มรดกบาปแห่งสงคราม

อาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งบางส่วนเป็นวัตถุระเบิดที่ยังไม่ ระเบิดในลาว ถูกทำลายในปี 2012 เพื่อทำให้ท้องทุ่งแห่งนี้ปลอดภัย


สหรัฐอเมริกาทิ้ง ระเบิดในลาว มากกว่าสองล้านตัน ระหว่างปี 1964 ถึง 1973 ในช่วงสงครามเวียดนาม เทียบเท่ากับการทิ้งระเบิดด้วยเครื่องบินทุกๆ 8 นาที ติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปีเต็ม ชาติเล็กๆแห่งนี้ฟื้นตัวจาก การทำลายล้างครั้งนั้นได้อย่างไร

เรื่อง ที. ดี. ออลแมน
ภาพถ่าย สตีเฟน วิลก์ส

ตลอดช่วงเวลาหลายวันบนทุ่งไหหิน ผมพยายามเก็บภาพ คิดคำ พูดเปรียบเปรย ตกผลึกความคิดที่สามารถสื่อความหมาย ของความเป็นลาว ชาติที่ถูกทิ้งระเบิดถล่มมากที่สุดชาติหนึ่งในประวัติศาสตร์  แต่สามารถหยัดยืนและก้าวต่อไปจนพบอนาคตอันสดใส  สุดท้ายผมพบสิ่งที่ตามหาบนถนนสายหลักอันจอแจในโพนสะหวัน  เมืองเอกของแขวงเชียงขวางนั่นคือเปลือกระเบิดกองมหึมาที่หลงเหลือจากยุทธศาสตร์ทิ้งระเบิดของสหรัฐฯในลาว

ครั้งหนึ่งผู้คนในแขวงเชียงขวางแห่งนี้ต้องใช้ชีวิตหลบๆ ซ่อนในถ้ำและอุโมงค์อยู่นานหลายปี ทุกวันนี้โพนสะหวันเป็นเมืองคึกคักถึงขนาดต้องมีไฟจราจรพร้อมจอดิจิทัลบอกให้คนเดินเท้ารู้ว่ามีเวลาข้ามถนนกี่วินาที สองฝั่งถนนเรียงรายไปด้วยร้านรวง ธนาคาร และตลาดสด ทว่าสิ่งที่อยู่เคียงคู่บรรดาคนโทหินขนาดใหญ่อันโด่งดังแห่งทุ่งไหหิน คือเศษซากจากสงครามทางอากาศของสหรัฐฯที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 1964 จนถึงปี 1973 ซากอดีตเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว กองเปลือกระเบิดกองนั้นตั้งอยู่หน้าสำนักงานการท่องเที่ยวของท้องถิ่น

ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนคล้ายลูกระนาดสลับกับที่ราบและทุ่งหญ้า บางส่วนของทุ่งไหหินจึงดูละม้ายสนามกอล์ฟขนาดมหึมา บ่อทรายหลายแห่งเกิดจากห่าระเบิดที่ทิ้งลงมา มีนับล้านๆลูกที่ระเบิดตูมตาม ขณะที่อีกหลายล้านลูกไม่ระเบิดและกลายเป็นภัยถาวร โดยเฉพาะต่อผู้ประกอบการชาวลาวที่หาเงินจากการเก็บกู้โลหะมีค่าจากลูกระเบิดด้าน

หลุมระเบิดที่เกิดจากการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ซึ่งมักใช้เป็นบ่อเลี้ยงปลาหรือเก็บน้ำไว้ใช้รดพืชผล กระจายอยู่ทั่วทุ่งนาในแขวงเชียงขวาง การทิ้งระเบิดถล่มต่อเนื่องหลายปี ไม่สามารถขับไล่กองกำลังคอมมิวนิสต์ออกจากลาวได้

