35 ปี หลังอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุด ชีวิตในเชอร์โนบิลยังคงดำเนินต่อไป

แม้จะมีการอพยพครั้งใหญ่หลังเกิดภัยพิบัติกัมมันตภาพรังสี แต่เชอร์โนบิลก็ไม่เคยว่างเว้นจากผู้คน นี่คือเรื่องน่าเหลือเชื่อของหลายชีวิตในเมืองที่ถูกทิ้ง

ทุกคืนวันที่ 25 เมษายน ผู้คนจะมารวมตัวกันรอบ ๆ รูปปั้นเทพธิดาซึ่งยืนอยู่บนฐานหินในเมืองเชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของยูเครน ตัวเทพธิดานั้นทำมาจากเหล็กและถือแตรยาวถึงริมฝีปาก โดยส่วนใหญ่เป็นเหล็กเส้นที่สร้างภาพเงาอันคมชัดกับท้องฟ้า

ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นตัวแทนของเทพธิดาองค์ที่ 3 จากหนังสือวิวรณ์ ตามพระคัมภีร์ไบเบิล เมื่อเสียงแตรดังก้อง ดาวดวงใหญ่จะร่วงหล่นจากฟากฟ้า รสน้ำจะเริ่มขม และหลายชีวิตต้องพบกับความตาย

เนื่องในวันครบรอบโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ผู้คนต่างมารวมตัวกัน ณ ใจกลางเมืองเชอร์โนบิลเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์และผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น

ถึงแม้ว่าจะมีการอพยพประชาชนจำนวนมากหลังเกิดเหตุระเบิด แต่ในบริเวณใกล้เคียงนั้นไม่ได้ว่างเว้นจากผู้คนโดยสมบูรณ์ และไม่มีทางเป็นไปได้

ภัยพิบัติกัมมันตรังสีระดับนี้อันตรายเกินกว่าจะละทิ้งไว้เบื้องหลังได้ จนถึงปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 7,000 ชีวิต อาศัยและทำงานอยู่รอบ ๆ โรงไฟฟ้า ซึ่งน้อยคนนักจะได้กลับไปยังหมู่บ้านรอบ ๆ ถึงแม้จะมีความเสี่ยงก็ตาม

ซ้าย อดีตผู้อยู่อาศัยในเขตยกเว้นเข้ามาเยี่ยมเยือนหลุมฝังศพของครอบครัวและเพื่อนฝูงที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เชอร์โนบิล ขวา การพบกันอีกครั้งนำมาซึ่งอารมณ์และความรู้สึกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผู้คนกลับมายังเชอร์โนบิลเพื่อรำลึกถึงวันครบรอบของภัยพิบัติ

ในคืนของวันครบรอบปี ชาวบ้าน คนงาน และผู้มาเยือนจากต่างเมืองจะมารวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์อันสับสนยุ่งเหยิงนี้ที่ส่งผลกระทบมาอย่างยาวนาน และยากที่จะเข้าใจแม้จะผ่านมาแล้วกว่า 35 ปี

เหล่าผู้คนที่มารวมตัวกันถือเทียนขี้ผึ้งแล้วหยดบาง ๆ ลงบนฝ่ามือ พวกเขาฟังเพลงและบทกวีซึ่งดำเนินโดยผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อากาศรอบ ๆ อบอวลไปด้วยอารมณ์อันหนาแน่น

อดีตรองหัวหน้าแผนกข้อมูลเขตยกเว้นเชอร์โนบิล เรียกวันแห่งการรำลึกว่า “ส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความขมและความหวาน มันเหมือนกับวันแห่งชัยชนะในสงคราม ผู้คนต่างร้องไห้และยิ้มในเวลาเดียวกัน”

แม้กระทั่งที่นี่ซึ่งใกล้กับศูนย์กลางของภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ มันมีทั้งความรู้สึกของกลุ่มชน และความรู้สึกของบ้านเกิด

ตั้งแต่ปี 2016 อาคารปกคลุมอันใหม่ที่มีหลังคาโค้งมนครอบคลุมซากเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 4 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สามารถมองเห็นได้จากโรงแรมโพลิซยาซึ่งถูกทิ้งร้างอยู่ในเมืองปรีเปียต

