150 ปี เหตุนองเลือดครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้น anti-Asian ที่มุ่งเป้าไปยังผู้อพยพชาวจีน

150 ปี เหตุนองเลือดครั้งใหญ่ จุดเริ่มต้น anti-Asian ที่มุ่งเป้าไปยังผู้อพยพชาวจีน

anti-Asian violence การลงประชาทัณฑ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่มุ่งเป้าไปยังผู้อพยพชาวจีนในลอสแอนเจลิส

anti-Asian Violence กระแสความเกลียดชังชาวเอเชียที่ยังคงคุกรุ่นอยู่ในปัจจุบัน แท้จริงเริ่มต้นมากว่า 150 ปีแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้รุนแรงเท่าครั้งอดีต แต่ก็ยังไม่ส่อแววให้เห็นถึงทีท่าของการก้าวผ่านความแตกต่างทางชาติพันธุ์และยอมรับซึ่งกันและกัน

ในปีนี้ถือเป็นการครบรอบ 150 ปี การลงประชาทัณฑ์ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์อเมริกา การนองเลือดครั้งดังกล่าวปะทุขึ้นในลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1871 ฝูงชนอันคลุ้มคลั่ง 500 คน บุกเข้าไปในเมืองย่านของคนจีน เหยื่อบางรายถูกยิง ถูกแทง หรือหนักที่สุดคือการถูกแขวนคอด้วยตะแลงแกงที่เหล่าฝูงชนเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง เมื่อค่ำคืนสิ้นสุดลง ถนนของลอสแอนเจลิสเกลื่อนกลาดไปด้วยศพสภาพย่ำแย่กว่า 19 ศพ

การลงประชาทัณฑ์ เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อชาวแอฟริกันอเมริกันในช่วงหลังสงครามกลางเมืองทางตอนใต้ แต่ความเกลียดชังทางเชื้อชาติไม่เคยจำกัดภูมิภาคหรือชาติพันธุ์ เหล่าผู้เคราะห์ร้ายในลอสแอนเจลิส ปี 1871 คือ ผู้อพยพชาวจีน การเสียชีวิตของพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเกลียดชังชาวเอเชีย ซึ่งแผ่ซ่านไปทั่วอเมริกาตะวันตกในศตวรรษที่ 19 และยังคงส่งผลกระทบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในยุคแรกของการย้ายถิ่นฐานของชาวจีน ผู้มาใหม่จำนวนมากใช้แรงงานไปกับการทำทางรถไฟหรือในฐานะผู้สำรวจแร่ ภาพถ่ายโดยจอร์จ รินฮาร์ต, CORBIS/GETTY (ซ้าย) และภาพถ่ายจาก ALAMY (ขวา)

ปี 1850 ยุคของการตื่นทองที่แคลิฟอร์เนีย ผู้อพยพชาวจีน ตกเป็นเป้าหมายของการถูกเหยียดหยามแทบจะในทันที ที่พวกเขาก้าวเท้าเข้าสู่แผ่นดินอเมริกา เหล่าคนผิวขาวซึ่งเป็นนักสำรวจแร่มักขับไล่คนงานเหมืองชาวจีนที่มาเรียกร้องสิทธิ์ ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐตบหน้าพวกเขาด้วยภาษีแรงงานต่างชาติที่ทำเหมือง เช่นเดียวกันกับชาวอเมริกันผิวสีและชาวอเมริกันพื้นเมือง ผู้อพยพชาวจีนถูกห้ามไม่ให้เบิกพยานสู้คดีกับคนผิวขาวในศาลของแคลิฟอร์เนีย ผลที่ตามมาคือ การทำร้ายคนจีนในแคลิฟอร์เนียมักไม่ถูกรับโทษใด ๆ ทั้งสิ้น

การคุกคามทางด้านแรงงานดังกล่าวมีพื้นฐานอยู่บนความเกลียดชังในคนจีนอย่างไม่มีเหตุผล (Sinophobia) ในปี 1870 ผู้อพยพชาวจีนมีสัดส่วนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรในแคลิฟอร์เนียและ 1 ใน 4 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดในรัฐ ที่ใดที่ชาวจีนอพยพมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก คนงานผิวขาวจะเริ่มเห็นถึงความเสี่ยงในการทำหากินของพวกเขา

