ค้นพบฟอสซิลของแรดที่สูงกว่ายีราฟในจีน จาก 25 ล้านปีก่อน

หนึ่งในสัตว์บกที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา มาจากสัตว์สายพันธุ์ใหม่นี้อาศัยอยู่ระหว่างที่ราบสูงทิเบตและปากีสถานในปัจจุบันเมื่อกว่า 25 ล้านปีก่อน

ที่ราบสูงทิเบตในปัจจุบันทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า -ทุ่งหญ้าสเตปป์สูงตระหง่าน ผาดโผนชนกับเทือกเขาหิมาลัย – แต่เมื่อ 26.5 ล้านปีก่อน บางส่วนของภูมิภาคนี้เต็มไปด้วยป่าดิบชื้น จึงเหมาะเป็นที่หลบภัยของสิ่งที่สูงเทียมฟ้าประเภทหนึ่ง นั่นคือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดตัวหนึ่งที่เคยเดินบนบก

เรื่องของสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งค้นพบนี้ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Communications Biology วันนี้ เป็นญาติของสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วในปัจจุบันที่เรียกว่า Paraceratherium linxiaense สัตว์ขนาดมหึมาตัวนี้หนักได้ถึง 24 ตัน หนักกว่าช้างแอฟริกาปัจจุบันถึง 4 เท่า และกะโหลกของมันเพียงอย่างเดียวก็ยาวมากกว่าหนึ่งเมตร

มันเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่รู้จักในกลุ่มแรดไม่มีเขาขนาดยักษ์ อาศัยอยู่ทั่วเอเชียกลางเมื่อประมาณ 50 ล้านปีถึง 23 ล้านปีก่อน P. linxiaense และเครือญาติของพวกมันต่างก็มีชื่อเสียงในเรื่องความใหญ่โต คาดว่าเมื่อถึงช่วงโตเต็มวัย ตอนยืนขึ้น ตำแหน่งไหล่ของมันจะสูงกว่า 4.87 เมตร มีคอยาวเกือบ 2.13 เมตรและมีกะโหลกศีรษะขนาดใหญ่อยู่ด้านบน ซึ่งยีราฟในปัจจุบันมีความสูงที่ระหว่าง 4.27 ถึง 5.79 เมตรตั้งแต่หัวจรดเท้า

ตัวอย่างต้นแบบแรกของ Paraceratherium linxiaense sp. nov. ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://www.nature.com/articles/s42003-021-02170-6

แรดยักษ์ “สามารถกินพืชที่อยู่สูงระดับชั้น 3 ถึง 4 ของอาคารได้ ” ปิแอร์-โอลิวิเยร์ อองตวน นักสำรวจจากเนชั่นเนล จีโอกราฟฟิกและนักบรรพชีวินวิทยาแรดแห่งมหาวิทยาลัยมงต์เปลลิเย่ร์ของฝรั่งเศส ผู้พิจารณางานศึกษาครั้งใหม่นี้กล่าว linxiaense เป็นหนึ่งในสัตว์ยักษ์กลุ่มสุดท้ายที่เรียกว่า “พาราเซราเธอเรส” ซึ่งมีชีวิตเมื่อประมาณ 26.5 ล้านปีก่อน ด้วยอายุและตำแหน่งของพวกมัน ซากดึกดำบรรพ์ใหม่รวมทั้งกะโหลก ขากรรไกรล่าง และกระดูกสันหลังสามชิ้น กำลังช่วยเติมแผนภูมิตระกูลพาราเซราเธอเรส และให้ความกระจ่างครั้งใหม่ว่าแรดที่สูงตระหง่านเหล่านี้มีวิวัฒนาการมาอย่างไร และแพร่กระจายอย่างไรในทวีปเอเชียยุคปัจจุบัน

ยักษ์สมัยยุคก่อนประวัติศาสตร์

ฟอสซิลพาราเซราเธอเรียมเป็นของหายากและส่วนใหญ่มักเป็นเพียงเศษชิ้นส่วนซึ่งยากต่อการจัดทำแผนภูมิวิวัฒนาการและการกระจายตัวของสัตว์สกุลนี้ บ้านอันเก่าแก่ของสัตว์กลุ่มนี้ดูเหมือนจะเป็นเอเชียกลาง แต่พาราเซราเธอเรียมสายพันธุ์แรกที่เคยพบคือ P. bugtiense อาศัยอยู่ในพื้นที่ทางตะวันตกของปากีสถานในปัจจุบัน แล้วแรดยักษ์ตัวนี้ไปถึงอนุทวีปอินเดียได้อย่างไร?

