ค้นพบ โรงกษาปณ์ ที่คาดว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกที่จีน มีอายุกว่า 2,600 ปี

ค้นพบ โรงกษาปณ์ ที่คาดว่าเก่าแก่ที่สุดในโลกที่จีน มีอายุกว่า 2,600 ปี

หากได้รับการยืนยัน โรงกษาปณ์ อายุ 2,600 ปีนี้จะเป็นสิ่งที่เขียนประวัติศาสตร์ของเงินตราขึ้นมาใหม่

นักโบราณคดีขุดค้นซากปรักหักพังในกวนชวง (Guanzhuang) เมืองโบราณในทางตะวันออกของมณฑลเหอหนาน พวกเขาค้นพบสิ่งที่เชื่อว่าเป็นเหรียญกษาปณ์ที่มีขนาดเล็ก เป็นเหรียญสัมฤทธิ์ รูปร่างเหมือนพลั่วซึ่งมีการผลิตเป็นจำนวนมากเมื่อ 2600 ปีที่แล้ว ผลิตใน โรงกษาปณ์ ของเมืองโบราณแห่งนี้

งานวิจัยของเขาที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสาร Antiquity ได้ให้น้ำหนักกับความที่ว่าเหรียญชนิดแรกของโลกไม่ได้ผลิตขึ้นในตุรกีหรือกรีซดังที่เชื่อมาอย่างยาวนาน แต่เป็นที่จีน

เมืองที่ล้อมรอบไปด้วยกำแพงและคูเมืองอย่างกวนชวงนั้นก่อตั้งในช่วง 899 ปีก่อนคริสตกาล และโรงหล่อของเมือง สถานที่ที่โลหะสัมฤทธิ์นั้นถูกหลอมและตีเป็นภาชนะ อาวุธ และเครื่องมือต่างๆ เปิดทำการในช่วง 770 ปีก่อนคริสตกาล ตามคำกล่าวของ Hao Zhao นักโบราณคดีที่มหาวิทยาลัยเจิ้งโจว และผู้นำในงานศึกษาวิจัยนี้ แต่ยังไม่ใช่สถานที่ที่คนงานเริ่มผลิตเหรียญกษาปณ์ที่บริเวณนอกประตูเมืองชั้นในในปี 150 ปีถัดมา

จากการตรวจสอบอายุด้วยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี (Radiocarbon dating) ทีมงานศึกษาพบว่าโรงกษาปณ์นั้นเริ่มดำเนินงานในช่วง 640 และไม่เกินช่วง 550 ก่อนคริสตกาล ในขณะที่งานวิจัยอื่นๆ ได้ระบุอายุของเหรียญจากอาณาจักรลีเดีย ซึ่งปัจจุบันคือประเทศตุรกีอยู่ที่ต้น 630 ปีก่อนคริสตกาล Zhao ระบุว่าโรงกษาปณ์ที่เก่าแก่ผลิตเหรียญในอาณาจักรลีเดียนั้นมีอายุอยู่ในช่วง 575 – 550 ปีก่อนคริสตกาล

โรงกษาปณ์, เงินจอบ, เงินโบราณ
เหรียญรูปร่างจอบที่ถูกขุดค้นพบที่โรงกษาปณ์โบราณในมณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อาจเป็นสกุลเงินเหล็กของจีนที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา และอาจเป็นเงินตราแบบแรกของโลก

Zhao กล่าวว่า โรงกษาปณ์ กวนชวงนั้น “เป็นโรงกษาปณ์ที่มีการระบุอายุที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเท่าที่เราเคยรู้จัก”
ในช่วงระหว่างการขุดค้น นักวิจัยพบเหรียญจอบ (spade coins) สองเหรียญ ซึ่งมีลักษณะเหมือนเครื่องมือทำสวนที่หดเล็ก และแม่พิมพ์ดินเผาที่เอาไว้ขึ้นรูปเหรียญเหล่านั้น เหรียญอันหนึ่งอยู่ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์มาก มีความยาวราว 15 เซนติเมตร กว้าง 6.35 เซนติเมตร เหรียญโลหะสัมฤทธิ์มีน้ำหนักราว 27 กรัม หรือหนักไม่เกินกระดาษขนาดมาตรฐานที่ใช้กับคอมพิวเตอร์ 6 แผ่น

หลักฐานชัดเจน ที่ยังไม่อาจให้ข้อพิสูจน์

เหรียญมักถูกค้นพบในรูปแบบที่ “ติดเข้าด้วยกันและขาดข้อมูลเรื่องบริบทของการผลิตและการใช้งาน” บิล เมาเรอร์ ศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เออร์ไวน์ และผู้อำนวยการสถาบันเงินตรา เทคโนโลยี และบริการทางการเงิน กล่าวและเสริมว่า “แต่ในกรณีนี้ คุณพบเจอโรงกษาปณ์ทั้งโรง และได้พบเจอเครื่องหล่อที่เคยใช้อีกด้วย”

ความสมบูรณ์แบบในการค้นพบครั้งนี้โดดเด่นมาก เมาเรอร์ ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ กล่าว การค้นพบทั้งเหรียญและแม่พิมพ์นั้นทำให้นักวิจัยใช้วิธีการตรวจสอบอายุด้วยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีเพื่อระบุอายุของโรงกษาปณ์ และมีน้ำหนักที่ทำให้แน่ใจว่าเป็นโรงกษาปณ์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก

ปกติแล้ว เหรียญเป็นสิ่งที่ถูกค้นพบโดยแยกหรือเป็นกลุ่มก้อนจากสถานที่ที่มันถูกผลิตขึ้น มักถูกเก็บไว้ในขื่อคาของบ้านหรือถูกฟังเอาไว้ใต้ดิน เมาเรอร์กล่าวและเสริมว่า “ห่างจากแหล่งบริบทที่คุณสามารถกล่าวว่ามีความเชื่อมโยงกับตัวเหรียญเองโดยสิ้นเชิงเลยล่ะครับ”

เงินโบราณ, เหรียญจอบ, โรงกษาปณ์โบราณ
เพื่อที่จะหลอมเหรียญจอบ ช่างฝีมือจะทำแม่พิมพ์หล่อด้านนอกสองชิ้นและแกนจากดินเหนียว แกะช่องและรูเท ( sprue) หรือช่องสำหรับเทเหล็กที่หลอมแล้ว (แผนภาพ A) เมื่อแม่พิมพ์ประกบเข้าด้วยกัน แกนหมุด (core pins) จะถูกสอดเข้าไปเพื่อสร้างช่องว่างเล็กๆ (แผนภาพ B) สัมฤทธิ์ที่หลอมแล้วจะถูกเทผ่านรูเทจนสูงถึงระดับแกนหัว (core head) และตัวเหรียญ (แผนภาพ C) หลังจากสัมฤทธิ์เย็นตัวลง แม่พิมพ์หล่อด้านนอกจะถูกทุบให้แตกเพื่อนำเอาเหรียญจอบที่เสร็จสมบูรณ์แล้วออกมา

หากพบเหรียญที่มีหลักฐานว่าเสียหายจากเพลิงไหม้ นักวิจัยก็สามารถใช้วิธีการตรวจสอบอายุด้วยการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสีได้ แต่ผลที่ได้จะไม่แน่นอน “หากการเผาไหม้นั้นส่งผลในการระบุช่วงเวลาที่มีการใช้งานเหรียญเหล่านั้นครับ” เมาเรอร์กล่าว

แต่ในที่แห่งนี้ “คุณได้พบกับโรงหล่อที่เต็มไปด้วยกากคาร์บอนที่เชื่อมโยงการการผลิตเหรียญเหล่านี้” เมาเรอร์กล่าวและเสริมว่า สิ่งนี้เป็นตัวพิสูจน์ว่าเหรียญมีอายุที่แท้จริงเป็นอย่างไร

George Selgin ผู้อำนวยการศูนย์การเงินและแหล่งเงินทุนทางเลือกที่สถาบันคาโต สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในขณะที่การค้นพบนั้นน่าประทับใจ “แต่ไม่ได้เปลี่ยนความเข้าใจพื้นฐานของเราว่ามีการผลิตเหรียญเงินขึ้นมาเมื่อไหร่ และมันไม่จำเป็นต้องหมายความว่าประเทศจีนเป็นผู้ผลิตเหรียญแห่งแรก”

นั่นเป็นเพราะว่าในขณะที่งานวิจัยพิสูจน์ถึงความเก่าแก่ของโรงกษาปณ์และเหรียญได้ แต่ก็ไม่ได้รวมถึงว่าเศษซากที่ได้พบนั้นมีความเก่าแก่กว่าเหรียญของอาณาจักรลีเดีย “มันมักได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นจุดเริ่มต้นทางเลือกของการใช้เหรียญ” Selgin ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยนี้ กล่าว

โรงกษาปณ์, เมืองโบราณ, เมืองโบราณจีน, เหอหนาน
นักโบราณคดีได้ขุดค้นเมืองโบราณกวนชวงมาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งโรงกษาปณ์ที่ถูกค้นพบนั้นเริ่มดำเนินงานในช่วง 640 และไม่เกินช่วง 550 ก่อนคริสตดาล

การค้าหรือภาษี

Zhao และทีมศึกษาของเขาคาดการณ์ว่าที่ตั้งของโรงกษาปณ์นั้นใกล้กับสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางการปกครองของเมือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งชี้ว่า “กิจกรรมของโรงกษาปณ์นั้น อย่างน้อยน่าจะอยู่ในการรับรู้ของรัฐบาลท้องถิ่นนั้นด้วย” แต่พวกเขาก็ลังเลที่จะเพิ่มเติมข้อสรุปที่ยังไม่สามารถระบุได้ว่า “ส่วนการปกครองเมืองนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตเหรียญจอบ [ซึ่งยังเป็นข้อถกเถียง] ในการศึกษาต่อไปในอนาคต” เขากล่าว

ยังมีสองทฤษฎีที่ยังเป็นที่แพร่หลายเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของเงินตราว่า: มันถูกสร้างขึ้นเพื่อให้พ่อค้าวาณิชและลูกค้าใช้ในการเจรจาต่อรอง หรือเพื่อให้รัฐสามารถเก็บภาษีหรือหนี้ได้

เมาเรอร์กล่าวว่าในขณะที่การค้นพบไม่ได้พิสูจน์อะไร แต่ก็เป็นสิ่งที่ “แสดงให้เห็นถึง การทำให้เป็นกิจวัตรของการทำให้เป็นมาตรฐานและการผลิตจำนานมากของสิ่งของที่มีความเกี่ยวกับศูนย์กลางทางการเมือง และเพิ่มน้ำหนักให้สมมติฐานของนักมานุษยวิทยาและนักโบราณคดีว่าเงินตรานั้นมีขึ้นเริ่มแรกในฐานะเทคโนโลยีทางการเมือง ไม่ใช่จากเทคโนโลยีทางเศรษฐกิจครับ”

เรื่อง JILLIAN KRAMER
ภาพ HAO ZHAO


อ่านเพิ่มเติม กำแพงเมืองจีน ป้องกันศัตรูได้จริงหรือ

กำแพงเมืองจีน

Recommend