ภารกิจขุดค้นประวัติศาสตร์แห่ง เรือพนมสุรินทร์ เรือโบราณพันปียุคทวารวดี

เรือโบราณพนมสุรินทร์ เรือไม้อายุ 1,200 ปีซึ่งต่อขึ้นจากเทคโนโลยีลักษณะเดียวกับที่ใช้ในคาบสมุทรอาหรับ จมลงในบริเวณอ่าวไทย เต็มไปด้วยหม้อไหจากอาหรับ จีน และเมืองโบราณสมัยทวารวดี

กันยายน พ.ศ. 2556 ในบริเวณบ่อเลี้ยงกุ้งของนางพนมและนายสุรินทร์  ศรีงามดี  ห่างจากชายฝั่งทะเลของสมุทรสาครราวแปดกิโลเมตร ระหว่างการขุดปรับพื้นที่บ่อ มีการค้นพบเสากระโดงและไม้ทับกระดูกงูเรือโบราณ  หลังจากนั้นไม่นาน  การขุดค้นทางโบราณคดีในพื้นที่ เรือโบราณพนมสุรินทร์ ที่เป็นบกก็ไม่ใช่ เป็นนํ้าก็ไม่เชิง จึงเริ่มขึ้นและดำเนินเรื่อยมา  โดยอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างนักโบราณคดีที่ทำงานบนบกจากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี ซึ่งดูแลพื้นที่ 6 จังหวัดบริเวณอ่าวไทยกับนักโบราณคดีที่ขุดค้นในนํ้าจากกองโบราณคดีใต้นํ้า กรมศิลปากร

อาจเรียกได้ว่า “เรือโบราณพนม-สุรินทร์”  ซึ่งพบในบ่อเลี้ยงกุ้งแห่งนั้นเป็นแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ชุ่มนํ้าสภาพเป็นดินเลนเพียงแห่งเดียวใน ประเทศไทยที่มีการขุดค้นอยู่ในปัจจุบัน นับเป็นเรื่องใหม่และย่อมเป็นความท้าทายสำหรับวงการโบราณคดีของไทย ทั้งในแง่การขุดค้นและการอนุรักษ์ นักโบราณคดีต้องทำงานด้วยความระมัดระวังอย่างสูงเพราะอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อโบราณวัตถุได้ แต่อีกทางหนึ่งก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการ ถมทับของโคลนเลนช่วยถนอมรักษาสภาพเรือและสิ่งของจากยุคพันปีก่อนให้พ้นจากการผุพังทำลายจากอากาศ ฝน และแสงแดด

นักโบราณคดีกำลังจดบันทึกสิ่งของต่างๆที่เก็บกู้ขึ้นมาจากเรือ
บริเวณที่สันนิฐานว่าจะเป็นหัวเรือ

คำตอบเบื้องต้นเกี่ยวกับเรือไม้โบราณจมเลนลำนี้คุ้มค่ากับความอุตสาหะ จากการตรวจหาค่าอายุของเชือกสีนํ้าตาลและเมล็ดหมาก พบว่าเรือมีอายุ ราว 1,200 ปี และความที่ลำเรือยาว 30 เมตร จึงนับเป็นเรือจมขนาดใหญ่ที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใช้วิธีต่อเรือแบบต่อเปลือกเรือก่อน (shell-first) แทนที่จะต่อโครงก่อน (frame-first)  และ “เย็บ” ยึดชิ้นส่วนของเรือให้ติดกันด้วยเชือกโดยเจาะรูที่ไม้เปลือกเรือ  เรือผูกลักษณะนี้เป็นเทคโนโลยีที่พบในคาบสมุทรอาหรับถึงอินเดียใต้ ส่วนไม้ที่ใช้ต่อเรือเป็นไม้ตะเคียนและเต็ง ซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตเส้นศูนย์สูตร

พ้นไปจากตัวเรือแล้ว ยังพบโบราณวัตถุอีกจำนวนมากทั้งที่เป็นเครื่องเคลือบจากจีน  ไหตอร์ปิโดจากอาหรับที่คล้ายคลึงกับคนโทแอมฟอราซึ่งนิยมในแถบเมดิเตอร์เรเนียน  รวมทั้งภาชนะดินเผาแบบทวารวดี  ตลอดจนอินทรียวัตถุ  เช่น  เมล็ดพืช  เปลือกหอย  เชือก  หนังสัตว์  เขาและเขี้ยวสัตว์  เครื่องจักสาน  ยางไม้  ซึ่งเป็นได้ว่าเป็นทั้งเครื่องอุปโภคบริโภคของลูกเรือและเป็นสินค้าด้วย

