การทลายคุกบัสตีย์ “Bastille Day” เหตุการณ์ต้านอำนาจกษัตริย์ – จุดเริ่มต้นของการ ปฏิวัติฝรั่งเศส

การทลายคุกบัสตีย์ 14 กรกฎาคม คือวันที่ฝรั่งเศสเฉลิมฉลองวันครบรอบการ ปฏิวัติฝรั่งเศส วันที่นักปฏิวัติลุกขึ้นต่อต้านกษัตริย์และยึดหนึ่งในสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ที่ทรงพลังที่สุดชิ้นหนึ่ง

ชาวเมืองที่เต็มไปด้วยโทสะบุกโจมตีคุกบัสตีย์ (Bastille) ในกรุงปารีสเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 พวกเขาโจมตีหนึ่งในสัญลักษณ์ที่ต้องห้ามมากที่สุดของราชาธิปไตย คุกถูกทำลายด้วยความโกรธแค้นของการปฏิวัติในอีกไม่กี่เดือนต่อมา แต่มรดกของคุกที่ถูกทำลายยังคงอยู่ นั่นคืองานเฉลิมฉลองทั่วฝรั่งเศสในวัน Bastille หรือ la Fête Nationale (วันหยุดประจำชาติ) วันครบรอบประจำปีของการ ปฏิวัติฝรั่งเศส

คุกบัสตีย์สูงราวแปดหอคอย สร้างขึ้นในปี 1357 เพื่อปกป้องปารีสจากผู้รุกรานชาวอังกฤษในช่วงสงครามร้อยปี มีจุดประสงค์เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับประตูด้านตะวันออกของเมือง ประตู Port Saint-Antoine Bastille ถูกรายล้อมด้วยคูน้ำและอาวุธเพื่อปกป้องเมือง เมื่อเวลาผันผ่าน จุดประสงค์ของมันก็ได้เปลี่ยนไป กลายเป็นคุกของรัฐและเป็นสัญลักษณ์อันทรงพลังของการเข้าถึงราชวงศ์และการปราบปรามเสรีภาพในการพูดของชาวเมือง

ในยุคก่อนการ ปฏิวัติฝรั่งเศส กษัตริย์มีอำนาจในการออกหนังสือ “lettres de cachet” ซึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ส่งไพร่พลของพระองค์เข้าคุกโดยไม่มีการพิจารณาคดี ไม่มีวันปล่อย และไม่มีการอุทธรณ์ใดๆทั้งสิ้น พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ใช้อำนาจนี้ในทางที่ผิด จดหมายได้ถูกส่งให้กับผู้ไม่เห็นด้วยทางการเมือง หรือใช้จดหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำการลามกอนาจาร คนจัดพิมพ์ข้อความเพื่อปลุกปั่นคนในเมือง และขุนนางที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ดังนั้นผู้ถูกคุมขังใน Bastille หลายคนจึงเป็นขุนนางหรือนักเขียน เช่น มาร์กี เดอ ซาด (Marquis de Sade) แม้ว่าบางคนจะเป็นสามัญชนที่ถูกจับกุมในข้อหาก่ออาชญากรรมเล็กๆน้อยๆ เช่น การโจรกรรม แต่ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้พวกเขาไม่ได้กลับมาดูโลกภายนอกอีกเลย

เมื่อเวลาผ่านไป นักโทษถูกคุมขังที่ Bastille เหลือน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ครองราชย์ในปี ค.ศ. 1774 คุก Bastille มีนักโทษเหลือเพียง 16 คนต่อปี แต่ก็ยังคงปรากฏอยู่ในความคิดของสามัญชนที่คิดจะเริ่มก่อความวุ่นวายต่อคุก Bastille ภายใต้ระบอบกษัตริย์