ในปี 1986 วินาทีก่อนที่เครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 4 จะระเบิด อุณหภูมิภายในแกนเครื่องพุ่งสูงถึง 4,650 องศาเซลเซียส ในขณะที่พื้นผิวของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิ 5,500 องศาเซลเซียส แรงระเบิดที่เกิดขึ้นเทียบเท่ากับระเบิด TNT 66 ตัน ทำลายหลังคาสูง 20 ชั้น ของอาคารเครื่องปฏิกรณ์ และทำลายทุกอย่างในแกนอย่างสมบูรณ์

เศษกัมมันตภาพรังสีอย่างน้อย 28 ตัน ถูกขับออกสู่บริเวณโดยรอบอย่างฉับพลัน นอกจากนี้ยังเกิดไฟกัมมันตรังสีที่เผาไหม้เป็นเวลากว่าเกือบ 2 สัปดาห์ ก๊าซกัมมันตรังสีและละอองจำนวนมหาศาลลอยเข้าสู่อากาศที่ถูกลมพัดไปยังทางเหนือและตะวันตก ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีหลายชนิดตกลงสู่พื้นโลกผ่านทางน้ำฝน

ฝุ่นกัมมันตรังสีดังกล่าว ได้แก่ ไอโอดีน-131 ซีเซียม-137 และ พลูโตเนียม-239 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วไม่มีอยู่ตามธรรมชาติ และเป็นอันตรายต่อทั้งมนุษย์และสัตว์ สารแต่ละชนิดจะสลายตัวตามตารางเวลาที่เรียกว่า “ครึ่งชีวิต” ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กัมมันตภาพรังสีจะลดลงครึ่งหนึ่ง

ไอโอดีน-131 จะเข้าไปสะสมในต่อมไทรอยด์อย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ ครึ่งชีวิตคือ 8 วัน

ซีเซียม-137 คงอยู่ในดินและผลิตรังสีแกมมาที่มีพลังงานมากกว่าแสงแดดหลายแสนเท่า ครึ่งชีวิตคือ ประมาณ 30 ปี

พลูโตเนียม-239 มีกัมมันตภาพรังสีสูงมากเมื่อสูดดมเข้าไป ครึ่งชีวิตคือ 24,000 ปี

ซ้าย เมืองปรีเปียตถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่ทำงานในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีผู้อยู่อาศัยกว่า 50,000 คน และถูกเริ่มอพยพหลังจากเกิดอุบัติเหตุขึ้น 36 ชั่วโมง ขวา ในปัจจุบัน ปรีเปียตกลายเป็นเมืองร้างที่ยังคงเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวันของผู้ที่เคยอยู่อาศัย เช่น กล่องจดหมายในอาคารที่ถูกทิ้งร้าง
วลาดิเมียร์ เวอร์บิสกีร์ อาศัยอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ในเมืองปรีเปียตแห่งนี้กับพ่อแม่ของเขาก่อนที่จะเกิดการอพยพขึ้นในปี 1986 เขากลับมายังเมืองนี้อีกครั้งในฐานะผู้ชำระบัญชี และเป็นมัคคุเทศก์ในเวลาต่อมา

ถึงแม้ว่ารูปแบบหลักของการตกตะกอนของกัมมันตภาพรังสีซึ่งเป็นจุดด่างและคาดเดาไม่ได้จะเกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุไม่นานนัก แต่อนุภาคกัมมันตรังสียังคงเคลื่อนตัวไปตามลม ไหลไปตามน้ำ และเคลื่อนไหวอยู่จนถึงปัจจุบัน

เนื่องจากระยะการเคลื่อนตัวของอนุภาคกัมมันตภาพรังสีนั้นค่อนข้างกว้างไกล ความพยายามในการทำความสะอาดจึงมุ่งเน้นไปยังทุกอย่างภายในรัศมี 30 กิโลเมตร (19 ไมล์) ของพื้นที่ที่เกิดการระเบิดในเขตยกเว้นเชอร์โนบิล

การอพยพเริ่มขึ้นภายใน 36 ชั่วโมงหลังจากเกิดเหตุ กลุ่มแรกคือชาวเมืองปรีเปรียต 5,000 คน ซึ่งเป็นเมืองที่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียง 2 ไมล์ และถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของคนงานและครอบครัว

อาคารอพาร์ตเมนต์ สนามเด็กเล่น และอนุสรณ์สถานสาธารณะ ทุกอย่างบ่งบอกถึงความเป็นเมืองร้างของปรีเปียตมาจนถึงปัจจุบัน

ที่เชิงของรูปปั้นเทพธิดามีแผ่นคอนกรีตขนาดใหญ่ในรูปทรงสัดส่วนของชาวยูเครนเกี่ยวกับเขตละเว้น ในระหว่างงานรำลึก แสงจากโคมเล็ก ๆ มากมายทำให้แผ่นคอนกรีตเรืองแสงสีส้ม กลายเป็นป้ายบอกทางทอดยาวจากเทพธิดาข้ามผ่านต้นไม้ข้างทาของถนนใหญ่ แต่ละป้ายจะมีชื่อหมู่บ้านมากกว่า 100 แห่ง ของชาวยูเครนซึ่งอพยพออกไป

แต่ถึงแม้ว่าผู้คนหลายหมื่นชีวิตกำลังถูกอพยพออกจากบ้านที่พวกเขาจะไม่มีวันได้กลับมา ผู้คนอีกนับหมื่นก็กำลังมาถึง ส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งให้ทำงานเกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อน บางคนมาเพื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ บางคนฝ่าฝืนคำสั่งให้เว้นระยะห่างจากพื้นที่ แล้วย้ายกลับเข้าไปยังหมู่บ้านของตน

ป้ายแต่ละป้ายมีชื่อเมืองในยูเครนซึ่งถูกทิ้งร้างหลังจากเกิดอุบัติเหตุขึ้น ในวันรำลึก เหล่าผู้ที่เคยอาศัยอยู่ในเขตหวงห้ามกลับมาเพื่อไว้อาลัยให้แก่โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น
อดีตผู้ชำระบัญชีและผู้อยู่อาศัยต่างรอเข้าร่วมพิธีรำลึกประจำปี

ความพยายามในการทำความสะอาดถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า “การชำระบัญชีผลที่ตามมาของอุบัติเหตุเชอร์โนบิล” (The Liquidation of the Consequences of the Chernobyl Accident) และเหล่าคนงานถูกเรียกว่า ผู้ชำระบัญชี ซึ่งพวกเขามีงานที่เป็นไปไม่ได้

อนุภาคกัมมันตภาพรังสีนั้นมองไม่เห็น ไม่มีรส หรือกลิ่น แต่ในจุดร้อน พวกมันปนเปื้อนอยู่ในทุกอย่าง ตั้งแต่ก้อนอิฐ ปศุสัตว์ ไปจนถึงใบไม้บนดิน อนุภาคเหล่านี้ไม่สามารถทำลายได้ สิ่งที่คนงานทั้งหมดสามารถทำได้คือการฝังหรือไม่ก็ปิดผนึกในทางใดทางหนึ่ง บางคนไถพรวนพืชผล บางคนตัดต้นไม้มากมาย ไปจนถึงการพยายามกลบดินชั้นบนสุด

รอบ ๆ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ งานบางอย่าง เช่น การยกเศษกัมมันตภาพรังสีสูง หรือการเทคอนกรีตเพื่อปิดผนึกเครื่องปฏิกรณ์ ถือเป็นอันตรายต่อผู้ชายอย่างยิ่งเพราะสามารถดูดซับปริมาณรังสีที่มีอันตรายถึงชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาที

ประมาณการจำนวนคนงานค่อนข้างผันผวนแตกต่างกันไป เพราะไม่มีการลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ แต่จำนวนนั้นอยู่ที่หลักแสน และน่าจะเกินครึ่งล้าน พวกเขามาจากทุกหนแห่งของอดีตสหภาพโซเวียต และโดยส่วนใหญ่ยังเป็นเพียงชายหนุ่มในขณะนั้น ในปัจจุบันอาจมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ยังมีชีวิตอยู่จนถึงตอนนี้ ตามรายงานผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการของสหภาพโซเวียตบันทึกไว้ว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 31 รายจากอุบัติเหตุเชอร์โนบิล

