โรคระบาด และการระบาดในระดับโลกไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก มนุษยชาติเคยผ่านวิกฤติทำนองนี้มานับครั้งไม่ถ้วน โดยเฉพาะเมื่อมีการเดินทางติดต่อค้าขายที่เชื่อมต่อผู้คนและระบบเศรษฐกิจทั้งโลกเข้าหากัน แต่พร้อมกันนั้น จากตัวอย่างในประเทศไทยหรืออาณาจักรสยาม เส้นทางการเดินเรือยังได้นำพาเอามิชชันนารีและการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามาช่วยให้เรารับมือกับ โรคระบาด ต่างๆ ด้วย
ประสบการณ์อันหลากหลายจากกรณีโควิด-19 ตั้งแต่การเตรียมรับมือล่วงหน้าหลังมีข่าวการระบาดในต่างประเทศ การกักกันโรคจากคนเดินทาง การออกประกาศให้ความรู้ นวัตกรรมการรักษา การตั้งโรงพยาบาลเฉพาะกิจ การตรากฎหมายเพื่อควบคุมโรค ไปจนถึงวิถีชีวิตใหม่ (new normal) หรือการสร้าง “ความเคยชินใหม่” ให้เกิดขึ้นในสังคม ล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหน้าประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น
ไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ ถือเป็นโรคติดต่อร้ายแรงอย่างหนึ่งมาตั้งแต่โบราณ ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบันทึกเรื่องการระบาดของไข้ทรพิษบ่อยครั้งตั้งแต่ระดับชาวบ้านจนถึงในรั้วในวังจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ โรคนี้ก็ยังแพร่ระบาดเป็นประจำและไม่มีหนทางรักษา จนถูกหยิบยกมาตั้งคำถามคาดคั้นเอาจากมิชชันนารีอเมริกันที่เพิ่งเดินทางเข้ามาถึง
ใน พ.ศ. 2378 แดน บีช แบรดลีย์ มิชชันนารี หรือ “หมอสอนศาสนา” ผู้เผยแผ่คริสต์ศาสนานิกายโปรเตสแตนต์ชาวอเมริกัน วัย 31 ปี เดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร ราชธานีของอาณาจักรสยาม แต่ชื่อเสียงของเขาเดินทางมาถึงนครหลวงแห่งนี้ก่อนหน้านั้นแล้ว
อันที่จริง มิชชันนารีอเมริกันเคยทดลองปลูกฝีในสยามมาแล้ว แต่หนองฝีที่บรรจุมาในกลักขี้ผึ้งต้องส่งทางเรือข้ามนํ้าข้ามทะเลมาจากสหรัฐอเมริกาใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 5 – 6 เดือน กว่าจะมาถึงสยามเชื้อก็มักเสื่อมคุณภาพไปจนใช้การไม่ได้
เมื่อไข้ทรพิษระบาดอีกครั้งใน พ.ศ. 2381 โดยไม่มีหนองฝีสำเร็จรูปตามวิธีของเอดเวิร์ด เจนเนอร์ หมอบรัดเลย์ตัดสินใจใช้วิธีปลูกฝีแบบดั้งเดิม โดยใช้หนองฝีสดจากสะเก็ดแผลของผู้ป่วย (inoculation) ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษให้แก่ลูก ๆ ของหมอสอนศาสนาชาวอเมริกัน เพื่อเป็นตัวอย่างและเพื่อสร้างความมั่นใจในวิทยาการตะวันตกให้แก่ชาวสยาม
ความสำเร็จในครั้งนี้กลายเป็นที่สนใจของรัฐบาล จนทำให้คณะมิชชันนารีได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากรัชกาลที่สาม ทรงส่งแพทย์หลวงมาเรียนวิธีปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษร่วมกัน ในปีต่อมายังมีการพระราชทานเงินรางวัลให้แก่หมอบรัดเลย์ด้วย
ใน พ.ศ. 2387 หมอบรัดเลย์จึงสรุปบทเรียนเรียบเรียงเป็นหนังสือ ตำราปลูกฝีโคให้กันโรคธรพิศม์ไม่ให้ขึ้นได้ (Treatise on Vaccination) ตีพิมพ์จำนวน 500 ฉบับ
เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษกลายเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล และมีการรายงานความก้าวหน้าของเรื่องนี้ลงพิมพ์ใน ราชกิจจานุเบกษา เป็นประจำ มีความพยายามให้ ประชาชนโดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้รับวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่า เช่นมีประกาศใน พ.ศ. 2431 ว่า “บุตรหลานของท่านทั้งหลาย ฤๅบุตรหลานของบ่าวไพร่ ที่เปนผู้ยังไม่ได้ออกฝี ปลูกฝีก็ดี ถ้าจะปลูกฝีแล้ว ขอให้ภามาที่โรงพยาบาล ซึ่งบอกตำบลแล้ว มีหมอจะปลูกให้เปล่า ๆ ไม่ต้องเสียค่าปลูก” แต่ในระยะนั้น วัคซีนยังต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศอยู่
ในทศวรรษถัดมา (ปลายศตวรรษที่สิบเก้า ต่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบ) ถือเป็นช่วงที่มีความก้าวหน้าอย่างสำคัญในด้านการป้องกันไข้ทรพิษในสยาม เมื่อรัฐบาลส่งนายแฮนซ์ อดัมเสน (ภายหลังเป็นพระบำบัดสรรพโรค) นายแพทย์ลูกครึ่งมอญ-เดนมาร์ก ผู้สำเร็จวิชาแพทย์จากสหรัฐอเมริกา กับนายอัทย์ หะสิตะเวช (ต่อมาได้เป็น หลวงวิฆเนศประสิทธิวิทย์) นักศึกษาแพทย์หมายเลขประจำตัว 1 ของสยาม ไปศึกษาดูงานการผลิตวัคซีนไข้ทรพิษจากฟิลิปปินส์ ซึ่งมีความก้าวหน้าในด้านนี้มากที่สุดในภูมิภาค ตั้งแต่ยังอยู่ใต้การปกครองของสเปน แต่ขณะนั้นเพิ่งตกเป็นอาณานิคมของสหรัฐฯ จนนำมาสู่การจัดตั้งสถานผลิตหนองฝีของรัฐบาลขึ้นเองภายในประเทศ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่หก จึงมีการตราพระราชบัญญัติจัดการป้องกันไข้ทรพิษ พ.ศ. 2456 ซึ่งมีความตามมาตรา 5 ว่า “บุคคลทุกคนจะต้องปลูกไข้ทรพิษเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ เว้นแต่เด็กอายุตํ่ากว่า 1 เดือนยังไม่ต้องปลูก” อันหมายความว่า นับแต่นี้ไป คนไทยทุกคนจะต้องได้รับการปลูกฝี ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนในวงกว้าง
ความสำเร็จในด้านนี้ของสยามมีหลักฐานในหนังสือ A Physician at the Court of Siam ของนายแพทย์มัลคอล์ม สมิท ชาวอังกฤษ เขาบันทึกว่าครั้งแรกที่เดินทางเข้ามาในสยามเมื่อ พ.ศ. 2445 ผู้คนที่พบตามท้องถนนทั่วไป ร้อยละ 8 – 10 ยังมีแผลเป็นบนใบหน้าจากไข้ทรพิษ แต่อีกเพียง 20 ปีต่อมา (คือช่วงรัชกาลที่หก) สิ่งนี้แทบไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลย
****************
อหิวาตกโรค นอกจากไข้ทรพิษแล้ว ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โรคระบาดร้ายแรงที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยจำนวนมาก คืออหิวาตกโรค หรือเมื่อระบาดครั้งแรกๆ ในเมืองไทยเรียกกันว่า “โรคไข้ป่วง” หรือ “โรคลงราก”
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ว่าการระบาดใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปีมะโรง พ.ศ. 2363 ในสมัยรัชกาลที่สอง โดยได้ยินว่าเริ่มจากเกาะปีนัง ลุกลามขึ้นมายังเมืองสมุทรปราการ ปากแม่นํ้าเจ้าพระยา แล้วระบาดมาถึงกรุงเทพฯ
“ศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าแลศาลาดินในวัดสระเกศ วัดบางลำภู วัดบพิตรภิมุข วัดประทุมคงคา แลวัดอื่นๆ ก่ายกันเหมือนกองฟืน ที่เผาเสียก็มากกว่ามาก ถึงมีศพลอยในแม่นํ้าลำคลองเกลื่อนกลาดไปทุกแห่ง จนพระสงฆ์ก็หนีออกจากวัดคฤหัสถ์ก็หนีออกจากบ้าน ถนนหนทางก็ไม่มีคนเดิน ตลาดก็ไม่ได้ออกซื้อขายกันต่างคนต่างกินแต่ปลาแห้ง พริกกับเกลือเท่านั้น นํ้าในแม่นํ้าก็กินไม่ได้”