“ยินดีต้อนรับสู่นายเพด  นาเพีย ผู้ผลิตช้อนและกำไล” เป็นข้อความบนป้ายโฆษณาติดอยู่หน้าบ้านของเพด นาเพีย ที่บ้านนาเพีย ภายในโรงหล่อหลังบ้าน เพดหลอมอะลูมิเนียมจากเปลือกอาวุธยุทธภัณฑ์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกปืนครก และเศษโลหะต่างๆที่หาได้ในท้องถิ่น จากนั้นก็เทลงในเบ้าหล่อเพื่อผลิตพวงกุญแจรูปลูกระเบิดและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร  ดูเหมือนว่าภัตตาคารในท้องถิ่นล้วนแล้วแต่มีช้อนส้อมและตะเกียบที่ทำจากเศษเหล็กจากสมัยสงคราม

ผลตอบแทนจากความอุตสาหะของเพดปรากฏในรูปของบ้านหลังใหม่ ทีวีติดจานดาวเทียม และแสงสว่างจากไฟฟ้า เพดเป็นช่างฝีมือผู้มีหัวการค้าเช่นเดียวกับชาวลาวจำนวนมาก แต่เขายังต้องพยายามทำความเข้าใจกับความคิดที่ว่า ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีนั้น  ค่าใช้จ่ายไม่ได้หมดลงเมื่อเราจ่ายเงินซื้อของอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จานนี้รับได้ 60 ช่องเชียวนะครับ เพดบอกระหว่างที่เรายืนชื่นชมจานดาวเทียมของเขา ”แต่เราต้องจ่ายค่าไฟกันอีก” โทรศัพท์มือถือของเขาช่วยดึงลูกค้าใหม่ๆมาให้ ”แต่ถึงจะซื้อโทรศัพท์นี่แล้ว คุณก็ยังต้องจ่ายเงินถึงจะใช้พูดคุยได้” เขาว่า

เปลือกระเบิดทำาหน้าที่เป็นเสาค้ำเล้าไก่หลังหนึ่งในแขวงเชียงขวาง และยังมีมูลค่าในฐานะเศษเหล็กอีกด้วย แต่การแสวงหามาย่อมหมายถึงความเสี่ยง เมื่อปี 2012 วัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดคร่าชีวิตชาวลาว  15 คน และทำาให้บาดเจ็บอีก 41 คน

ย้อนหลังไปหลายสิบปีก่อน ขณะยืนอยู่ริมฝั่งแม่นํ้าโขงในกรุงเวียงจันทน์ ผมครุ่นคิดถึงคำถามหนึ่งที่รู้ว่าคงไม่มีวันตอบได้ นั่นคือ เพราะเหตุใดผู้คนที่ดูเป็นคนมีเหตุผล เช่น อเมริกันชนอย่างผม จึงอุตริคิดไปได้ว่าตนจะชนะสงครามในเวียดนามได้โดยใช้ลาวเป็นเป้าการทำลายล้างเช่นนั้น ตอนที่ผมเขียนข่าวว่ามีสงครามลับดำเนินอยู่ในลาว เรื่องนี้กลายเป็นข่าวพาดหัวไปทั่วโลก

ในความเป็นจริง การแทรกแซงทางทหารของสหรัฐฯในลาวซึ่งเริ่มต้นขึ้นในช่วงทศวรรษ 1950 และยืดเยื้อไปจนถึงปี 1974 ไม่เคยเป็นความลับอะไรเลย ทุกคนในประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นแม่ค้าขายดอกบัวในตลาดเช้า หรือเด็กหนุ่มรับจ้างถีบสามล้อ ล้วนรู้เรื่องราว ไม่เฉพาะแค่เรื่องเส้นทางโฮจิมินห์ [Ho Chi Minh Trail–เส้นทางลำเลียงผู้คน อาหาร กำลังพล และยุทโธปกรณ์สำคัญในช่วงสงครามเวียดนาม] แต่ยังรวมถึงเรื่องกองทัพลับของซีไอเอและการทิ้งระเบิดถล่มเป้าหมายพลเรือนอย่างลับๆโดยสหรัฐฯ และยังรู้เรื่องการที่สหรัฐฯเข้าไปพัวพันกับการค้าฝิ่นอีกด้วย