เอฟว์เกนีย์ วาร์เลนทีย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน IT มากว่า 10 ปี แต่ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นก็ไม่เคยไกลห่างจากจิตใจของเขาเลย “ฉันคิดถึงผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อจริง ๆ ในกระบวนการชำระบัญชีนี้ วิธีการของสหภาพโซเวียต คือ การปกคลุมทุกอย่างด้วยชีวิตของมนุษย์”

ชีวิตในเมืองที่ถูกทิ้ง

เอเลน่า บุนโทวาร์ พร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์คนอื่น ๆ ตอบรับการเรียกร้องของเชอร์โนบิลด้วยเหตุผลที่แตกต่างจากเหล่าผู้ชำระบัญชี ในฐานะแพทย์ด้านชีววิทยา เธอมาหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีที่มีต่อสัตว์ป่า และเธอไม่เคยจากไปไหน

เซอร์จีย์ ลาปิฮา (ซ้าย) และเอเลน่า บุนโทวา ภรรยาของเขา พักดื่มกาแฟภายในห้องนั่งเล่นกับเพื่อนของพวกเขา วาเรลีย์ พัสเตอร์นัค ทั้งหมดต่างเคยทำงานในพื้นที่มานานหลายปี

“ในช่วงปีแรกหลังจากที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น นักวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่สุดจากทั่วทุกหนแห่งของสหภาพโซเวียตมายังเชอร์โนบิลเพื่อทำงาน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากที่จะได้ร่วมงานกับพวกเขา” บุนโทวาร์กล่าว มันเป็นโอกาสครั้งหนึ่งในชีวิต อีกทั้งยังเป็นที่ซึ่งเธอได้พบกับสามีของเธอ เซอร์จีย์ ลาปิฮา เขาเติบโตใกล้กับเชอร์โนบิล และพวกเขาได้รู้จักกันในร้านกาแฟภายในเขตยกเว้น

ลาปิฮาทำงานเป็นช่างภาพเกี่ยวกับสิ่งที่คนภายในท้องถิ่นเรียกว่า ที่กำบังวัตถุ (Object Shelter) อาคารคลุมเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ทำหน้าที่คล้ายกับโลงหินเพื่อฝังซากของเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 4

นานนับปีที่เขาบันทึกภาพของสถานที่ รวมไปถึงวัตถุขึ้นชื่อภายในอาคารเครื่องปฏิกรณ์ที่เรียกว่า ก้อนกัมมันตรังสีมรณะ (Elephant’s Foot) มันคือแผ่นแก้วสีดำซึ่งเกิดจากลาวากัมมันตรังสีที่หลอมละลายแล้วครั้งหนึ่ง

จากนั้นจึงไหลลงสู่ทางเดิน ก่อนที่จะแข็งตัวอยู่กับที่คล้ายกับหินงอกขนาดเท่าตัวคน มันมีความเข้มข้นของกัมมันตภาพรังสีสูงมาก หากอยู่ใกล้เป็นระยะเวลา 5 นาที โดยไร้ซึ่งเครื่องป้องกัน ก็ไม่ต่างอะไรจากการประหารตนเอง

เนื่องจากอายุและความเชื่อมโยงของพวกเขาที่มีต่อสถานที่ บุโทวาร์และลาปิฮาจึงเป็นหนึ่งในกลุ่มตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลยูเครนให้อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ได้อย่างเต็มเวลา พวกเขายอมรับว่า การใช้ชีวิตในเชอร์โนบิลมีทั้งความเสี่ยงและความลำบาก

โดยเฉพาะกับการที่เด็กไม่ได้รับอนุญาต พวกเขาแต่ละคนต่างมีลูกอยู่แล้วก่อนที่จะพบกัน แต่เนื่องจากรังสีไอออไนซ์มีความไวต่อบุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ลูก ๆ ของพวกเขาจึงไม่สามารถเข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ได้ ในปัจจุบันเองก็ยังคงเป็นเช่นเดียวกันกับหลาน ๆ ของพวกเขา

ถึงกระนั้น พวกเขาก็อาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 30 ปี ในตอนนี้พวกเขาอายุ 60 และได้เกษียณเป็นที่เรียบร้อย พวกเขาไม่มีแผนที่จะย้ายไปที่อื่น เมื่อถูกถามว่าทำไม ลาปิฮานิ่งคิดอยู่ชั่วขณะหนึ่งแล้วตอบว่า “ฉันแค่มีความสุขที่อยู่ในเชอร์โนบิล”

