เมื่อปี 2016 แคปซูลเวลา หรือ ไทม์แคปซูล (time capsule) จากยุคของเยอรมนีภายใต้การปกครองของฮิตเลอร์ถูกค้นพบในโปแลนด์ยุคปัจจุบัน เป็นเวลา 82 ปีที่มันไม่ถูกเคลื่อนย้าย แต่โลกข้างบนกลับเปลี่ยนแปลงไปอย่างยิ่งยวดแล้ว
เมื่อปี 1934 แคปซูลทรงกระบอกที่ทำจากทองแดงนี้ถูกฝังในพิธีที่เป็นทางการลงในฐานของตึกหลังหนึ่งในศูนย์ฝึกที่พรรคนาซีกำลังสร้าง พวกเขาตั้งใจใช้ศูนย์ฝึกแห่งนี้เป็นสถานที่ปลูกฝังอุดมการณ์ให้ผู้นำรุ่นต่อๆ ไปของอาณาจักไรค์ที่สาม
หลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ชายแดนของบางประเทศในยุโรปเปลี่ยนแปลงไป เมือง Falkenburg ซึ่งเป็นสถานที่ฝังแคปซูลดังกล่าวกลายเป็นเมืองหนึ่งของภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโปแลนด์ และถูกเปลี่ยนชื่อเป็น Złocieniec ส่วนศูนย์ฝึกดังกล่าวซึ่งมีชื่อเดิมว่า Krossinsee อยู่รอดจากสงครามและถูกใช้งานโดยกองทัพของโปแลนด์ในปัจจุบัน
เนื่องจากแคปซูลเวลาถูกฝังอยู่ใต้ฐานของตึก ตัวแคปซูลจึงอยู่ลึกเกินกว่าจะเข้าถึงได้ แต่เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2016 เหล่านักโบราณคดีซึ่งขุดรูลึกราว 6 เมตรทะลุผ่านคอนกรีตหนา เดินลุยน้ำ และหลบกับดักระเบิดที่เหล่านาซีทิ้งไว้ ขุดมันขึ้นมาได้สำเร็จ และเปิดมันในสัปดาห์ถัดมา
ปิดผนึกอย่างอลังการ แต่เปิดมากลับผิดหวัง
แต่ผลลัพธ์กลับน่าผิดหวัง นักประวัติศาสตร์ในท้องถิ่นพบว่ากระบอกจากปี 1934 แท่งนี้อาจบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับเมืองที่รำลึกถึงอายุปีที่ 600 ในการเฉลิมฉลองในปีก่อนหน้า แต่ในนั้นกลับไม่มีฟิล์ม แต่มีวัตถุอื่นๆ เช่นเหรียญ หนังสือพิมพ์ ภาพของฮิตเลอร์และเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ และเอกสารเช่นใบอนุญาตสร้างศูนย์ฝึกดังกล่าว และหนังสือการต่อสู้ของข้าพเจ้าสองเล่ม
ความผิดหวังเป็นสิ่งที่ปกติอย่างยิ่งเมื่อแคปซูลเวลาถูกเปิด หนังสือพิมพ์ หนังสือ และเอกสารทางการสามารถให้ความรู้ถึงวันเวลาที่ผ่านไปแล้ว แต่เอกสารเหล่านี้มักอยู่ในห้องสมุดและหอจดหมายเหตุด้วยเช่นกัน ส่วนเหรียญและเหรียญประดับอาจมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์บางอย่าง แต่พวกมันไม่ได้เปิดเผยเรื่องราวมากมายนัก
แคปซูลเวลาสามารถเป็นวิธีอันทรงพลังที่คนรุ่นต่างๆ ใช้สื่อสารกันโดยตรงผ่านห้วงเวลาหลายปีได้ แต่คนที่สร้างพวกมันมักเข้าใจผู้ที่ต้องการสื่อสารด้วยอย่างผิดๆ พวกเขาหรือเธออาจต้องการรำลึกถึงโอกาสพิเศษ เช่นการสร้างศูนย์ฝึกของพรรคนาซีดังกล่าว ในขณะที่คนรุ่นต่อไปมีแนวโน้มที่จะหวนคำนึงว่าเศษเสี้ยวของชีวิตประจำวันและวัฒนธรรมทั่วไปในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไรมากกว่า