ในปี 1968  หรือ “ปีแห่งการโจมตีในวันตรุษญวน” (Tet Offensive) ในเวียดนาม ผมซึ่งตอนนั้นเป็นผู้สื่อข่าววัย 23 ปีนั่งรถแท็กซี่ลงขันกันเช่าจากที่ลุ่มแม่นํ้าโขงไปยังที่ราบสูงบอละเวน เครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯส่งเสียงกรีดแหลมข้ามหัวผมไป ตรงขอบฟ้าแถวชายป่า ผมเห็น
ร่างในชุดพรางวิ่งหลบกันลนลาน นั่นเป็นครั้งเดียวในช่วงสงครามที่ผมเห็นกองทหารเวียดนามเหนือกับตาตัวเอง รวมถึงเครื่องบินรบของสหรัฐฯ ทิ้งระเบิดลงมาจริงๆ

(อ่านต่อหน้า 2)

พอไปถึงปากซอง อดีตเมืองด่านหน้าของฝรั่งเศสที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกกาแฟ  ผมเดินเรื่อยเปื่อยเข้าไปในบาร์ร้างแห่งหนึ่ง ภาพเขียนบนฝาผนังแสดงภาพเหล่าเจ้าของไร่ ขณะกำลังผ่อนคลายอยู่ท่ามกลางแม่หญิงลาว ตอนนั้นมืดแล้ว และสัญญาณของชีวิตเพียงอย่างเดียวมาจากบ้านหลังเล็กที่อยู่ติดกับโบสถ์ฝรั่งเศสหลังเก่า  ภายในบ้านหลังนั้น ผมพบบาทหลวงฝรั่งเศสผู้มีขาข้างเดียวกำลังดื่มวิสกี้อยู่ ท่านกำลังอ่านหนังสือที่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสเรื่องหน่วยรบพิเศษกรีนเบเรต์ (The Green Berets) ซึ่งเป็นเรื่องแต่งบอกเล่าวีรกรรมของทหารอเมริกันกลางป่าดง ”ตกลง
สงครามเวียดนามเป็นแบบนี้ใช่ไหมคุณ” ท่านเอ่ยถาม 

ผมอยากกลับไปเยือนปากซองอีกครั้งมาหลายสิบปีแล้ว ผมรู้ว่าบาทหลวงท่านนั้นคงไม่อยู่ที่นั่นแล้ว แต่ผมไม่ได้คาดคิดว่าเมืองปากซองดั้งเดิมก็อันตรธานไปแล้วเช่นกันหลังเดินเตร็ดเตร่เข้าไปที่นั่นเมื่อปี 1968  ฝูงเครื่องบิน บี-52 ได้ทิ้งระเบิดปูพรมทั่วเมืองปากซองถึงสองครั้ง ตอนนี้มีซากมุมตึกดำ เป็นตอตะโกกองเดียวเท่านั้นที่ยังหลงเหลืออยู่

ระหว่างยุทธการทิ้งระเบิดครั้งนั้น ชาวเขาซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของลาวประสบเคราะห์กรรมใหญ่หลวง ลูกระเบิดไม่แยกแยะว่าใครเป็นฝ่ายคอมมิวนิสต์ ใครเป็นฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ พอๆ กับที่ไม่แยกแยะว่าใครเป็นทหาร ใครเป็นเด็ก

