ความรุ่งเรืองและล่มสลายของ ชาวเคลต์ เผ่าต่าง ๆ ปกครองเยอรมนีตอนใต้และพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรป

ชาวเคลต์ เผ่าต่าง ๆ ปกครองเยอรมนีตอนใต้และพื้นที่ส่วนใหญ่ของยุโรปตอนกลางอยู่นานเจ็ดศตวรรษ ก่อนที่จะยอมศิโรราบแก่ชาวโรมัน ชนชาวเคลต์เป็นใครกัน และอะไรเป็นสาเหตุของความล่มสลายอันลึกลับของพวกเขา

กลิ่นเหม็นลอยคลุ้งอยู่เหนือเลอมอร์มองต์จากหลุมเปิดหลายหลุม ผู้ตายถูกตัดศีรษะ ส่วนม้า วัวควาย และแกะ ถูกบูชายัญ ซากศพเหล่านี้ถูกโยนลงไปทางปล่องหรือถูกฝังโดยเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม อย่างน้อยนั่นก็เป็นสิ่งที่ นักโบราณคดี กิลเบิร์ต คาเอเนล กับลีโอเนล เปียเน เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นบนเนินเขาแห่งนี้ ตรงจุดที่ดูเหมือนจะเป็น ที่หลบภัยของ ชาวเคลต์ (Celt หรือเซลต์ ตามการเรียกขานในอดีต) ใกล้ทะเลสาบเจนีวา ในสวิตเซอร์แลนด์

คาเอเนลรั้งตำแหน่งผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์โบราณคดีแห่งภูมิภาคโว กระทั่งหมดวาระเมื่อไม่นานมานี้ เขาเป็นหัวหน้าด้านการอนุรักษ์และบูรณะในการขุดค้นที่เนินมอร์มองต์ เปียเนรับช่วงต่อจากเขา

อะเลเชีย ชาวเคลต์ตั้งเครื่องกีดขวางป้องกันตัวเอง ส่วนชาวโรมันตั้งป้อมปราการแข็งแรงล้อมรอบชาวเคลต์ มีการสู้รบแบบ ตัวต่อตัว ชาวเคลต์ปราชัยสงครามยิ่งใหญ่ครั้งสุดท้าย 52 ปีก่อนคริสตกาลที่บูร์กองดี

ตอนที่นักโบราณคดีเริ่มสำรวจภูเขาลูกนี้เมื่อปี 2006 ก่อนการทำเหมืองปูนขาวตามกำหนดในบริเวณนี้ พวกเขาลงเอยด้วยการค้นพบหลุม 250 หลุม หลุมอื่นๆขุดลงไปถึงชั้นหินปูนซึ่งอยู่ลึกลงไปอีก หลุมเหล่านี้เกลื่อนกล่นไปด้วยชิ้นส่วนจอกสำหรับดื่มที่ทำจากดินเผาเคลือบและสำริดนับไม่ถ้วน รวมทั้งเครื่องมือของช่างตีเหล็ก ขวานของช่างไม้หกเล่ม และหินโม่ซึ่งแทบไม่ผ่านการใช้งานหรือไม่เคยใช้เลยกว่า 150 ก้อน นักวิจัยพบร่องรอยของอาวุธน้อยมาก

แต่ในหลุมมีกระดูก หลายชิ้นเป็นของม้ามูลค่าสูงหลายตัวที่นำเข้าจากอิตาลี และถือเป็นเครื่องบ่งบอกสถานะในหมู่ชาวเคลต์ ทั้งยังพบกระดูกมนุษย์ด้วย พบร่างราว 50 ร่าง บ้างถูกจัดให้อยู่ในท่านอนหงาย บ้างอยู่ในท่านั่ง หัวกะโหลกหลายหัวไม่มีขากรรไกรล่าง เพราะ ชาวเคลต์ มักถอดขากรรไกรล่างออกตามพิธีกรรม แล้วด้วยเหตุใดเล่าผู้คนจึงฆ่าปศุสัตว์ที่มีค่า ละทิ้งเครื่องมือและหินโม่ “ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นของจำเป็นเพื่อการอยู่รอด” คาเอเนลตั้งข้อสงสัย “พวกเขาคงไม่ทิ้งขว้างของพวกนั้นโดยไร้สาเหตุหรอกครับ”

