กองขยะอายุ 1,500 ปี เผยข้อมูลน่าทึ่งเกี่ยวกับการล่มสลายของเมือง

เนินเขาที่ดูไม่มีอะไรเลยแห่งนี้ ในอดีตเคยเป็น กองขยะ ขนาดใหญ่ของชาวเมืองเอลูซา ซึ่งเป็นเมืองโบราณที่มั่งคั่ง

ภาพถ่าย GUY BAR-OZ 

กองขยะอายุ 1,500 ปี เผยข้อมูลน่าทึ่งเกี่ยวกับการล่มสลายของเมือง

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า เมืองเอลูซา, ศูนย์กลางการค้าไวน์อันโด่งดังยุคโรมัน ล่มสลายลงเนื่องจากอิทธิพลของอิสลาม แต่กองขยะจำนวนมหาศาลที่พบกลับเผยเหตุผลที่แตกต่างออกไป

เมื่อราว 1,500 ปีก่อน เมืองเอลูซา รุ่งเรืองขึ้นทางตอนใต้ของจักรวรรดิโรมันตะวันออก (ไบแซนไทน์) ในบริเวณที่ปัจจุบันคือ ทะเลทรายเนเกฟ ประเทศอิสราเอล เมืองเอลูซาประกอบไปด้วยผู้พักอาศัยจำนวนกว่า 20,000 คน และภายในหมู่บ้านก็ยังมีทั้งโรงละคร โรงอาบน้ำสาธารณะ โบสถ์ โรงงานผลิตงานฝีมือ และนวัตกรรมระบบการจัดการน้ำที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับพลเมือง ที่สำคัญคือ สินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงที่สุดอย่าง ไวน์กาซา (Gaza) เหล้าองุ่นขาวราคาสูงซึ่งส่งข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังท่าเรืออันไกลโพ้น ณ ประเทศฝรั่งเศส

แต่ระยะเวลาภายในสองศตวรรษนั้น เมืองเอลูซาก็ล่มสลายและได้ทิ้งตึกราบ้านช่องโบราณไว้ให้กับชนรุ่นหลัง หรือข้าวของต่างๆ ที่ฝังไว้ใต้เนินทราย

เม็ดมะกอกที่ค้นพบจากกองขยะในเมืองเอลูซา เผยให้เห็นถึงอาหารการกินของชาวเมือง

นักประวัติศาสตร์เชื่อกันโดยทั่วไปว่าระบบสังคมและเศรษฐกิจแบบไบแซนไทน์ในภูมิภาคเนเกฟนั้นเสื่อมลงในช่วงที่ศาสนาอิสลามรุ่งเรืองขึ้นช่วงกลางศตวรรษที่สิบเจ็ด ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น ข้อจำกัดในการผลิตไวน์อันเป็นสินค้าที่สร้างรายได้จำนวนมหาศาลและเป็นการค้าที่สำคัญของเมืองเอลูซา

อย่างไรก็ตาม นักโบราณคดีที่ศึกษาแหล่งทิ้งขยะของเมืองเอลูซากลับพบว่า ความเสื่อมถอยของเมืองเกิดขึ้นเกือบ 100 ปีก่อนที่อิทธิพลของอิสลามจะเข้ามาในพื้นที่ ในระหว่างนั้นถือว่าเป็นยุคทองของไบแซนไทน์ ส่วนสาเหตุของปัญหาคืออะไรกันแน่? คำตอบคือ การปะทุของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างรุนแรง

เมื่อขยะกลายเป็นขุมทรัพย์

Guy Bar-Oz, ศาสตราจารย์ด้านสัตววิทยาโบราณแห่งมหาวิทยาลัยไฮฟาและทีมนักวิจัย ร่วมกันสรุปผลของการขุดค้นขยะที่ยังคงมองเห็นได้ในเขตชานเมืองเอลูซา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) เมื่อไม่นานมานี้

การขุดค้นในครั้งนี้เกิดจากความกังขาของ Bar-Oz เกี่ยวกับการล่มสลายของสังคมไบแซนไทน์ ในภูมิภาคเนเกฟ ซึ่งเป็นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่เขาสังเกตว่ามันขาดหายไปจากหนังสือ Collapse: How Societies Choose to Fail or Succeed เพื่อหาเบาะแส นักวิจัยจึงเพ่งเล็งไปที่กองขยะในเมืองเอลูซา โดยให้เหตุผลว่า การสิ้นสุดลงของบริการเก็บขยะน่าจะบ่งบอกถึงการสะดุดหยุดลงของกลไกการทำงานภายในเมือง