ระหว่างที่การทิ้งระเบิดหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ บรรดาแม่หญิงลาวใช้ความชำนาญในการเย็บปักถักร้อยและการต่อผ้าเป็นสื่อบอกเล่ามหันตภัยจากฟากฟ้า ผลงานศิลปะขนาดเท่ากำแพงของพวกเธอซึ่งมีทั้งภาพเด็กๆเลือดอาบ พืชผลท่ามกลางกองไฟ และสิงสาราสัตว์ตื่นตระหนก อาจเป็นงานศิลปะที่เทียบชั้นได้กับภาพจิตรกรรมฝาผนังต่อต้านสงครามที่ชื่อ “เกร์นีกา” ของปาโบล ปีกัสโซ เลยทีเดียว เคีย ทีชา ซึ่งบอกผมว่า เธออายุ 58 ปี อาศัยอยู่ที่บ้านนาอูน ซึ่งเป็นหมู่บ้านผู้อพยพชาวม้งใกล้หลวงพระบางมานานกว่า 17 ปีแล้ว เธอคลี่ผลงานชิ้นเอกยุคหลังสงครามชิ้นหนึ่งของเธอให้ผมดู งานชิ้นนั้นถ่ายทอดความงามของสรวงสวรรค์บนดินที่ซึ่งสายนํ้างามระยับยังคงรวยริน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวขจี  และสรรพสัตว์แปลกตาล้วนเริงร่าอยู่ใต้ดวงอาทิตย์อันการุณย์หลากเฉดสี เศษผ้าฝ้ายลายจุดเมื่ออยู่ในมือเธอจะกลายเป็นยีราฟ ผ้าขี้ริ้วสีนํ้าเงินกลายเป็นลำห้วยไหลริน

พอผมขอดูงานชิ้นอื่นๆ เธอก็บอกว่าไม่ได้ทำงานชิ้นใหญ่ขนาดนี้อีกแล้ว ”นักท่องเที่ยวไม่อยากได้งานชิ้นใหญ่ๆแบบนี้อีกแล้วค่ะ” พวกเขาอยากได้งานเย็บปักถักร้อยราคาไม่แพงที่ใส่กระเป๋าหิ้วกลับบ้านได้ เดี๋ยวนี้ฉันเลยทำแต่ของชิ้นเล็กๆที่ขายถูกหน่อย” เธอไม่ได้ตัดสินว่าความเปลี่ยนแปลงล่าสุดนี้ดีเลวอย่างไร เพียงแต่กำลังดิ้นรนให้อยู่รอดในยุคปลอดสงคราม เช่นที่เคยเอาชีวิตรอดผ่านสงครามมาได้ด้วยการยอมรับว่า อะไรจำเป็นต้องทำ ก็ทำสิ่งนั้น

มีพื้นที่ในทุ่งไหหินเพียงไม่กี่จุดที่ได้รับการเก็บกู้วัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิดออกไปจนหมดแล้ว และปลอดภัยสำาหรับนักท่องเที่ยว นักโบราณคดีบางคนสันนิษฐานว่า ไหยักษ์อายุ 2,000 ปีเหล่านี้ ใช้บรรจุร่างผู้ตายในพิธีฝังศพ

สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยแปรเปลี่ยนในลาว คือความร้อนอบอ้าวระหว่างการเดินทาง การเสาะหาเครื่องดื่มเย็นๆ พาผมไปถึงร้านสะดวกซื้อของเข็มจัน คำ ซาว บนถนนเส้นเหนือ-ใต้ที่ตัดเข้าสู่หลวงพระบาง ตู้แช่เครื่องดื่มประตูกระจกเชิญชวนให้ผมเข้าไป  แต่กลับกลายเป็นถังขยะสีเขียวเข้มของเธอที่ทำให้เราเริ่มสนทนากัน ด้วยขาตั้ง (ป้องกันสัตว์รบกวน) รูปทรงสวยงาม ตัวถังอ้วนใหญ่ และฝาปิดมิดชิด ถังขยะของเข็มจันดูสวยสง่าและใช้สอยได้ดี “ถังขยะพวกนี้ทำจากยางรถบรรทุกเก่าๆค่ะ” เธออธิบาย