บีบราคต์ เมืองหลวงของเอดุยในบูร์กองดี เป็นหนึ่งในชุมชนป้อมปราการราว 150 แห่งของชาวเคลต์ รวมทั้งชุมชนที่มานชิง ใกล้อิงกอลชตัดท์ในบาวาเรีย ชาวบ้านบูชาเทพเจ้าองค์ต่างๆและวุุ่นกับการค้าขาย ช่างฝีมือทำเหรียญกษาปณ์และเครื่องประดับ ในช่วงปลายยุค ชาวเคลต์เกือบจะพัฒนาสู่อารยธรรมชั้นสูง

นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า พวกเคลต์คงหนีขึ้นเขาเลอมอร์มองต์เพราะหมดหวังแล้ว เป็นไปได้ว่าจะไปกันทุกคน ยกเว้นพวกผู้ชายที่สามารถสู้รบได้ สถานการณ์คงจะคับขันถึงขั้นต้องสละข้าวของที่มีค่าที่สุด กระทั่งเพื่อนร่วมเผ่าเพื่อวิงวอนขอความช่วยเหลือจากเหล่าเทพเจ้า ในช่วงนั้น ราวปลายศตวรรษที่สองก่อนคริสตกาล สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังพัดผ่านยุโรปตอนกลาง ชนเผ่าคิมบริและทิวทันเข้าปล้นสะดมเขตแดนของพวกเคลต์ในบริเวณที่ปัจจุบันคือตอนใต้ของเยอรมนีกับสวิตเซอร์แลนด์ โรมจำต้องป้องกันตัวจากผู้บุกรุก พร้อมไปกับการขยายอำนาจของตนในเวลาเดียวกัน

เจ็ดศตวรรษก่อนหน้านั้น ในช่วงที่เหล็กเข้ามาแทนที่สำริดในฐานะโลหะสำคัญที่สุดสำหรับทำอาวุธและเครื่องมือต่างๆ ยุโรปเป็นประจักษ์พยานในกำเนิดของวัฒนธรรมใหม่ ผู้คนในภูมิภาคที่ทอดจากโบฮีเมียไปจนถึงตอนใต้ของเยอรมนีและเบอร์กันดี กำลังถักทอวิถีชีวิตร่วมกัน สร้างเนินฝังศพและประกอบพิธีกรรมคล้ายๆกัน วาดภาพมนุษย์และสัตว์ด้วยศิลปะที่แสดงรูปลักษณ์ และใช้กระดูกทำเป็นกระดุมกลัดเสื้อ พวกเขาผ่านการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีที่ให้กำเนิดเครื่องมือต่างๆ เช่น แป้นหมุนสำหรับปั้นถ้วยชาม และโม่หินที่ใช้บด

บูชายัญอันเหี้ยมโหด ครึ่งศตวรรษก่อนสงครามที่อาเลเซีย ชาวเคลต์นำสัตว์ต่างๆและแม้แต่มนุษย์มาบูชายัญ ณ ยอดเขาทางตะวันตกของสวิตเซอร์แลนด์แห่งนี้ นักโบราณคดีที่ทำวิจัยอยู่ที่นี่ตั้งสมมุติฐานว่า ชาวเคลต์จนตรอกและวิงวอนให้ปวงเทพเจ้าช่วยเหลือ ราว 100 ปี ก่อนคริสตกาล ชาวโรมันแผ่ขยายอิทธิพล และที่สำคัญคือพวกเยอรมันออกปล้นสะดมทั่วดินแดนแห่งนี้ มอร์มองต์จะเคยเป็นที่หลบภัยหรือไม่

