พระราชพิธี บรมราชาภิเษก สองรัชกาล

พระราชพิธี บรมราชาภิเษก สองรัชกาล

เรียบเรียง  มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ

ภาพถ่าย  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เป็นเวลาถึง 69 ปีแล้วนับจากปีพุทธศักราช 2493 ที่พระราชพิธี บรมราชาภิเษก ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีครั้งหลังสุดเกิดขึ้นในแผ่นดินสยาม เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติอย่างเป็นทางการ (แม้โดยนัยจะถือว่าเสด็จขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 ก็ตาม) นับเป็นเรื่องมหาปีติสำหรับพสกนิกรชาวไทยอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นระหว่างวันที่  4-6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562

เราขอย้อนอดีตนำภาพถ่ายหาดูยากของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสองรัชกาล ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาฝากกัน

————————————————————————–

หลังสิ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยมหาราช” ในปลายปีพุทธศักราช 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธี บรมราชาภิเษก (ครั้งแรก) และเฉลิมพระราชมณเฑียรเต็มตามโบราณราชประเพณี ณ หมู่พระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2453 แต่งดการรื่นเริงใดๆ ด้วยบ้านเมืองยังคงโทมนัสอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง

พระราชโอรสทั้งห้าพระองค์ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหามาลาเส้าสูงและฉลองพระองค์ครุยกรองทอง ประทับพระราชยานเสด็จพระราชดำเนินถึงพลับพลาท่าราชวรดิฐ เพื่อเตรียมการเสด็จฯ โดยพยุหยาตราทางชลมารคเลียบพระนครตามโบราณราชประเพณี
(ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ต่อมาในวันที่ 2 ธันวาคม พุทธศักราช 2454 ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชขึ้นเป็นครั้งที่สอง ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โดยมีสมณสงฆ์ พระบรมวงศานวุงศ์  พระประมุข ประมุข และผู้แทนรัฐบาลต่างประเทศ เข้าร่วมใน พระราชพิธีอย่างล้นหลาม ถือเป็นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่และสมพระเกียรติแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทั่วโลกได้ประจักษ์ในขัตติยราชประเพณีแห่งกรุงสยาม

ต้นขบวนเสด็จพระราชดำเนินโดยพยุหยาตราทางสถลมารคออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังแล้วเสร็จพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช วันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2454  (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ )
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับบนรถพระที่นั่ง โดยมี “ย่าเหล” สุนัขที่ทรงรักยิ่งดั่งมิตรแท้อยู่ข้างพระวรกาย  (ภาพถ่าย: หอจดหมายแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงได้รับการศึกษาระดับสูงจากประเทศอังกฤษ ตลอดรัชสมัยที่ยาวนาน 15 ปี ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณูปการใหญ่หลวงนานัปการแก่ประเทศชาติ อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน) และทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาของพสกนิกร เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดงานการประพันธ์วรรณศิลป์เป็นอย่างมาก ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมประเภทต่างๆ ไว้ถึง 1,236 รายการ สมแล้วกับที่ปวงชนชาวไทยพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาภิไธยแด่พระองค์ว่า ”สมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า” หรือพระมหากษัตริย์ผู้เป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่

—————————————————————-

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์จอมพลทหารบก เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ทรงได้รับการศึกษาด้านวิชาการทหารจากประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์  (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ )

เมื่อสิ้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สยามประเทศในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญยิ่ง มีเหตุการณ์ที่กระทบต่อความอยู่รอดและความปกติสุขของบ้านเมือง ตลอดจนอาณาประชาราษฎร์ เกิดขึ้นไม่ว่างเว้น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งส่งผลกระทบต่อสยามประเทศอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทำให้ต้องทรงลดทอนงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์และราชสำนัก กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลิกและรวมหน่วยงานเข้าด้วยกัน ตลอดจนดุลข้าราชการให้พอเหมาะกับงาน แม้จะทรงเตรียมการเพื่อนำพาประเทศเข้าสู่ยุคสมัยแห่งประชาธิปไตยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หลังจากทรงครองราชสมบัติได้เพียง เจ็ดปีเศษ กลุ่มบุคคลคณะหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร” ก็ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับความเปลี่ยนแปลงนี้ด้วยน้ำพระทัยเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวและเสียสละอย่างหาที่สุดมิได้ กระนั้นการเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัยก็หาได้ราบรื่น ดังจะเห็นได้จากความขัดแย้งแย่งชิงอำนาจในหมู่คณะราษฎร และเหตุการณ์กบฏบวรเดช เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468 ขณะเจริญพระชนมายุ 32 พรรษา ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2468 (นับตามปฏิทินปัจจุบันคือพุทธศักราช 2469) (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
แตรวงนำขบวนเสด็จฯเลียบพระนครผ่านถนนสนามไชย (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พุทธศักราช 2477 ระหว่างประทับรักษาพระเนตรอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ ข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาสะท้อนให้เห็นถึงน้ำพระทัยแห่งความเป็นนักประชาธิปไตยโดยแท้ ”ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร…”

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงเจิมพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในวันสถาปนา ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2468  (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พุทธศักราช 2461 และต่อมาเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ทรงสถาปนาพระชายาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี (ภาพถ่าย: หอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

อ่านเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : สารคดีเกี่ยวกับเมืองไทยเรื่องแรกในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.