เรื่องที่ไม่เคยเล่าขานของการรบด้วยรถถังที่ดุเดือดที่สุดในโลก

30 ปีก่อน รถถัง หลายพันคันประจันหน้ากันในสนามรบที่ทะเลทรายแห่งหนึ่ง ทุกวันนี้ “คืนสยองขวัญ” ยังตามหลอกหลอนทหารผ่านศึกจากสงครามอ่าวเหล่านี้อยู่

การรบด้วย รถถัง ที่ดุเดือดที่สุดในประวัติศาสตร์ของสงครามไม่ได้เกิดขึ้นในทวีปยุโรปหรือแอฟริกาเหนือเมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง หากแต่เป็นในทะเลทรายของอิรักเมื่อเพียง 30 ปีก่อน ในปฏิบัติการดาบทะเลทราย (Desert Sabre) ปฏิบัติการรุกภาคพื้นดินเป็นเวลาสี่วัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการพายุทะเลทราย (Desert Storm) ในสงครามอ่าวครั้งแรก

ในปฏิบัติการครั้งนี้ รถถังกว่า 3000 คันและยานเกราะประเภทอื่นอีกหลายพันคันได้เข้าพันตูกันอย่างดุเดือดในสามสมรภูมิ นามว่า 73 Easting, สันเขาเมดินา (Medina Ridge), และคืนสยองขวัญ (Fright Night หรือนามอย่างเป็นทางการว่ายุทธการนอร์โฟล์ก – The Battle of Norfolk) ที่เปลี่ยนทะเลทรายกว้างใหญ่ให้กลายเป็นสนามรบที่รถถังยักษ์ติดเกราะนับพันเข้าแลกกระสุนกันชนิดไม่มีใครยอมใคร ยิ่งใหญ่เสียยิ่งกว่ายุทธการที่คุสค์เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่สอง ที่รถถังราวกว่า 6000 คันจากทั้งฝ่ายเยอรมนีและสหภาพโซเวียตเข้าห้ำหั่นกันอย่างโหดร้ายเป็นเวลาหกสัปดาห์

“คูสค์มันใหญ่กว่าหากนับรวมทั้งปฏิบัติการครับ” เกรกอรี ฟอนเตโนต์ (Gregory Fontenot) พันเอกเกษียนอายุ นักประวัติศาสตร์ และผู้บังคับการกองพันรถถังกองพันหนึ่งในการรบซึ่งเหล่าทหารผ่านศึกได้ขนานนามว่าคืนสยองขวัญ อันเป็นการรบข้ามคืนอันอลหม่านที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ดุเดือดที่สุดของปฏิบัติการพายุทะเลทราย

“แต่ไม่เคยมีการรบที่เกิดขึ้น ไม่ว่าก่อนหรือหลังปฏิบัติการพายุทะเลทราย ที่รถถังกว่า 3,000 คัน และยานเกราะอื่น ๆ อีกหลายพันคันมาปะทะกันในเวลาไม่ถึง 36 ชั่วโมง”

รถถังรุ่น เอ็ม1เอ1 เอบรามส์ และรถยานเกราะคันอื่นๆ ส่งเสียงก้องไปทั่วทะเลทรายทางตอนเหนือของคูเวต ความสำเร็จของปฏิบัติการทหารขึ้นอยู่กับกองกำลังพันธมิตรที่ค้นหาวิธีอันชาญฉลาดในการนำทางผ่านทุ่งทุ่นระเบิดของซัดดัม ฮุสเซน ภาพถ่ายโดย CORBIS/GETTY IMAGES

สงครามหนึ่งร้อยชั่วโมง

เมื่อกองทัพอิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุซเซน รุกรานคูเวต ประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเล็กกว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 1990 หลายชาติจากทั่วโลกได้ประนามการกระทำครั้งนี้ ในไม่กี่เดือนต่อมา กองทัพขนาดมหึมาจากกว่า 35 ชาติซึ่งนำโดยสหรัฐฯ ได้รวมตัวกันในซาอุดีอาระเบียซึ่งอยู่ติดกัน ภายใต้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันไม่ให้อิรักบุกประเทศดังกล่าว

