สหรัฐฯ กับการยิงนักศึกษาประท้วงต้านสงครามจนเสียชีวิต ช่วงสงครามเวียดนาม

กองกำลังรักษาดินแดนแห่งรัฐโอไฮโอรุกคืบเข้าหาผู้ประท้วง และ ยิงนักศึกษา ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตทในวันที่ 4 พฤษภาคม 1970 นักศึกษา 4 คนถูกยิงเสียชีวิต และ 9 คนได้รับบาดเจ็บ ภาพถ่ายโดย AP


การ ยิงนักศึกษา 4 คนเสียชีวิตโดยหน่วยติดอาวุธป้องกัน (Armed Guardsmen) ในปี 1970 คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา นับตั้งแต่เหตุการณ์สงครามกลางเมืองเป็นต้นมา

เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ในวันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม 1970 กองกำลังรักษาดินแดนแห่งชาติ รัฐโอไฮโอ ยิงปืนเข้าใส่บรรดานักศึกษาที่ชุมนุมต่อต้านสงครามเวียดนามในมหาวิทยาลัยเคนท์สเตท (Kent State University) ภายใน 13 วินาที นักศึกษา 4 คนเสียชีวิต และอีก 9 คนได้รับบาดเจ็บ การยิงปราบปรามในครั้งนี้ถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นการมองว่าสหรัฐฯ ได้หันหลังให้กับกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ถือว่าเป็นอนาคตของประเทศ

โดย 5 วันก่อนหน้านั้น วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน 1970 ประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 1968 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากคำสัญญาที่จะยุติสงครามเวียดนาม ได้ประกาศว่าสหรัฐฯ จะบุกเข้ากัมพูชาเพื่อทำลายกองบัญชาการใหญ่ของทหารเวียดกง

การประกาศในครั้งนี้ได้กระตุ้นให้เกิดความวุ่นวายในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในบรรดานักศึกษาที่ต่อต้านสงคราม โดยที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตท มหาวิทยาลัยรัฐในรัฐโอไฮโอ นักศึกษาต่างทุบกระจกและขว้างขวดใส่รถตำรวจ และในคืนวันศุกร์ อาคารของศูนย์ฝึกกองกำลังรักษาดินแดนก็ตกอยู่ในกองเพลิง

วันถัดมา ผู้ว่าการรัฐจากพรรคริพับลิกัน เจมส์ โรดส์ ได้เรียกกองกำลังรักษาดินแดนแห่งรัฐโอไฮโอมาช่วยยับยั้งการประท้วงของนักศึกษา เจ้าหน้าที่กองกำลังเกือบ 1,000 คน ถูกส่งไปที่มหาวิทยาลัยเคนท์ฯ ซึ่งในตอนนี้ เหล่านักศึกษาที่กำลังโกรธแค้นต่างกำลังต่อต้านในสองเรื่อง ทั้งสงครามเวียดนามและการใช้กองกำลังติดอาวุธในสถานศึกษา

นักศึกษามหาวิทยาลัยเคนท์สเตทสลายการชุมนุมเนื่องจากกองกำลังรักษาดินแดน (ด้านหลัง) วิ่งไล่ตามในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 1970 ภาพถ่ายโดย BETTMANN/ GETTY

ในวันที่ 3 ของการปรากฏตัวของกองกำลังฯ ในมหาวิทยาลัย หรือวันที่ 4 พฤษภาคม มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น นักศึกษานับพันรวมตัวกันใกล้พื้นที่กลางของมหาวิทยาลัยที่จัดไว้สำหรับการชุมนุมในตอนเที่ยง กองกำลังฯ สั่งให้นักศึกษาสลายตัว แต่นักศึกษานั้นต่อต้าน กองกำลังฯ จึงยิงแก๊สน้ำตาเข้าที่ฝูงชน และในเวลา 12:24 น. อันเป็นช่วงแห่งความโกลาหล เจ้าหน้าที่กองกำลังได้ยิงกระสุนปืน 67 นัด จากปืน ไรเฟิล เอ็ม-1 เข้าใส่ฝูงชนนักศึกษา

นักศึกษา 4 คน เจฟฟรีย์ มิลเลอร์, อัลลิสัน เคราส์, วิลเลียม ชรูเดอร์ และ ซานดรา ชูเออร์ เสียชีวิต อีก 9 คนได้รับบาดเจ็บ

เจฟฟรีย์ มิลเลอร์, อัลลิสัน เคราส์, วิลเลียม ชรูเดอร์ และ ซานดรา ลี ชูเออร์ เสียชีวิตจากการยิงของกองกำลังฯ ใส่กลุ่มนักศึกษา ภาพถ่ายโดย BETTMANN/ GETTY

ความโกรธแค้นทั่วประเทศ

การยิงภายในมหาวิทยาลันเคนท์ได้รับความสนใจจากสื่อเป็นอย่างยิ่ง และสิ่งที่ตามมาคือความเกรี้ยวกราดจากทั้งประเทศ