ทีมวิจัยที่นำโดย เถาเติ้ง นักบรรพชีวินวิทยาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่สถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาสัตว์มีกระดูกสัฤนหลังของจีนในกรุงปักกิ่งพบว่าสปีชีส์ใหม่ P. linxiaense มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับ P. bugtiense ของปากีสถานและบ่งบอกถึงต้นกำเนิดของแรดปากีสถาน

ฟอสซิลใหม่นี้มาจากหินทรายสีน้ำตาลบริเวณลุ่มแม่น้ำลินเซียทางตอนกลางของจีน ที่นี่มีชั้นตะกอนที่หนาถึง 1.9 กิโลเมตรบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์โลกในช่วง 30 ล้านปีที่ผ่านมาซึ่งเต็มไปด้วยฟอสซิลจากสิ่งมีชีวิตโบราณที่เคยอาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้

กระดูกสันหลังของ Paraceratherium linxiaense. ขอบคุณภาพถ่ายจาก https://www.nature.com/articles/s42003-021-02170-6

ปี 1950 เกษตรกรในพื้นที่อ้างว่าพบ “กระดูกมังกร” ซากเหล่านี้ถูกขายให้กับบริษัททางการแพทย์และใช้เป็นส่วนผสมในยาจีนโบราณ ต่อมาปี 1980 นักบรรพชีวินวิทยาตระหนักว่าภูมิภาคแห่งนี้เต็มไปด้วยฟอสซิลตั้งแต่ยุคโอลิโกซีนตอนปลายเมื่อ 23 ถึง 28 ล้านปีก่อนที่มีคุณค่าทางวิทยาศาสตร์

นับตั้งแต่นั้นมา นักบรรพชีวินวิทยาจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและบรรพชีวินวิทยาได้ศึกษาหินในลุ่มน้ำลินเซียที่มีฟอสซิลมากมาย

ในเดือนพฤษภาคม 2015 เติ้งและเพื่อนร่วมงานของเขาได้ค้นพบสิ่งหายากใกล้หมูบ้านวังเจียชวน : กะโหลก ขากรรไกรที่ครบถ้วนสมบูรณ์ของแรดยักษ์ และกระดูกสันหลังสามชิ้นจากบุคคลอื่น เมื่อพวกเขาเห็นกระดูกอายุ 26.5 ล้านปีซึ่งรวมถึงกะโหลกยาว 1.16 เมตร สภาพและขนาดของกระดูกนั้น “เป็นเรื่องน่าประหลาดใจสำหรับเรา” เติ้งกล่าว

เมื่อประมาณ 26.5 ล้านปีก่อน แรดขนาดยักษ์ที่เพิ่งได้รับการค้นพบท่องไปทั่วที่ราบสูงทิเบตทางตะวันออกเฉียงเหนือ ตามกายวิภาคของกะโหลกศีรษะ ผู้คนพบคิดว่ามันมีลำตัวสั้นที่จับยึดได้เหมือนสมเสร็จสมัยใหม่ ขอบคุณภาพวาดจาก YU CHEN

ด้วยความคล้ายคลึงกันของแรดยักษ์จากปากีสถาน การค้นพบครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าพวกมันสามารถเคลื่อนที่อย่างอิสระหลายพันกิโลเมตรระหว่างเอเชียกลางและอนุทวีปอินเดียเมื่อ 30 ถึง 35 ล้านปีก่อนซึ่งในขณะนั้นมีสภาวะเป็นเขตร้อน “ปล่อยให้แรดยักษ์กลับมาทางเหนือสู่เอเชียกลาง หมายความว่าภูมิภาคทิเบตยังไม่ได้รับการยกฐานะให้เป็นที่ราบสูงในระดับสูง” เติ้งกล่าวในอีเมล์ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานทางธรณีวิทยา พื้นที่นี้ยังมีส่วนที่ต่ำอยู่บ้างจนกระทั่งเมื่อ 25 ล้านปีก่อน

