เสด็จประพาสต้น ตามรอยพระบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

เสด็จประพาสต้น 

ตามรอยพระบาท สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง

เรียบเรียง มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ

ภาพถ่าย หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

สยามประเทศมีการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่ามกลางความระส่ำระสายที่ลุกลามไปทั่วภูมิภาคจากการรุกคืบไล่ล่าอาณานิคมของมหาอำนาจชาติตะวันตก แต่ด้วยพระปรีชาสามารถและพระวิสัยทัศน์อันยาวไกลของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง สยามก็สามารถธำรงรักษาเอกราชและอธิปไตยมาได้ตราบชั่วลูกชั่วหลาน  นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก  ขอเชิญคุณผู้อ่านร่วมชื่นชมพระบารมีในภาพถ่ายชุด เสด็จประพาสต้น ที่หาดูได้ยากยิ่ง

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายที่พลับพลาปากแพรก เมื่อครั้งเสด็จประพาสไทรโยค เมืองกาญจนบุรี พุทธศักราช 2431 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองกาญจนบุรีต่างวาระกันถึงห้าครั้ง

ตลอดรัชสมัยอันยาวนานของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจบริหารราชการแผ่นดินอย่างไม่เคยว่างเว้น และแม้จะมีเจ้านายและข้าราชการตามหัวเมืองทำงานต่างพระเนตรพระกรรณ แต่พระองค์ก็มิได้ทรงทอดทิ้งราษฎร กลับเสด็จพระราชดำเนินอย่างเป็นทางการเพื่อทอดพระเนตรสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรอยู่เนืองนิจ และทรงหาทางพัฒนาบ้านเมืองในด้านต่างๆอย่างทั่วถึง

พสกนิกรจากทั่วทุกสารทิศแห่แหนลอยเรือมารอรับเสด็จ และเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อชื่นชมพระบารมี ที่ท่าน้ำศาลาวัด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อันเป็นต้นทางในการเสด็จประพาสต้นทางชลมารค
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองราชบุรี พุทธศักราช 2447 ด้านหลังมีป้ายผ้าเขียนข้อความภาษาอังกฤษเพื่อรับเสด็จ

นอกจากนี้ ยังได้เสด็จประพาสต้นเป็นการส่วนพระองค์ถึงสองครั้งสองครา เพื่อฟื้นฟูพระพลานามัย และสำราญพระอิริยาบถ ตามคำแนะนำของแพทย์หลวง การเสด็จประพาสต้นครั้งแรกเกิดขึ้นในปีรัตนโกสินทรศก 123 (พุทธศักราช 2447) และครั้งที่สองในปีรัตนโกสินทรศก 125 (พุทธศักราช 2449) ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ครั้นเมื่อสยามได้ตราพระราชบัญญัติทาสรัตนโกสินทรศก 124 ให้ทาสทุกคนเป็นไทแก่ตัวทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ครั้งนั้น พสกนิกรได้ชื่นชมพระบารมีอย่างใกล้ชิดและเป็นกันเอง พระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์เยี่ยงสามัญชน ประทับแรม และเสวยพระกระยาหารอย่างเรียบง่าย หลายโอกาสได้ทรงคลุกคลีปะปนไปกับราษฎรโดยไม่แสดงพระองค์ ทำให้ทรงเข้าพระทัยถึงความยากลำบากในการปรับตัวของพสกนิกรหลังการเลิกทาส ตลอดจนได้ทรงสัมผัสกับประเพณีท้องถิ่นและวิถีชีวิตของไพร่ฟ้าทุกหมู่เหล่าด้วยพระองค์เอง

พระบรมฉายาลักษณ์ (ประทับหัวแถว ซ้ายสุด) ทรงฉายร่วมกับพระบรมวงศานุวงศ์  เจ้านาย และข้าราชบริพาร ระหว่างการเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง เมืองกำแพงเพชรพุทธศักราช 2449
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ทรงพระมาลา) ประทับบนเรือชะล่า ลอยเคียงเรือพระที่นั่งสุวรรณวิจิก มณฑลนครสวรรค์ พุทธศักราช 2449
ราษฎรเมืองนครศรีธรรมราชรำมโนราห์ถวายให้ทอดพระเนตร ในวันสมโภชพระบรมธาตุ พุทธศักราช 2444

ตลอดระยะเวลากว่าสี่ทศวรรษแห่งรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จประพาสทั่วทุกสารทิศ ทั้งในพระราชอาณาจักรและต่างประเทศ เพื่อยังคุณูปการสู่แผ่นดินสยามให้ก้าวทันทัดเทียมนานาอารยประเทศในทุกด้าน สมแล้วที่มหาชนชาวสยามพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาภิไธยว่า “พระปิยมหาราช” พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งและประทับอยู่ในดวงใจของปวงชนตราบนิรันดร์

พระบรมรูปทรงม้าที่พสกนิกรชาวไทยพร้อมใจสร้างถวาย เนื่องในอภิลักขิตสมัยที่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 40 ปี ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่า ณ พระลานพระราชวังดุสิต ให้ปวงชนชาวไทยน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระปิยมหาราช”

 


 อ่านเพิ่มเติม

พระราชพิธี บรมราชาภิเษก สองรัชกาล

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.