ในวันที่ 15 พฤษภาคม 1970 มีการเสียชีวิตของนักศึกษาเพิ่มขึ้นเนื่องจากเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย 40 คน ยิงกระสุน 150 นัดไปยังหอพักนักศึกษาที่วิทยาลัยแจ็กสันสเตท (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยแจ็กสันสเตท) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับคนผิวสี ได้มีการจัดประท้วงเพื่อต่อต้านการเหยียดผิวโดยกลุ่มคนขาวบนถนน Lynch ซึ่งเป็นถนนที่เชื่อมต่อจากมหาวิทยาลัยไปยังพื้นที่ใจกลางเมือง

นักศึกษาแห่งวิทยาลัยแจ็กสัน คนหนุ่มสาวท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ปะทะกันเนื่องจากมีข่าวลืออันเป็นเท็จว่ากลุ่มนักสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นถูกลอบสังหาร ในช่วงเวลาการยิง 30 วินาที ฟิลิปป์ กิบบส์ นักศึกษาของวิทยาลัย และเจมส์ เอิร์ล กรีน นักเรียนมัธยมปลายถูกยิงเสียชีวิต อีก 12 คนได้รับบาดเจ็บ

โดยโศกนาฏกรรมที่วิทยาลัยแจ็กสันนั้นเป็นที่รู้จักน้อยกว่าเหตุการณ์วันที่ 4 พฤษภาคม แต่ทั้งสองเหตุการณ์นั้นเกิดจากความรุนแรงโดยรัฐที่มีต่อนักศึกษาซึ่งสะท้อนความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐบาล และประชาชนซึ่งได้รับคำมั่นว่าพวกเขาจะได้รับการปกป้อง โดยการประท้วงของนักศึกษาเหล่านี้ทำให้มีการปิดสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งในสหรัฐ บางแห่งปิดเพียงไม่กี่วัน และมีบางแห่งที่ปิดไปตลอดปีการศึกษา

ในงานครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี แคลลี คอร์เบ็ต ยืน ณ จุดวางเทียนรำลึกของอัลลิสัน เคราส์ หนึ่งในนักศึกษาที่เสียชีวิต ภาพถ่ายโดย RON SCHWANE, REUTERS

หลังจากเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยเคนท์สเตท นักศึกษา 25 คนถูกฟ้องในความผิด 43 ข้อหา ข้อหาหนึ่งคือการขัดขวางสัญญาณเตือนไฟไหม้ นักศึกษาสองคนรับสารภาพ คนหนึ่งถูกตัดสินให้พ้นโทษ ส่วนที่เหลือได้รับการยกฟ้องเนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

ในเดือนมิถุนายน คณะกรรมการสืบหาข้อเท็จจริงซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีนิกสันได้ตรวจสอบเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์ โดยคณะกรรมการได้เขียนในรานงานว่า “การกระทำของนักศึกษาบางคนนั้นรุนแรงและเป็นอาชญากรรม ในขณะที่บางคนนั้นทำพฤติกรรมอันตราย ไม่ยั้งคิด และขาดความรับผิดชอบ” แต่ก็ได้ประณามการยิงปราบปรามของเจ้าหน้าที่ว่า “การยิงปืนอย่างขาดการพิจารณาไปยังกลุ่มนักศึกษา และการเสียชีวิตที่ตามมานั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ไม่มีเหตุผล และไม่อาจแก้ตัวได้” คณะกรรมการฯ เขียน

ก่อนการครบรอบ 40 ปี มีการใช้แสงไฟประดับเพื่อระบุจุดที่นักศึกษาทั้ง 4 ถูกยิง ภาพถ่ายโดย AMY SANCETTA, AP

มรดกที่หลงเหลือจากการล้อมยิง

โศกนาฏกกรมที่เคนท์ได้กระตุ้นให้มีการต่อสู้ให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 26 ที่ให้ลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งจาก 21 ปี เป็น 18 ปี โดยเหล่านักศึกษาเป็นผู้เสนอ พร้อมกล่าวว่าถ้าพวกเขามีอายุมากพอที่จะเลือกตั้ง พวกเขาจะลงคะแนนให้คนที่สามารถยุติสงครามได้ การแก้ไข้ได้รับอนุมัติในเดือนมีนาคม ปี 1971 หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นไม่ถึงหนึ่งปี

ในปีนับตั้งแต่มีการประท้วงของนักศึกษา มหาวิทยาลันเคนท์สเตทได้มีการมอบทุนรำลึกเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม ให้กับนักศึกษาวิชาเอกสันติภาพและความขัดแย้งศึกษา, เปิดศูนย์เหตุการณ์ 4 พฤษภาคม และจัดงานรำลึกประจำปี ซึ่งรวมไปถึงการกล่าวปาฐกถา การแสดงดนตรี การฉายภาพยนตร์สารคดีที่รำลึกถึงเหตุการณ์ การแสดงภาพถ่าย และการจุดเทียนรำลึก

อย่างไรก็ตาม ในการจัดงานครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ ได้มีการยกเลิกไปเนื่องจากการระบาดของไวรัส COVID-19 และมีแผนที่จะจัดรำลึกทางออนไลน์แทนต่อไป

เรื่อง JONATHAN X. SIMMONS


อ่านเพิ่มเติม พลังหนุ่มสาวเปลี่ยนแปลงโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.