ไม่ไช่ความลับอีกต่อไป ในกรณีที่อิรักยังยืนกรานยึดครองคูเวต กองทัพพันธมิตรก็จะผลักดันพวกเขากลับไปในดินแดนของตนเอง และเมื่อหน่วยภาคพื้นดินเริ่มรุกเข้าไปในอิรักเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1991 สงครามครั้งนี้ก็ได้จบลงในไม่ถึงหนึ่งร้อยชั่วโมง

กระนั้น ก่อนปฏิบัติการรุกภาคพื้นดินเริ่มต้นขึ้น กองทัพพันธมิตรก็ได้เริ่มโจมตีทางอากาศต่ออิรักด้วยการทิ้งระเบิดใส่ฐานขีปนาวุธและที่ตั้งทางทหารอื่นๆ มาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม ส่วนหน่วยภาคพื้นในซาอุดีอาระเบียทำการฝึกฝนการรบในทะเลทราย และในขณะเดียวกันนั้นก็ยังมีการปะทะครั้งยิบย่อยกันอย่างประปรายตามแนวชายแดน “อย่างแรกสุด อย่าพูดว่ามันคือสงครามร้อยชั่วโมงครับ มันคือการทรยศ/ดูหมิ่นกองทัพอากาศและบุคลากรทางทหารคนอื่นๆ ที่เริ่มต่อสู้กับกองทัพอิรักมาตั้งแต่เดือนมกราคม”

ปืนใหญ่อัตราจรแบบ M109 ยิงใส่ที่ตั้งของกองทัพอิรัก ปืนใหญ่รุ่นนี้มีระยะยิงเกือบ 16 กิโลเมตร ส่วนปืนใหญ่ของ M1A1 ยิงกระสุนรูปร่างเหมือนลูกดอกซึ่งบินด้วยความเร็ว 1.6 กิโลเมตรต่อวินาที กระสุนเหล่านี้บางลูกติดหัวรบยูเรเนียมเสื่อม ภาพถ่ายโดย STEVE MCCURRY, MAGNUM PHOTOS

เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ กองกำลังนานาชาติกำลังมุ่งจุดสนใจไปที่คูเวตซิตี เมืองหลวงและเมืองท่าทางเรือของประเทศที่ถูกยึดครอง เหล่าเรือรบที่มารวมกันนอกชายฝั่งลวงให้อิรักคาดว่าการโจมตีจะมาจากชายฝั่ง แต่เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ฝ่ายสัมพันธมิตรได้แอบตั้งแนวยาวกว่า 483 กิโลเมตรตามแนวชายแดนอิรัก-ซาอุดีอาระเบีย ทำให้เหล่านายทหารฝ่ายอิรักเกิดความสงสัยแต่มิได้กระทำการตอบโต้ และดำเนินการตามแผนซึ่งนายพลนอร์แมน ชวาร์ซคอพ์ฟ ผู้บังคับบัญชาเรียกว่า “หมัดฮุคซ้าย” ด้วยการนำหนึ่งในกองกำลังรถถังและยานเกราะที่ใหญ่ที่สุดที่เคยรวมกำลังกัน พร้อมด้วยทหารราบ บุกผ่านชายแดนอันกว้างขวางแต่มีการป้องกันเพียงเบาบาง เข้าไปในอาณาเขตของอิรักตามระยะทางที่กำหนดไว้ ก่อนจะเดินทัพเลี้ยวไปทางตะวันออกอย่างกระทันหัน และมุ่งหน้าไปสู่เมืองหลวงของคูเวตซึ่งอยู่ใต้การยึดครอง พร้อมกับทำลายกองกำลังอิรักที่ขวางทางอยู่ไปด้วย

