สงครามเกาหลี เหตุใดจึงยังไม่จบสิ้น

ทหารราบเกาหลีใต้รายหนึ่งกับการเดินทัพในแนวหน้าของ สงครามเกาหลี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 1950 ความขัดแย้งปะทุขึ้นในช่วงต้นหน้าร้อนนั้นเมื่อเกาหลีเหนือบุกมาที่เกาหลีใต้ การต่อสู้กินเวลานานกว่า 3 ปี และไม่เคยมีการลงนามสนธิสัญญาสันติภาพแต่อย่างใด ภาพถ่ายโดย AP


สงครามเกาหลี กับจุดเริ่มต้นเมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้ว จากความขัดแย้งว่าใครจะเป็นผู้มีอำนาจเหนือคาบสมุทรเกาหลี ความตึงเครียดยังคงเกิดขึ้น และได้เปลี่ยนมุมมองความสำคัญที่มีต่อสงคราม

ในวันที่ 25 มิถุนายน 1950 การที่เกาหลีเหนือบุกโจมตีเกาหลีใต้อย่างไม่คาดคิดเป็นการจุดไฟสงครามระหว่างค่ายคอมมิวนิสต์กับโลกเสรีนิยมในการควบคุมคาบสมุทรเกาหลี การต่อสู้ยาวนานของ ‘สงครามเกาหลี’ ช่วงระหว่างปี 1950-1953 ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับล้าน ทั้งเกาหลีเหนือและใต้ได้มีการขีดเส้นแบ่งเขตแดนอย่างถาวร

แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘สงครามที่ถูกลืม’ ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากไม่ได้รับความสนใจทั้งในช่วงระหว่างและหลังจากความขัดแย้งครั้งนี้ ประวัติศาสตร์สงครามเกาหลีก็คงผลลึกซึ้ง ไม่เพียงแค่การสร้างรูปแบบการเมืองในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งในทางเทคนิคยังไม่สิ้นสุดดี แต่สงครามครั้งนี้เป็นแบบอย่างให้กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในการทำสงครามโดยไม่ได้ผ่านการยินยอมจากสภาคองเกรส

สารวัตรทหารเกาหลีใต้เดินคุมเชลยสงครามเกาหลีเหนือไปยังคุกทหารในเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 1950 ชะตากรรมของเชลยสงครามเป็นจุดสำคัญในการเจรจาเพื่อยุติสงครามเกาหลี ภาพถ่ายโดย AP

สงครามเกาหลี มีจุดเริ่มต้นจากการยึดครองเกาหลีของญี่ปุ่นในช่วงระหว่างปี 1910-1945 เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้รื้อถอนจักรวรรดิญี่ปุ่นจากเกาหลี ซึ่งต่อมาสถานการณ์นี้ได้กลายเป็นเครื่องมือต่อรองดุลอำนาจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต สองประเทศที่เคยเป็นฝ่ายสัมพันธมิตรร่วมกันมาทั้งคู่ต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ในปี 1948 เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจของทั้งสองขั้ว จึงมีการขีดเส้นชายแดนแบ่งเกาหลีโดยใช้เส้นละติจูดของเส้นขนานที่ 38 ที่พาดผ่านคาบสมุทรแห่งนี้ โดยแบ่งแยกเกาหลีเหนือเป็นรัฐสังคมนิยมนำโดย คิม อิล-ซุง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต และเกาหลีใต้เป็นรัฐทุนนิยมนำโดยนายรี ซึง-มัน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา

แม้ความหวังจะอยู่ที่ทั้งสองประเทศสามารถรักษาสมดุลอำนาจในเอเชียตะวันออกได้ แต่ก็เป็นที่ชัดเจนอย่างรวดเร็วว่า ไม่มีประเทศใดยอมรับว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นรัฐที่สมบูรณ์ หลังจากความขัดแย้งกันในเรื่องเขตแดนเกิดขึ้นมาระยะหนึ่ง เกาหลีเหนือได้บุกข้ามเส้นดินแดนมายังเกาหลีใต้ในเดือนมิถุนายน ปี 1950 ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นสงครามตัวแทนของสองชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์ (โซเวียตและสหรัฐฯ) และถือเป็นความโกลาหลครั้งแรกในช่วงสงครามเย็น

