ฮ่องกง : ย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้

ฮ่องกง : ย้อนรอยประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้

การประท้วงใน ฮ่องกง ย่างเข้าสู่สัปดาห์ที่ 13 ล่าสุดมีรายงานว่า แกนนำคนสำคัญอย่างโจชัว หว่อง และคนอื่นๆ ถูกทางการจับกุม (ได้รับการปล่อยตัวในเวลาต่อมา) การประท้วงรุนแรงขึ้นจนเกิดเหตุปะทะระหว่างผู้ประท้วงกับตำรวจ ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจและความเป็นไปได้ที่ทางการจีนจะเข้าแทรกแซง

การประท้วงครั้งล่าสุดที่มีชนวนจากความพยายามออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (extradition bill) ที่ชาวฮ่องกงจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวเกรงว่าจะกระทบสิทธิขั้นพื้นฐาน แม้ต่อมาทางผู้บริหารฮ่องกงจะยอมถอยด้วยการประกาศว่า “ร่างกฎหมายฉบับนี้ตายแล้ว” (‘The bill is dead’) ก็ตาม แต่การประท้วงก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงโดยง่าย

การประท้วงระลอกล่าสุดนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ก่อนหน้านี้ ชาวฮ่องกงเคยออกมาเดินขบวนเรียกร้องแล้วหลายครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการต่อต้านการครอบงำของรัฐบาลจีนภายใต้นโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” (One Country, Two systems) เรามาย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ทางการเมืองและสังคมของฮ่องกง เพื่อเข้าใจถึงรากเหง้าและความเป็นมาของฮ่องกงในสารคดีที่ถ่ายทอดผ่านรูปประกอบเรื่องนี้กัน

“สถานะพิเศษ” ของมหานครอันทรงพลังแห่งนี้เป็นผลจากการเจริญเติบโต ความระส่ำระสาย และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงสองร้อยปี

เรื่อง  ERIN BLAKEMORE

รูปประกอบโดย ADOLFO ARRANZ, NATIONAL GEOGRAPHIC

ก่อนศตวรรษที่ 19

ฮ่องกงเป็นเกาะเล็กๆ และชุมชนประมงที่ล้าหลังปกครองโดยจีน พ่อค้าชาวอังกฤษค้าฝิ่นผิดกฎหมายที่ลักลอบนำเข้ามาจากอินเดียเพื่อแลกกับสินค้าจีนอย่างใบชา ผ้าไหม และเครื่องกระเบื้อง เป็นการปูทางไปสู่ข้อพิพาททางการค้าอ้นเลวร้ายในเวลาต่อมา การเสพติดฝิ่นกลายเป็นปัญหาน่าวิตกของจีน  พอถึงปี 1839 จีนมีผู้สูบฝิ่นถึง 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้เสพติดถึงสองล้านคน

กันยายน ค.ศ. 1839-1842

จีนพยายามปราบปรามการค้าฝิ่นของอังกฤษด้วยการทำลายฝิ่นของกลางที่จับกุมได้และลงโทษผู้ค้า อังกฤษยื่นคำขาดเป็นการตอบโต้ สงครามฝิ่น (Opium War) ครั้งแรกที่ตามมาเป็นเหตุให้ทหารฝ่ายอังกฤษบาดเจ็บล้มตาย 520 คน ขณะที่ตัวเลขฝ่ายจีนสูงถึง 20,000 คน นับเป็นความพ่ายแพ้หมดรูปของจีน

1 มกราคม ค.ศ. 1842

สนธิสัญญานานจิง (Treaty of Nanjing) ที่ลงนามโดยจีนและอังกฤษ ยกเกาะฮ่องกงให้ฝ่ายอังกฤษอย่างถาวร นับเป็นหนึ่งในสาม “สนธิสัญญาไม่เป็นธรรม” ที่จีนลงนามกับอังกฤษ ในช่วง 56 ปีต่อมา จีนจะสูญเสียการควบคุมสามภูมิภาคหลักของฮ่องกง

ค.ศ. 1856-1860

สงครามฝิ่นครั้งที่สองระหว่างสหราชอาณาจักร จักรวรรดิฝรั่งเศส และจีน ปะทุขึ้นและยุติลงด้วยอนุสัญญาปักกิ่ง (Convention of Peking) ซึ่งยกคาบสมุทรเกาลูนและเกาะสโตนคัตเตอร์ให้อังกฤษ ในช่วงท้ายของสงคราม กองทหารอังกฤษและฝรั่งเศสสร้างความเสียหายย่อยยับให้แก่พระราชวังฤดูร้อนในปักกิ่ง ทหารจีนบาดเจ็บล้มตายถึง 30,000 คน ขณะที่ตัวเลขฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสมีเพียง 2,900 คน