เหล่าผู้ก่อความไม่สงบอ้างว่า การคุมคามที่เกิดจากการย้ายถิ่นฐานของชาวจีนไม่เคยเป็นภัยคุกคามต่อการจ้างงานของคนผิวขาว อย่างไรก็ตาม พวกเขาระดมกำลังต่อต้านนายจ้าง รวมไปถึงบริษัททางรถไฟและเจ้าของฟาร์มปศุสัตว์ผู้ร่ำรวยที่จ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้อพยพชาวจีน

ภาพวาดเก่าแก่ที่สุดของเมืองลอสแอนเจลิสซึ่งถูกวาดขึ้นในปี 1847 ช่วงเวลาสั้น ๆ ในประวัติศาสตร์ของเมืองในขณะที่ยังไม่มีผู้อพยพชาวจีนเข้ามา ผู้อพยพชาวจีนคนแรกที่ได้รับการบันทึกอย่างเป็นทางการนั้นเดินทางเข้ามาในปี 1852
ในปี 1882 กว่าทศวรรษหลังการโจมตี คาลเล เดอ ลอส นีกอส ใจกลางเมืองย่านคนจีนดั้งเดิมของลอสแอนเจลิส อีกทั้งยังเป็นจุดเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ ภาพถ่ายจาก USC DIGITAL LIBRARY, คอลเลกชันประวัติศาสตร์สังคมแคลิฟอร์เนีย

การรณรงค์ต่อต้านผู้อพยพชาวจีนมีความเป็นระบบระเบียบอย่างมาก ในปีหลังสงครามกลางเมืองมีกลุ่มต่อต้านพวกกุลีเกิดขึ้น โดยสมาคมต่อต้านกุลีแห่งแปซิฟิกกลางนั้นสนับสนุนการสั่งห้ามไม่ให้คนจีนเข้ามาภายในเมืองและปกป้องคนขาวที่ตั้งตัวเป็นศาลเตี้ย

ต่อมาในปี 1867 ฝูงชนแรงงานผิวขาวขับไล่คนงานชาวจีนออกจากที่ทำงานในซานฟรานซิสโก บาดเจ็บ 12 คน เสียชีวิต 1 คน สมาคมต่อต้านกุลีระดมกำลังชุมนุมกันเพื่อปกป้องฝูงชนและประสบความสำเร็จในการปล่อยตัวผู้กระทำความผิดทั้ง 10 คน ซึ่งการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้อพยพชาวจีน รวมไปถึงการปล่อยให้เหล่าผู้ทำร้ายพ้นผิด ประเด็นเหล่านี้จะหวนกลับมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ในสมัยแห่งการฟื้นฟูทางใต้ (Reconstruction-era) คูคลักซ์แคลน (ลัทธิชาตินิยมผิวขาว) พุ่งเป้าไปที่ชาวแอฟริกันอเมริกันและคนผิวขาวซึ่งเป็นพันธมิตรกับพวกคนผิวสีทางตะวันตก ทว่าคูคลักซ์แคลนเองก็เข้าทำร้ายคนจีน การโจมตีคนงานชาวจีนมากกว่าหนึ่งโหลระหว่างปี 1868 ถึง 1870 ที่เชื่อว่าเป็นฝีมือคูคลักซ์แคลน ในแคลิฟอร์เนียถูกเปิดโปง เช่นเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในในยูทาห์และโอเรกอน

กิจกรรมของคูคลักซ์แคลนในแคลิฟอร์เนียมีตั้งแต่การข่มขู่อย่างรุนแรง การทำร้ายร่างกาย ไปจนถึงการลอบวางเพลิง ฤดูใบไม้ผลิปี 1868 ผู้ก่อการจลาจลผิวขาวบุกเข้าไปในฟาร์มปศุสัตว์หลายแห่งในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ และทำร้ายคนงานชาวจีนที่นั่นอย่างโหดเหี้ยม

ปี 1869 เมื่อพระของนิกายเมธอดิสต์เปิดโรงเรียนวันอาทิตย์สำหรับผู้อพยพชาวจีน เหล่าศาลเตี้ยจึงเผาโบสถ์และคุกคามชีวิตของเขา คนในเครือแคลนลอบวางเพลิงเผาโบสถ์แห่งที่ 2 ในซาคราเมนโต โดยถือเป็นบาปจากการให้ความช่วยเหลือชุมชนชาวจีน นอกจากนี้พวกเขายังเผาโรงกลั่นเหล้าบรั่นดีใกล้เมืองแซนโฮเซเนื่องจากที่นั่นมีการจ้างคนงานชาวจีน

ทางตอนใต้ คูคลักซ์แคลน (ลัทธิชาตินิยมผิวขาว) พุ่งเป้าไปที่ชาวแอฟริกันอเมริกัน ทางตะวันตก องค์กรชาตินิยมผิวขาวเข้าทำร้ายผู้อพยพชาวจีน ภาพประกอบจาก ALAMY

