100 อัศจรรย์ทาง โบราณคดี

ความเข้าใจในประวัติศาสตร์มนุษย์รุดหน้าไปมากในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมา เมื่อการขุดสำรวจทาง โบราณคดี ในหกทวีปซึ่งได้แรงส่งจากความก้าวล้ำทางเทคโนโลยีช่วยคลี่คลายเรื่องราวว่าด้วยบรรพบุรุษของเรา

การขุดหาสมบัติมีมาเนิ่นนานพอๆกับหลุมศพแห่งแรกที่ถูกปล้น แรงกระตุ้นให้ขุดหาของล้ำค่าที่ถูกฝัง คือความหมกมุ่นในใจนักแสวงโชคนับไม่ถ้วน ทำให้บางคนร่ำรวยขึ้นมาและอีกหลายคนเจียนบ้า

“มีคนจำนวนหนึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตค้นหา คานูซ หรือสมบัติที่ซ่อนเร้น” แมรี เอไลซา โรเจอร์ส นักเดินทางชาวอังกฤษ เขียนไว้หลังไปเยือนปาเลสไตน์ในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า “บางคนกลายเป็นคนสติเฟื่อง ละทิ้งครอบครัว และถึงแม้พวกเขามักตกยากเสียจนต้องเคาะประตูขอทานไปทีละบ้าน และจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้าน แต่พวกเขายังเชื่อว่าตัวเองร่ำรวย”

ใช่ว่านักแสวงโชคที่โรเจอร์สพบจะเป็นวณิพกพเนจรผู้สิ้นหวังไปเสียทั้งหมด เธอยังได้พบพาน ซาฮิรี ซึ่งแปลคร่าวๆได้ว่าผู้วิเศษ “ที่เชื่อในพลังแห่งการมองเห็นสิ่งของที่ฝังอยู่ใต้ดิน” ผู้มีญาณทิพย์ที่ได้รับความนับหน้าถือตาเหล่านี้มักเป็นสตรี พวกเธอใช้การเข้าฌาน ซึ่งโรเจอร์สบอกว่าทำให้พวกเธอบรรยายสถานที่ฝังสมบัติล้ำค่าได้ อย่างละเอียด

หลังจากนักโบราณคดี เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ เปิดสุสานที่เต็มไปด้วยทรัพย์ศฤงคารของฟาโรห์ตุตันคามุนในอียิปต์ เมื่อปี 1922 ยุวกษัตริย์พระองค์นี้ก็โด่งดังไปทั่วโลก หน้ากากทองคำซึ่งเป็นดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์อียิปต์ในกรุงไคโร คือหนึ่งในศิลปวัตถุชื่อดังที่สุดที่เคยขุดพบ (ภาพถ่าย: เคนเน็ท แกร์เร็ตต์)

โบราณคดี เปลี่ยน “สิ่งของที่ฝังอยู่ใต้ดิน” เหล่านั้นจากสมบัติธรรมดาๆมาเป็นเครื่องมือทรงพลังที่เอื้อให้เรา ได้เห็นอดีตอันซ่อนเร้นแวบหนึ่ง

ในช่วงแรกๆ ศาสตร์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในสมัยโรเจอร์สนี้แทบไม่ต่างอะไรจากการลักลอบขุดสมบัติแบบเดิม เมื่อชาวอาณานิคมจากยุโรปแข่งกันหาเครื่องเพชรและประติมากรรมโบราณจากดินแดนแสนไกลมาประดับตู้โชว์ แต่ศาสตร์ใหม่นี้ยังทำให้เกิดยุคแห่งการค้นพบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ซึ่งพลิกความเข้าใจที่เรามีต่อความหลากหลายของเผ่าพันธุ์เรา รวมถึงความเป็นมนุษย์ร่วมกันของเราด้วย

หากนี่ฟังดูเหมือนการพูดเกินจริง ลองนึกภาพโลกที่ปราศจาก โบราณคดี ไม่มีเมืองหรูหราอย่างปอมเปอี ไม่มีเมืองของชาวมายาที่เฟื่องฟูกลางป่าชัฏ และกองทัพทหารดินเผาของจักรพรรดิจีนก็คงยังซ่อนอยู่ใต้ดินดำๆ กลางทุ่งนา

ถ้ำลาสโกทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศสเก็บรักษางานศิลปะของจิตรกรยุคหินเก่า ซึ่งรังสรรค์สรรพสัตว์ที่ตนรู้จักไว้อย่างอลังการเมื่อเกือบ 20,000 ปีก่อน (ภาพถ่าย: ซิสซี บริมเบิร์ก)

หากไร้ซึ่ง โบราณคดี เราจะรู้จักอารยธรรมยุคแรกๆของโลกเพียงน้อยนิด ไม่มีศิลาจารึกโรเซตตา เราจะยังมืดแปดด้านกับสัญลักษณ์ปริศนาบนผนังสุสานและวิหารอียิปต์ สังคมเมืองที่รู้หนังสือแห่งแรกของโลกซึ่งเจริญรุ่งเรือง อยู่ในเมโสโปเตเมีย จะเป็นที่รู้จักเพียงรางๆจากพระคริสตธรรมคัมภีร์เท่านั้น อีกทั้งเมืองใหญ่ที่สุดและมีประชากร มากที่สุดของวัฒนธรรมยุคแรกเริ่มซึ่งกระจุกตัวอยู่รอบๆลุ่มน้ำสินธุในอนุทวีปอินเดีย จะไม่มีวันเผยโฉมออกมาให้ เราเห็นได้เลย