ในยุคนั้นยังไม่มีผู้ใดอธิบายได้ว่าโรคนี้เกิดจากอะไร วิธีรับมือของรัฐบาลจึงเลือก “ไล่ผี” ด้วยการประกอบพระราชพิธีอาพาธพินาศ ให้นิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์ตลอดคืน พร้อมยิงปืนใหญ่ที่ไม่บรรจุลูกกระสุนเป็นระยะๆ หวังใช้เสียงดังขับไล่ภูตผีปีศาจ นอกจากนั้นมีการอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุเข้ากระบวนแห่พร้อมกับให้พระสงฆ์โปรยทรายปลุกเสกและรดนํ้ามนต์รอบพระนคร ส่วนขุนนางและประชาชนก็ให้อยู่แต่ในบ้าน รักษาศีล ทำบุญปล่อยนกปล่อยปลา
แต่แล้วกลับปรากฏว่าผู้ที่เข้าร่วมกระบวนแห่และหามพระพุทธรูป บ้างก็ล้มลงขาดใจตาย หรือกลับไปตายที่บ้านก็มี ชาวบ้านจึงเล่าลือกันว่าพิธีไม่ศักดิ์สิทธิ์ สู้อำนาจผีไม่ได้นับแต่นั้นมาเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ทางราชการจึงยกเลิกไม่ประกอบพระราชพิธีอาพาธพินาศอีก
ปีต่อมาคือ พ.ศ. 2364 จอห์น ครอว์เฟิร์ด ผู้แทนผู้สำเร็จราชการอังกฤษประจำอินเดีย เดินทางเข้ามาเจรจาการค้าที่กรุงเทพฯ เขาบันทึกคำบอกเล่าจากปากเสนาบดีสยามว่า “ชาวสยาม 2 ใน 10 คน ในบางกอกได้ถูกโรคร้ายนี้กลืนชีวิต”
ราว 30 ปีต่อมา เกิดการระบาดของไข้ป่วงอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2392 ในรัชกาลที่สาม ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตนับหมื่นเช่นกัน ผู้ที่เสียชีวิตในคราวนี้ยังมีรวมไปถึงพระราชโอรสพระราชธิดาในรัชกาลที่สาม และแม่ทัพคนสำคัญ คือเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เมื่อคิดอัตราการตายก็ยังคงสูงถึงราวร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร เช่นเดียวกับ เมื่อ พ.ศ. 2363 ดังที่เจ้าพระยาทิพากรวงศ์บันทึกไว้ว่า “สืบดูตามบ้านใหญ่ ๆ ที่มีคนถึงร้อย ๆ เศษ ก็ตายถึง 20 เศษ”
เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ยังให้ความเห็นด้วยว่า ถึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรคนี้เกิดจากอะไร “เห็นอยู่แต่โรคนี้ชอบกับของโสโครกโสมมมักตายมาก คนที่สะอาดเหย้าเรือนไม่เปื้อนเปรอะก็ตายน้อยเพราะฉะนั้นชาวประเทศยุโรปจึงถือความสะอาดนัก”
แนวคิดทำนองนี้คงแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำของสยาม ทำให้ในเวลาต่อมามาตรการรับมือของทางราชการจึงดำเนินไปในแนวทางดังกล่าว เช่นเมื่ออหิวาตกโรคกลับมาระบาดอีกรอบหนึ่งในตอนต้นรัชกาลที่ห้า เมื่อ พ.ศ. 2416 จึงมีการออกประกาศให้ราษฎรรักษาความสะอาดของร่างกายและบ้านเรือน ใช้การบูรโรยตามที่นอน ส่วนผู้ป่วยด้วยโรคนี้ก็ให้ไปขอรับยาของหลวงจากโอสถศาลาที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกิจได้ โดยไม่คิดมูลค่า
ใน พ.ศ. 2424 เกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ ขึ้นอีก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงชักชวนเจ้านายและข้าราชการให้ตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นตามวังและตามบ้านหลายสิบแห่ง เพื่อแจกจ่ายยารักษาผู้ป่วยอหิวาตกโรค ภายหลังเมื่อโรคสงบลงแล้ว โรงพยาบาลเหล่านั้นก็เลิกล้มไป