ค.ศ. 1898

อังกฤษได้สิทธิเช่าดินแดนนิวเทร์ริทอรีส์ (หนึ่งในสามภูมิภาคหลักของฮ่องกงซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด นอกเหนือจากคาบสมุทรเกาลูน และเกาะฮ่องกง) เป็นเวลา 99 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า คลื่นผู้อพยพจากจีนแผ่นดินใหญ่หลั่งไหลสู่ฮ่องกง เช่นเดียวกับการค้ากับนานาชาติ โรงเรียนแบบตะวันตก ธนาคาร และธุรกิจต่างๆ ฮ่องกงกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าในภูมิภาค

ค.ศ. 1937

ขณะที่กองทหารญี่ปุ่นรุกคืบเข้าใกล้ฮ่องกง หลังสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นปะทุขึ้น ชาวจีนแผ่นดินใหญ่หลายพันคนพากันหนีตายมายังฮ่องกง แม้ญี่ปุ่นจะทิ้งระเบิดใส่ดินแดนของฮ่องกง แต่ด้วยสถานะอาณานิคมของอังกฤษ ฮ่องกงจึงได้รับการปกป้องจากสงครามเต็มรูปแบบ

ค.ศ. 1941-1945

ญี่ปุ่นรุกรานและยึดครองฮ่องกง ในช่วงเวลานั้น ประชากรฮ่องกงลดลงจาก 1.6 ล้านคน เหลือหกแสนคน

ค.ศ. 1946

อังกฤษกลับมามีอำนาจเหนือฮ่องกงอีกครั้ง

ค.ศ. 1949

ในประเทศจีน การปฏิวัติโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตงประสบชัยชนะ สงครามกลางเมืองที่เกิดตามมาผลักดันผู้คนหลายแสนคนให้อพยพไปยังฮ่องกง ก่อให้เกิดชุมชนตั้งถิ่นฐานขนาดใหญ่ ในแต่ละเดือน มีผู้เข้ามาใหม่มากถึง 100,000 คน พร้อมกับนำภาษาถิ่น และขนบธรรมเนียมต่างๆ มาด้วย ประชากรฮ่องกงพุ่งสูงขึ้นจากหกแสนคนในปี 1945 เป็น 2.5 ล้านคนเมื่อถึงปี 1956

ทศวรรษ 1950

เศรษฐกิจของฮ่องกงพุ่งทะยานในฐานะศูนย์กลางการผลิตและคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นตามไปด้วย แต่ความไม่สงบก็ก่อตัวขึ้นเนื่องจากความเท่าเทียมของรายได้ และสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ในหมู่ประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น

ทศวรรษ 1960

ทศวรรษอันสับสนวุ่นวายนี้มีทั้งการจลาจล เหตุการณ์ไม่สงบ และความตึงเครียดทางสังคม ซ้ำเติมด้วยภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างภัยแล้งและพายุไต้ฝุ่น ผลที่ตามมาคือรัฐบาลพยายามเดินหน้านโยบายอันทะเยอทะยาน      เพื่อปฏิรูปทางสังคม จัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐ และเพิ่มโอกาสทางการศึกษา เหตุการณ์ความไม่สงบนำไปสู่การตระหนักถึงความปรองดองในสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ

ทศวรรษ 1970

ฮ่องกงผงาดในฐานะ “เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชีย” ด้วยการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างปรเทศ เติ้งเสี่ยวผิงที่ขึ้นมามีอำนาจแทนเหมาเจ๋อตง ดำเนินนโยบาย “เปิดกว้างและปฏิรูป”

อังกฤษซึ่งเริ่มมองไปข้างหน้าถึงการสิ้นสุดสัญญาเช่า 99 ปีในดินแดนนิวเทร์ริทอรีส์ เริ่มเจรจากับเติ้งเสี่ยวผิงถึงความเป็นไปได้ที่ขอจะบริหารฮ่องกงต่อไป เติ้งเปิดทางเลือกที่จีนจะกลับไปมีอำนาจอธิปไตยเหนือฮ่องกงอีกครั้ง แต่ก็ยอมรับว่า ฮ่องกงมี “สถานะพิเศษ” เบื้องหลังฉาก อังกฤษเริ่มวางแผนการถอนตัวจากฮ่องกง