คูคลักซ์แคลนเป็นหนึ่งในการแสดงออกอย่างแรงกล้าที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในแคลิฟอร์เนียถึงความเกลียดชังที่มีต่อตัวชาวจีน ปี 1867 คำปราศรัยสถาปนาของผู้ว่าการรัฐ เฮนรี่ เฮทต์ เตือนว่า “การหลั่งไหล” เข้ามาของผู้อพยพชาวจีนจะ “นำมาซึ่งความอัปมงคลต่อลูกหลานของเราเรื่อยไป”

ฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐรณรงค์ต่อต้าน 2 มาตราหลักด้านสิทธิมนุษยชนแห่งยุค การแปรญัตติที่ 14 และ 15 โดยอ้างว่าการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้ผู้อพยพชาวจีนได้รับสัญชาติและมีสิทธิในการออกเสียง แคลิฟอร์เนียเป็นรัฐอิสระเพียงแห่งเดียวที่ปฏิเสธทั้ง 2 มาตรา จากการยั่วยุของกลุ่มผู้เกลียดชังชาวจีน จนกระทั่งปี 1959 และ 1962 ตามลำดับ สภานิติบัญญัติแห่งรัฐแคลิฟอร์เนียเสนอให้อนุมัติการแปรญัตติ

หนังสือพิมพ์หลายฉบับต่างนำเสนอความรู้สึกของกลุ่มผู้เกลียดชังชาวจีนและทำให้การเป็นอันธพาลของพวกเขากลายเป็นเรื่องปกติ แอนดรูว์ แจ็กสัน คิง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสนิวส์ ได้เขียนในคอลัมน์ของเขาเกี่ยวกับการทารุณกรรมประชากรชาวจีนในท้องถิ่นขนาดเล็ก เขาเขียนไว้ว่า

“พวกต่างด้าว เชื้อชาติที่ต่ำต้อยและหลงใหลในรูปเคารพ”

“น่าขยะแขยงและน่าสะอิดสะเอียน”

“ความอัปมงคลในประเทศของพวกเราและเป็นตัวบ่อนทำลายอารยธรรมความเจริญ”

บทความของเขาส่งผลให้เหตุโจมตีคนงานชาวจีนพุ่งสูงขึ้น (ในขณะที่เขากำลังป่าวประกาศต่อหน้าสาธารณชนอย่างเกรี้ยวกราด ถึงการต่อต้านผู้อพยพเหล่านี้และการคุกคามที่ผู้อพยพชาวจีนกระทำต่อคนผิวขาว คิงก็ได้จ้างพ่อครัวชาวจีนให้มาทำงานในบ้านของตน)

แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการเลือกปฏิบัติทางกฎหมายกับชาวจีน รวมทั้งพระราชบัญญัติการกีดกันชาวจีนในปี 1882 ที่บรรยายไว้ข้างต้น ทว่าชาวจีนก็ยังคงอพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามายังประเทศใหม่ และเรียนรู้ภาษาอังกฤษในขณะเดียวกัน ภาพถ่ายจาก MPI/GETTY

การลงประชาทัณฑ์เกิดขึ้นที่ลอสแอนเจลิส ในวันที่ 24 ตุลาคม ปี 1871 เป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดและอันตรายที่สุด ผู้ก่อจลาจลประมาณ 500 คน ทั้งชาวแองโกลอเมริกัน (อเมริกันเชื้อสายอังกฤษ) และฮิสแปนิคอเมริกัน (อเมริกันเชื้อสายสเปน) บุกเข้าโจมตีเมืองย่านคนจีน (Chinatown) หลังจากการยิงปะทะกันระหว่างสมาชิงแก๊งชาวจีนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ส่งผลให้เจ้าของร้านเหล้าคนหนึ่งเสียชีวิต และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บสาหัส เมื่อฝูงชนสลายตัว ชาวจีนต่างลี้ภัยเข้าไปหลบอาศัยอยู่ในอาคารอิฐหลังยาวใจกลางย่านคนจีน

2 ชั่วโมงแห่งการฆ่าฟันตามอำเภอใจ ฝูงชนพังประตูอาคารเข้ามาจับกุมผู้ชายและเด็กชายชาวจีนที่ซ่อนตัวอยู่ภายใน มีเพียงคนเดียวที่เกี่ยวข้องกับการยิงปะทะเมื่อก่อนหน้านี้ ผู้ก่อจลาจลทำร้ายและสังหารชาวจีนแทบทุกคนที่พวกเขาพบ เมื่อเชือกสำหรับแขวนคอหมดลง พวกเขาจะเปลี่ยนมาใช้ลวดสำรับตากผ้าในการแขวนคอเหยื่อแทน