ในสมัยรัชกาลที่หก มีความก้าวหน้าสำคัญในด้านการป้องกันอหิวาตกโรค สำหรับกรุงเทพฯ คือการเปิดใช้ระบบผลิตนํ้าประปา ซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ในรัชกาลหลวงวิลาศปริวัตร ได้แต่งกาพย์สุรางคนางค์ 28 สองบท ว่าด้วยมาตรการป้องกันโรคออกเผยแพร่
“อหิวาต์กำเริบ ล้างมือก่อนเปิบด้วยนํ้าประปา ผักดิบผักสด งดเสียดีกว่า หากใช้นํ้าท่า จงต้มเสียก่อน อาหารหวานคาว เมื่อกินทุกคราว เลือกแต่ร้อนร้อน นํ้าคลองต้องค้าน อาหารสำส่อน จำไว้ใคร่สอน กินให้ดีเอย”
บทร้อยกรองนี้ยังเป็นที่จดจำกันได้ดีแม้จนอีกหลายสิบปีต่อมา และอาจนับเนื่องเป็นส่วนหนึ่งในมาตรการยุคแรกของรัฐในการสถาปนา “ความเคยชินใหม่” ให้แก่สังคม
****************
กาฬโรค ตำนานหนึ่งที่แพร่หลายทั่วไปในภาคกลางจนถึงภาคตะวันออกของไทยคือเรื่องราวการอพยพหนี “โรคห่า” ของพระเจ้าอู่ทองบางท่านเชื่อว่าตำนานนี้เมื่อเปรียบเทียบกับประวัติศาสตร์โลกน่าจะตรงกับยุคก่อนหน้าการสถาปนากรุงศรีอยุธยา และการระบาดครั้งรุนแรงที่สุดของกาฬโรคที่ลุกลามทั่วทวีปยุโรปและเอเชีย
ซึ่งเมื่อพิจารณาการอพยพหนี “โรคห่า” ของพระเจ้าอู่ทองจากที่ใดที่หนึ่งแล้วมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 แล้วก็อาจสันนิษฐานว่าโรคห่าดังกล่าวก็คือเหตุระบาดครั้งใหญ่ของกาฬโรคในกลางคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่นั่นเอง
ในทศวรรษ 2440 สมัยรัชกาลที่ห้า อันเป็นช่วงที่การสื่อสารกับโลกตะวันตกเป็นไปอย่างใกล้ชิดและรวดเร็ว เริ่มมีข่าวการแพร่ระบาดของกาฬโรคตามเมืองท่าชายฝั่งของประเทศจีนซึ่งมีการเดินเรือไปมากับสยามเป็นประจำ ทางราชการของสยามจึงเตรียมตัววางแผนรับมือล่วงหน้า โดยเริ่มตั้งด่านกักกันเรือตามเกาะในอ่าวไทย (ได้แก่ เกาะไผ่และเกาะพระ) ให้ผู้ที่โดยสารมากับเรือจากเมืองจีนแวะจอดตรวจโรคก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้กาฬโรคระบาดมาถึงสยาม
ขณะที่ประเด็นว่าด้วยการกวดขันเรื่องความสะอาดของบ้านเมืองก็ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จึงมีการจัดตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นใน พ.ศ. 2440 เพื่อดูแลด้านความสะอาดและอนามัยของเมือง โดยมีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับขยะและสิ่งปฏิกูล การขับถ่ายของประชาชน โรงเรือนที่
ทำให้เกิดโรค และขนย้ายสิ่งสกปรกออกจากเมือง ติดตามมาด้วยการจัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ขึ้นเป็นแห่งแรก
ต่อมาเมื่อมีรายงานการพบผู้ป่วยด้วยกาฬโรคในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2447 ทางราชการจึงออกประกาศฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ชี้แจงแก่ราษฎร โดยมีคำอธิบายสาเหตุการเกิดโรคตามหลักวิชาการสมัยใหม่ว่า กาฬโรคเกิดจากเชื้อโรค หรือ “เยิร์ม” (germ) สามารถติดต่อผ่านการสัมผัสและการหายใจ โดยมีหนูและหมัดหนูเป็นพาหะ
