ภาพเก่าเล่าเรื่อง: ย้อนอดีต รถไฟไทย

ภาพเก่าเล่าเรื่อง: ย้อนอดีต รถไฟไทย

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สี่ ประชาชนชาวสยามมีความตื่นเต้นเป็นอันมากในความก้าวหน้าของการคมนาคมรูปแบบใหม่ที่รวดเร็วที่สุดในสมัยนั้น เมื่ออุปทูตในคณะของเซอร์จอห์น เบาริง ได้อัญเชิญเครื่องราชบรรณาการจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร เป็นขบวนรถไฟจำลองที่ย่อส่วนจากของจริง มาน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปลายเดือนมีนาคม พุทธศักราช 2398 ถือเป็นการปรากฏโฉมครั้งแรกของรถไฟบนแผ่นดินสยามประเทศ

เรียบเรียง  มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ

ภาพถ่าย  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ครั้นล่วงเข้าสู่แผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ล้นเกล้า รัชกาลที่ห้า ประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษและฝรั่งเศสได้แผ่แสนยานุภาพไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมักยกเหตุแห่งการเข้ายึดครองดินแดนว่าเป็นการนำความเจริญมาสู่ประเทศเหล่านั้น

ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชประสงค์ในการทำนุบำรุงบ้านเมืองเพื่อให้รอดพ้นจากการถืออ้างดังกล่าว และยังสยามให้มีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกด้าน หนึ่งในนั้นคือการคมนาคมทางรถไฟ ซึ่งเป็นการคมนาคมทางบกที่รวดเร็ว สามารถบรรทุกสินค้าและคนโดยสารได้เป็นจำนวนมาก และถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญของบ้านเมืองในยุคนั้น

สถานีรถไฟกรุงเทพฯ หรือสถานีหัวลำโพง เปรียบได้กับศูนย์กลางของการเดินรถไฟในสยาม ในยุคที่การคมนาคมขนส่งทางบกเริ่มได้รับความนิยมแทนที่แม่น้ำลำคลอง
พนักงานรถไฟโพสท่าถ่ายรูปกับตู้โดยสารซึ่งในยุคแรก ๆ ยังใช้ไม้เป็นส่วนประกอบอยู่มาก

ล่วงถึงวันที่ 9 มีนาคม พุทธศักราช 2434 เป็นวันที่ได้เริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศ คือ กรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นทางกว้าง 1.435 เมตร การก่อสร้างทางรถไฟครั้งนี้ไม่เพียงยังผลให้การคมนาคมในสยามประเทศเจริญรุดหน้าขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยรักษาพระราชอาณาเขตในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นการป้องกันสยามจากการคุกคามของฝรั่งเศสที่รุกคืบกดดันอย่างหนักหน่วง ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์ข้อพิพาท ร.ศ. 112 การขยายเส้นทางรถไฟมุ่งสู่จังหวัดใหญ่อย่างนครราชสีมาจึงถือเป็นยุทธศาสตร์ทางทหารที่สำคัญประการหนึ่ง อีกทั้งการสำรวจจัดทำเส้นทางรถไฟยังเป็นการเปิดภูมิประเทศครั้งใหญ่ ทำให้พื้นที่ที่เคยรกร้างว่างเปล่าได้รับการพัฒนา ผู้คนสามารถสัญจรไปมาถึงกันได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจกระจายสู่หัวเมืองน้อยใหญ่ในภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างทั่วถึง

เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาจนสามารถเปิดเส้นทางเดินรถไฟได้บางช่วงแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางรางและตรึงหมุดเชื่อมทางรถไฟสายปฐมฤกษ์ระหว่างกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา รวมระยะทาง 71 กิโลเมตร ในวันที่ 26 มีนาคม พุทธศักราช 2439 และเปิดเดินรถอย่างเต็มรูปแบบในเส้นทางรถไฟหลวง กรุงเทพฯ – นครราชสีมาเมื่อปีพุทธศักราช 2443

เจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องระดมสรรพกำลังทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน เพื่อเร่งซ่อมแซมทางรถไฟที่มักได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก เพื่อให้สามารถกลับมาเดินรถได้ตามปกติ (ภาพนี้และภาพล่าง) เป็นภาพเหตุการณ์ที่ยังคงเกิดขึ้นจวบจนถึงปัจจุบัน

 

การบุกเบิกและพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางรถไฟ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปีพุทธศักราช 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเส้นทางรถไฟสายใต้จากคลองบางกอกน้อย (สถานีธนบุรี) ถึงเมืองเพชรบุรี เป็นทางขนาดกว้างหนึ่งเมตรระยะทาง 150 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในปีพุทธศักราช 2442 และแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พุทธศักราช 2446

ต่อมาเมื่อการขนส่งสินค้าทางรถไฟได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ จึงได้มีการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้เพิ่มเติม เป็นการปรับปรุงกิจการรถไฟให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นไปอย่างคึกคัก

จวบจนวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 120 ปีแล้วที่รถไฟไทยสายแรกในสยามได้เคลื่อนขบวนบรรทุกความเจริญจากกรุงเทพมหานครสู่ทุกภูมิภาค ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลแห่งพระปิยมหาราชโดยแท้

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การเดินทางโดยรถไฟถือเป็นการคมนาคมที่ปลอดภัยที่สุดรูปแบบหนึ่ง แต่อุบัติเหตุก็เกิดขึ้นได้เสมอ
รถปั้นจั่นที่ใช้ในการกู้ภัย เคลื่อนย้าย และเปิดเส้นทางในยุคแรกๆ ขับเคลื่อนด้วยพลังไอน้ำ

อ่านเพิ่มเติม

เปิดภาพเก่าของหลากหลายห้องเรียนทั่วโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.