หลังจากการขุดค้นลึกลงไปยังชั้นของขยะ เช่น เถ้าถ่านจากกองไฟ กระดูกจากเนื้อและปลา เมล็ดพืชจากองุ่นและมะกอก วัสดุก่อสร้างที่ถูกทิ้ง และเศษไหไวน์ นักวิจัยจึงค้นพบว่า กองขยะหลักที่ถูกทิ้งในเมืองนั้นหยุดรับขยะใหม่เข้ามาเมื่อราวๆ ปี 550

“เรารู้สึกประหลาดใจมาก เพราะเราคาดไว้ว่าช่วงเวลาที่กองขยะถูกทิ้งน่าจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นนานมาก” – Bar-Oz กล่าว

ภาพถ่ายระยะใกล้ของกองขยะในเมืองเอลูซา นักโบราณคดีขุดค้นกองขยะเหล่านี้เพื่อชี้ชัดลงไปว่า โครงสร้างทางสังคมของเมืองล่มสลายเมื่อราวๆ ปี 550

การเก็บขยะที่สิ้นสุดลงสัมพันธ์กับข้อมูลใหม่ๆ ในวิทยาศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าช่วงกลางศตวรรษที่หกเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากในพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปและเอเชีย

ในปี 2016 กลุ่มของนักวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Ulf Büntgen, ศาสตราจารย์ด้านการวิเคราะห์ระบบสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้กล่างถึงช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างรวดเร็วที่ถูกมองข้ามไป ซึ่งก็คือยุคน้ำแข็งน้อยปลายสมัยโบราณ (Late Antique Little Ice Age) โดยเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ปี 536 ถึงประมาณ 660

นักวิจัยชี้ว่า เหตุการณ์ทางสภาพภูมิอากาศอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ทางสังคม ที่เริ่มขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่หก ตั้งแต่การขยายตัวของประชากรชาวสลาฟไปทางตะวันตกสู่ภาคพื้นทวีปยุโรป ไปจนถึงการล่มสลายของจักรวรรดิเติร์กตะวันออกในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ยุคน้ำแข็งน้อยปลายสมัยโบราณยังอาจทำให้เกิดโรคระบาดครั้งยิ่งใหญ่ที่มีการบันทึกไว้ครั้งแรกของโลก ซึ่งเรียกว่า กาฬโรคแห่งจัสติเนียน (Plague of Justinian) ซึ่งได้แพร่กระจายไปทั่วภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียนตั้งแต่ปี 541

การเชื่อมโยงปรากฏการณ์สิ่งแวดล้อมระยะยาวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ต่อเนื่องยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทาย และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถจำลองสภาพได้อย่างแน่ชัดว่า ยุคน้ำแข็งน้อยปลายสมัยโบราณส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเนเกฟอย่างไร ตัวอย่างเช่น สภาพอากาศที่เย็นลงอย่างรวดเร็วอาจเป็นหายนะสำหรับพืชผลในไอร์แลนด์และสแกนดิเนเวีย แต่ Büntgen กล่าวว่าสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งเฉกเช่น ทะเลทรายเนเกฟ อาจได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

เปลือกหอยที่ขุดค้นขึ้นมาจากกองขยะเมืองเอลูซา สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ผู้คนทิ้งไว้เมื่อ 1,500 ปีก่อน

“เรารู้ว่าศตวรรษที่หกประสบกับปัญหาการระเบิดของภูเขาไฟอย่างรุนแรง ซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างฉับพลัน ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือการเริ่มต้นการระบาดของโรคกาฬโรคครั้งแรก” – Kyle Harper, ผู้เขียนหนังสือ The Fate of Rome: Climate, Disease, and the End of an Empire กล่าว

“การศึกษาชิ้นนี้เป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงเหล่านี้ มันสร้างความปั่นป่วนให้แก่สังคมต่างๆ ในยุคนั้น” – Harper กล่าวเสริม

เรื่อง MEGAN GANNON

***แปลและเรียบเรียงโดย กุลธิดา ปัญญาเชษฐานนท์
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม

โครงกระดูกหนูนับพันชิ้น พลิกประวัติเรื่องราวมนุษย์ฮอบบิท

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.