ภายในบ้านอิฐหลังเล็ก พวกเขาต่างอบอุ่นและเป็นกันเอง ผู้คนเช่นเดียวกับพวกเขาเข้าไปอยู่อาศัยและซ่อมแซมบ้านที่ถูกทิ้งร้างมาอย่างยาวนานหลายปี ที่นั่นมีบ้านให้เลือกมากมาย เนื่องจากเมืองเชอร์โนบิลเคยมีประชากรอาศัยอยู่ถึง 14,000 คน

มาเรียร์ ซิมินยุค อายุ 78 ปี ภาพนี้ถูกถ่ายในปี 2015 และเธอตายในปีต่อมาที่หมู่บ้านปารีเชฟที่เธออาศัยอยู่มาตลอดทั้งชีวิต ศพของเธอถูกฝังอยู่ในสุสานประจำท้องถิ่น
ซ้าย ผู้คนจำนวนหนึ่งตั้งถิ่นฐานใหม่ในหมู่บ้านคูโปเวท หนึ่งในชุมชนขนาดเล็กหลายแห่งของยูเครนซึ่งอาศัยอยู่ในเขตยกเว้น ขวา ผู้อยู่อาศัยในบ้านหลังนี้ที่คูโปเวทเสียชีวิตในปี 2015 ซึ่งมันไม่ใชเรื่องแปลกสำหรับสถานที่แห่งนี้ที่สิ่งของทุกอย่างในชีวิตของใครบางคนจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

ในห้องนั่งเล่น พวกเขามีต้นไม้ริมหน้าต่าง เก้าอี้ที่นุ่มสบาย โทรทัศน์ และตู้ปลาเรืองแสงที่เต็มไปด้วยปลามากมาย ที่สวนด้านนอกยังมีผึ้งเลี้ยงและหมาอีก 4 ตัว ซึ่งได้รับการช่วยเหลือมาจากเขตยกเว้น

ตั้งแต่ที่เอเลน่าเฝ้าติดตามสัตว์ป่าในฐานะนักวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์นิเวศวิทยาเชอร์โนบิล เธอน่าจะรู้ดีเช่นเดียวกันกับคนอื่น ๆ ว่า พวกเขานั้นปนเปื้อนแค่ไหน

บาลู เป็นหมาป่าขนาดใหญ่และอายุน้อยที่สุดในฝูง ขณะที่ลาปิฮาเล่นกับมันด้วยการจับใบหน้าและพูดว่า “หมาป่าฉลาด หมาฉลาด” เขาดูไม่กังวลเลยด้วยซ้ำไป

ในเชอร์โนบิล ชายคนหนึ่งกำลังรอรับชมการแสดงอยู่ที่บ้านวัฒนธรรม ซึ่งประกอบไปด้วยคอนเสิร์ต การแสดงเดี่ยว และงานประชุมต่าง ๆ ที่ช่วยสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้คนกลุ่มเล็ก ๆ

มีเพียงไม่กี่คนที่อาศัยอยู่ในเขตยกเว้นอย่างเต็มเวลา พวกเขาเหล่านั้นคือ ผู้ที่ที่ฝ่าฝืนคำสั่งอพยพและเดินทางกลับมายังบ้านของตนหลังเกิดเหตุระเบิดขึ้น โดยในขณะนี้อยู่ในวัย 70 ปลาย ๆ หรือ 80 ต้น ๆ และหลายคนเสียชีวิตในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา ผู้คนที่ยังพึ่งพาอาหารจากสวนของตนและป่าโดยรอบ รวมถึงเห็ดขนาดใหญ่มากมายซึ่งดูดซึมซีเซียม-137 ได้ดีเป็นพิเศษ อีกทั้งยังปล่อยรังสีเบต้าและแกมมาออกมา

ชาวบ้านบางคนย่างเห็ดเหล่านี้ในบ้านด้วยเตาเผา ไม้ที่พวกเขาเผาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงก็สามารถเป็นกัมมันตรังสีได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดเป็นฝุ่นควันกัมมันตรังสีขนาดย่อมในบริเวณใกล้เคียง

