สนธิสัญญาแวร์ซาย วูดโรว์ วิลสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังยิ้มในขณะที่เดินนำขบวนของบรรดาผู้นำยุโรปที่เข้าร่วมเซ็น สนธิสัญญาแวร์ซาย แม้ว่าอดีตประธานาธิบดีวิลสัน จะเป็นผู้เจรจาสนธิสัญญานี้ด้วยตัวเอง แต่ในท้ายที่สุด สภาคองเกรสไม่ให้สัตยาบันในสนธิสัญญานี้ ภาพถ่ายโดย BETTMANN, GETTY
28 มิถุนายน 1919 นอกชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส บรรดาผู้นำชาติยุโรปรวมตัวกันในพระราชวังแวร์ซายเพื่อเซ็น สนธิสัญญาแวร์ซาย ซึ่งรู้จักกันในฐานะหนึ่งในสนธิสัญญาที่มีเนื้อหาอันจงเกลียดจงชังมากที่สุดในประวัติศาสตร์ การเซ็นสนธิสัญญาครั้งนี้คือคือหมุดหมายแห่งการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ได้เป็นรากฐานที่ทำให้เกิดสงครามโลกในครั้งต่อมา และถึงแม้ว่าจะมีการประชุมสันติภาพในหนึ่งปีก่อนหน้านี้ แต่ไม่มีประเทศใดที่ต้องลงชื่อในสนธิสัญญาฉบับนี้พึงพอใจกับมันเลย
มีคนกว่า 65 ล้านคนที่ต้องเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทหารมากกว่า 8.5 ล้านนาย และพลเรือนกว่า 6.6 ล้านคนต้องเสียชีวิตไป สงครามได้ทำลายพื้นที่ฟาร์ม เมือง และสนามรบรอบๆ ยุโรป และเยอรมนีถูกกล่าวโทษกับสิ่งที่เกิดขึ้น แม้นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยยังคงถกเถียงกันอยู่ว่าใครคือผู้ที่ต้องรับผิดชอบในสงครามครั้งที่หนึ่ง สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ได้ลงโทษเยอรมนีไปก่อนเสียแล้ว
จากหลักการแห่งอุดมคติสู่สนธิสัญญาแห่งการลงทัณฑ์
ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประธานาธิบดี วูดโรว์ วิลสัน แห่งสหรัฐอเมริกาได้เสนอ หลักการ 14 ข้อ ซึ่งเป็นแผนแม่แบบสันติภาพของโลก อันมีใจความรวมไปถึงการตั้งองค์กรความร่วมมือจากหลายประเทศ (ซึ่งต่อมาคือองค์กรสันนิบาตชาติ) เพื่อรับประกันความมีเสถียรภาพแห่งทวีปยุโรปและป้องกันไม่ให้บรรดาประเทศต่างๆ เข้าสู่วังวนแห่งการทำสัญญาสองฝ่ายแบบลับๆ แผนการอันเป็นอุดมคตินี้กลับถูกบิดเบือนในระหว่างการเจรจา ซึ่งพุ่งเป้าให้ฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเป็นผู้รับผิดชอบค่าปฏิกรรมสงคราม
ในตัวสนธิสัญญาตัดสินให้เยอรมนีมีความผิดในฐานะเป็นผู้ก่อสงคราม และต้องเสียดินแดนราวร้อยละ 13 และประชากร 1ใน 10 ส่วนดินแดนไรน์ลันท์ (the Rhineland – ดินแดนทั้งสองฝั่งของแม่น้ำไรน์ ในภูมิภาคเยอรมนีตะวันตก) ถูกยึดครองและปลดกำลังทหาร บรรดาดินแดนอาณานิคมของจักรวรรดิเยอรมนีต้องไปอยู่ภายใต้การดูแลขององค์การสันนิบาตชาติ กองทหารประจำการลดลงเหลือเพียงหนึ่งแสนนาย และไม่ให้มีการรับทหารเพิ่ม อาวุธยุทโธปกรณ์ส่วนใหญ่ถูกยึด เช่นเดียวกับกองเรือขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ได้มีการไต่สวนจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี ในฐานะอาชญากรสงคราม และสนธิสัญญาได้สั่งให้เยอรมนีจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามเป็นจำนวน 26.9 พันล้านโกลด์มาร์กเยอรมัน (ราว 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ)
บรรดาผู้นำยุโรปได้เซ็นสนธิสัญญาในห้องกระจกแห่งพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งเป็นสถานที่ที่จักรวรรดิเยอรมันได้ก่อตั้งขึ้น และพระราชบิดาของจักรพรรดิวิลเฮล์มที่ 2 ก็ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิที่นี่ เมื่อปี 1871 สิ่งนี้จึงถือเป็นการตบหน้าเยอรมนีอย่างแรง ชาวเยอรมันเองก็ถูกมองว่าเป็นประชากรของประเทศแพ้สงคราม ซึ่งถือเป็นความอัปยศอดสูอย่างยิ่ง (อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาไม่ได้ลงนามในสนธิสัญญานี้ เนื่องจากเกิดความแตกแยกระหว่างพรรคเดโมเครตและรีพับรีกัน)
ผลกระทบจากสนธิสัญญา
แม้ว่าจะมีความต้องการสันติภาพเพื่อป้องกันมิให้เกิดสงครามขึ้นอีกก็ตาม แต่สนธิสัญญาฉบับนี้ก็ไม่ได้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก เพราะถือกันว่าสนธิสัญญาฉบับนี้เป็น “การกดหัวให้มีสันติภาพ” บรรดานักการเมืองเยอรมันฝ่ายขวาจึงได้ใช้เรื่องนี้ปลุกกระแสชาตินิยมให้ตื่นขึ้นในประเทศ นอกจากนี้ การจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามก็ทำให้ผลผลิตทางอุตสาหกรรมของเยอรมันลดลง และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรงในช่วงทศวรรษที่ 1920 ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาเดียวกัน
บรรดาผู้นำชาวยุโรปที่เซ็นยอมรับความเสียเปรียบสนธิสัญญาต่างไม่พอใจที่มีการขีดเส้นแผนที่ดินแดนของตนขึ้นใหม่ และการยินยอมพร้อมใจให้ให้เกิดผลจากสนธิสัญญาในครั้งนั้นมีส่วนทำให้เกิดสันติภาพที่ไม่มั่นคง และก่อให้เกิดความผิดหวังของคนเยอรมัน เนื่องจากพวกเขารู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม
หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบไป เยอรมนีเพิ่งจ่ายเงินค่าปฏิกรรมสงครามงวดสุดท้ายตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อปี 2010 และในทุกวันนี้ ก็ยังมีการศึกษาสนธิสัญญาฉบับนี้เพื่อให้รู้ว่า มันได้มีส่วนก่อให้เกิดสงคราม และบรรดาผลกระทบที่เหนือความคาดหมายจากสนธิสัญญาได้ลบล้างความตั้งใจในการรักษาสันติภาพได้อย่างไร