(เชิญชมวิดีโอ การปฏิวัติ 101 – การปฏิวัติทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกและการเมือง ได้เรียนรู้สิ่งที่นำไปสู่การปฏิวัติอเมริกา ฝรั่งเศส ลาตินอเมริกา และรัสเซีย ตลอดจนลักษณะเฉพาะที่มักเกิดขึ้นจากการลุกฮือทางการเมืองเกือบทั้งหมด ได้ที่นี่)

พระเจ้าหลุยส์ครองอำนาจท่ามกลางวิกฤตทางการเงินอันเนื่องมาจากการใช้จ่ายที่เกินตัวและค่าใช้จ่ายในสงครามที่มีมูลค่ามหาศาล ทว่า พระองค์และมารี อองตัวเน็ตต์ ภรรยา ใช้ชีวิตอย่างหรูหราและฟุ่มเฟือย รัฐเกือบจะล้มละลาย ประชาชนประสบปัญหาการขาดแคลนอาหารอย่างหนัก การว่างงานจำนวนมาก และภาษีที่สูง (สุภาพสตรีในพระราชวังแวร์ซายต่างพยายามไล่ตามแฟชั่นที่ฟุ่มเฟือยของราชินี ณ ตอนนั้น)

ในขณะนั้น สังคมฝรั่งเศสถูกแบ่งออกเป็นลำดับชั้นอย่างเข้มงวดโดยยึดตามระเบียบทางสังคมหรือคำสั่งสามประการ เมื่อยามวิกฤตมาถึง กษัตริย์สามารถเรียกประชุมตัวแทนที่เรียกว่า Estates-General เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างเร่งด่วน ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1789 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงเรียกผู้แทนจากนิคมแรก (พระสงฆ์) ที่สอง (ขุนนาง) และที่สาม (สามัญชน) เพื่อพยายามแก้ปัญหาทางการเงินของประเทศ

การเคลื่อนไหวได้หวนกลับ การชุมนุมมาถึงทางตัน จนในกลางเดือนมิถุนายน นิคมอุตสาหกรรมที่สามซึ่งเป็นตัวแทนของสังคมฝรั่งเศสส่วนใหญ่แต่กลับมีอำนาจน้อยกว่านิคมอื่นๆได้แยกตัวและจัดตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้น ประกอบกับแรงบันดาลใจจากการปฏิวัติอเมริกาที่เกิดขึ้นจากความกล้าหาญเมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ชาวเมืองฝรั่งเศสต้องการรัฐธรรมนูญและความสามารถในการสร้างกฎหมายสำหรับประชาชนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

พระเจ้าหลุยส์ได้ตอบโต้ในอีกไม่กี่สัปดาห์ถัดมาโดยการไล่ Jacques Necker รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของพระองค์ออก เขาเป็นบุคคลที่แสดงออกว่าสนับสนุนฐานันดรที่สาม เหล่านักปฏิวัติเล็งเห็นในจุดนี้ จนเริ่มการสะสมกองทหารทั่วกรุงปารีสในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1789 ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่ากษัตริย์วางแผนที่จะล้มล้างรัฐบาลของพระองค์จากเหล่าผู้สนับสนุนสาธารณรัฐ (republican sympathizers) ทั้งหมด ประชาชนจึงได้ออกมาประท้วงตามท้องถนนและมีการปะทะกับทหารตลอดเส้นทางการประท้วง

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 ชาวเมืองฝรั่งเศสได้เข้ายึดบัสตีย์ซึ่งเป็นคุกของรัฐและเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของพระราชอำนาจของกษัตริย์ เหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นมากมาย “การปฏิวัติฝรั่งเศส” ได้ถูกจัดแสดงไว้ในภาพวาดของ Jean-Baptiste Lallemand ชื่อว่า “The Storming of the Bastille” อยู่ในพิพิธภัณฑ์ Musée Carnavalet กรุงปารีส รูปถ่ายโดย FINE ART IMAGES, HERITAGE IMAGES/GETTY.