การแผ่รังสีเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับที่นี่ ในสถานที่ซึ่งคนอาศัยอยู่ โดยทั่วไประดับพื้นเดิมจะต่ำ ทว่าในพื้นที่อื่นพวกเขามีความเสี่ยงสูง แต่เมื่อไม่มีอุปกรณ์วัดปริมาณกัมมันตรังสีอย่าง โดซิมมีเตอร์ และ ไกเกอร์เคาน์เตอร์ ซึ่งหลายคนไม่แม้แต่สนใจที่จะมี การวัดค่าจึงเป็นไปไม่ได้

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่หลายคนที่เสียชีวิตในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาต้องการถูกฝังในหมู่บ้านที่พวกเขาเกิด เขตยกเว้นนั้นมีสุสานหลายแห่ง สถานที่ในรูปอยู่ที่โอปาชิชิ

ใครบ้างที่ยังคงอยู่ภายในพื้นที่

 ผู้คนประมาณ 7,000 คน เข้าออกพื้นที่เพื่อทำงาน มากกว่า 4,000 คน ถูกโยกย้ายทุก ๆ 15 วันต่อเดือน หรือ 4 วันต่อสัปดาห์ กำหนดการนี้ถูกคิดขึ้นเพื่อลดการสัมผัสกับรังสีไอออไนซ์ พวกเขาคือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย นักดับเพลิง นักวิทยาศาสตร์ หรือผู้ดูแลโครงสร้างพื้นฐานของชุมชนพิเศษแห่งนี้

เพราะว่าเชอร์โนบิลคือ บ้านเพียงชั่วคราวของพวกเขา ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยถาวร พวกเขาเข้าไปอาศัยอยู่ในห้องพักและอพาร์ทตมนต์บางส่วนที่ถูกทิ้งร้างจากการอพยพ ชีวิตในช่วงเย็นนั้นค่อนข้างเงียบสงบ บางคนอ่านหนังสือ บางคนดูภาพยนตร์ เมื่ออากาศเริ่มร้อน พวกเขาอาจฝ่าฝืนกฎความปลอดภัยจากรังสีโดยการไปว่ายน้ำที่แม่น้ำ

พนักงานในห้องควบคุมเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 2 ในวันทำงานปกติ ถึงแม้ว่าเครื่องปฏิกรณ์ทั้ง 3 เครื่องที่เหลือจะไม่ผลิตกระแสไฟฟ้าอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องใช้เวลาจนถึงปี 2065 ในการปลดประจำการ
ซ้าย ผู้เยี่ยมชมแต่ละคนจะต้องผ่านด่านเพื่อเข้าสู่เมืองปรีเปียต และจำเป็นต้องแสดงใบอนุญาต ซึ่งยามที่ทางเข้าจะทำงาน 12 ชั่วโมงต่อกะ ขวา นักวิทยาศาสตร์ประมาณ 100 คน ทำงานที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ของเชอร์โนบิลเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนและศึกษาผลกระทบของรังสีที่มีต่อสิ่งแวดล้อม หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์จากอดีตสหภาพโซเวียตมาที่เชอร์โนบิลเพื่อศึกษาผลกระทบจากภัยพิบัติ

เหล่าแรงงานที่เหลือต่างเดินทางมาทำงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแต่ละวันโดยรถไฟ ถึงแม้ว่าโรงงานจะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าแล้ว แต่การรื้อถอนเครื่องปฏิกรณ์อีก 3 เครื่องที่เหลือต้องใช้เวลาอย่างน้อยจนถึงปี 2065 และหน่วยงานทุกภาคส่วนภายในสถาบันเพื่อความปลอดภัยจากปัญหาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างใส่ใจกับการสร้างอาคารปกคลุมเครื่องปฏิกรณ์หมายเลข 4

จนกระทั่งในปี 2016 มันได้รับการปกคลุมที่ใหม่เอี่ยม และดูคล้ายกับกระท่อมควอนเซ็ตขนาดมหึมา ซึ่งน่าจะมีอายุการใช้งานถึง 100 ปี แม้ว่าวัสดุภายในจะมีกัมมันตภาพรังสีเป็น 1,000 ปี ก็ตาม

