วันที่ฟ้าถล่ม: เหตุการณ์ระเบิดปรมาณูแห่งฮิโรชิมะ

วันที่ฟ้าถล่ม: เหตุการณ์ระเบิดปรมาณูแห่งฮิโรชิมะ

กว่าเจ็ดทศวรรษหลังประสบหายนะ ฮิโรชิมะ ทิ้งอดีตไว้เบื้องหลัง แต่สำหรับผู้รอดชีวิตที่ยังหลงเหลืออยู่ ความน่ากลัวของการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์และบทเรียนจากสงครามยังคงแจ่มชัด

เก้าวันหลังระเบิดปรมาณูถูกทิ้งถล่มเมือง ฮิโรชิมะ หลังแม่กับน้องชายวัยหนึ่งขวบเสียชีวิต บ้านถูกเผาเป็นเถ้าถ่าน มาซากิ ทานาเบะ วัยเจ็ดขวบเฝ้ามองพ่อสิ้นลม ในฐานะศัตรูของอเมริกาจนลมหายใจสุดท้าย พ่อของ ทานาเบะตายพร้อมดาบที่วางอยู่ข้างกาย ปู่ของทานาเบะอยากเก็บดาบของลูกชายไว้ แต่กองกำลังผู้ยึดครองเข้ามายื้อแย่งจากมือเขาไป

“พวกป่าเถื่อน” เด็กชายทานาเบะคิด เขาตั้งปณิธานจะแก้แค้นอเมริกาให้ได้

เป็นเรื่องเข้าใจได้ เพราะเขาไม่เหลืออะไร และแทบไม่เหลือใคร บ้านของเขาเคยอยู่ติดกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมประจำจังหวัด ฮิโรชิมะ ซึ่งปัจจุบันเป็นอาคารที่โดดเด่นด้วยโดมเหลือแต่โครงและถูกเก็บรักษาไว้ในสภาพเดิม เพื่อสื่อถึงการเรียกร้องให้ยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์

ฮิโรชิมะ, ระเบิดปรมาณูปัจจุบัน ในวัยแปดสิบต้นๆ ทานาเบะผู้ยึดถือประเพณีเคร่งครัด สวมชุดเสื้อคลุม จินเบ สีเทาแขนกว้าง เขายังเป็นคนช่างค้นคิดและปรับตัวเก่ง เขากลายเป็นนักสร้างภาพยนตร์และร่ำเรียนวิชาคอมพิวเตอร์กราฟิก เพื่อจะก่อร่างสร้างเมืองที่ถูกระเบิดอันตรธานไปขึ้นมาใหม่ในภาคไซเบอร์ ผลลัพธ์ที่ได้คือภาพยนตร์เรื่อง Message From Hiroshima (สารจากฮิโรชิมะ) ซึ่งรวมการสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ทิ้งระเบิดเมื่อวัน 6 สิงหาคม ปี 1945 และหากนับการทิ้งระเบิดปรมาณูอีกลูกที่เมืองนางาซากิในอีกสามวันถัดมาด้วยแล้ว ทั้งสองเหตุการณ์คร่าชีวิตผู้คนไปถึง 200,000 คน และบีบให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมจำนนในสงครามโลกครั้งที่สอง เท่ากับเป็นการยุติแผนบุกยึดครองญี่ปุ่นโดยฝ่ายพันธมิตรที่อาจส่งผลให้ผู้คนล้มตายหลายล้านคน

แต่ทานาเบะไม่อาจคาดเดาถึงการเปลี่ยนแปลงอันเจ็บปวดที่จะเกิดกับเขาและประเทศญี่ปุ่น ลูกสาวของเขาแต่งงานกับคนอเมริกัน แล้วไปลงหลักปักฐานในสหรัฐอเมริกา ทานาเบะว้าวุ่นใจอยู่นานกับความคิดว่า ลูกสาวเขาเลือกอยู่กับศัตรู ราวสองหรือสามปีหลังการแต่งงานดังกล่าว ทานาเบะบังเอิญพบจดหมายฉบับหนึ่งที่ลูกสาวทิ้งไว้ตรงฐานพระพุทธรูปศิลาองค์หนึ่งในจังหวัดยามางูชิที่ซึ่งปู่ของเธอ พ่อของทานาเบะ เสียชีวิต

ในจดหมาย เธอขอโทษปู่หากเธอทำให้เขาผิดหวัง หลายปีผ่านไป ทานาเบะโอนอ่อนผ่อนตามโลกที่แปรเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับผู้คนรุ่นเดียวกับเขาส่วนใหญ่