ในเช้าวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789 นักปฏิวัติหลายพันคนได้เข้ายึดอาวุธขนาดใหญ่จาก Hôtel des Invalides ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางทหาร แต่พวกเขาไม่มีดินปืนสำหรับอาวุธใหม่เลย ดังนั้นฝูงชนประมาณหนึ่งพันคนจึงมาบรรจบกันที่คุกบัสตีย์ มีความมุ่งมั่นที่จะได้รับดินปืนตามที่ได้รับข่าวลือมา และเพื่อต้องการจะปกป้องเสรีภาพของนักโทษ โดยที่นักปฏิวัติไม่ทราบเลยว่ามีเพียงเจ็ดคนเท่านั้นที่ถูกคุมขังอยู่ที่นั่นในขณะนั้น

ในตอนบ่าย ฝูงชนบุกเข้าไปในลานด้านนอกของป้อมปราการ ผู้คุมเรือนจำเริ่มยิงใส่พวกเขา การต่อสู้ดำเนินไปเป็นเวลาหลายชั่วโมงจนกระทั่ง Jourdan de Launay ผู้บังคับการคุกบัสตีย์ยอมจำนนและเปิดประตูด้านในของป้อมปราการ นักปฏิวัติบุกเข้ามาได้ทำการปลดปล่อยนักโทษและยึดดินปืนตามจุดประสงค์ของพวกเขา พวกเขาได้สังหารผู้คุมเรือนจำอย่างน้อยหกคน ทุบตีและแทง Jourdan de Launay ให้ถึงแก่ความตาย ต่อมาได้นำศีรษะที่ไร้วิญญาณของผู้คุมปักลงหอกโชว์เพื่อประกาศชัยชนะ

มีผู้เสียชีวิตประมาณหนึ่งร้อยคนระหว่างการบุกคุกบัสตีย์ เหตุการณ์นี้ได้รับจดจำว่าเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส และอีกกว่า 10 ปี แห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ตามมา ชาวฝรั่งเศสได้ประหารกษัตริย์และราชินีและคนอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนเพื่อที่จะแปรสภาพเป็นสาธารณรัฐ อาคารที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นอนุสรณ์สถานของระบอบเผด็จการในปัจจุบันได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ ภายในไม่กี่เดือนอาคารหลังนี้ถูกรื้อทิ้ง อิฐของอาคารถูกแจกจ่ายไปทั่วฝรั่งเศสและทั่วโลกเพื่อเป็นของที่ระลึก

นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 ฝรั่งเศสได้กำหนดให้วันที่ 14 กรกฎาคมเป็นวันหยุดประจำชาติ โดยปกติแล้วขบวนพาเหรดของทหารและดอกไม้ไฟอันสวยงามถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้มาเฉลิมฉลอง ในวันที่ 13 และ 14 กรกฎาคม นักผจญเพลิงทั่วฝรั่งเศสได้เปิดให้ประชาชนเข้าชมงานเต้นรำตลอดทั้งคืนพร้อมแชมเปญฟรีมากมาย แต่ในปี 2020 ขณะที่โควิด-19 ยังคงอยู่ การเฉลิมฉลองคงจะเงียบลงเป็นอย่างมาก : จากข้อมูลของ AFP จุดจัดงานได้ถูกยกเลิกและถึงแม้ว่าจะยังมีดอกไม้ไฟจัดแสดงอยู่ แต่ขบวนพาเหรดของทหารก็ถูกยกเลิกและแทนที่ด้วยงานฉลองที่มีขนาดเล็กลงที่มีแค่บุคคลชั้นนำเท่านั้นที่เข้าร่วม

เรื่อง ERIN BLAKEMORE

แปลโดย สิรภัทร จิตต์ชื่น

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม ฌอง ฌากส์ รุสโซ กับทฤษฎี สัญญาประชาคม หนึ่งในต้นธารแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสปี 1789

ภาพถ่ายที่ถูกซ่อนใน การปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.