เชลย ทาส ชาวแอฟริกา 109 คน รอดจากการเดินทางอันทรหดนานหกสัปดาห์จากแอฟริกาตะวันออกไปยังแอละแบมาในระวาง (hold) เรือที่แออัด เรือที่มีจุดประสงค์เดิมคือการขนส่งสินค้าลำนี้มีการออกแบบและขนาดที่โดดเด่น ซึ่งช่วยให้นักโบราณคดีระบุซากของเรือได้
เรือ โคลทิลดาลักลอบนำเชลยชาวแอฟริกันไปยังสหรัฐฯ ในปี 1860 หรือกว่า 50 ปีหลังการออกกฎหมายห้ามนำเข้าทาส
นักโบราณคดีทางทะเลค้นพบเรือใบ (Schooner) นาม โคลทิลดา (Clotilda) ซึ่งใช้ลักลอบนำเข้า ทาส จากแอฟริกามายังสหรัฐฯ เมื่อปี 1860 หรือหลังจากประเทศดังกล่าวห้ามนำเข้าทาสมากว่า 50 ปี นักโบราณคดีค้นพบเรือดังกล่าวในแม่น้ำโมบีล รัฐแอละบามา หลังจากการค้นหาอย่างไม่ลดละกว่าหนึ่งปี และการค้นพบครั้งนี้เติมเต็มความฝันยาวนานหลายชั่วอายุคนให้บรรดาลูกหลานของทาสที่รอดชีวิตจากเรือลำดังกล่าว
“ลูกหลานผู้รอดชีวิตของโคลทิลดาฝันถึงการค้นพบครั้งนี้มาหลายชั่วอายุคน” Lisa Demetropoulos Jones ผู้อำนวยการบริหารของคณะกรรมการประวัติศาสตร์แอละแบมา (Alabama Historical Commission – AHC) และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ประวัติศาสตร์ประจำรัฐ (State Historic Preservation Officer) กล่าว “พวกเราตื่นเต้นที่จะประกาศว่าความฝันของพวกเขาเป็นจริงแล้ว”
โคลทิลดาเป็นหนึ่งในเรือไม่กี่ลำที่ถูกค้นพบ จากเรือนับพันที่ขนส่งทาสชาวแอฟริการาว 389,000 คนข้ามมหาสมุรแอตแลนติกไปยังสหรัฐฯ ในช่วงปี 1600 ถึง 1860 และ “การค้นพบโคลทิลดาเปิดเผยถึงบทที่หายสาบสูญไปจากประวัติศาสตร์ของอเมริกาขึ้นมาใหม่” เฟรดริก ฮีเบิร์ต (Fredrik Hiebert) นักโบราณคดีประจำสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟิก ซึ่งสนับสนุนการค้นหาในครั้งนี้ กล่าว “และการค้นพบครั้งนี้ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญสำหรับเรื่องราวของแอฟริกาทาวน์ (Africatown) ซึ่งเป็นเมืองที่ลูกหลานผู้ทรหดจากเรือค้าทาสลำสุดท้ายของอเมริกาสร้างขึ้น”
เรื่องราวพื้นหลัง
เรื่องราวเกี่ยวกับโคลทิลดาเริ่มขึ้นเมื่อ ทิโมที เมเฮอร์ (Timothy Meaher) เจ้าของที่ดินและนักต่อเรือผู้ร่ำรวยในโมบีล พนันว่าเขาจะสามารถลักลอบนำทาสชาวแอฟริกามายังอ่าวโมบีลได้โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่รู้ เขาออกใบอนุญาตให้กัปตัน วิลเลียม ฟอสเตอร์ (William Foster) ต่อเรือลำดังกล่าว และนำไปซื้อเชลยที่ Ouidah ในประเทศเบนินในปัจจุบัน
ฟอสเตอร์ได้เผาเรือทิ้งเพื่อทำลายหลักฐานหลังจากที่เขาส่งทาสลงเรือล่องแม่น้ำ และโคลทิลดาได้รักษาความลับเรื่องนี้ไว้นานหลายทศวรรษ ในขณะที่คนบางกลุ่มกล่าวว่าเรื่องน่าอับอายครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานของเรื่องนี้จากทั้งเจ้าของทาสและตัวทาสเอง โดย Sylviane Diouf นักประวัติศาสตร์ชื่อดังด้านการพลัดถิ่นของชาวแอฟริกา และผู้เขียนหนังสือ Dreams of Africa in Alabama ซึ่งบันทึกเรื่องราวของโคลทิลดา กล่าวว่า “มีการวาดภาพ สัมภาษณ์ หรือแม้แต่ถ่ายภาพทาส [ที่เรือลำนี้ขนส่งมา]” “ผู้จัดการเดินทางพูดถึงเรื่องนี้ กัปตันเรือพูดถึงเรื่องนี้ เราจึงมีเรื่องราวจากหลายมุมมอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน”