ชาวเคลต์ อาศัยอยู่เป็นชุมชนเผ่าต่างๆ แยกขาดจากกัน นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีเห็นตรงกันว่า พวกเคลต์ไม่เคยรวมตัวกันเป็นอาณาจักรที่เป็นปึกแผ่น นักวิจัยหลายคนเชื่อว่า เคลต์ไม่เคยปรากฏเป็นชนชาติเลย และพูดถึงเคลต์ในฐานะวัฒนธรรมยุคเหล็กวัฒนธรรมหนึ่งซึ่งมักจะเรียกกันว่า ฮอลชตัทท์และลาแตน ตามที่ตั้งชุมชนในออสเตรียและสวิตเซอร์แลนด์ตามลำดับ แต่โดยมากจะเห็นด้วยว่า “เคลต์” เป็นคำกว้างๆ ที่หมายถึงอารยธรรรม ซึ่งแผ่ขยายจากตุรกีในปัจจุบันจนถึงสเปน กระทั่งในช่วงหลังจากยุโรปตอนกลางตกต่ำลง ชาวเคลต์ยังคงเฟื่องฟูอยู่ในหมู่เกาะอังกฤษ

ชาวเคลต์ค้าขายไปทั่วทุกถิ่นทั้งใกล้ไกล พวกเขาบูรณาการวิชาความรู้และวิถีชีวิตของวัฒนธรรมต่างๆ ในยุโรปตอนใต้เข้ากับวิถีชีวิตของพวกตน นอกจากนั้น เคลต์ยังมีฝีมือทางการก่อสร้างและสร้างเมืองต่างๆ ในยุคแรกขึ้นทางเหนือของเทือกเขาแอลป์ แต่กลับเป็นชนชาติเดียวในยุโรปตอนกลางยุคโบราณที่ไม่เจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นชาติชาติหนึ่ง

ถิ่นฐานชาวเคลต์แห่งหนึ่งซึ่งอยู่ทางเหนือของเมืองแฟรงก์เฟิร์ตในปัจจุบัน มีสถานะโดดเด่น นั่นคือที่ราบสูง กลาวแบร์กซึ่งทอดตัวอยู่บนเนินเขา

เตรียมพื้นที่สำหรับพิธีกรรม ชาวเคลต์ได้รับแรงบันดาลใจจากเพื่อนบ้านทางใต้ของเทือกเขาแอลป์ นอกจากศิลปะแล้ว ยังได้สืบทอดพิธีกรรมบางอย่าง ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของอีทรัสคันและกรีก ห่างจากฮอยเนบูร์กไม่กี่กิโลเมตร ชาวเคลต์ปรับพื้นที่เหนือแหลมแห่งหนึ่งให้เรียบ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าชาวเคลต์ใช้ที่ราบสูงนี้ประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์และแข่งรถม้า

นักพฤกษศาสตร์บรรพกาลสามารถสร้างภูมิทัศน์ที่อาจปรากฏอยู่ในยุคเคลติก โดยพื้นที่ดังกล่าวไม่ต่างจากสมัยนี้มากนัก พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่มีด้านหน้าเป็นกระจกมองออกไปเห็นภูมิทัศน์ลูกระนาดของภูมิภาคเวตเทอร์อาวที่มีป่ากระจายเป็นหย่อมๆ “ตรงนี้ก็อาจเคยเป็นป่าเหมือนกันครับ” อักเซิล พอสลัชนี ผู้อำนวยการด้านการวิจัยที่ กลาวแบร์ก กล่าว ที่นี่เคยมีไร่นาและโรงเรือน เช่นเดียวกับหมู่บ้านขนาดใหญ่สองสามแห่ง ล้อมรอบด้วยที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ ปลูกข้าวบาร์เลย์ และข้าวสาลีพันธุ์ดั้งเดิม เช่น ข้าวเองกอร์นกับข้าวสเปลต์ และถั่วเลนทิล นักสัตววิทยาบรรพกาลสามารถระบุกระดูกแพะ หมู และไก่ มีร่องรอยกวางและกระต่ายอยู่บ้าง

ตรงเชิงเขากลาวแบร์ก มีศพมนุษย์ฝังอยู่สามศพ นักโบราณคดีที่ศึกษาหลุมศพเหล่านี้ พบชิ้นส่วน โครงกระดูกพร้อมโบราณวัตถุมากมายผิดวิสัย อาทิ ดาบ โล่ ใบหอก กำไลแขน และกำไลคอทองคำ เหยือกสำริด สองใบที่มีร่องรอยของเหล้าหมักน้ำผึ้ง