การขุดค้นในหกทวีปตลอดสองร้อยปีทำให้อดีตซึ่งก่อนหน้านี้นอนจมดินเป็นส่วนใหญ่ ได้เห็นแสงเดือน แสงตะวันอีกครั้ง บรรพบุรุษอันห่างไกล ซึ่งจำนวนมากเราไม่รู้ว่าเคยมีตัวตนอยู่ สามารถเล่าขานเรื่องราวของตน ผ่านแหล่ง โบราณคดี และสิ่งของที่เก็บกู้ได้

อย่างน้อยก็ย้อนกลับไปถึงกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งบาบิโลน หรือกว่า 2,500 ปีก่อน ผู้ปกครองและคนมั่งมีสะสม ของเก่าเพื่ออาบแสงแห่งความงามและความรุ่งเรืองของอดีตที่สะท้อนออกมา จักรพรรดิโรมันรับสั่งให้ขนเสาโอเบลิสก์ อย่างน้อยแปดต้นจากอียิปต์ ข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียนมาประดับกรุงโรม ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา หนึ่งในอนุสรณ์ ของวัฒนธรรมนอกรีตเหล่านี้ต้นหนึ่งตั้งประดับอยู่กลางจัตุรัสเซนต์ปีเตอร์

ลึกลงไปประมาณ 3.8 กิโลเมตรใต้มหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ หัวเรือทะมึนของ ไททานิก ที่โผล่ออกมาจากความมืดประดับด้วย “สนิมย้อย” สีส้มที่เกิดจากแบคทีเรียกินเหล็ก (ภาพถ่าย: เอมอรี คริสตอฟ)

ในปี 1710 ชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งจ้างคนงานขุดอุโมงค์ไปยังเฮอร์คิวลานีอุม เมืองใกล้ๆปอมเปอี ซึ่งแทบไม่มีใครเข้าไปตั้งแต่ภูเขาไฟเวซูเวียสระเบิดเมื่อ ค.ศ. 79 รูปสลักหินอ่อนที่ขุดได้จุดประกายความบ้าคลั่ง การขุดแหล่งโบราณคดีไปทั่วยุโรป

พอถึงยุคของแมรี เอไลซา โรเจอร์ส นักล่าสมบัติชาวยุโรปก็กระจายไปทั่วโลก ในจำนวนนี้น้อยคนเป็นนักวิชาการผู้อุทิศตน ส่วนใหญ่เป็นนักการทูต ทหาร สายลับ หรือกระทั่งนักธุรกิจผู้มั่งคั่ง (และส่วนใหญ่เป็นชายโดย มีข้อยกเว้นน้อยมาก) ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับการขยายอาณานิคม พวกเขาใช้อิทธิพลและอำนาจในต่างแดน เพื่อการศึกษาและขโมย ด้านหนึ่งก็จดบันทึก อีกด้านก็ขนมัมมี่จากอียิปต์ รูปสลักจากอัสซีเรีย และบัวหัวเสาจากกรีก ส่งไปพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในประเทศของตนหรือคลังสะสมส่วนตัว

การได้เห็นมาชูปิกชู “ทำให้ผมลืมหายใจเลยทีเดียว” บิงแฮมเท้าความหลัง งานของเขาดึงความสนใจจากทั่วโลกมายังซากปรักแห่งนี้เมื่อปี 1913 พระตำหนักแปรพระราชฐานซึ่งสร้างด้วยหินที่ตัดอย่างแม่นยำและมีที่ราบขั้นบันไดลดหลั่นจัดวางอย่างสมบูรณ์แบบ คือหลักฐานแสดงทักษะการก่อสร้างชั้นครูของชาวอินคา (ภาพถ่าย: ไฮแรม บิงแฮม)

ตัดเวลาข้ามมาถึงทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นยุคแห่งความเจริญ เครื่องประดับวิจิตรที่พบในสุสานฟาโรห์ตุตันคามุนจากอียิปต์และสุสานหลวงเมืองเออร์ก็เป็นข่าวใหญ่ที่พลิกทิศทางของศิลปะ สถาปัตยกรรม และแฟชั่น อย่างไรก็ตาม ถึงตอนนั้น นักโบราณคดีผู้มีการศึกษาก็เริ่มเข้าใจแล้วว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดจากการขุดสำรวจใดๆไม่ใช่ทอง แต่เป็นข้อมูล ที่ซ่อนอยู่ในเครื่องปั้นดินเผาแตกหักและกระดูกที่ถูกทิ้งขว้างต่างหาก

