สือเหม่า-ปริศนาอารยธรรมก่อนยุคราชวงศ์ของจีน

ซากเมืองพีระมิดขนาดมหึมาแห่งหนึ่งซึ่งเคยถูกเข้าใจผิดว่าเป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองจีน กลับมีอายุเก่าแก่กว่านั้นมาก อาณาจักรป้อมปราการแห่งนี้รุ่งเรืองมา 500 ปีก่อนหน้า “อู่อารายธรรมจีน” ซึ่งอยู่ไกลลงไปทางใต้ด้วยซ้ำ

ก้อนหินพวกนั้นไม่ยอมคายความลับง่าย ๆ ชาวบ้าน แถบเนินเขาฝุ่นตลบบนที่ราบสูงดินลมหอบ (Loess Plateau) ของจีนเชื่อว่า เศษกำแพงหินใกล้บ้านพวกเขา เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองจีนมาหลายทศวรรษแล้ว นั่นพอเข้าใจได้ เศษซากของปราการโบราณแห่งนี้ทอดตัว คดเคี้ยวผ่านภูมิภาคแห้งแล้งภายในวงโค้งทางเหนือของ แม่นํ้าเหลือง บ่งบอกถึงพรมแดนเขตอิทธิพลของจีน เมื่อกว่า 2,000 ปีก่อน แต่รายละเอียดอย่างหนึ่งอยู่ผิด ที่ผิดทางพิลึก ชาวบ้านและตามมาด้วยพวกหัวขโมย เริ่มพบเศษชิ้นส่วนหยก บ้างทำเป็นรูปร่างกลมแบน บ้าง เป็นใบมีดและคทา หยกไม่ได้เป็นของพื้นถิ่นทางตอน เหนือสุดของมณฑลฉ่านซี แหล่งหยกใกล้ที่สุดอยู่ห่าง ออกไปไกลกว่าพันกิโลเมตร เหตุใดจึงพบหยกมากมาย ในภูมิภาครกร้างกันดารซึ่งอยู่ใกล้กับทะเลทรายออร์ดอส ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในแห่งนี้กันเล่า

เมื่อทีมนักโบราณคดีจีนเดินทางมาสำรวจปริศนา ดังกล่าวเมื่อหลายปีก่อน พวกเขาเริ่มค้นพบบางสิ่ง ที่อัศจรรย์และน่าฉงน เศษซากกำแพงหินเหล่านั้น ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองจีน หากเป็นซาก เมืองป้อมปราการขนาดมหึมาแห่งหนึ่ง การขุดค้นที่ยังดำเนินอยู่เผยให้เห็นกำแพงป้องกันเมืองยาวกว่า สิบกิโลเมตร ล้อมรอบพีระมิดสูง 70 เมตร และสถานที่ ศักดิ์สิทธิ์ชั้นในที่มีจิตรกรรมฝาผนัง ศิลปวัตถุทำจากหยก และหลักฐานอันน่าสะพรึงของการบูชายัญมนุษย์

ก่อนที่การขุดค้นจะหยุดชะงักลงเนื่องจากการระบาด ใหญ่ทั่วโลกของไวรัสโคโรนา นักโบราณคดีค้นพบประติมากรรมรูปสลักบนหินอันน่าตื่นตา 70 ชิ้น มีทั้งรูปงูใหญ่ อสูร และคนครึ่งสัตว์ ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับประติมาน- วิทยาปลายยุคสำริดในจีน และยิ่งน่าพิศวงขึ้นไปอีก เมื่อ การหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีบ่งชี้ว่า บางส่วนของ สือเหม่า ตามชื่อเรียกสถานที่แห่งนี้ (ไม่มีใครรู้ชื่อดั้งเดิม) มีอายุย้อนกลับไปถึง 4,300 ปี หรือเกือบ 2,000 ปีก่อน ส่วนที่เก่าแก่ที่สุดของกำแพงเมืองจีนจะสร้างขึ้น และ 500 ปีก่อนอารยธรรมจีนจะหยั่งรากบนที่ราบตอนกลางห่าง ออกไปทางใต้หลายร้อยกิโลเมตร สือเหม่ารุ่งเรืองในภูมิภาค ที่ดูเหมือนห่างไกลนี้เกือบครึ่งสหัสวรรษจากราว 2300 ปี ถึง 1800 ปีก่อนคริสตกาล แล้วกลับถูกทอดทิ้งไปอย่าง ลี้ลับฉับพลัน