นอกจากนี้ นักวิจัยยังพบรูปสลักหินทรายรูปชายคนหนึ่งที่สูงเกือบสองเมตร ซึ่งต่อมากลายเป็นสัญลักษณ์ของสถานที่แห่งนี้ นักโบราณคดีที่กลาวแบร์กยิ่งประทับใจกับคูรอบกำแพงเมืองขนาดใหญ่ และ “ถนนขบวนแห่” ซึ่งวางตัว ในแนวเดียวกับตำแหน่งที่ดวงจันทร์ขึ้นและตกในจุดเดียวกันเป็นเวลาหลายวัน (major lunar standstill) พอสลัชนีกล่าวว่าป้อมปราการและคูรอบกำแพงเมืองมีไว้อวด แต่ความรู้คืออำนาจด้วยเสมอ และสถานที่แห่งนี้ก็เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจดังกล่าว

อังกฤษ กางเขนเคลติก (ตามภาพในเคาน์ตีเคนต์ในชนบทของอังกฤษ) เป็นสัญลักษณ์ที่เห็นได้ทั่วไปในศิลปะที่เกี่ยวกับศาสนาในยุคกลาง และเกี่ยวโยงกับหมู่เกาะอังกฤษ เกลลิกยังคงเป็นภาษาพูดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบางภูมิภาคจนถึง ทุกวันนี้ ถือเป็นมรดกจากวัฒนธรรมยุโรปยุคแรก

เรื่องนั้นอาจเป็นความรับผิดชอบของเหล่านักบวชเคลต์ (druid) ตามประเพณีแล้ว นักบวช มักถ่ายทอดวิชาความรู้ด้วยปากเปล่า ไม่มีทั้งบันทึกที่เป็นลายลักษณ์อักษรและหลักฐานทางโบราณคดีบ่งชี้ว่า มีผู้นำทางจิตวิญญาณเหล่านี้ ไม่มีหลุมฝังศพที่ระบุว่าเป็นของพวกเขา แต่สถานที่ตั้งอันศักดิ์สิทธิ์และสถานที่สำหรับบูชายัญต่างส่อให้เห็นว่า เคยมีนักบวชเป็นเรื่องเป็นราวจริงๆ

ในช่วงแรก นักรบชาวเคลต์เป็นทหารรับจ้างให้กองทัพอื่นๆ รวมทั้งกองทัพโรมัน หลังจากได้ฟังเรื่องล่อใจเกี่ยวกับชีวิตที่ดีกว่า และอาจเป็นเพราะความล้มเหลวจากการเพาะปลูกอันเนื่องจากลมฟ้าอากาศไม่อำนวย ชาวเคลต์หลายหมื่นคนมารวมตัวกันในราว 400 ปีก่อนคริสตกาล เพื่อเดินเท้าลงใต้ผ่านเทือกเขาแอลป์

ในเดือนกรกฏาคม 387 ปีก่อนคริสตกาล พวกเขาเดินทางถึงกรุงโรม พบถนนหนทางและจัตุรัสต่างๆร้างผู้คน ชาวเมืองหลายพันคนพากันหลบหนีไปก่อนหน้าแล้ว ทิ้งให้คนชรา พวกผู้หญิงและเด็กๆ ซุกตัวอยู่ในบ้าน ผู้รุกรานชาวเคลต์ยึดจัตุรัสโรมัน ปล้นสะดมเมือง และฆ่าฟันชาวบ้านที่เหลือ แต่กองทหารโรมันไม่ยอมจำนน หลังจากต่อสู้อย่างทรหด ก็สามารถขับไล่ผู้รุกรานออกไปได้ ความอัปยศอดสูที่ถูกคุกคามในถิ่นของตนยังฝังลึกอยู่ในความทรงจำ เหตุการณ์นี้เป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างชาวโรมันกับชาวเคลต์ จนกระทั่งฝ่ายหลังประสบความพ่ายแพ้และยอมศิโรราบในอีก 330 ปีต่อมา

เรื่อง ซีโบ ไฮน์เคน
ภาพประกอบ แซมซัน เกิตเซอ

สามารถติดตามสารคดี ความรุ่งเรืองและล่มสลายของชาวเคลต์ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนสิงหาคม 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/category?magazineHeadCode=NG&product_type_id=2


อ่านเพิ่มเติม โฉมหน้าแท้จริงของ แกลดิเอเตอร์

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.