เช่นเดียวกับช้อนและกำไลของเพด นาเพีย ถังขยะนี้คือตัวอย่างหนึ่งของความช่างคิดของชาวลาวในการแปรของทิ้งขว้างให้กลายเป็นของใช้สอยได้ชีวิตของเธอเองก็สร้างขึ้นจากซากปรัก เข็มจันมีพื้นเพมาจากย่านที่ถูกทำลายย่อยยับย่านหนึ่งในแขวงคำม่วนของลาวตอนกลาง ที่ซึ่งหลายพื้นที่ยังดาษดื่นไปด้วยวัตถุระเบิดที่ยังไม่ระเบิด หรือยูเอกซ์โอ (Unexploded Ordnance : UXO) จนผู้คนที่นั่นไม่สามารถทำไร่ไถนาได้

เมื่อที่ดินของครอบครัวไม่สามารถใช้ประโยชน์ เธอกับสามีจึงอพยพมาอยู่ในย่านกว้างขวางริมถนนสายนี้ 12 ปีต่อมา ชีวิตของทั้งคู่กลายเป็นตัวอย่างเรื่องราวความสำเร็จของชาวลาวร้านค้าของพวกเขาตั้งอยู่ที่ชั้นล่างของบ้านหลังใหม่ สามีเธอมีรายได้จากการเป็นคนงานก่อสร้างของโครงการชลประทานในเมืองวังเวียงซึ่งอยู่ห่างออกไปทางเหนือ 105 กิโลเมตร ลูกๆ ทั้งสามของพวกเขาเข้าเรียนโรงเรียนรัฐสองคนหลังเรียนที่โรงเรียนในท้องถิ่น ส่วนคนโตเรียนอยู่ที่เวียงจันทน์เข็มจันกับครอบครัวเคยอยู่ท่ามกลางดงระเบิด มาตอนนี้พวกเขาอยู่ท่ามกลางกองเงิน แต่พวกเขาก็พบว่าเงินตราก็นำภัยมาถึงตัวได้เช่นกัน

เมื่อผมตั้งข้อสังเกตว่า ลูกชายเธอน่าจะได้รับการศึกษาที่ดีกว่าในเมืองหลวง เธอตอบว่า “ไม่ใช่ค่ะ นั่นไม่ใช่เหตุผลที่เราส่งเขาไป ฉันให้เขาไปอยู่เวียงจันทน์เพื่อให้อยู่ห่างๆจากพวกพ่อค้ายาต่างหากค่ะ” สงครามยาเสพติดเปิดฉากขึ้นเมื่อปี 1989 โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้ให้ทุนในการกวาดล้างฝิ่น พอถึงปี 2006 ลาวก็ประกาศว่าเป็นประเทศปลอดฝิ่น แต่เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว ความนิยมในเมทแอมเฟตามีน (ยาบ้า) และยาเสพติดอื่นๆ ก็ตามมา ลาวเป็นศูนย์กลางสำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาค ที่ส่งผ่านยาเสพติดจำพวกยาบ้า เฮโรอีน และฝิ่น ซึ่งกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง และพื้นที่ในชนบทก็ได้รับผลกระทบหนักเป็นพิเศษ

(อ่านต่อหน้า 3)

ในลาว เมื่ออุณหภูมิลดตํ่ากว่า 20 องศาเซลเซียส ผู้คนจะคว้าเสื้อหนาวและหมวกไหมพรมมาสวมใส่ บ้างก่อไฟผิงซึ่งเป็นการเริ่มต้นฤดูแห่งความตาย คืนก่อนปีใหม่ปีหนึ่ง สหายสามคนในเชียงขวางออกไปตั้งค่ายพักแรม คืนนั้นอากาศหนาวพวกเขาจึงก่อไฟขึ้นมากองหนึ่ง คนหนึ่งเสียชีวิตทันทีเมื่อระเบิดที่อยู่ใต้พื้นเต็นท์ระเบิดขึ้น อีกคนหนึ่งพิการสาหัส ผมแวะไปเยี่ยมเยอร์ เฮอร์ ซึ่ง เป็นเหยื่อรายที่สามที่บ้านของเขาในหมู่บ้าน เด็กหนุ่มวัย 18 ปีถอดเสื้อออกเพื่อให้ผมดูแผลเป็น 19 แห่งบนแผ่นหลัง