เมื่อบริษัทเวสติงเฮาส์วางแผนเกี่ยวแคปซูลเวลาอายุ 5000 ปีเพื่ออุทิศให้การแสดงสินค้านานาชาติโลก (World’s Fair) ประจำปี 1939 ในนิวยอร์ก ที่ปรึกษาผู้หนึ่งหัวเราะและกล่าวว่า “ในอีก 5000 ปี ใครจะมาสนใจเรื่องโฮเวิร์ด ฮิวจ์ส หรือฟุตบอล หรืองานแสดงแฟชั่น หรือเป็ดโดนัลด์ หรือหมวกผู้หญิง หรือผ้า หรือปากกาหมึกซึมกันเล่า” แต่เรื่องหรือวัตถุที่ดูธรรมดากลับเป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่าสมาชิกสมาคม คำประกาศของนายกเทศมนตรี หรือสิ่งคล้ายกัน และข้อความธรรมดาที่ไม่ได้ประดับประดาซึ่งส่งให้ผู้รับที่ยังไม่เกิดมักเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด
อยู่รอดเหนือกาลเวลา
ด้วยความที่อยู่รอดจนมีผู้มาเปิด และสิ่งของด้านในยังอยู่ครบถ้วน กระบอกแคปซูลในโปแลนด์ได้รอดจากกาลเวลา แคปซูลหลายชิ้นมักไม่เคยถูกค้นพบ ตัวอย่างหนึ่งคือเมืองโคโรนา ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่สร้างและปิดผนึกแคปซูล 17 ชิ้น แต่กลับถูกลืมว่าพวกมันอยู่ที่ไหน
แคปซูลจำนวนมากกลายเป็นเหยื่อของธรรมชาติ เมื่อปี 1930 กล่องทองแดงใบหนึ่งที่บรรจุสิ่งของสำหรับการรำลึกถึงตึกเอมไพร์สเตตถูกฝังอยู่ใต้เสาหลักของอาคารแห่งนี้เพื่ออุทิศถึงมัน ราว 50 ปีต่อมา กล่องถูกเปิดเพื่อฉลองวันครบรอบ แต่น้ำกลับซึมเข้าด้านในตามกาลเวลาและทำลายวัตถุด้านใน
สิ่งที่ทำให้แคปซูลเวลาในโปแลนด์มีความพิเศษคือความแตกต่างอย่างยิ่งยวดของผู้ที่ฝังมันและผู้ขุดมันขึ้นมา แคปซูลสามารถเป็นสิ่งเชื่อมโยงระหว่างผู้คนในรุ่นซึ่งมักอยู่ห่างไกลกัน ชนรุ่นก่อนและรุ่นหลังมักมองผู้อยู่คนละช่วงเวลาด้วยความสนใจและคนึงหาอย่างมากมาย แต่ในครั้งนี้ ชาวโปแลนด์ซึ่งเปิดกระบอกทองแดงดังกล่าวไม่คิดถึงเหล่านาซีผู้ฝังมันด้วยความรักสักเท่าใด เมื่อสิ่งของด้านในถูกถ่ายให้สาธารณชนชมเป็นครั้งแรก หนังสือการต่อสู้ของข้าพเจ้าต้องถูกวางคว่ำปก เนื่องจากสิ่งใดก็ตามที่อาจถูกมองว่าเป็นการเชิดชูนาซีคือสิ่งผิดกฏหมายในประเทศแห่งนี้
สิ่งของที่ถูกเก็บกู้จากแคปซูลถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ แต่พวกมันถูกแสดงพร้อมคำอธิบายที่เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบที่อุดมการณ์ของพรรคการเมืองนี้มีต่อความตายของผู้คนหลายสิบล้าน รวมถึงราวหกล้านคนในโปแลนด์ ซึ่งครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้เป็นชาวยิว
ตั้งชื่อว่าอย่างใรดี
ในปัจจุบัน กระบอกซึ่งถูกขุดใน Złocieniec อาจถูกเรียกว่าแคปซูลเวลา แต่นั่นไม่ใช่ชื่อที่ผู้สร้างตั้งให้ จี. เอดเวิร์ด เพนเดรย์ ผู้บริหารงานประชาสัมพันธ์ของเวสติงเฮาส์คิดชื่อนี้สำหรับกล่องบรรจุภัณฑ์ของบริษัทของเขาในการแสดงสินค้านานาชาติประจำปี 1939
ชื่อต่างๆ ในปีอื่นๆ มีทั้ง “ตู้เซฟ” “กล่อง” หรือแม้แต่ “โลงศพ” หนึ่งในแคปซูลที่มีสิ่งของมากที่สุด ซึ่งถูกผนึกไว้ที่มหาวิทยาลัยโอเกิลโทรพ ในเมืองแอตแลนตา และจะถูกเปิดในปี 8113 รู้จักกันในนามสุสานแห่งอารยธรรม (Crypt of Civilization)
“แคปซูลเวลา” มิใช่ชื่อดั้งเดิมที่เพนเดรย์คิด ด้วยรูปทรงเพรียวยาว รูปร่างคล้ายตอร์ปิโด เขาจึงคิดเรียกมันว่า “ระเบิดเวลา”
แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน