โฉมหน้าแท้จริงของ แกลดิเอเตอร์ (กลาดิเอเตอร์) นักสู้ในลานประลองแห่งยุคโรมัน

กลาดิเอเตอร์ อุโมงค์ใต้อัฒจันทร์ครึ่งวงกลมยุคโรมันในเมืองอาร์ล ประเทศฝรั่งเศส มืดและเย็น ร่มเงานั้นชวนให้ผ่อนคลายจากแสงแดดจ้าซึ่งแผดเผาลานประลองของเหล่า แกลดิเอเตอร์ ที่ปกคลุมไปด้วยทรายในอัฒจันทร์แห่งนี้

แต่หมวกของ แกลดิเอเตอร์ (กลาดิเอเตอร์) หรือนักดาบโรมันที่ผมเพิ่งใส่นั้นชวนอึดอัด เครื่องปกป้องศีรษะจำลองนี้คือสิ่งที่ แกลดิเอเตอร์สวมเมื่อเกือบ 2,000 ปีก่อน เป็นหมวกโลหะบุบๆที่มีริ้วรอย หนักราวหกกิโลกรัม มันมีกลิ่นโลหะฉุนๆเหมือนผมจุ่มศีรษะลงในถุงใส่เหรียญเงินเหม็นๆ

ผมมองทะลุช่องกรุของแผ่นสำริดออกไป เห็นชายสวมผ้าเตี่ยวสองคนอบอุ่นร่างกายเพื่อให้พร้อมต่อสู้ ปลอกแขนโลหะของพวกเขาส่งเสียงกระทบกันขณะที่ชายคนหนึ่งขยับเท้าไปมา มือที่ใส่ถุงมือหนังกำดาบโค้งสั้นๆเล่มหนึ่งไว้ ขณะที่ผมขยับตัวอย่างอึดอัด คู่หูของเขาก็ชูดาบขึ้นและฟาดใส่ศีรษะผม ราวกับจะทดสอบความแข็งแรงของหมวก

ผมยักไหล่ นึกในใจว่ายอมทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งานชิ้นนี้ แต่บรีซ โลเปซ ครูฝึกของพวกเขา ซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส ร่างผอม ผิวสีน้ำตาลเข้ม ขัดขึ้นเสียก่อน “เขาไม่ได้ฝึกมา” โลเปซพูดเสียงเฉียบขาด “เขาไม่มีแรง เดี๋ยวนายทำคอเขาหัก”

ผู้เชี่ยวชาญถกกันว่า การทำท่า “นิ้วโป้งคว่ำ” เป็นการบอกใบ้ให้ผู้ชนะสังหารฝ่ายตรงข้ามในภาพวาดปี 1872 จริงหรือไม่ ขณะที่ภาพปูนเปียกจากปอมเปอีเผยว่า แกลดิเอเตอร์ที่ได้รับบาดเจ็บส่งสัญญาณยอมแพ้ด้วยการชูนิ้วหนึ่งขึ้น เจ้าภาพจัดงานเป็นผู้ตัดสินว่าจะไว้ชีวิตเขาหรือไม่

อดีตตำรวจฝรั่งเศสและครูฝึกการต่อสู้ที่ได้ยูยิตสูสายดำอย่างโลเปซรู้ว่า การต่อสู้จริงๆเป็นอย่างไร เมื่อยี่สิบเจ็ด ปีก่อน เขาหันไปเรียนการต่อสู้แบบโบราณด้วยความสนใจ หลังจากได้อาวุธและชุดเกราะจำลองของแกลดิเอเตอร์ ที่สั่งทำขึ้น เขาก็ใช้เวลาหลายปีขบคิดว่า ของเหล่านี้นำไปใช้ในการต่อสู้ห้ำหั่นถึงชีวิต เช่นที่นำเสนอในหนังสือและภาพยนตร์เกี่ยวกับแกลดิเอเตอร์ได้อย่างไร

แต่ยิ่งศึกษาอาวุธและชุดเกราะของแกลดิเอเตอร์มากเท่าไร เขาก็ยิ่งพบความไม่สมเหตุผลมากเท่านั้น ทั้งชุดเกราะ ปลอกแขนปลอกขาโลหะ และหมวกสำริดเทอะทะที่ครอบทั้งศีรษะ ทำให้ แกลดิเอเตอร์ หลายคนสวมอุปกรณ์ป้องกันลงสนามประลองมากพอๆกับที่ทหารโรมันสวมยามออกรบ แต่ดาบที่พวกเขาใช้ตามปกติกลับมีความยาวราว 30 เซนติเมตร หรือยาวกว่ามีดทำครัวเพียงเล็กน้อย “เราจะสวมอุปกรณ์ป้องกันหนัก 20 กิโลกรัมลงสนามประลองที่ใช้แค่มีดทำไมกันครับ” โลเปซข้องใจ

นักแสดงผู้สวมบทแกลดิเอเตอร์จำลองฉากปะทะกลางฝุ่นบนลานประลองยุคโรมันอายุ 1,900 ปีในเมืองอาร์ลของฝรั่งเศส การประลองของพวกเขาช่วยให้นักวิจัยเข้าใจกีฬานองเลือดโบราณที่ดึงดูดผู้ชมชาวโรมันนานหลายร้อยปีนี้ดีขึ้น

ข้อสรุปที่เขาได้ก็คือ แกลดิเอเตอร์ ไม่ได้พยายามเข่นฆ่ากัน แต่พยายามรักษาชีวิตกันต่างหาก พวกเขาฝึกกันเป็นปีๆเพื่อแสดงการต่อสู้อันอลังการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้จบลงด้วยความตาย “พวกเขาเอาชนะกันจริงๆ แต่ไม่ได้ฟาดฟันกันจริงๆครับ” โลเปซบอก ตอนนี้เขาทำวิจัยเรื่องแกลดิเอเตอร์และตั้งคณะนักแสดงชื่อ แอ็กตา (ACTA) “นี่ไม่ใช่การออกแบบท่าเต้นที่ซ้อมกันมา แต่เป็นการต่อสู้ด้วยเจตนาดีครับ ฝ่ายตรงข้ามไม่ใช่คู่อริ แต่เป็นคู่แสดง เราร่วมมือกันทำให้การแสดงออกมา ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ตลอดยี่สิบปีมานี้ นักวิจัยพบหลักฐานสนับสนุนข้อสันนิษฐานบางส่วนของโลเปซเรื่องการต่อสู้ของแกลดิเอเตอร์และตั้งคำถามกับแนวคิดที่คนส่วนใหญ่มีต่อการประลองยุคโบราณอันน่าตื่นตานี้ แกลดิเอเตอร์จำนวนหนึ่งเป็นอาชญากรหรือเชลยศึกที่ต้องโทษให้ลงสนามประลอง แต่ส่วนใหญ่เป็นนักสู้อาชีพ ไม่ว่าจะนักมวย นักกีฬาที่ใช้ศิลปะการต่อสู้ แบบผสม หรือนักฟุตบอลยุคโบราณ บางคนมีครอบครัวรออยู่ข้างนอก

ภาพสลักบนอัญมณีขนาดเท่าเล็บหัวแม่มือจากสมัยศตวรรษที่หนึ่งแสดงฉากการประลองโบราณ แกลดิเอเตอร์ที่มี คนเป่าแตรและผู้ชมยืนให้กำลังใจรายล้อม ประลองฝีมือโดยมีกรรมการโบกคทายืนดูอยู่ด้านบน

งานวรรณกรรมเสนอว่า การเป็นแกลดิเอเตอร์อาจนำความมั่งคั่งมาให้ และบางครั้งก็เป็นอาชีพหนึ่งที่คนเลือก การต่อสู้ที่ห้าวหาญบนลานประลองอาจทำให้แกลดิเอเตอร์กลายเป็นวีรบุรุษผู้โด่งดัง และกระทั่งช่วยให้นักโทษได้รับอิสรภาพ บางทีสิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ การต่อสู้ส่วนใหญ่ไม่ได้จบลงด้วยความตาย ในบรรดาแกลดิเอเตอร์ ทุกๆ 10 คนที่ลงสนามประลอง อาจมีเก้าคนรอดชีวิตไปสู้ต่อในวันต่อไป

แต่ถึงจะได้รับความนิยมชมชอบมากสักเพียงใด แกลดิเอเตอร์ก็ยังรั้งท้ายสุดในสังคมโรมโบราณที่มีระบบชนชั้นเข้มงวด พวกเขาอยู่ระดับเดียวกับโสเภณี อันธพาล และนักแสดง ตามกฎหมายแล้ว แกลดิเอเตอร์ถือเป็นทรัพย์สิน ไม่ใช่บุคคล พวกเขาอาจถูกสังหารด้วยโทสะชั่ววูบของใครก็ตามที่จ่ายเงินจัดการประลอง “นั่นคือข้อมูลพื้นฐานที่จะทำความเข้าใจว่า ทำไมชาวโรมันจึงนั่งดูสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากบนอัฒจันทร์ได้ค่ะ” แคทลีน โคลแมน นักวิชาการด้านอารยธรรมกรีก-โรมันโบราณจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด บอก

นักต่อสู้สมัยใหม่ผู้มีร่างกายแข็งแรงบึกบึนและผ่านการฝึกอย่างหนัก เป็นที่คลั่งไคล้บูชาของแฟนๆ ไม่ต่างจาก แกลดิเอเตอร์ยุคโรมันที่ คริส เวอร์เนลในภาพนี้ และเพื่อนร่วมคณะจำลองการต่อสู้ในฝรั่งเศส

ในการประลองของแกลดิเอเตอร์ยุคแรกๆ ซึ่งน่าจะเป็นการแสดงอันเป็นส่วนหนึ่งของพิธีศพมาตั้งแต่ 300 ปีก่อนคริสตกาล ผู้เข้าต่อสู้อาจเป็นเชลยศึกหรืออาชญากรต้องโทษ แต่เมื่อได้รับความนิยมและกลายเป็นมหรสพหลักของชีวิตคนทั่วจักรวรรดิโรมันในศตวรรษแรกก่อนคริสตกาล การแสดงก็มีแบบแผนมากขึ้น และความคาดหวังของผู้ชมก็สูงขึ้นตามไปด้วย โรงฝึกแกลดิเอเตอร์หลายสิบแห่งเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการนักสู้ที่สมัครใจและผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี

เนื่องจากพลเมืองโรมันไม่อาจถูกประหารชีวิตโดยปราศจากการดำเนินคดีได้ นักต่อสู้บางคนจึงยอมลงนามในสัญญาขายตัว และกลายเป็นทาสอันเป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อแลกกับการชำระหนี้สิ้นและหลีกหนีจากความยากจน คนอื่นๆเป็นอาชญากรที่ได้รับโทษทัณฑ์ให้เป็นแกลดิเอเตอร์ ซึ่งเป็นโทษสถานเบากว่าการประหารชีวิต เพราะมีโอกาสได้รับอิสรภาพสักวันหนึ่ง

ซาฮาร์ นิคมาตูลิน หลงใหลแกลดิเอเตอร์ตั้งแต่ได้ชมภาพยนตร์เรื่อง สปาร์ตาคัส ที่ออกฉายเมื่อปี 1960 ช่างสัก อะเล็กซานเดอร์ โคซัช ใช้เวลาถึง 25 ชั่วโมงวาดและลงสีฉากนี้บนแผ่นหลังของเขา

เรื่อง แอนดรูว์ เคอร์รี

ภาพถ่าย เรมี เบนาลี

สามารถติดตามสารคดี โฉมหน้าที่แท้จริงของแกลดิเอเตอร์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2

 


อ่านเพิ่มเติม กว่าจะมาเป็นสุดยอดนักรบสปาร์ตัน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.