กำแพงป้อมปราการกว้าง 2.4 เมตร ยาว 9.6 กิโลเมตร ล้อมรอบเมืองปราการสือเหม่าบางส่วนของเมืองมีอายุเก่าแก่ 4,300 ปี หรือเกือบ 2,000 ปี ก่อนที่กำแพงเมืองจีนช่วง เก่าแก่ที่สุดจะถูกสร้าง

ไม่มีบันทึกโบราณซึ่งช่วยให้แนวทางแก่โบราณคดีของจีน ฉบับใดเลยเอ่ยถึงเมืองโบราณที่อยู่ห่างไกลออกไปทางเหนือ ของบริเวณที่เรียกว่า “อู่อารยธรรมจีน” ยิ่งเมื่อคำนึงถึง ขนาดอันใหญ่โต ซับซ้อน และมีปฏิสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ภายนอกอื่น ๆ อย่างเข้มข้นด้วยแล้ว ปัจจุบัน สือเหม่า เป็นชุมชนสมัยหินใหม่ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จักในจีน ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 2,500 ไร่ มีศิลปวิทยาการ ที่รับมาจากทุ่งหญ้าสเตปป์ทางเหนือและจะส่งอิทธิพลต่อราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนในเวลาต่อมา

การค้นพบสือเหม่า ควบคู่ไปกับการค้นพบสถานที่ก่อนประวัติศาสตร์อื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงและตามแนวชายฝั่งเมื่อไม่นานมานี้ บีบให้นักประวัติศาสตร์ทั้งหลายต้องทบทวนจุดเริ่มต้นของอารยธรรมจีน โดยขยายความเข้าใจในเชิงที่ตั้งทางภูมิศาสตร์และอิทธิพลภายนอกอื่น ๆ ที่มีต่อวัฒนธรรมยุคแรก ๆ ของตน “สือเหม่าเป็นการค้นพบทางโบราณคดีที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของศตวรรษนี้” ซุนโจวหย่ง ผู้อำนวยการสถาบันโบราณคดีฉ่านซีและหัวหน้าโครงการขุดค้นที่สือเหม่า กล่าว “มันทำให้เราเห็นหนทางใหม่ในการมองพัฒนาการของอารยธรรมยุคต้นของจีนครับ”

ความประทับใจแรกสุดของสือเหม่า ซึ่งแม้จะได้รับการขุดค้นเพียงบางส่วนในแถบเนินเขาแห้งแล้งเหนือแม่นํ้าทูเหว่ย ก็คือเป็นเมืองที่ถูกออกแบบให้เผชิญกับภยันตรายได้เสมอ เมืองตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการสู้รบระหว่างคนเลี้ยงสัตว์แห่งทุ่งหญ้าสเตปป์ทางเหนือกับชาวไร่ชาวนาแห่งที่ราบภาคกลางตลอดหลายพันปี

เพื่อป้องกันตัวเองจากคู่อริที่เหี้ยมโหด ชนชั้นสูงของสือเหม่าก่อสร้างพีระมิดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 20 ชั้นบนจุดสูงที่สุดของหมู่เนินเขาเหล่านั้น โครงสร้างที่เห็นได้จากทุกจุดของเมืองนี้ สูงราวครึ่งหนึ่งของมหาพีระมิดแห่งกีซาในอียิปต์ ซึ่งสร้างในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน (2250 ปีก่อนคริสตกาล) แต่ฐานของพีระมิดแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่านั้นสี่เท่า และชนชั้นสูงของสือเหม่ายังป้องกันตนเองมากขึ้นไปอีกด้วยการอาศัยอยู่ในชั้นสูงสุดของฐานพีระมิด ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มอาคารหรูหราใหญ่โตขนาด 50 ไร่ มีอ่างเก็บนํ้า โรงหัตถกรรมของตัวเอง และน่าจะรวมถึงวัดวาสำหรับประกอบพิธีกรรมด้วย