การรุกในเช้าวันแรกเป็นไปอย่างง่ายดาย รถถัง ยานเกราะ และทหารราบได้บุกฝ่าหน่วยป้องกันของอิรักซึ่งหลายหน่วยถูกถล่มแทบราบคาบจากการโจมตีทางอากาศก่อนหน้านี้ ส่วนทหารอิรักหลายหมื่นนาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและคนหนุ่มซึ่งถูกบังคับเกณฑ์ทหารและไร้การเตรียมตัวโดยสิ้นเชิงและยังมีอาวุธที่ด้อยกว่าอย่างมากมายได้สู้กลับอย่างเหี้ยมหาญ

หลายคนยอมจำนนเมื่อรถถังบุกมาถึงค่ายของพวกเขา ความสำเร็จที่รวดเร็วและต่อเนื่องนี้ยังทำให้ชวาร์ซคอพป์ฟต้องแปลกใจ เขาจึงสั่งให้ทหารทั้งหมดดำเนินการให้รวดเร็วกว่าแผนที่วางไว้ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่สร้างความได้เปรียบให้ฝ่ายพันธมิตรแต่ทำให้เหล่าทหารที่เหนื่อยล้าอยู่แล้วยิ่งเหนื่อยล้าขึ้น

“พวกเราไม่เคยได้นอนครับ” แรนดี ริเชิร์ท อดีตพลรถถังจากกองพลทหารราบที่หนึ่ง กล่าว “เมื่อคุณหยุดเมื่อไหร่ คุณก็จะหลับไปตอนนั้นเลย คุณอาจจะได้งีบสัก 20 นาที และนั่นคือรอบสุดท้ายในอีกแปดชั่วโมง”

กระนั้น ทหารที่พวกเขาเผชิญหน้าเมื่อวันแรกนั้นมิไช่ทหารที่แข็งแกร่งที่สุดของอิรัก แต่เป็นเพียงตัวตายตัวแทนที่ถูกวางไว้ในตำแหน่งกว้างๆ หน้าหน่วยพิทักษ์สาธารณะรัฐ (Rupublican Guard) ซึ่งเป็นที่เกรงกลัวกันอย่างกว้างขวาง นั่นเอ็งที่ทำให้การปะทะเล็กๆ เป็นครั้งคราวระหว่างรถถังในสองวันแรกกลับกลายเป็นสงครามรถถังโดยฉับพลัน เมื่อทหารสหรัฐฯ จากกรมทหารม้ายานเกราะที่สองและหน่วยอื่นๆ ได้เจอกับหน่วยดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ในขณะที่พวกเขากำลังเดินทัพเลี้ยวไปทางตะวันออกเพื่อมุ่งสู่คูเวต เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

ทหารอิรักกำลังถอนตัวออกจากแหล่งน้ำมัน BURGAN ในช่วงที่ไฟกำลังลุกท่วม จากนั้นไม่นาน ควันไฟพิษจากน้ำมันที่ถูกเผาก็ลอยปกคลุมไปในระยะกว่า 50 กิโลเมตรทั่วอ่าวเปอร์เซีย ภาพถ่ายโดย BRUNO BARBEY, MAGNUM PHOTOS

ในการเผชิญหน้าที่มีชื่อเสียงครั้งหนึ่ง กองร้อย A ซึ่งนำโดยร้อยเอก (ยศในขณะนั้น) เอช.อาร์. แมคมาสเตอร์ ผู้ซึ่งได้เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา ได้ยึดตำแหน่งเหนือร่องน้ำแห้งแห่งหนึ่งและชนะการจู่โจมชนิดคลื่นต่อคลื่นของรถถังอิรักในการรบยาวนานกว่าสี่ชั่วโมง

หลายชั่วโมงต่อมา ถัดไปอีกไม่กี่กิโลเมตร ในค่ำคืนสยองขวัญที่ฟอนเตโนต์เข้าร่วม กองพลทหารราบที่หนึ่งและกองพลน้อยที่สามของกรมยานเกราะที่สองต้องเผชิญกับการรบในเวลากลางคืนกับรถถังของหน่วยพิทักษ์ฯ ท่ามกลางสภาวะแสนเลวร้ายเนื่องเพราะความมืด ควัน และฝนเหนียวหนืดที่จับตัวกับกลุ่มควันจากทุ่งน้ำมันที่ถูกกองทัพอิรักเผา ในการรบที่รถถังแต่ละคันยิงใส่กันโดยไม่รู้ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายใด

เหล่าทหารอิรักนำร่างกายของตนเองมารุมโจมตียานพาหนะของอีกฝ่ายและพยายามใช้ปืนกลยิงใส่ช่องและรูต่างๆ ซึ่งพลรถถังฝ่ายสหรัฐฯ แก้เผ็ดด้วยการปิดช่องประตู และให้รถถังฝ่ายตนเองใช้ปืนกลยิงกราดทหารที่เข้ามาเกาะ และเมื่อรถถังสหรัฐฯ แล่นผ่านเนินต่ำหรือแอ่ง ทหารอิรักจะใช้จรวดยิงจากด้านหลังเพื่อพยายามทำลาย และเป็นการตอบสนองที่รวดเร็วของเหล่าพลปืนกลที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุหายนะขึ้น

หน่วยลาดตระเวนสหรัฐฯ มุ่งหน้ามาที่ซากรถถังอิรักและศพที่ดำเกรียม กองกำลังพันธมิตรปลดปล่อยคูเวตเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 1991 ทหารอิรักอาจเสียชีวิตไปถึง 50000 นาย และคูเวตยังคงมีรอบแผลเป็นจากน้ำมันที่รั่ว เปลวเพลิง และรอยตีนตะขาบของรถถัง ภาพถ่ายโดย BRUNO BARBEY, MAGNUM PHOTOS

“บางครั้ง” ฟอนเตโนต์กล่าว “มันมีแค่แถวของรถถังที่กระหน่ำยิงกันและกันครับ มันคือการรบแบบ 360 องศา”

ในความอลหม่านและความมืด อุบัติเหตุถึงตายนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ในหนังสือ The First Infantry Division and the U.S. Army Transformed: Road to Victory in Desert Storm ที่เขาเขียน ฟอนเตโนต์กล่าวถึงเหตุการณ์หดหู่ครั้งหนึ่งที่รถถัง M1A1 ทำลายรถหุ้มเกาะแบรดลีย์ด้วยความผิดพลาด แม้เขาเองจะกำชับทหารใต้บังคับบัญชาว่าให้ยิงเฉพาะเมื่อแน่ใจว่าเป้าหมายคือศัตรูเท่านั้นก็ตาม ในค่ำคืนแสนวุ่นวายนั้น ทหารสหรัฐฯ เสียชีวิตไป 6 นาย และบาดเจ็บอีก 32 นายจากคมกระสุนของทั้งฝ่ายตนเองและข้าศึก

“มันมีหลายปัจจัยน่ะครับ ฝนมันตกลงมาเป็นโคลน ให้ตายเถอะ เราเจอเมฆกับควันที่ทำลายทัศนวิสัย มีคนบอกว่าทัศนวิสัยในคืนนั้นมันเหมือนการสวมแว่นดำมองเข้าไปในตู้เสื้อผ้า” และความอ่อนล้าก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง “พวกทหารเห็นสิ่งที่พวกเขาคิดว่ามันอยู่ตรงนั้น แต่ที่จริงมันไม่มีอะไร ถ้าคุณเห็นยานพาหนะต่อสู้พุ่งตรงมาหาคุณ คุณต้องทำอะไรบางอย่าง และสิ่งนั้นอาจไม่ไช่สิ่งที่ถูกต้อง”