ฝูงชนได้คร่าชีวิตผู้เคราะห์ร้ายไปทั้งสิ้น 19 ราย รวมไปถึงหมอที่ทุกคนต่างเคารพและเด็กวัยรุ่น ศพทั้งหมดยกเว้นเพียง 2 ศพถูกย้ายไปที่ลานคุกของเมือง ที่ซึ่งเพื่อนฝูงและสมาชิกในครอบครัวต่างค้นหาบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเขาท่ามกลางแถวศพอันทอดยาว ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวจีนภายในเมือง

การเลือกปฏิบัติไม่ได้ขัดขวางผู้อพยพชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังสหรัฐอเมริกาแต่อย่างใด โดยเฉพาะกับนักเรียนเหล่านี้ที่มาถึงซีแอตเทิลในปี 1925

แม้ว่าผู้ก่อจลาจล 8 คนจะถูกตัดสินว่ากระทำความผิดฐานฆาตกรรม แต่ทว่าในปีต่อพวกเขาทั้งหมดก็ได้เดินออกมาอย่างอิสระผ่านการใช้กลวิธีบางอย่าง

เดือนตุลาคมนี้ ลอสแอนเจลิสเตรียมรำลึกครบรอบ 150 ปีการสังหารหมู่ ท่ามกลางกระแสต่อต้านชาวเอเชีย ผู้นำในชุมชนชาวอเมริกันเชื้อสายจีนกำลังวางแผนจัดกิจกรรมเป็นเวลา 1 สัปดาห์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงโศกนาฏกรรมและผลกระทบของมันที่ส่งผลมาจนถึงในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันพิธีการดังกล่าวยังพ่วงมาด้วยการรณรงค์เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานให้แก่ผู้เคราะห์ร้ายทั้ง 19 คน โดยการรำลึกถึงร่วมกันเปรียบเสมือนการรำลึกถึงความโหดร้ายและความท้าทายที่ชาวอเมริกันเชื้อสายจีนต้องเผชิญมา

แต่พวกเขาก็จะเฉลิมฉลองต่อการดำรงอยู่เช่นกัน ภายในหนึ่งปีแห่งการสังหารหมู่ ผู้อพยพชาวจีนย้ายกลับเข้าไปในพื้นที่เดิมซึ่งเคยถูกฝูงชนทำลาย พวกเขาก่อร่างสร้างตัวขึ้นอีกครั้งและต่อต้านการเรียกร้องให้ไล่พวกเขาออกไป การมีอยู่ของพวกเขาถือเป็นการส่งข้อความที่ไม่มีวันจางหายไปว่า ฝูงชนนั้นล้มเหลว และพวกเขาจะยังคงอยู่

นั่นคือข้อความหลักสำคัญสำหรับเกย์ หยวน ประธานพิพิธภัณฑ์พันธมิตรจีนอเมริกันในลอสแอนเจลิส ขณะที่เธอกำลังเตรียมตัวสำหรับการรำลึกครบรอบในปีนี้ “ประวัติศาสตร์จีนอเมริกันต่างเป็นประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา เป็นประวัติศาสตร์ของแคลิฟอร์เนีย และเป็นประวัติศาสตร์ลอสแอนเจลิส” เธอกล่าว “เราเป็นคนอเมริกันและเราช่วยสร้างประเทศนี้ขึ้นมา เราไม่ใช่คนอื่นคนไกล และเราไม่ใช่คนต่างชาติ”

20 พฤศจิกายน ปี 1880 หนังสือพิมพ์ Frank Leslie’s Illustrated ฉบับที่กล่าวถึงการจลาจลต่อต้านชาวจีนในเมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ความรุนแรงต่อผู้อพยพชาวจีนแพร่กระจายไปทั่วอเมริกาตะวันตก เอื้อเฟื้อโดย พิพิธภัณฑ์จีนอเมริกัน/ดีแลนและฟีนิกซ์ หว่อง

แปลและเรียบเรียง พัทธนันท์ สวนมะลิ

(โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย)


เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : ประวัติศาสตร์แห่งความวุ่นวายของโอลิมปิกในช่วงวิกฤตโลก และอาถรรพ์ 40 ปี

กีฬาโอลิมปิก

Recommend