ทหารสหรัฐจจุดไฟบุหรี่ท่ามกลางซากปรักหักพังในกรุงโซล เกาหลีใต้ ในเดือนกันยายน 1950 สงครามเกาหลีถือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาได้สั่งให้มีการส่งกำลังทหารไปในความขัดแย้งระดับนานาชาติโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส ภาพถ่ายโดย MAX DESFOR, AP

สหรัฐอเมริกาทำการกดดันคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติซึ่งเป็นองค์กรที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ในตอนนั้น ให้อนุมัติการใช้กองกำลังเพื่อช่วยเหลือเกาหลีใต้ และประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ได้สั่งให้มีการส่งกำลังทหารไปโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากสภาคองเกรส หน่วยงานเดียวที่มีอำนาจประกาศสงครามได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นครั้งแรกที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในความขัดแย้งระดับนานาชาติโดยไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ

“เราไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม” ประธานาธิบดีทรูแมนกล่าวกับสื่อมวลชนในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 1950 และเสริมว่า “[เกาหลีใต้] ถูกโจมตีจากเหล่าผู้ร้าย ซึ่งก็คือประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีหนือ” แม้จะมีข้อกังขาว่าทรูแมนได้ล้ำเส้นอำนาจประธานาธิบดีในการประกาศสงคราม แต่สหรัฐฯ ก็มีส่วนเกี่ยวข้องในความขัดแย้งที่ได้รับการบันทึกว่าเป็น “บทบาทของตำรวจ(โลก)”

สหรัฐอเมริกาเชื่อว่าสงครามจะจบด้วยชัยชนะอันรวดเร็ว แต่ก็ได้มีการพิสูจน์ในภายหลังว่าเป็นความคิดที่ผิด ในช่วงแรกของความขัดแย้ง กองกำลังสหประชาชาติได้ตีต้อนกองทัพเกาหลีเหนือไปจนถึงเขตชายแดนของประเทศจีนซึ่งเป็นชาติคอมมิวนิสต์ และจีนโต้ตอบโดยการใช้กำลังทหารมากกว่าสามล้านคน นอกจากนี้ สหภาพโซเวียตได้มีการสนับสนุนและฝึกกองกำลังของทั้งจีนและเกาหลีเหนือ รวมทั้งได้มีการส่งนักบินเพื่อทำภารกิจต่อต้านกองกำลังสหประชาชาติ

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 1953 ผู้ชาย ผู้หญิง เด็กชาย และทหาร ต่างถือป้ายในการเดินขบวนที่กรุงโซลเพื่อต้านการเจรจาสันติภาพเกาหลี ภาพถ่ายโดย AP

ในฤดูร้อน ปี 1951 กองกำลังทั้งสองประเทศได้มีการคุมเชิงบริเวณโดยรอบเส้นขนานที่ 38 ตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น การเจรจาของทั้งสองฝ่ายจึงเริ่มต้นขึ้นในเดือนกรกฎาคม แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ลังเลบนโต๊ะเจรจาในเรื่องชะตากรรมของเชลยสงคราม แม้เชลยที่ถูกจับโดยทหารอเมริกันจำนวนมากบางส่วนไม่อยากกลับไปประเทศบ้านเกิด แต่ทั้งเกาหลีเหนือและจีนต่างยืนยันในกระบวนการส่งเชลยสงครามกลับประเทศเนื่องจากเงื่อนไขสันติภาพ (Condition of Peace) ในช่วงการแลกเปลี่ยนเชลยสงครามก่อนข้อตกลงหยุดยิงในปี 1953 เชลยจากชาติคอมมิวนิสต์กว่า 75,000 ราย ได้กลับไปยังถิ่นฐานเดิม ส่วนเชลยอีกมากกว่า 22,000 คนได้แปรพักตร์หรือลี้ภัย

วันที่ 27 กรกฎาคม 1953 เกาหลีเหนือ จีน และ สหรัฐอเมริกาได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิง อย่างไรก็ตาม เกาหลีใต้คัดค้านการแบ่งเกาหลีและไม่ได้เห็นด้วยกับข้อตกลงสงบศึกนี้ ดังนั้น แม้การต่อสู้จะสิ้นสุด แต่ในทางเทคนิค สงครามของสองเกาหลียังไม่ยุติอยู่ดี

ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่ามีผู้เสียชีวิตในสงครามเกาหลีเป็นจำนวนเท่าใด แต่ทหารอเมริกันกว่า 40,000 นาย และทหารเกาหลีใต้กว่า 46,000 นาย เสียชีวิตลง ตัวเลขผู้สูญเสียในฝั่งเหนือนั้นมีมากกว่า จากการประมาณการว่าทหารเกาหลีเหนือว่า 215,000 นาย และทหารจีนกว่า 400,000 นาย เสียชีวิต ทว่า กว่าร้อยละ 70 ของผู้เสียชีวิตนั้นเป็นพลเรือน คาดการณ์ว่ามีพลเรือนเสียชีวิตในสงครามกว่า 4 ล้านคน และเกาหลีเหนือถูกทำลายยับเยินจากทั้งระเบิดและอาวุธเคมี

เดือนสิงหาคม ปี 2000 หญิงเกาหลีใต้สัมผัสใบหน้าลูกชายที่เป็นคนเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นการพบกันครั้งแรกหลังจากต้องพลัดพรากกันระหว่างสงคราม แม้จะยังมีความขัดแย้งปรากฎอยู่บนคาบสมุทรเกาหลี แต่หลายคนก็ยังมีความหวังว่าทั้งสองประเทศจะสามารถรวมชาติกันได้ ภาพถ่ายโดย DAVID GUTTENFELDER, AP/NAT GEO IMAGE COLLECTION

ยังมีทหารอีกจำนวนมากที่สูญหายหลังสิ้นสุดสงคราม และมีทหารเกาหลีใต้กว่า 80,000 นาย ถูกจับในเกาหลีเหนือเมื่อสงครามสิ้นสุด แม้เกาหลีเหนือจะปฏิเสธว่ามีการครอบครองเชลย แต่ผู้แปรพักตร์และเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้รายงานว่า นักโทษสงครามเหล่านี้ถูกส่งไปบังคับใช้แรงงาน และสถานที่ของเชลยสงครามที่เหลือโดยส่วนใหญ่นั้นไม่ปรากฏ อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ปี 2020 สหรัฐอเมริกาได้ระบุตัวเชลยสงครามเกาหลีใต้ 147 คน และเกาหลีเหนือได้มีการส่งกลับเมื่อปี 2018 ในขณะเดียวกัน ทหารสหรัฐกว่า 7,500 นาย ยังคงหายสาบสูญ

70 ปีต่อมา หลังจากการเริ่มต้นของสงคราม ทั้งสองเกาหลียังคงถูกแบ่งแยกต่อไป ความหวังในการรวมชาติได้ปรากฏขึ้นมาชั่วครู่ในปี 2000 เมื่อทั้งสองชาติได้ประกาศปฏิญญาร่วมว่า ทั้งสองประเทศจะ ‘ร่วมกัน’ ทำการรวมชาติ และในปี 2018 ซึ่งได้มีการประชุมสุดยอดซึ่งมีภาพผู้นำทั้งสองประเทศสวมกอดและจับมือกัน แต่ความหวังดังกล่าวได้จางหายไปอย่างช้าๆ โดยในเดือนมิถุนายน 2020 เกาหลีเหนือได้ทำการระเบิดสำนักงานร่วมซึ่งทำหน้าที่เป็นสถานทูตของทั้งสองประเทศ

แม้ความทรงจำในสงครามเกาหลีจะเริ่มจางหายไปในหมู่คนอเมริกัน และถูกบดบังด้วยสงครามโลกครั้งที่สองและสงครามเวียดนาม แต่แบบอย่างการกระทำของประธานาธิบดีทรูแมนที่มีต่อสงครามเกาหลี ได้กลายเป็นการให้เหตุผลสำหรับการแทรกแซงทางการทหารในเวียดนาม อิรัก และอัฟกานิสถาน รวมทั้งภารกิจกองกำลังสหประชาชาติในบอสเนียและเฮติ แนวทางการตัดสินใจเช่นนี้ได้กลายเป็นที่ถกเถียงในประวัติศาสตร์สงครามที่ไม่ได้มีการประกาศ ไม่ถูกคลี่คลาย และไม่เป็นที่จดจำของคนส่วนใหญ่ และยังคงดำเนินต่อไป เช่นสงครามเกาหลีครั้งนี้

เรื่อง ERIN BLAKEMORE


อ่านเพิ่มเติม หากสองเกาหลีรวมกันอีกครั้ง

คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีใต้จับมือกับประธานาธิบดีมุน แจอิน เดินข้ามเส้นแบ่งเขตทางการทหารที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านปันมุมจอม พรมแดนกึ่งกลางระหว่างสองเกาหลี
ภาพถ่ายโดย บีบีซีไทย และ Getty Images
© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.