ความลึกลับของแรดยักษ์

แอนโทนี นักบรรพชีวินวิทยาชาวฝรั่งเศสกล่าวว่า การศึกษาใหม่นี้ช่วยเปิดเผยรูปแบบทางภูมิศาสตร์ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของแรดยักษ์ทั่วโลกโบราณ แคตตาล็อกของซากดึกดำบรรพ์แรดยักษ์ในงานวิจัยใหม่ชี้ให้เห็นว่าสัตว์เหล่านี้ไม่เคยข้ามจากเอเชียไปยังยุโรปผ่านเทือกเขาอูราลซึ่งอาจทำหน้าที่เป็นกำแพงกั้น

การวิจัยอาจช่วยอธิบายว่าสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่นี้มาถึงพื้นที่ที่เป็นประเทศตุรกีในปัจจุบันได้อย่างไร ซึ่งยังพบฟอสซิลของแรดอีกด้วย ตามรายงานของแอนโทนี ซากดึกตำบรรพ์ที่ยังไม่ได้รับการอธิบายในเอกสารทางวิทยาศาสตร์แนะว่าหลังจากแรดยักษ์มาถึงปากีสถานในปัจจุบัน พวกมันได้เข้าสู่ตุรกีผ่านดินแดนที่ตอนนี้คืออัฟกานิสถานและอิหร่าน

แผนที่แสดงจุดที่พบฟอสซิล ในพื้นที่ลุ่มน้ำหลินเซีย ในหมู่บ้านหวังเจียฉวน ตำบล Dongxiang มณฑลกานซู่ ประเทศจีน ขอบคุณแผนที่จาก https://www.nature.com/articles/s42003-021-02170-6

อย่างไรก็ตาม ฟอสซิลบางส่วนที่บอกเล่าเรื่องราวนี้ได้สูญหายไปจากวิทยาศาสตร์แล้ว โดยการทิ้งระเบิดของกองทัพปากีสถานในเมืองเดราบักติ จังหวัดบาโลชิสตานทางตะวันตกของประเทศที่ได้ทำลายซากดึกคำบรรพ์จำนวน 300 ชิ้นซึ่งแอนโทนีช่วยรวบรวมในปากีสถาน รวมถึงซากแรดยักษ์ในปี 2006 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งที่คุกรุ่นมาอย่างยาวนาน และได้ทำให้มหาเศรษฐีผู้มีอำนาจและผู้นำบาโลช อัคบาร์ บูกติ ผู้ที่คอยเป็นผู้ประสานงานหลักและคอยสนับสนุนนักบรรพชีวินวิทยาที่ทำงานในภูมิภาคนี้เสียชีวิต

ในกรณีของ P. linxiaense ฟอสซิลดังกล่าวได้รับการรักษาความปลอดภัยในพิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาเฮเซียงในมณฑลกานซูทางตอนกลางเหนือของจีน เติ้งมีความหวังสูงมากสำหรับการศึกษาซากฟอสซิลในอนาคต รวมทั้งการสร้างกล้ามเนื้อของสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่ และการประเมินมวลร่างกายของมันอย่างละเอียดยิ่งขึ้น

เติ้งเสริมว่า เนื่องจากนักวิจัยพบหลักฐานว่าแรดยักษ์ได้ข้ามพื้นที่ที่เป็นที่ราบสูงทิเบตในปัจจุบัน จึงอาจพบฟอสซิลอีกมากมายฝังอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งเป็นสัตว์ที่สูงเทียมฟ้าและเป็นหลังคาโลกในปัจจุบัน

เรื่อง MICHAEL GRESHKO

  แปล วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ค้นพบฟอสซิลโบราณนับเจ็ดหมื่นชิ้นในพื้นที่ฝังกลบขยะของสเปน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.