สือเหม่าซึ่งมีพีระมิดขั้นบันไดสูงกว่า60 เมตร ตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของเมือง ท้าทายเรื่องราวตามแบบแผนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยุคต้นของจีน

ในรัศมีวงรอบจากพีระมิดกลางของสือเหม่า คือกำแพงปริมณฑลชั้นในและชั้นนอกยาวหลายกิโลเมตร ซึ่งเป็นการออกแบบเมืองยุคแรกที่สะท้อนให้เห็นซํ้า ๆ ในเมืองใหญ่อื่น ๆ ตลอดยุคสมัย ลำพังกำแพงก็ต้องใช้ก้อนหินมากถึง 125,000 ลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับขนาดสระว่ายนํ้าโอลิมปิก 50 สระ ถือเป็นงานใหญ่มโหฬารในสังคมยุคหินใหม่ที่อาจมีประชากรราว 10,000 ถึง 20,000 คน ด้วยขนาดอันใหญ่โตของโครงการทำให้นักโบราณคดีเชื่อว่าสือเหม่าบงการความจงรักภักดีและแรงงานของเมืองบริวารต่าง ๆ ซึ่งเพิ่งถูกค้นพบในแนวรอบเมืองเมื่อไม่นานมานี้ด้วย

ที่ผ่านมา นักโบราณคดีค้นพบเมืองที่สร้างจากหินกว่า70 แห่งจากสมัยหินใหม่เช่นเดียวกัน หรือที่รู้จักกันในชื่อยุค “หลงซาน” ทางตอนเหนือของมณฑลฉ่านซี ในจำนวนนี้ สิบแห่งอยู่ในลุ่มแม่นํ้าทูเหว่ยที่สือเหม่าตั้งอยู่ “หมู่บ้านหรือเมืองบริวารเหล่านี้เหมือนดวงจันทร์ที่โคจรรอบสือเหม่า”ซุนเปรียบเปรยและเสริมว่า “พวกเขาวางรากฐานทางสังคมที่แข็งแรงสำหรับการก่อร่างสร้างรัฐในยุคแรกที่สือเหม่าครับ”

ป้อมปราการของสือเหม่านั้นน่าทึ่ง ไม่ใช่เพียงเพราะขนาดอันใหญ่โต แต่ยังมาจากความเฉลียวฉลาดที่อยู่เบื้องหลังด้วย ระบบป้องกันมีทั้งประตูป้อมที่ขนาบด้วยหอคอย ประตูกั้นต่าง ๆ ที่อนุญาตให้เข้าได้ทางเดียว และป้อมบนกำแพงที่ใช้ยิงป้องกันตัวได้จากหลายทิศทาง และยังใช้โครงสร้างที่เรียกว่า “หม่าเมี่ยน” (หน้าม้า) ที่มีมุมล่อหลอกให้ผู้บุกรุกเข้ามาอยู่ในวงล้อมที่ฝ่ายป้องกันเมืองสามารถโจมตีได้จากสามด้าน เป็นการออกแบบที่จะกลายเป็นสูตรสำหรับสถาปัตยกรรมการป้องกันของจีน

ภายในกำแพงหิน ทีมของซุนพบสิ่งประดิษฐ์ที่คาดไม่ถึงอีกอย่าง นั่นคือคานรับนํ้าหนักใช้สำหรับเสริมแรง ซึ่งจากการหาอายุด้วยวิธีคาร์บอนกัมมันตรังสี คานไม้สนที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์นี้มีอายุราว 2300 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นตัวแทนรูปแบบการก่อสร้างที่นักวิชาการเคยคิดกันว่า เริ่มใช้ในราชวงศ์ฮั่น หรืออีกกว่า 2,000 ปีต่อมา

นักโบราณคดีค้นพบกะโหลกไร้ร่าง 80 หัวในหลุมต่าง ๆ ใต้กำแพงเมือง เหยื่อทั้งหมดเป็นหญิงวัยรุ่นที่อาจถูกฆ่าบูชายัญในพิธีสร้างเมือง