ยังมีการปะทะด้วยรถถังครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งหลังคืนสยองขวัญ คือการถล่มกันอย่างดุเดือดเป็นเวลา 40 นาทีที่สันเขาเมดินา ซึ่งมียานพาหนะเข้าร่วมกว่า 3000 คัน ซึ่ง 348 คันเป็นรถถัง M1A1 ยุทธการครั้งนี้คือการยืนหยัดต่อสู้ครั้งสุดท้ายของกองกำลังพิทักษ์ฯ  ในสงครามสั้นๆ ครั้งนี้ แม้พวกเขาจะสู้อย่างเต็มที่ แต่ด้วยระยะยิงที่เหนือกว่าอย่างลิบลับของปืนรถถังของฝ่ายสหรัฐฯ ทำให้ฝ่ายอิรักทำอันตรายกับพวกเขาแทบไม่ได้ เฮลิคอปเตอร์จู่โจมและเครื่องบินพิฆาตรถถังรุ่น A-10 บินเข้ามาช่วยจัดการงานที่ยังเหลือ

ทหารสหรัฐฯ ตรวจดูรถถังอิรักที่ถูกทำลาย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1991 เมื่อ 35 ประเทศผนึกกำลังเพื่อปลดปล่อยคูเวตจากการยึดครองของกองทัพอิรักภายใต้การนำของซัดดัม ฮุซเซน ผู้เป็นเผด็จการ ภาพถ่ายโดย PHOTOGRAPH ERIC BOUVET, GAMMA-RAPHO/GETTY IMAGES

ชัยชนะอันง่ายดาย?

การบุกเข้าไปในอิรักจนถึงการหยุดยิง ปฏิบัติการพายุทะเลทรายกินเวลาไปเพียงเกือบหนึ่งร้อยชั่วโมง มีการประมาณการณ์ว่าทหารอิรักเสียชีวิตไปราว 25000 ถึง 50000 นาย และตกเป็นเชลยอีก 80000 นาย ส่วนทหารสหรัฐฯ 219 คนที่เสียชีวิต 154 คนเสียชีวิตในการรบ และอีกมากมายที่เสียชีวิตจากการยิงกันเอง รถถังอิรักราว 3300 คันถูกทำลายในการรบในทะเลทรายและจากการโจมตีทางอากาศ ส่วนฝ่ายพันธมิตรเสียรถถังรวม 31 คัน

แม้ภาพข่าวที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนเห็นผ่านจอโทรทัศน์เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 1991 จะเป็นภาพแห่งชัยชนะอันไม่หยุดหย่อนของฝ่ายพันธมิตร ของรถถังที่มุ่งฝ่าทะเลทรายราวฝูงกระบืออันบ้าคลั่ง ซากรถถังที่ผลิตโดยรัสเซียและทหารอิรักที่มอดไหม้ดำเกรียม ความสูญเสียที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวของทั้งสองฝ่าย และรายงานที่ว่าทหารอิรักจำนวนมากโขยอมจำนนก่อนต่อสู้ จะดูเป็นเหมือนบทเรียนว่าอย่าได้กระทำการบังอาจกับ “พ่อพระ” ของโลก และดูเหมือนเป็นชัยชนะอันง่ายดายสำหรับผู้นั่งชมสงครามบนเบาะแสนสบาย แต่สำหรับทหารหลายนายที่ร่วมรบ สงครามครั้งนี้ไม่ไช่เรื่องง่าย และมีหลายนายที่ต้องเผชิญกับบาดแผลทางจิตใจ

“ผมไม่คิดว่าภรรยาของผมจำเป็นต้องรู้ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นที่นั่นครับ” พลรถถังรายหนึ่งผู้ร่วมรบที่สันเขาเมดินาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Times “ผมไม่อยากให้เธอรู้จักตัวตนด้านนั้นของผม”

ส่วนตัวฟอนเตโนต์เอง เขายังคงหลอกหลอนกับเหตุการณ์ยิงฝ่ายเดียวกันเองในคืนสยองขวัญที่เขาเรียกว่า “การฆ่าพี่น้อง”

สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บางคนมองว่าสงครามอาจจบลงอย่างรวดเร็ว หรืออาจดูไม่มีวันสิ้นสุด สำหรับบางคน สงครามร้อยชั่วโมงอาจดำเนินไปได้ตลอดกาล

เรื่อง BILL NEWCOTT

แปลและเรียบเรียง ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม วันที่ฟ้าถล่ม: เหตุการณ์ระเบิดปรมาณูแห่งฮิโรชิมะ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.