น้ำท่วมกรุงเทพ พุทธศักราช 2485

 น้ำท่วมกรุงเทพ พุทธศักราช 2485

สยามประเทศได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ นครหลวงอย่างกรุงเทพฯนั้นเล่าก็ได้ฉายาว่า เวนิสแห่งโลกตะวันออกเพราะมากด้วยลำคลองน้อยใหญ่ ทุกปีเมื่อถึงฤดูน้ำหลาก แม่น้ำลำคลองเอ่อท้นล้นฝั่งเข้าท่วมเรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนผู้คนจนต้องระดมความช่วยเหลือกันเป็นการใหญ่ แม้จะเดือดร้อนไปทั่วทุกหย่อมหญ้า แต่ชาวสยามก็ขึ้นชื่อว่าสามารถปรับตัวได้เป็นเลิศ ดังสะท้อนให้เห็นในภาพเก่าเล่าเรื่องชุด น้ำท่วมกรุงเทพ  พุทธศักราช 2485

เรียบเรียง มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ

ภาพถ่าย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

สิบปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง สังคมไทยในพุทธศักราช 2485 ถือเป็นยุคแห่งการปรับตัวของประชาชนในหลายๆ ด้าน บ้านเมืองตกอยู่ในภาวะลำบากยากเข็ญจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ลุกลามไปทั่วโลก การถือกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในปีเดียวกัน ทำให้ประเทศชาติเกิดความระส่ำระสาย เพราะผู้นิยมในลัทธิต้องการแบ่งแยกดินแดน รัฐบาลที่นำโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม จึงต้องปราบปรามการก่อการร้ายเพื่อรักษาความมั่นคงและอธิปไตยภายในพระราชอาณาจักร นอกจากประกาศนำนโยบาย ”รัฐนิยม” มาใช้เพื่อปลุกใจคนไทยให้รักชาติแล้ว อนุสรณ์สถานการเมืองและการศึกสงครามที่สำคัญ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ล้วนเกิดขึ้นในยุคสมัยนี้เช่นกัน

ขณะที่ความบอบช้ำของภัยสงครามยังไม่ทันจางหาย ปลายเดือนกันยายน ปีเดียวกันนั้นเอง ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แผ่ขยายไปทั่วทั้งฝั่งพระนครและธนบุรี เมื่อน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ต้องรองรับน้ำปริมาณมหาศาลจากทางเหนือในยุคที่ยังไม่มีเขื่อนใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ เอ่อท้นเข้าท่วมจนหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯกลายสภาพไปไม่ต่างจากทะเลสาบกลางเมือง ระดับน้ำบางแห่งสูงกว่าสองเมตรครึ่ง ทำให้เกิดข้อจำกัดในการคมนาคมทางบก เช่น รถไฟ รถรางและรถเมล์

กระนั้น ท่ามกลางความเสียหายจากภัยธรรมชาติที่กินเวลาประมาณเดือนเศษนี้ ผู้คนโดยเฉพาะคนหนุ่มคนสาวดูจะตื่นตาตื่นใจและเพลิดเพลินไปกับการสัญจรหลักทางเรือเป็นอย่างมาก นัยว่าเป็นวิธีผ่อนคลายจากนานาปัญหาของประชาชนอย่างหนึ่งในสมัยนั้น

หน้าสถานีรถไฟหัวลำโพงดูคึกคักจอแจ ระดับน้ำที่สูงเพียงครึ่งน่องทำให้ผู้คนสามารถสัญจรผ่านไปมาได้อย่างไม่ลำบากมากนัก รถรายังพอวิ่งให้บริการรับส่งผู้โดยสารได้ แต่สำหรับผู้โดยสารรถไฟก็ได้อาศัยเรือจ้างขนสัมภาระชักลากเข้าออกจากตัวสถานีพอไม่ให้ข้าวของเสียหาย ด้านขวาของภาพเป็นหัวรถเมล์สายสีเขียว เส้นทางคลองเตย-หัวลำโพง
การยืนตรงเคารพธงชาติทั้งเช้าเย็นเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยพึงปฏิบัติตามประกาศรัฐนิยมในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เว้นแม้ยามน้ำท่วมเช่นนี้
ถนนและตรอกซอกซอยย่านบางลำพูกลายสภาพไปไม่ต่างจากลำคลอง จนผู้คนต้องเดินด้วยเท้าหรือใช้เรือพายแทนรถ
พระลานพระราชวังดุสิตที่น้ำท่วมสูงระดับเอว คลาคล่ำไปด้วยบรรดาเรือแจวของหนุ่มสาวและเรือจ้างนำเที่ยว
ขณะที่พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพุทธ ซึ่งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ก็มีสภาพไม่ต่างกันเท่าไรนัก
เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบาดแก่ประชาชนผู้ประสบภัย
ชายสวมหมวกกะโล่ตามรัฐนิยมเข้าแถวรับแจกข้าวสารจากทุนทรัพย์ส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีจอมพล ป. พิบูลสงครามเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย
ด้านหน้าโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุงระดับน้ำไม่สูงมากนัก ถ้าไม่เดินลุยน้ำหรือนั่งเรือแจว ผู้คนก็ยังสามารถใช้บริการรถเมล์ที่ยังคงแล่นได้อย่างช้าๆ เมื่อรถแล่นผ่านที เรือก็โคลงที เพราะคลื่นน้ำ
หลักกิโลเมตรที่ศูนย์ของไทย ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนินทั้งสายในวันที่น้ำเอ่อท้นจนดูคล้ายทะเลสาบใหญ่กลางพระนคร
เรือจ้างกลายเป็นอาชีพที่ทำเงิน เพราะสามารถพายรับส่งผู้โดยสารแทนรถเมล์และรถราง และล่องไปได้ทุกที่ เช่นท้องสนามหลวงอย่างในภาพ

 


อ่านเพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : บอกลาเวนิสตะวันออก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.