ฮิโรชิมะ, ระเบิดปรมาณูเจ็ดสิบห้าปีหลังสงครามปิดฉากลง เรื่องราวของทานาเบะคือเรื่องราวของฮิโรชิมะและของประเทศญี่ปุ่นด้วย นั่นคือเรื่องราวของการผสมผสานระหว่างประเพณีดั้งเดิมกับความทันสมัย ระหว่างความตั้งใจเด็ดเดี่ยวที่จะไม่มีวันลืม กับความมุ่งมั่นที่จะไม่ยอมให้อดีตเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่างแต่ฝ่ายเดียว

ทุกวันที่ 6 สิงหาคม ฮิโรชิมะจะจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากระเบิดปรมาณูกว่า 135,000 ราย พร้อมกับสลักชื่อเพิ่มลงบนอนุสาวรีย์ ส่วนวันอื่นๆ ที่เหลือของปี ฮิโรชิมะจดจ่ออยู่กับการมองไปข้างหน้าอย่างเด็ดเดี่ยว ฮิโรชิมะในปัจจุบันมีความกระตือรือร้นถึงขั้นเคร่งครัดในฐานะผู้ต่อสู้เรียกร้องการลดอาวุธนิวเคลียร์ของโลก แต่ก็เป็นเมืองศูนย์รวมที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวาสำหรับการนันทนาการ การวิจัย และการพาณิชย์ด้วย

หลังถูกระเบิดถล่ม ฮิโรชิมะเต็มไปด้วยเรื่องเล่าขานราวปาฏิหาริย์ถึงบริการต่างๆ ที่กลับมาใช้งานได้อีก ไม่ว่าจะเป็นประปา ไฟฟ้า หรือรถราง รวมถึงเรื่องราวของชายหญิงผู้หาญกล้าจากใกล้และไกล ที่มีส่วนช่วยกอบกู้และฟื้นคืนชีวิตให้กลับสู่ฮิโรชิมะในช่วงหลายปีต่อมา

ปัญหาต่างๆ ของฮิโรชิมะทุกวันนี้ไม่ต่างจากของเมืองใหญ่อื่นๆ ในญี่ปุ่น ตั้งแต่อัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น โรงแรมมีไม่พอรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่าสองล้านคนต่อปี ไปจนถึงอาคารบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานที่เสื่อมโทรมลง แต่มีสำนึกร่วมถึงความเร่งด่วนในการอนุรักษ์ความทรงจำของเหล่า ฮิบากุชะ หรือผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูในครั้งนั้น ซึ่งในฮิโรชิมะเหลืออยู่ราว 47,000 คนและมีอายุเฉลี่ย 82 ปี

ฮิโรชิมะส่งเหล่าฮิบากุชะออกไปถ่ายทอดเรื่องราวของพวกเขาทั่วโลก ทั้งด้วยตัวเองและทางอินเทอร์เน็ต พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมะ (Hiroshima Peace Memorial Museum) มีห้องสมุดวิดีทัศน์บรรจุเรื่องราวจากคำบอกเล่าของผู้รอดชีวิตมากกว่า 1,500 รายการ ในจำนวนนี้มีราว 400 รายการที่สามารถดูทางออนไลน์ได้  หลายคนบอกว่าการได้แบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาให้คนอื่นฟัง ช่วยเติมเต็มคุณค่าความหมายให้กับสิ่งที่พวกเขาทนแบกรับมานาน

ฮิโรชิมะ, ระเบิดปรมาณู
เกี่ยวกับรูปภาพ: ภาพพาโนรามาของฮิโรชิมะเหล่านี้นำมาจากภาพถ่ายที่ถ่ายโดยกองทัพสหรัฐฯ หลังการทิ้งระบิดหลายอาทิตย์ แสดงให้เห็นขอบเขตของความเสียหาย ในภาพสุดท้าย เราจะเห็นโครงหลังคาโดมของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันยังตั้งอยู่ในฐานะสัญลักษณ์ของหายนะจากระเบิดปรมาณู (ภาพถ่ายทั้งหมดได้รับความอนุเคราะห์จากพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานสันติภาพฮิโรชิมะ)

เรื่อง เท็ด กัป


นี่คือเนื้อหาส่วนหนึ่งจากสารคดี วันที่ฟ้าถล่ม ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนมิถุนายน 2563

สามารถอ่านเนื้อหาฉบับเต็มได้ในเล่ม สามารถสั่งซื้อได้ที่ร้านหนังสือหรือทางเว็บไซต์ https://www.naiin.com/product/detail/505767


 

อ่านเพิ่มเติม ภาพถ่ายอันทรงพลังแสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากระเบิดนิวเคลียร์

Recommend