ปัจจุบัน เขตยกเว้นมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีที่ลดลง แต่เชอร์โนบิลมีคุณสมบัติดัดเวลา ซึ่ง 35 ปี ถือเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากในชีวิตมนุษย์ และมีความสำคัญต่อซีเซียม-137 และ สตรอนเซียม-90 ที่มีครึ่งชีวิตอยู่ที่ 30 ปี แต่มันแทบไม่มีประโยชน์เลยสำหรับวัสดุกัมมันตภาพรังสีที่ต้องใช้เวลากว่า 1,000 ปี ในการสลายตัว

ซ้าย โรงยิมท้องถิ่นในเมืองเชอร์โนบิลเปิดโอกาสให้ออกกำลังกายและพักผ่อน เช่น การเล่นปิงปองหลังเลิกงาน ขวา แม้แต่เชอร์โนบิลเองก็มีร้านกาแฟและสถานที่พักผ่อนตามอัธยาศัยกับเพื่อน ๆ “การอยู่ในพื้นที่ร้างตลอดเวลานั้นช่างน่าหดหู่ใจเหลือเกิน” ยูริ ทาทาชุค ผู้ซึ่งใช้เวลามากกว่า 20 ปี ในการทำงานในพื้นที่นี้กล่าว

อายุการใช้งาน 1 ศตวรรษ ของอาคารปกคลุมนั้นปลอดภัยแค่ไหนเมื่อมันต้องปกป้องเราจากบางสิ่งที่มีครึ่งชีวิต 24,000 ปี ในขณะเดียวกันก็มีภัยคุมคามใหม่ โดยเฉพาะไฟป่าที่เผาต้นไปซึ่งปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี ก่อให้เกิดเป็นเขตอันตรายแห่งใหม่

อ้างอิงจาก บรูโน่ ชาเรย์รอน ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการกับสำนักงานคณะกรรมการการค้นคว้าอิสระและข้อมูลเกี่ยวกับการฉายรังสี มนุษยชาติในปัจจุบันไม่มีวิธีแก้ปัญหาทั้งทางเทคนิคหรือทางการเงินในการจัดการหายนะเช่นนี้ กล่าวโดยง่ายคือ ถึงแม้ว่าผู้คนหลายพันคนจะยังคงทำงานภายในสถานที่นั้นทุกวัน “หายนะเชอร์โนบิลก็ไม่สามารถควบคุมได้อย่างง่ายดายอยู่ดี”

คนงานจำนวนมากอยู่ในพื้นที่แค่บางเวลา อาจถูกโยกย้ายทุก ๆ 15 วันต่อเดือน หรือ 4 วันต่อสัปดาห์ ขณะอยู่ที่นี่ พวกเขาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์และหอพักเก่า และหาสิ่งที่ต้องการจากร้านค้าในท้องถิ่น

ในช่วงวัยเกษียณของเขา เซอร์จีย์ ลาปิฮา อาสาที่จะดูแลโบสถ์ออร์ทอดอกซ์ในท้องถิ่น ผนังด้านนอกของมันเป็นสีขาวขุ่น มีซุ้มประตูสีฟ้าสดใส และโดมสีทองสองหลังบนดาดฟ้า เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารที่ถูกทิ้งร้างและซากปรักหักพังในบริเวณโดยรอบ ตัวโบสถ์ถือว่าดูใหม่เอี่ยมมาก

ก่อนการรำลึกประจำปีที่รูปปั้นเทพธิดาเหล็ก จะมีพิธีมิสซาจัดขึ้นในคืนวันที่ 25 เมษายน หลังจากการต้อนรับ ผู้เข้าร่วมจะเดินออกมาข้างนอกและสั่นกระดิ่งแห่งความทรงจำที่ห้อยลงมาจากซุ้มโค้งตรงมุมของสุสาน  พวกเขาจะสั่นกระดิ่งตามจำนวนปีตั้งแต่ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ดังนั้นในปีนี้จะสั่นทั้งสิ้น 35 ครั้ง

เรื่อง JENNIFER KINGSLEY

ภาพ PIERPAOLO MITTICA, PARALLELOZERO

แปลและเรียบเรียง พัทธนันท์ สวนมะลิ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : 150 ปี เหตุนองเลือดครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้น anti-Asian ที่มุ่งเป้าไปยังผู้อพยพชาวจีน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.