การค้นพบที่น่าสยดสยองที่สุดอยู่ใต้กำแพงเมืองด้านตะวันออก นั่นคือกลุ่มกะโหลกมนุษย์ 80 หัวกองสุมรวมกันอยู่ในหลุมหกหลุมโดยไม่มีโครงกระดูกติดอยู่ (สองหลุมอยู่ติดกับประตูด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นทางเข้าหลักของเมือง แต่ละหลุมพบกะโหลกจำนวนเท่ากันพอดีคือ 24 หัว) จำนวนกะโหลกและการจัดวางบ่งบอกถึงการตัดหัวในพิธีกรรมระหว่างการวางรากฐานของกำแพง เป็นตัวอย่างการบูชายัญเก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันในประวัติศาสตร์จีนนักนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่า เหยื่อเกือบทั้งหมดเป็นเด็กสาว ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเชลยที่มาจากฝ่ายคู่อริ

“ขนาดความรุนแรงของพิธีกรรมที่พบในสือเหม่าไม่เคยมีมาก่อนในจีนยุคแรกเลย” หลี่หมิน นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส (ยูซีแอลเอ) ผู้เคยไปเยือนและเขียนเกี่ยวกับสือเหม่าไว้มากมาย กล่าว กะโหลกที่สือเหม่าเป็นสิ่งบอกเหตุถึงการบูชายัญมนุษย์จำนวนมากที่หลี่เรียกว่า “ลักษณะสำคัญที่บอกถึงอารยธรรมซาง” ในอีกหลายศตวรรษต่อมา (ราว 1600 ถึง 1046 ปีก่อนคริสตกาล) ก่อนที่ราชวงศ์ในยุคต่อ ๆ มาจะยกเลิกธรรมเนียมปฏิบัตินี้

กะโหลกเหล่านี้เป็นเพียงตัวบ่งชี้หนึ่งที่ว่า ประตูตะวัน-ออกเป็นทางเข้าสู่โลกที่ต่างออกไป ผู้ใดก็ตามที่เดินข้ามธรณีประตูซึ่งอยู่เหนือหลุมฝังเครื่องยัญพลี ย่อมต้องกลัวเกรงสัญญาณที่มองเห็นได้ทันทีนี้

ก้อนหินหลายก้อนในกำแพงยกพื้นสูงได้รับการสลักเสลาด้วยลวดลายคล้ายอัญมณีดูเหมือนตาขนาดใหญ่หลายดวง ที่จ้องลงมายังประตูตะวันออก หยกสีดำและเขียวเข้มนับพัน ๆ ชิ้นซึ่งถูกฝังลงในกำแพงหินตามระยะห่างสมํ่าเสมอ เป็นเครื่องประดับแวววาวที่ใช้เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย ทั้งยังสำแดงอำนาจและความมั่งคั่งของชนชั้นนำของสือเหม่า การพบศิลปวัตถุทำจากหยกจำนวนมากมายชี้ว่า สือเหม่าที่ไม่มีแหล่งหยกเป็นของตนเอง ต้องนำเข้าหยกปริมาณมหาศาล

จากคู่ค้าแดนไกล แม้ปัจจุบันสือเหม่าจะดูเหมือนอยู่ห่างไกล แต่ในอดีต ก็หาได้ตัดขาดจากโลกภายนอก สือเหม่าแลกเปลี่ยนแนว ความคิด เทคโนโลยี และสินค้ากับวัฒนธรรมอื่น ๆ อย่าง กว้างขวาง จากทุ่งหญ้าสเตปป์แถบเทือกเขาอัลไตทางเหนือ จนถึงภูมิภาคชายฝั่งใกล้ทะเลเหลือง

นักโบราณคดีรายงานว่า ภาพสลักหินที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ “อาจหยิบยื่นอำนาจพิเศษทางศาสนาให้พีระมิดขั้นบันไดแห่งนี้” สือเหม่าเป็นชุมชนยุคหินขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันในจีน และได้รับการขุดค้นเพียงเศษเสี้ยวเดียวเท่านั้น