นอกจากนี้ อดีตทาสที่เดินมามากับเรือลำดังกล่าวเหล่านี้ไม่ได้กลับบ้านหลังสงครามกลางเมืองของสหรัฐฯ จบลงและมีการประกาศเลิกทาส แต่พวกเขาได้ตั้งชุมชนเล็กๆ ชื่อแอฟริกาทาวน์ในบริเวณนั้น และลูกหลานมากมายที่ยังอยู่ในบริเวณนั้นเติบโตมากับเรื่องราวของเรือลำนี้ โดย ลอร์นา วูดส์ (Lorna Woods) หนึ่งในลูกหลานของทาสเหล่านั้นคาดว่า “มันจะเป็นเรื่องใหญ่ หากพวกเขาเจอหลักฐานของเรือลำนี้” และ “สิ่งที่แม่บอกกับพวกเราจะมีเหตุผล มันจะเป็นเรื่องที่ดีต่อพวกเราอย่างยิ่ง”
แมรี เอเลียต (Mary Elliott) ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสมิทโซเนียนด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน (Smithsonian National Museum of African American History and Culture) เห็นด้วยกับเรื่องนี้ เธอกล่าวว่า “มีตัวอย่างของเรื่องที่บางคนปฏิเสธว่าไม่เคยเกิดขึ้นมากมาย ทั้งการจลาจลระหว่างเชื้อชาติที่ทัลซาในปี 1921 เรื่องของเรือลำนี้ หรือแม้แต่เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แต่ในตอนนี้ โบราณคดี การวิจัยจดหมายเหตุ และวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกับความทรงจำที่ชุมชนมีร่วมกัน ทำให้คนเหล่านั้นปฏิเสธเรื่องราวเหล่านี้ไม่ได้ ตอนนี้ผู้คนในชุมชนเชื่อมโยงกับบรรพบุรุษของพวกเขาอย่างสัมผัสได้ เพราะพวกเขารู้ว่านี่คือเรื่องจริง”
ตามหาประวัติศาสตร์ที่หายไป
ในหลายปีที่ผ่านมา เคยมีการตามหาโคลทิลดาหลายครั้ง แต่ต้องประสบความล้มเหลว เนื่องจากสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโมบีล-เทนซอว์ เต็มไปด้วยทั้งหนอง ทะเลสาบ และลำธาร รวมทั้งซากเรือจำนวนมาก แต่เมื่อเดือนมกราคม ปี 2018 นักข่าวท้องถิ่นได้ค้นพบซากเรือไม้ขนาดใหญ่ผิดปกติ ทำให้ AHC จ้าง Search, Inc ซึ่งเป็นบริษัททางโบราณคดีมาตรวจสอบซากเรือลำดังกล่าว แม้เรือลำดังกล่าวไม่ไช่โคลทิลดา การค้นพบในครั้งนี้ได้ทำให้คนทั้งสหรัฐฯ เกิดความสนใจในเรือค้าทาสที่สาบสูญไปลำนี้ AHC จึงให้เงินทุนสำหรับการวิจัยเพิ่มเติม และร่วมมือกับสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก และ Search, Inc ในการค้นหาเรือลำดังกล่าว
นักวิจัยเริ่มตรวจสอบหลักฐานปฐมภูมินับร้อยและวิเคราะห์บันทึกเกี่ยวกับเรือกว่า 2,000 ลำที่ปฏิบัติการในอ่าวเม็กซิโกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1850 และพบว่าโคลทิลดาเป็นหนึ่งในเรือเพียง 5 ลำที่ต่อในบริเวณอ่าวและมีประกัน ซึ่งเอกสารลงทะเบียนอธิบายลักษณะของเรือใบลำนี้อย่างละเอียด ทั้งในด้านวัสดุและขนาดมิติของเรือ ตั้งแต่ตัวยึดโลหะบนตัวเรือที่ทำจากเหล็กหล่อที่หลอมด้วยมือ ไม้ที่ใช้ทำเรือ ขนาดของไม้คานและระวาง และขนาดและลักษณะของเซนเตอร์บอร์ด เจมส์ เดลกาโด นักโบราณคดีทางทะเลแห่ง Search, Inc กล่าวว่า “โคลทิลดาเป็นเรือที่ถูกสร้างมาเป็นพิเศษ และมีลักษณะไม่เหมือนเรือทั่วไป” และ “มีเรือใบที่ต่อในบริเวณอ่าวฯ เพียงลำเดียวที่ยาว 26 เมตร มีคานยาว 7 เมตร และมีระวางขนาด 2.1 เมตร เรือลำนี้คือโคลทิลดา”