“เพราะฉนั้นคนทั้งปวงควรจะอุตสาหะจนเต็มความสามารถที่จะจับหนูหรือฆ่าเสีย หรือจะไปขอยาเบื่อหนูที่โรงพักกองตระเวน ซึ่งใกล้เคียงบ้านก็ได้ เจ้าพนักงานจะเอายาไปเบื่อให้และจะเอาซากหนูที่ตายนั้นไปเผาให้ด้วย” นอกจากนี้ยังมีการใช้มาตรการควบคุมอย่างรัดกุม เช่น ปิดล้อมบริเวณที่เกิดการระบาด ทำความสะอาดอย่างถี่ถ้วน รื้อถอนและเผาทำลายบ้านเรือนที่สกปรก ตั้งโรงพยาบาลกาฬโรคที่คลองสานเพื่อกักกันผู้ป่วย และระดมนายแพทย์ชาวตะวันตกมาช่วยตรวจโรคตลอดจนให้สินบนนำจับหนูตายและจัดตั้งเตาเผาทำลายซากหนูประจำโรงพักทุกแห่งในพระนคร
****************
ไข้หวัดใหญ่ ตอนต้นศตวรรษที่ยี่สิบ สยามต้องเผชิญกับโรคระบาดชนิดใหม่ ได้แก่ไข้หวัดใหญ่ (influenza) หรือที่เรียกทั่วไปในสมัยนั้นว่าไข้หวัดสเปน (spanish flu) เนื่องจากมีรายงานข่าวการติดเชื้อครั้งแรกที่ประเทศสเปน จากนั้นก็แพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก แล้วเข้ามาถึงเมืองไทยช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461
กระทรวงมหาดไทยสรุปสถิติไว้ในราชกิจจานุเบกษาเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2462 ว่า “ไข้หวัดหรืออินฟูเอนซาได้เริ่มเปนขึ้นในพระราชอาณาจักรภาคใต้ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2461 ก่อน แล้วกระจายแพร่ไปทั่วพระราชอาณาจักร เพิ่งสงบลงเมื่อเดือนมีนาคมที่ล่วงมา”
ทันทีที่มีข่าวการระบาดของโรคในกรุงเทพฯ กระทรวงนครบาลออกประกาศว่าได้จัดแพทย์ไว้ตามโรงพยาบาลของรัฐบาล สถานีตำรวจ และที่ประชุมชนต่างๆ ให้คอยช่วยเหลือรักษาพยาบาลผู้ป่วยและแจกจ่ายยา “เพราะฉนั้น ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดป่วยเจ็บมีอาการไม่สบายลงเวลาใดให้รีบไปชี้แจง ขอความช่วยเหลือต่อเจ้าพนักงานแพทย์ที่ใกล้เคียงตามที่บอกตำบลที่ตั้งประจำไว้แล้วนั้นโดยทันที”
หนังสือพิมพ์ อัสสัมชัญ อุโฆษสมัย เล่มที่ 21 ค.ศ. 1918 รายงานสถานการณ์เฉพาะโรงเรียนอัสสัมชัญว่าในระหว่างนั้นมีนักเรียนเจ็บป่วย ต้องลาหยุดถึง 500 คน ส่วนครูก็ล้มป่วยไปนับสิบ และเสียชีวิตไปหนึ่งคน ทางโรงเรียนต้องประกาศปิดโรงเรียนนาน 10 วัน
หลังจากใช้เวลาระบาดหนักราวหกเดือนเฉพาะที่มีสถิติในส่วนภูมิภาค (ยังไม่รวมกรุงเทพฯ และปริมณฑล) จากพลเมืองสยามราว 8.5 ล้านคนขณะนั้นมีผู้ติดโรคนี้ราว 2.3 ล้านคน หรือกว่าหนึ่งในสี่ของประชากร และเสียชีวิตด้วยอาการปอดอักเสบถึงกว่า 80,000 คน คิดเป็นร้อยละสามของจำนวนผู้ป่วย แม้กระทั่งรัชกาลที่หกก็ทรงประชวรด้วยโรคนี้อยู่ระยะหนึ่ง
จากการระบาดของโรคเหล่านี้ ทำให้เกิดแนวคิดใหม่ในการรวบรวมงานดูแลรักษาโรคของประชาชน จากที่มีหน่วยงานรับผิดชอบตามพื้นที่ คือกระทรวงนครบาลรับผิดชอบเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลส่วนกระทรวงมหาดไทยดูแลส่วนภูมิภาคมาเป็นการจัดตั้ง “กรมสาธารณสุข” ขึ้นเพื่อดูแลกิจการด้านนี้โดยเฉพาะ อันถือเป็นการกำเนิดกระทรวงสาธารณสุขในเวลาต่อมา
เรื่อง ศรัณย์ ทองปาน
ภาพถ่าย สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ
กรมศิลปากร
สามารถติดตามเรื่องราวฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2563
สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2