แนวทางใหม่ๆในการบันทึกชั้นดินละเอียดทำให้เกิดวิธีใหม่ๆในการจำลองภาพชีวิตประจำวันขึ้นอีกครั้ง และนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950 การวัดปริมาณการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสีในอินทรียวัตถุก็ทำให้นักวิจัยระบุอายุ ของศิลปวัตถุที่เชื่อถือได้เป็นครั้งแรก

ภาพสลักหินเก่าแก่ผุพังของกษัตริย์มายาที่รู้จักกันในชื่อกระต่ายสิบแปดตัวให้ที่ทำรังแก่นกคิสกาดีใหญ่ รัชสมัยของราชาทรงอำนาจพระองค์นี้ในศตวรรษที่แปด คือช่วงเวลาที่มหานครโคปันรุ่งเรืองถึงขีดสุด (ภาพถ่าย: เคนเน็ท แกร์เร็ตต์)

ในศตวรรษปัจจุบัน งานโบราณคดีอยู่ในห้องปฏิบัติการ แทนที่จะอยู่ในภาคสนามมากขึ้นทุกที สิ่งที่เคยมีค่า น้อยนิด เช่น เมล็ดพันธุ์ไหม้เกรียม สิ่งที่มนุษย์ขับถ่าย ตะกอนก้นหม้อ คือขุมทรัพย์ใหม่ ด้วยการวิเคราะห์ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เศษซากเหล่านี้บอกให้เรารู้ว่า ผู้คนในอดีตกินอะไร แลกเปลี่ยนค้าขายกับใคร และกระทั่งเติบโต ขึ้นที่ใด

เทคนิคอันก้าวล้ำระบุได้กระทั่งอายุของศิลปะบนแผ่นหิน ทำให้เราเข้าใจวัฒนธรรมต่างๆ เช่น วัฒนธรรมของ ชนเผ่าอะบอริจินของออสเตรเลียยุคแรกๆ ผู้ทิ้งหลักฐานอันคงทนถาวรไว้น้อยนิด และท้องทะเลก็หาได้เป็นอุปสรรค ที่ไม่อาจฝ่าข้ามเช่นในอดีตอีกต่อไป เมื่อนักดำน้ำเข้าถึงซากเรืออับปางต่างๆ ตั้งแต่เรือสินค้ายุคสำริดไปจนถึงเรือ ที่เป็นตำนานแห่งภัยพิบัติกลางสมุทรอันโด่งดังที่สุดอย่าง ไททานิก

คนขี่อูฐชาวซูดานผ่านสุสานฝังพระศพเหล่ากษัตริย์นูเบียกับราชินีที่เจเบลบาร์คาล ซึ่งมีอายุ 2,000 ปี ฟาโรห์นูเบีย ปกครองอียิปต์โบราณอยู่ราว 75 ปี ทำให้บ้านเมืองเป็นปึกแผ่นและสร้างจักรวรรดิ (ภาพถ่าย: เอนรีโก เฟโรเรลลี)

พัฒนาการที่ถือเป็นเรื่องปฏิวัติวงการที่สุดอย่างเดียวในช่วงหลายสิบปีนี้คือ ความสามารถในการสกัด สารพันธุกรรมจากกระดูกโบราณ ดีเอ็นเอบรรพกาลทำให้เราพบเงื่อนงำว่า บรรพบุรุษของเรามีปฏิสัมพันธ์อย่างไร กับมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล และนำไปสู่การค้นพบเครือญาติที่สาบสูญไปนานอย่างมนุษย์เดนีโซแวน รวมทั้งมนุษย์ ตัวจิ๋วจากเกาะฟลอเรสของอินโดนีเซียด้วย

พลังที่แท้จริงของโบราณคดีหยั่งรากอยู่ในความสามารถในการไปได้ไกลเกินกว่าสติปัญญาและความเชื่อของ ยุคสมัย การค้นพบสิ่งที่ซ่อนเร้นมายาวนานเชื่อมเรากับบรรพบุรุษที่จากไปทั้งกายและใจ ชั่วขณะที่นักขุดสำรวจปัดฝุ่นจากเหรียญโบราณ หรือค่อยๆย้ายก้อนดินออกจากใบหน้าที่สลักเสลาอย่างประณีตของประติมากรรมแห่งศรัทธา ระยะห่างอันไพศาลของกาลเวลา วัฒนธรรม ภาษา และความเชื่อ อาจมลายหายไปได้

งานของนักโบราณคดีไม่ใช่การหาสมบัติที่ถูกฝัง หากเป็นการคืนชีวิตให้ผู้ที่ตายจากไปเนิ่นนาน ให้พวกเขากลับมาเป็นมนุษย์ปุถุชนที่ดิ้นรนและรัก สร้างสรรค์และทำลาย และท้ายที่สุดก็ทิ้งอะไรบางอย่างของตนไว้เบื้องหลัง ไม่ต่างจากเรา

เรื่อง แอนดรูว์ ลอว์เลอร์

สามารถติดตามสารคดี 100 อัศจรรย์ทางโบราณคดี ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2564

สามารถสั่งซื้อได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/534541


อ่านเพิ่มเติม 13 ภาพน่าทึ่งทางโบราณคดี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.