เดลกาโดและ Stacye Hathorn นักโบราณคดีจากรัฐแอละแบมามุ่งการสำรวจไปยังบริเวณที่ไม่เคยมีการสำรวจในแม่น้ำโมบีลหลังพวกเขาวิจัยเกี่ยวกับสถานที่ที่โคลทิลดาอัปปางอยู่ นักประดาน้ำด้วยพร้อมอุปกรณ์หลากหลายชนิด เช่นเครื่องวัดความเข้มข้นของสนามแม่เหล็กสำหรับการตรวจจับโลหะ โซนาร์สแกนด้านข้างสำหรับการตรวจหาวัตถุบนก้นแม่น้ำ และเครื่องมือหาวัตถุที่ฝังอยู่ใต้ร่องน้ำอันขมุกขมัว ออกค้นหาจนพบสุสานเรืออัปปาง
ในบรรดาเรือที่ถูกค้นพบ มีเพียงลำเดียวที่พวกเขาเรียกว่าหมายเลข 5 (Target 5) ที่แตกต่างจากเรือลำอื่น และมีลักษณะเช่นเดียวกับที่มีการบันทึกไว้ ทั้งการออกแบบ ขนาด และวัสดุที่ใช้ ซากเรือดังกล่าวยังมีร่องรอยของการถูกเผาด้วย และมีหลักฐานว่าตัวเรือถูกหุ้มด้วยทองแดง อันเป็นลักษณะที่พบเห็นได้ทั่วไปในเรือเดินสมุทร ซึ่งเดลกาโดกล่าวว่ามัน “ตรงกับบันทึกเกี่ยวกับโคลทิลดาทุกอย่าง” และแม้จะไม่มีแผ่นชื่อหรือแผ่นจารึกอื่นๆ ที่ระบุอย่างแน่ชัดว่าเรืออัปปางลำนี้คือโคลทิลดา “แต่หลักฐานหลายชิ้นทำให้คุณไม่ต้องสงสัยเลย”
อนุสรณ์สถาน
ในตอนนี้ ซากของโคลทิลดาแบกความฝันของแอฟริกาทาวน์ เมืองซึ่งกำลังประสบปัญหาหลายประการ ทั้งประชากรที่ลดลง ความยากจน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากบริษัทอุตสาหกรรมหนักรอบๆ ชุมชน ชาวเมืองหวังว่าซากของเรือลำนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวและนำธุรกิจและอาชีพกลับมาอีกครั้ง บางคนถึงกับแนะนำให้กู้ซากเรือขึ้นมาจัดแสดง แต่เดลกาโดกล่าวว่าซากเรืออยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มาก และการฟื้นฟูต้องใช้เงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แต่อนุสรณ์สถานอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้ผู้มาเยือนนึกสะท้อนถึงความโหดร้ายของการค้าทาส และนึกถึงคุณูปการอันใหญ่หลวงที่ชาวแอฟริกามีต่อการสร้างอเมริกา
“เรายังอยู่กับผลกระทบของการค้าทาส” พอล การ์ดุลโล (Paul Gardullo) ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อการศึกษาการค้าทาสทั่วโลกแห่งพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน-อเมริกันแห่งชาติ (Center for the Study of Global Slavery at the National Museum of African American History and Culture) และสมาชิกของ Slave Wrecks Project ซึ่งมีส่วนร่วมในการค้นหาโคลทิลดา กล่าว “ประเด็นเรื่องทาสยังคงหลอกหลอนเรา เรายังเจอมันได้อยู่เรื่อยๆ เพราะเราไม่เคยเผชิญหน้ากับมัน ถ้าเราจัดการกับเรื่องนี้อย่างถูกวิธี เราจะมีโอกาสไม่เพียงแต่จะสมานฉันท์ หากจะมีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายด้วย”