ในหมู่บ้านของเยอร์ ชาวบ้านมีไฟฟ้า ทีวีดาวเทียม และโทรศัพท์มือถือ ผู้เป็นแม่ ภรรยา พี่สาว น้องสาว และลูก ดูเหมือนจะมีสามี พี่ชาย น้องชาย หรือไม่ก็ลูกสาวตัวน้อยที่พิการหรือตายเพราะระเบิดสัญชาติอเมริกันที่ตกค้างหลังสงครามจบสิ้นไปนานแล้ว ที่โรงเรียนมัธยมในท้องถิ่น เด็กๆเรียนพีชคณิตบนกระดานดำแก้สมการที่เห็นไม่ได้เลยสักข้อ ซึ่งหมายความว่าวัยรุ่นลาวในหมู่บ้านห่างไกลแห่งนี้กำลังเรียนคณิตศาสตร์ขั้นสูงกว่าที่ผมเคยเรียนในวัยเดียวกัน พอกลับบ้านในสหรัฐฯ ผมนำรูปกระดานดำที่ว่าไปให้นักคณิตศาสตร์ดู “เป็นสมการวิเคราะห์ความเร็วของวัตถุที่กำลังตกลงมา อย่างเช่นระเบิดน่ะครับ” เขาเฉลย

สงครามไม่ได้ก่อความเสียหายให้สวนพระ (Buddha Park) ซึ่งเป็นสวนปฏิมากรรมพระพุทธรูปคอนกรีตและเทวรูปในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่ใกล้กรุงเวียงจันทน์ รายได้จากการท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตของประเทศ

สหรัฐฯ ทิ้งระเบิดพวง (cluster bomblet) หรือบอมบี้ (bomby) ถล่มลาวรวมแล้วมากกว่า 270 ล้านลูกหรือเท่ากับมากกว่าหนึ่งลูกต่อชาย หญิง และเด็กทุกคนในสหรัฐฯ รวมกันในเวลานั้นแล้วยังมีระเบิดลูกใหญ่ๆ อีกสี่ล้านลูกนํ้าหนักของระเบิดทั้งหมดรวมแล้วมากกว่านํ้าหนักของคนทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในลาวมากมายหลายเท่า ซึ่งในเวลานั้นลาวอาจมีประชากรเพียงสองล้านคน

ในช่วงสงครามเวียดนาม วอชิงตันประกาศ “หยุดทิ้งระเบิดชั่วคราว” เป็นระยะๆ แต่สายพานลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์จากโรงสรรพาวุธในสหรัฐฯ ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทาง 12,000 กิโลเมตร ไม่อาจเปิดๆปิดๆได้ ระเบิดที่ไม่ได้ไปตกในเวียดนามถูกเปลี่ยนเส้นทางให้ไปตกที่ลาวแทน นับเป็นสงครามที่ขับเคลื่อนโดยอุปทานสงครามครั้งแรกของโลก อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สะสมไว้จนล้นโกดังก่อให้เกิดความต้องการนำ ออกไปใช้ตลอดเวลา นอกจากนี้การผลิตสินค้า “ความตายทางอากาศ” ในปริมาณมหาศาลเช่นนี้ยังไม่มีการควบคุมคุณภาพใดๆ เป็นไปได้ว่าอาจมีบอมบี้มากถึง 80 ล้านลูกที่ไม่ระเบิดเมื่อตกถึงพื้นแต่ยังถือว่าระเบิดได้ ขณะที่ระเบิดขนาดใหญ่มากถึงร้อยละสิบก็ไม่ระเบิดเช่นกัน

