้องทำงานอย่างหนักในการอธิบายเป้าหมายของกระบวนการนี้ พวกเขาพึ่งพาล่ามสองคนในการแปลภาษาอังกฤษไปเป็นภาษาอินโดนีเซีย ก่อนที่ล่ามอีกคนจะแปลจากภาษาอินโดนีเซียไปเป็นภาษา Manggarai ซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่นอีกที นับเป็นโชคดีที่บรรดาชนเผ่าปิ๊กมี่ Rampasasa เองกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วม เนื่องจากพวกเขาต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของตนเองเช่นกัน

ในการรวบรวมข้อมูลทางพันธุกรรม ทีมนักวิจัยสุ่มเลือกผู้ใหญ่อาสาสมัครจำนวน 32 คน ให้พวกเขาถ่มน้ำลายลงในหลอดเก็บตัวอย่าง จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ทีมวิจัยลองวิเคราะห์ 10 ตัวอย่าง จากนั้นนำข้อมูลทางพันธุกรรมไปวิเคราะห์กับข้อมูลพันธุกรรมของประชากรจำนวน 225 คนจากเอเชียตะวันออก, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ปาปัวนิวกินี และอื่นๆ

แผนภาพแสดงความสูงเฉลี่ยของชาวอินโดนีเซีย (158 เซนติเมตร), ชาวปิ๊กมี่ที่อาศัยอยู่บนหมู่เกาะฟลอเรส (120 เซนติเมตร) และมนุษย์โฮโม ฟลอเรเสียนซิส (100 เซนติเมตร) ซึ่งเทียบเท่ากับเด็กชาวอเมริกันวัย 4 ขวบ
กราฟิกโดย Serena Tucci

ในตอนแรกทีมวิจัยกังวลว่าคำตอบของงานวิจัยที่ออกมาจะเป็นอะไรที่นักวิจัยเองไม่สามารถอธิบายได้หรือไม่? อย่างไรก็ดีผลการวิเคราะห์ที่ออกมาไม่เหมือนกับที่พวกเขาคาดการณ์ไว้โดยสิ้นเชิง

ผลการวิจัยพบว่าบรรพบุรุษของชนเผ่าปิ๊กมี่ Rampasasa มาจากดินแดนในโอเชียเนีย ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เกาะปาปัวนิวกินี, หมู่เกาะโซโลมอน และหมู่เกาะบิสมาร์ก ในขณะที่บางส่วนของยีนเองก็บ่งบอกว่ามาจากผู้คนในเอเชียตะวันออก นอกจากนั้นภายในข้อมูลทางพันธุกรรมของพวกเขายังประกอบด้วยยีนของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล และมนุษย์เดนีโซวัน (Denisovan) อีก 0.8% แต่กลับไม่พบร่องรอยของดีเอ็นเอมนุษย์ฮอบบิทแต่อย่างใด

 

เกิดอะไรขึ้นกับชาวปิ๊กมี่?

“ทุกๆ ที่ที่เราออกสำรวจ เราพบการผสมกลมกลืนกันของพันธุกรรม แม้แต่ในกลุ่มประชากรที่เราเชื่อกันว่าพวกเขาแตกต่างก็ตาม” Amy Goldberg นักพันธุศาสตร์ประชากรจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยกล่าว โดยในงานวิจัยล่าสุดนี้เธอระบุว่าเป็นหนึ่งในงานวิจัยทางพันธุศาสตร์สมัยใหม่ที่นักวิจัยไม่พบการผสมในสายเลือดใกล้ชิด (interbreeding) พร้อมยกย่องการทำงานของทีมนักวิจัย อย่างไรก็ดีเธอเชื่อว่าร่องรอยของมนุษย์ฮอบบิทยังคงอยู่ที่นั่น เพียงแต่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้ด้วยวิธีการในปัจจุบัน

“เราเชื่อว่ามีสิ่งประหลาดมากมายเกิดขึ้นบนเกาะนี้ค่ะ” Tucci อธิบาย ซึ่งสันนิษฐานว่าแหล่งอาหารที่แตกต่าง การขาดแคลนทรัพยากร ไปจนถึงผู้ล่าบนเกาะมีส่วนกดดันให้อัตราการเติบโตของประชากรบนเกาะแห่งนี้แตกต่าง กระบวนการนี้เรียกว่า Insular Dwarfism (การที่สัตว์นั้นๆ มีขนาดย่อลงเมื่อผ่านหลายชั่วอายุคน จากการกำจัดของพื้นที่) เช่นเดียวกันกับกรณีที่เกิดขึ้นกับมินิฮิบโป บนเกาะมาดากัสการ์ และกระดูกสัตว์ที่พบบนหมู่เกาะฟลอเรส ซึ่งเป็นญาติของช้างมาก่อน รวมไปถึงลักษณะนี้ยังทำให้สิ่งมีชีวิตมีขนาดใหญ่ขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ซึ่ง Tucci เล่าให้ฟังว่าหนูบนเกาะฟลอเรสนั้นมีขนาดตัวเท่าๆ กับแมวเลยทีเดียว

ทว่า Gerrit Van den Bergh จากมหาวิทยาลัย Wollongong ไม่เห็นด้วยกับทฤษฎีการหดตัวจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องจากยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากระบวนการ Insular Dwarfism นั้นเกิดขึ้นกับชาวปิ๊กมี่ Rampasasa จริง ทั้งนี้ชนเผ่าดังกล่าวเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จ ทั้งการอาศัยอยู่บนเกาะที่ทรัพยากรมีจำกัดทำให้การมีขนาดตัวที่เล็กลงอาจดีกว่า และกลายมาเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติในเวลาต่อมา

“กระบวนการ Insular Dwarfism เองก็ยังคงเป็นปริศนา” Green กล่าว “มันเป็นเพียงทฤษฎีหนึ่งทางวิทยาศาสตร์”

“ผลการศึกษานี้สำหรับฉันมันแสดงให้เห็นว่าความสูงมีองค์ประกอบที่ซับซ้อน” Sohini Ramachandran นักพันธุศาสตร์ประชากร จากมหาวิทยาลัยบราวน์ ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยกล่าว และประเด็นที่ว่าเหตุใดคามแคระแกร็นจึงถูกวิวัฒนาการมา เรื่องนี้ยังคงไม่มีคำตอบ งานวิจัยในอนาคตเกี่ยวกับพันธุกรรมศาสตร์อาจช่วยให้เราเข้าใจคุณลักษณะนี้ได้มากยิ่งขึ้น

ขณะนี้ทางทีมวิจัยกำลังพยายามสื่อสารผลการวิจัยกับบรรดาชนเผ่าปิ๊กมี่ Rampasasa “การช่วยให้พวกเขาได้คำตอบก็เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเช่นกัน” Tucci กล่าว และขณะนี้เธอกำลังทำงานร่วมกับกราฟิกชาวอินโดนีเซียเพื่อพัฒนาแผนภาพที่จะช่วยให้ชนเผ่าเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทว่ายังมีงานอีกมากที่ต้องทำ และเมื่อผลการวิจัยนี้ถูกเผิดเผยออกไป บรรดาชนเผ่าต้องมีคำถามมากมายตามมาแน่ เมื่อพวกเขารู้ว่าตนไม่ได้เป็นลูกหลานของมนุษย์ฮอบบิท และเรื่องราวของมนุษย์เหล่านี้ยังคงความลึกลับต่อไป…

เรื่อง Maya Wei-Has

 

อ่านเพิ่มเติม

พบ เครื่องมือหิน เก่าแก่ที่สุดนอกทวีปแอฟริกา

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.