การถ่ายภาพ กับชาวสยาม ภาพเก่าเล่าเรื่อง

การถ่ายภาพ กับชาวสยาม

เรียบเรียง มธุรพจน์ บุตรไวยวุฒิ 

ภาพถ่าย  หอจดหมายเหตุแห่งชาติ

ภาพเก่าเล่าเรื่องตอน การถ่ายภาพ กับชาวสยาม :  นับแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สยามประเทศเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกมากขึ้น บ้านเมืองเกิดการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงให้ทันสมัย เฉกเช่นชาติคู่ค้าเรื่อยมาตามลำดับ ครั้นล่วงเข้าสู่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สยามเกิดการพัฒนาถึงขีดสุดในหลายด้าน ละทิ้งธรรมเนียมโบราณที่ดูล้าหลัง ปลูกฝังธรรมเนียมใหม่ให้เป็นไปตามสากลนิยม เช่น ยกเลิกระบบไพร่ทาส เปิดโอกาสให้สามัญชนได้เล่าเรียนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย และใช้หลักการแพทย์สมัยใหม่ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคต่างๆ ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ทำให้ชาวสยามมีชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้นเป็นอันมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงถ่ายภาพบุรุษในชุดเสื้อครุยปักและสวมลอมพอกดูคล้ายพระยาแรกนา
เจ้าจอมเอิบผู้พี่ (คนหน้า) และเจ้าจอมเอื้อนผู้น้อง สองในห้าเจ้าจอมก๊กออในรัชกาลที่ 5 ผู้มีฝีมือในการถ่ายภาพ กำลังตั้งกล้องถ่ายรูปเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ผู้เป็นบิดา ในชุดของผู้มีฐานันดรศักดิ์เป็นเจ้าพระยา

การได้รับพระราชทานโอกาสให้ไปศึกษาเล่าเรียนยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศทางยุโรป ทำให้ได้พบเห็นความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตลอดจนการที่ชาวตะวันตกเข้ามามีบทบาทหน้าที่ทางราชการมากขึ้น ทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ เจ้านาย ขุนนาง และชนชั้นสูงในสยามกลายเป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของสยามในระยะแรก ธรรมเนียมนิยมต่าง ๆ จึงมักเริ่มจากในรั้วในวังและกลุ่มชนชั้นนำในสังคม ก่อนจะแพร่หลายไปสู่ประชาชน ความนิยมด้าน การถ่ายภาพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็เช่นกัน

ภาพสตรีไม่ทราบนามแต่งกายชุดกระโปรงยาว สวมหมวกปีกกว้าง สวมรองเท้า และถือถุงมือยาวอย่างฝรั่งเมืองหนาว แสดงถึงวัฒนธรรมการแต่งกายในโลกตะวันตกที่เริ่มแพร่หลายเข้ามาในสยามเมื่อกว่าร้อยปีมาแล้ว
การแต่งกายแบบลำลองของชายไทย นุ่งกางเกงจีนใส่เสื้อคอกลม  คาดเข็มขัดหรือผ้าขาวม้าเคียนพุง  สันนิษฐานว่าเป็นยุคก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

การบันทึกเรื่องราวของบ้านเมือง โดยอาศัยการถ่ายภาพและกล้องถ่ายภาพ ในสมัยนั้นถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการขยายเส้นทางรถไฟจากพระนครสู่หัวเมืองน้อยใหญ่ทั่วประเทศ และการเสด็จประพาสต้นเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร เพราะเพียงการมีพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงบนเครื่องบูชาประจำเรือนในสมัยนั้น ก็ถือเป็นการกระจายความอุ่นใจสู่พสกนิกร โดยเฉพาะในยามที่สยามมีภัยจากการล่าอาณานิคมคุกคามอยู่รอบด้าน

 


อ่านเพิ่มเติม

น้ำท่วมกรุงเทพ พุทธศักราช 2485

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.