ค.ศ. 1984

มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และจ้าวจื่อหยาง นายกรัฐมนตรีจีน ลงนามในแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยอนาคตของฮ่องกง ซึ่งระบุว่าจีนจะรับมอบสิทธิการบริหารฮ่องกงคืนจากอังกฤษในวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 19997

จีนสัญญาจะให้ฮ่องกงมี “อำนาจปกครองตนเองค่อนข้างสูง” และฮ่องกงจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งโดยตรงเมื่อถึงปี 2007 เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับเล็กเพื่อปกครองฮ่องกงโดยสะท้อนนโยบาย “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ของจีน พลเมืองฮ่องกงเริ่มรู้สึกถึงความไม่แน่นอน และแสดงความประหลาดใจที่พวกเขาไม่มีส่วนร่วมในการเจรจาต่างๆ

ค.ศ. 1989

ในฮ่องกง ผู้คนมากกว่าหนึ่งล้านคนออกมาประท้วงเหตุการณ์สังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ณ จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งเพิ่มความกังวลให้ชาวฮ่องกงที่วิตกว่า จีนจะปกครองฮ่องกงอย่างไร และกระแสต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็รุนแรงขึ้น

ค.ศ. 1992

คริส แพตเทน ผู้ว่าการฮ่องกงคนสุดท้ายของอังกฤษ ประกาศแผนปฏิรูปประชาธิปไตยสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 1994 และสภานิติบัญญัติในปี 1995 โดยไม่ปรึกษาฝ่ายจีน ปักกิ่งแสดงความเกรี้ยวกราด ส่งผลให้การเจรจาต่างๆ ยุติลง ฮ่องกงเดินหน้าไปสู่การปฏิรูป แต่จีนยืนกรานจะยกเลิกทันทีที่ได้รับมอบฮ่องกงคืน

1 กรกฎาคม ค.ศ. 1997

ฮ่องกงกลับคืนสู่การปกครองของจีนอย่างเป็นทางการหลังอยู่ในการควบคุมดูแลของอังกฤษมากว่า 150 ปี ต่งเจี้ยนหัว นักธุรกิจที่เกิดในเซี่ยงไฮ้ได้รับเลือกจากทางการจีนให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (Hong Kong Special Administrative Region) เขาตกเป็นเป้าของการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากการจัดการวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชียและการเชื่อฟังทางการจีน

พฤษภาคม ค.ศ. 1998

ฮ่องกงจัดการเลือกตั้งครั้งแรกโดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิมากเป็นประวัติการณ์ แม้ฝนจะตกหนัก ผลคือชัยชนะแบบถล่มทลายของผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยที่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่าร้อยละ 65 แต่เนื่องจากกฎหมายการเลือกตั้งและโครงสร้างใหม่ภายใต้การปกครองของจีน ผู้สมัครฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติได้

ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 2003

จีนและฮ่องกงเผชิญวิกฤติการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ไวรัสทางเดินหายใจที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อทั่วโลก 8,096 คน และเสียชีวิต 774 คน ในช่วงที่การระบาดเลวร้ายที่สุด ชาวฮ่องกงหลีกเลี่ยงการออกมายังแหล่งชุมนุมผู้คน และรัฐบาลฮ่องกงก็ถูกโจมตีจากการตอบสนองอย่างล้าช้า

กรกฎาคม ค.ศ. 2003

ชาวฮ่องกงราวห้าแสนคนออกมาเดินขบวนประท้วงความพยายามออกกฎหมายที่เรียกว่า Article 23 ซึ่งเป็นกฎหมายความมั่นคงเพื่อ “ต่อต้านการบ่อนทำลาย” ผู้วิจารณ์โจมตีว่าอาจเป็นการลิดรอนสิทธิการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ในที่สุด แม้ร่างกฎหมายจะถูกถอนออกไป แต่ก็ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากนานาชาติ และถูกมองว่าเป็นหลักฐานหนึ่งที่สะท้อนความต้องการของจีนในการจำกัดเสรีภาพของชาวฮ่องกง

 

เมษายน ค.ศ. 2004

จีนออกข้อกำหนดว่า การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในกฎหมายเลือกตั้งของฮ่องกงต้องได้รับความเห็นชอบจากปักกิ่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการให้สิทธิยับยั้งแก่รัฐบาลจีนในความพยายยามใดๆ ที่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ความไว้วางใจในพันธะสัญญาที่รัฐบาลจีนที่มีต่อประชาธิปไตยในฮ่องกงดิ่งฮวบลง และพอถึงเดือนกรกฎาคม ชาวฮ่องกงห้าแสนคนก็ออกมาประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย

กรกฎาคม ค.ศ. 2006

ชาวฮ่องกงหลายหมื่นคนออกมาเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตย และกลายเป็นสิ่งที่ดำเนินการต่อมาทุกปีในเดือนกรกฎาคม เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งโดยตรงและเสรี (universal suffrage) การปกป้องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการปกครองแบบประชาธิปไตยของพลเมืองฮ่องกง

สิงหาคม ค.ศ. 2014                                                                                             

ตามกฎหมายที่ออกภายใต้การกำกับของทางการจีน การเลือกตั้งโดยตรงและเสรีแทบเป็นไม่ได้ คงมีเพียงผู้สมัครที่ได้รับการอนุมัติจากปักกิ่งเท่านั้นที่จะมีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งบริหารและตำแหน่งทางการเมืองสำคัญๆ ของฮ่องกง

การประท้วงและมาตรการอารยะขัดขืนเกิดขึ้นเป็นระลอก การประท้วงของนักศึกษา การเดินขบวนรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยของพลเมืองฮ่องกงเกิดขึ้นหลายครั้ง จนนำไปสู่การยึดครองพื้นที่หลายจุดของเมืองตลอดหลายสัปดาห์เป็นที่มาของชื่อ การปฏิวัติร่มหรือขบวนการร่ม (Umbrella Movement) แม้การประท้วงจะไม่ประสบผล และแกนนำหลายคนเช่น โจชัว หว่อง ซึ่งเป็นนักศึกษาถูกจับกุม แต่ขบวนการนี้ก็ปลุกกระแสประชาธิปไตยขึ้นในหมู่คนหนุ่มสาวของฮ่องกง

กุมภาพันธ์ – มีนาคม ค.ศ. 2019

รัฐบาลฮ่องกงประกาศแผนการออกกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน (extradition bill) ซึ่งอนุญาตให้ทางการฮ่องกงส่งตัวผู้ร้ายไปดำเนินคดีในประเทศจีนเป็นครั้งแรก ผู้วิจารณ์โจมตีว่ากฎหมายนี้คุกคามอิสรภาพของฮ่องกง และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือปิดปากผู้เห็นต่างและกำจัดผู้เป็นปฏิปักษ์ต่อทางการจีน ชาวฮ่องกงหลายล้านคนลุกฮือขึ้นเดินขบวนต่อต้านกฎหมายนี้อย่างสันติ

มิถุนายน ค.ศ. 2019

การพิจารณาร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนครั้งที่สองถูกเลื่อนออกไปหลังเกิดเหตุประท้วงอย่างรุนแรง มีการชุมนุมปิดถนน และพยายามบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา ตำรวจฮ่องกงตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย และกระสุนยาง เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บ 80 คน ทางการจีนและฮ่องกงเรียกการประท้วงครั้งนี้ว่า “การก่อจลาจล” ผู้ประท้วงเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการกระจายการประท้วงไปยังอาคารที่ทำการรัฐบาล สนามบิน และพื้นที่ห่างไกลอื่นๆ ในเขตนิวเทร์ริทอรีส์

สิงหาคม ค.ศ. 2019

การเดินขบวนและเหตุปะทะระหว่างผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยกับตำรวจเกิดขึ้นทั่วฮ่องกง ผู้ประท้วงยึดสนามบินและเผชิญหน้ากับตำรวจในอาคารที่ทำการของรัฐบาล รวมถึงย่านท่องเที่ยวและแหล่งช็อปปิ้ง ผู้ประท้วงหลายร้อยคนถูกจับกุม และทางการจีนแสดงท่าที่แข็งกร้าวขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประท้วงประกาศข้อเรียกร้องสำคัญๆ เช่น รัฐบาลต้อง “ถอน” (withdraw) ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ดำเนินการสอบสวนการกระทำรุนแรงของฝ่ายตำรวจ ยุติการกล่าวหาว่า การประท้วงคือการก่อจลาจล ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม และให้เสรีภาพมากขึ้นในระบอบประชาธิปไตย จนถึงตอนนี้ ข้อเรียกร้องต่างๆ ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้บริหารฮ่องกงและทางการจีน การประท้วงยังคงดำเนินต่อไป


สารคดีแนะนำ

ชีวิตภายในห้องพักขนาดเท่าโลง ที่ชาวฮ่องกงเรียกว่า “บ้าน”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.