ศิลปวัตถุจำนวนมากที่พบในสือเหม่าย่อมต้องมาจาก แดนไกลเท่านั้น นอกจากหยกแล้ว นักโบราณคดียังพบ ซากหนังจระเข้ซึ่งต้องมาจากภูมิภาคที่อุดมไปด้วยหนองนํ้า ซึ่งอยู่ไกลออกไปทางใต้ กลองหนังจระเข้อาจถูกใช้ระหว่าง ประกอบพิธีกรรม เป็นหลักฐานหนึ่งที่บ่งบอกถึงบทบาท สำคัญของดนตรีสำหรับชีวิตในรั้วในวังของสือเหม่า แล้ว ยังมีการค้นพบอีกอย่างที่ทำให้ซุนและทีมงานสับสน นั่นคือ กระดูกที่มีลักษณะเหมือนกันทุกประการ 20 ชิ้น ทั้งบาง เรียบลื่น และถูกดัดให้โค้ง นักโบราณคดีคาดเดาว่า กระดูกเหล่านี้อาจเป็นหวีหรือปิ่นปักผม กระทั่งนักวิชาการ ด้านดนตรีคนหนึ่งอนุมานว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นตัวอย่างเก่าแก่ ที่สุดของเครื่องดนตรีที่มีลิ้นในยุคบรรพกาล อย่างที่เรียก กันว่า จ้องหน่อง (jew’s harp)

“สือเหม่าเป็นต้นกำเนิดของเครื่องเป่าที่ใช้ลิ้น” ซุนกล่าว และตั้งข้อสังเกตว่า เครื่องดนตรีดังกล่าวแพร่หลายไปสู่กลุ่มชาติพันธุ์กว่า 100 กลุ่มทั่วโลก “เป็นการค้นพบสำคัญ ที่ให้เบาะแสลํ้าค่าในการสำรวจกระแสธารของประชากร และวัฒนธรรมยุคแรก ๆ”

การขุดค้นที่สือเหม่ายังทำได้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น การค้นพบต่าง ๆ จึงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากรูปสลักหิน ต่าง ๆ ที่ค้นพบเมื่อปี 2019 นักโบราณคดีพบหลักฐานของ ประติมากรรมและรูปสลักครึ่งตัวของมนุษย์ที่เคยติดตั้งอยู่ ในกำแพงรอบประตูตะวันออก เราเพิ่งเริ่มเข้าใจว่ารูปสลัก เหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของสิ่งใด หลี่หมินจากยูซีแอลเอ กล่าว แต่ความหมายของมานุษยรูปนิยมหรือการแทน สิ่งอื่น เช่น เทพ สัตว์ ด้วยรูปร่างมนุษย์ คือ “ความ ช่างประดิษฐ์และความพยายามที่หาได้ยากมาก”

นักโบราณคดีพบเบาะแสบางอย่างที่อธิบายว่า เพราะ เหตุใดสือเหม่าจึงถูกทิ้งไปหลังดำรงอยู่มา 500 ปี ไม่ใช่ แผ่นดินไหว อุทกภัย หรือโรคระบาด สงครามอาจมีส่วน ทำให้คนต้องออกจากเมือง แต่นักวิทยาศาสตร์พบหลักฐาน มากขึ้นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีบทบาทหลัก ในสหัสวรรษที่สามก่อนคริสตกาล เมื่อสือเหม่าก่อร่าง สร้างเมือง ภูมิอากาศที่อบอุ่นและชุ่มชื้นดึงดูดประชากรที่ ขยายตัวมาสู่ที่ราบสูงดินลมหอบในแถบนี้ บันทึกประวัติศาสตร์หลายชิ้นบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ภูมิอากาศที่ แห้งแล้งและเย็นขึ้นกว่าเดิมอย่างรวดเร็วในช่วง 2000 ถึง 1700 ปีก่อนคริสตกาล ทะเลสาบแห้งเหือด ป่าหายไป ทะเลทรายรุกลํ้า และผู้คนในสือเหม่าอพยพไปยังส่วนต่าง ๆ ที่ไม่มีใครรู้จัก

เรื่อง บรุก ลาร์เมอร์


อ่านเพิ่มเติม ค้นพบ โรงกษาปณ์ ที่คาดว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกที่จีน มีอายุกว่า 2,600 ปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.