ตอนที่องค์กรเก็บกู้ระเบิด (Mines Advisory Group) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักรเปิดชั้นเรียนให้ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของยูเอกซ์โอ เด็กนักเรียนต่างตั้งใจฟัง  ขณะเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายบอกเล่าเรื่องราวของบาดแผลทั้งทางจิตใจและร่างกาย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ถามเด็กๆ ว่า พวกเขาอยากพูดอะไรถ้าได้เจอคนทิ้งระเบิดเหล่านั้น เด็กชายตัวน้อยคนหนึ่งยกมือขึ้น  “ผมจะบอกว่าพวกเขาควรจ่ายสตางค์ให้เราครับ” รัฐสภาสหรัฐฯ เจียดงบประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2014 ไว้สำหรับงานเก็บกู้ยูเอกซ์โอ อาคารที่ทำการสถานทูตสหรัฐฯหลังใหม่ในลาวใช้งบประมาณก่อสร้าง 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ความแตกต่างของงบสองก้อนนี้สะท้อนให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญของสหรัฐฯ นั่นคือ ความมุ่งมั่นที่ดูสมเหตุสมผลในการเพิ่มความปลอดภัยให้นักการทูตอเมริกัน แต่ขณะเดียวกันก็แทบไม่เหลียวแลความรับผิดชอบในอดีตที่ตนก่อไว้ในลาว

ชาวลาวเกือบทุกคนเป็นเจ้าของโทรศัพท์มือถือ และประชากรราวหนึ่งในสามมีอายุต่ำกว่า 15 ปี ความเป็นคนช่างคิดและมุ่งมั่นของชาวลาวกำาลังขับเคลื่อนประเทศให้หลุดจากบัญชีรายชื่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุดขององค์การสหประชาชาติภายในปี 2020

จิตวิญญาณของชาวลาวไม่เคยถูกยึดครอง ไม่ว่าจะโดยคนต่างชาติหรือผู้นำประเทศของตน ในอนาคต ชาวลาวจะยังคงเปลี่ยนอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับพวกเขาให้เป็นงานศิลปะที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวันต่อไป เพราะพวกเขามีพรสวรรค์อันยิ่งใหญ่ในการมองเห็นประโยชน์ใช้สอยและความงาม

ขณะที่คนอื่นมองเห็นแต่การทำลายล้างและขยะ ระหว่างสงครามทางอากาศในครั้งนั้น ช่างฝีมือชาวลาวนำถังนํ้ามันของเครื่องบินทิ้งระเบิด บี-52 ที่ถูกปลดระวางมาดัดแปลงเป็น “เรือหางยาวบี-52” ในยุคสังคมบริโภคของเราที่มากด้วยอาหารจานด่วนและ ขยะไม่ย่อยสลายตามธรรมชาติ ผมเห็นกระป๋องมันฝรั่งยี่ห้อพริงเกิลส์กลายเป็นเชิงเทียนไหว้พระที่วัดหลังโรงแรมล้านช้างในเวียงจันทน์

นอกจากภาชนะบรรจุอาหารจานด่วนแล้ว สถานสักการะแห่งนี้ยังใช้หินแม่นํ้าโขงมาตกแต่งผสมผสานกับรากไม้มงคล เพื่อสื่อถึงศรัทธาอันแรงกล้าได้อย่างงดงามลงตัวใกล้สนามบินหลวงพระบาง ผมได้เห็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตในลาวพบหนทางที่จะเจริญงอกงามต่อไปได้เสมออย่างไร นั่นคือเถาไม้เลื้อยที่เกี่ยวกระหวัดรอบสายไฟของเสาอากาศที่ซีไอเอเคยใช้ส่งข้อมูลลับในช่วงสงคราม แม้ว่าของขวัญแห่งชีวิตนี้จะไม่อาจลบล้างบาดแผลในอดีตที่ยังคงติดตามหลอกหลอนอยู่ในปัจจุบันให้ลบเลือนหายไปได้ก็ตาม


อ่านเพิ่มเติม ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้กรณีเขื่อนลาวแตก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.