นักโบราณคดีตกตะลึงหลังค้นพบถ้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมของชาวมายาที่ไม่เคยมีใครแตะต้องมาก่อน

นักสำรวจ Guillermo de Anda จากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก เพ่งมองไปยังกองศิลปวัตถุซึ่งใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของ อารยธรรมมายา ในถ้ำบาลัมกู ณ คาบสมุทรยูกาตาน ประเทศเม็กซิโก โดยโบราณวัตถุเหล่านี้มิได้ถูกแตะต้องเป็นเวลาอย่างน้อย 1,000 ปี

ภาพถ่ายโดย KARLA ORTEGA

นักโบราณคดีตกตะลึงหลังค้นพบถ้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมของชาวมายาที่ไม่เคยมีใครแตะต้องมาก่อน

การสำรวจถ้ำบาลัมกู (ถ้ำแห่งเทพเสือจากัวร์) เผยให้เห็นถึงพิธีกรรมทางศาสนาโบราณ

ซึ่งอาจให้เบาะแสถึงต้นกำเนิดและการล่มสลายของจักรวรรดิมายา

ระหว่างที่นักโบราณคดีค้นหาบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ซึ่งอยู่ใต้นครโบราณชีเซนอิตซา (Chichén Itzá) ณ คาบสมุทรยูกาตาน ประเทศเม็กซิโก กลับมีสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เมื่อพวกเขาค้นพบกรุศิลปวัตถุที่ใช้ประกอบพิธีกรรมมากกว่า 150 รายการ ซึ่งไม่ถูกแตะต้องมาเป็นเวลากว่าพันปี การค้นพบถ้ำที่รู้จักกันในชื่อ บาลัมกู (Balamku) หรือ “เทพเสือจากัวร์” นี้ ได้รับประกาศโดยสถาบันมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์แห่งเม็กซิโก (National Anthropology and History Institute) ในงานแถลงข่าวที่จัดขึ้น ณ กรุงเม็กซิโกซิตี

ถ้ำแห่งนี้ถูกค้นพบครั้งแรกโดยชาวไร่ชาวนาท้องถิ่นเมื่อปี 1966 จากนั้น นักโบราณคดีนาม Víctor Segovia Pinto ซึ่งเป็นผู้เขียนรายงานระบุถึงการมีอยู่ของโบราณวัตถุจำนวนมาก ได้เข้ามาในพื้นที่ภายหลัง แต่แทนที่จะขุดค้นทางโบราณคดี เขากลับบอกให้ชาวบ้านปิดกั้นทางเข้าถ้ำเสีย  ทำให้บันทึกหรือหลักฐานการค้นพบในครั้งนั้นหายไปด้วย

บาลัมกูถูกปิดผนึกมาเป็นเวลากว่า 50 ปี จนกระทั่งถูกเปิดอีกครั้งในปี 2018 โดยนักสำรวจเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก Guillermo de Anda และทีมนักวิจัยจากโครงการ Great Maya Aquifer ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้ได้รับเงินทุนสนับสนุนส่วนหนึ่งจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

หินงอกก่อตัวขึ้นรอบๆ ศิลปวัตถุที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เช่น กระถางธูป ซึ่งทำเป็นรูปจำลองของพิรุณเทพ

De Anda เล่าว่าเขาต้องคืบคลานไปเรื่อยๆ ผ่านอุโมงค์อันคับแคบของบาลัมกูเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนที่ไฟฉายคาดศีรษะจะส่องกระทบกับบางสิ่งอย่างไม่คาดคิด เบื้องหน้าของเขาคือเครื่องเซ่นสรวงที่ถูกทิ้งไว้โดยชาวเมืองโบราณแห่งชีเซนอิตซากองเรียงรายเป็นทางยาว ของเหล่านี้ถูกเก็บรักษาอย่างดี ถึงขนาดที่เกิดหินงอกขึ้นรอบๆ บริเวณแห่งนี้ ซึ่งเกลื่อนกล่นไปด้วยกระถางธูป แจกัน จานตกแต่ง และศิลปวัตถุอื่นๆ

“ผมพูดแทบไม่ออก น้ำตาผมเริ่มไหล จากที่ผมได้วิเคราะห์ซากศพมนุษย์ในชีเซนอิตซา แต่กลับไม่มีอะไรเทียบกับความรู้สึกที่ผมได้เข้าไปโดยลำพังเป็นครั้งแรกในถ้ำนั้น”  De Anda เล่า

ศิลปวัตถุอื่นๆ เท่าที่ค้นพบในถ้ำบาลัมกู มีทั้งจาน หินบด และวัตถุซึ่งทำจากหยก

โอกาสครั้งที่สองซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

หากต้องการเข้าไปเยี่ยมชมห้องประกอบพิธีกรรมทางศาสนาห้องที่ 1 จากทั้งหมด 7 ห้อง ที่อยู่ภายในถ้ำบาลัมกู นักโบราณคดีจะต้องคืบคลานไปตามทางเดินอันคดเคี้ยว ในรายงานต้นฉบับเกี่ยวกับถ้ำทางโบราณคดี Segovia ได้ระบุถึงศิลปวัตถุจำนวน 155 รายการ ซึ่งมีรูปใบหน้าของพิรุณเทพ ‘ลาล็อค’ และวัตถุโบราณชิ้นอื่นๆ ซึ่งมีสัญลักษณ์คือ ต้นนุ่นอันศักดิ์สิทธิ์อันเป็นตัวแทนที่ทรงพลังของจักรวาลมายา

ทำไม Segovia ถึงตัดสินใจปิดทางเข้าถ้ำด้วยเล่า  คำถามนี้กลายเป็นประเด็กถกเถียงที่ไม่จบสิ้น แต่การกระทำเช่นนี้ถือเป็น “โอกาสครั้งที่สอง” สำหรับนักวิจัยเพื่อใช้ตอบคำถามที่น่าสงสัยที่สุด ซึ่งเกิดจากการโต้เถียงกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านอารยธรรมมายา เช่น เกิดอะไรขึ้นกับอารยธรรมมายา ก่อนการล่มสลายของนครชีเซนอิตซา

นักโบราณคดีเชื่อว่า น้ำเหล่านี้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งเทพเจ้าแห่งยมโลกจะได้รับการอ้อนวอนในช่วงเวลาเกิดภัยแล้ง

นักวิจัยจากโครงการ Great Maya Aquifer ชี้ว่า การค้นพบถ้ำบาลัมกูในครั้งนี้เป็นโอกาสให้ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ของโบราณคดีภายในถ้ำ เช่น การทำแผนที่ 3 มิติและบรรพพฤกษศาสตร์ โดยบรรดาข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้สามารถให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับพิธีกรรมในถ้ำมายา เช่นเดียวกับประวัติความเป็นมาของเมืองชีเซนอิตซา

ชาวมายาในท้องถิ่นยังคงสักการบูชาถ้ำต่างๆ รวมทั้งพ่อมดหมอผีก็ยังคงถวายของบูชาให้กับเทพผู้พิทักษ์แห่งบาลัมกู พร้อมกับขอให้ช่วยปกปักรักษานักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปสำรวจภายในถ้ำ

“บาลัมกูไม่เพียงแต่บ่งบอกถึงช่วงเวลาแห่งการล่มสลายของชีเซนอิตซาเท่านั้น แต่ยังอาจบ่งบอกถึงช่วงเวลาแห่งการก่อกำเนิดอีกด้วย” De Anda

เรื่อง GENA STEFFENS

***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย 


อ่านเพิ่มเติม

อารยธรรมโบราณ : เมื่อเด็กตกเป็นเหยื่อบูชายัญ

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.