ตามความเห็นของกรรณิการ์  เปรมใจ  นักโบราณคดีจากสำนักศิลปากร ที่ 1  ราชบุรี  การพบเรือลำนี้ในสภาพสมบูรณ์  เทคโนโลยีการต่อเรือแบบอาหรับ  และความหลากหลายของโบราณวัตถุที่พบ  นับเป็นองค์ประกอบสามประการที่ทำให้เรือโบราณพนม-สุรินทร์โดดเด่น  เช่นเดียวกับที่สิร  พลอยมุกดา  นักโบราณคดีใต้นํ้าผู้เชี่ยวชาญด้านเรือจม  บอก  “ในบริบทโลก ลำนี้เจ๋งเพราะค่อนข้างครบ”

เชือกที่อยู่ในสภาพที่ดี หลังจากเก็บขึ้นมาจากเรือพนมสุรินทร์
กองสิ่งของและชิ้นส่วนที่เก็บขึ้นมาจากเรือถูกระบุอย่างเป็นระเบียบว่าอะไรเป็นอะไร

สิรคะเนจากอายุของเรือและการตรวจละอองเรณูที่ได้จากตะกอนดิน ว่าบริเวณนี้เคยเป็นทะเล  อาจเป็นชายป่าโกงกางที่ “เรืออาจมาติดโขดแล้วต้องขนของออกจนเหลือของอยู่น้อย”  เมื่อเทียบปริมาณโบราณวัตถุที่มักพบจากเรือซึ่งจมกลางทะเลแล้ว  เขาจึงคาดว่านี่อาจเป็น “เรือเปล่าที่เหลือแต่ของแตกทิ้ง  อาจเป็นเรือที่จอดซ่อมจอดเสียจอดเกยตื้นแล้วทิ้งไว้”  นอกจากนี้จากตำแหน่งของเสากระโดงเรือที่ดูเหมือนจะถูกถอดออกจากตำแหน่งเดิมแล้วสอดเข้ามาข้างใต้ตัวเรือ  รวมทั้งไม้ที่ปักอยู่ตามขอบเรือ  สิรคาดว่า  ลูกเรืออาจ “พยายามจะกู้  แต่มันไม่รอด”  จากการเก็บหลักฐาน  เขายังพบว่าเรือโบราณลำนี้มีร่องรอยของการซ่อมแซมมาแล้วเพราะใช้ไม้จากต่างแหล่งและมีรอยเย็บซ่อมรอยแตก  เรือจากยุคโบราณที่มาจมอยู่ในอ่าวไทยลำนี้จึงน่าจะเป็นเรือที่ผ่านการใช้งาน  มีอายุกรำแดดกรำฝนมาแล้ว

ในระหว่างที่ทีมหนึ่งศึกษาเรือ  นักโบราณคดีอีกทีมหนึ่งก็เก็บข้อมูลและอนุรักษ์โบราณวัตถุ  พรนัชชา  สังข์ประสิทธิ์ เป็นนักโบราณคดีที่บันทึกข้อมูลของถ้วยชามรามไหที่ค้นพบซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับเรือ  เธอทำความสะอาดชิ้นส่วนไหโบราณด้วยนํ้าสะอาดแล้วบรรจุใส่ถุงตาข่ายสำหรับแช่ในอ่างใส่นํ้าจืดขนาดใหญ่  “โบราณวัตถุมาจากนํ้าเค็มมีเกลืออยู่ข้างใน  ถ้าเราทิ้งไว้ให้แห้ง อนุภาคของเกลือที่แทรกอยู่ในเนื้อภาชนะขยายตัวจนทำให้โบราณวัตถุแตกหัก” พรนัชชาเล่า  “จึงต้องใส่ไว้ในนํ้าจืดเพื่อให้เกลือคายตัวออกมาได้มากที่สุด วัสดุแต่ละประเภทมีการคายตัวของเกลือที่แตกต่างกัน  ใช้ระยะเวลาไม่เท่ากัน เช่น  เชือกสีดำที่เอาไว้พันไหตอร์ปิโด  แช่นํ้ามาเจ็ดปีก็ยังคายไม่หมด”

สิ่งของที่เก็บขึ้นมาจากเรือถูกแช่น้ำไว้เพื่อป้องกันการเสียหาย
เชือกในสภาพที่สมบูรณ์ การถูกแช่อยู่ใต้พื้นดินอย่างเป็นเวลานานเป็นการเก็บรักษาไม่ให้เสื่อมสลาย

ทีมนักโบราณคดีใต้นํ้าที่เป็นฝ่ายขุดค้นจึงต้องทำงานร่วมกับกลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ในการหาวิธีที่ดีที่สุดในการถนอมรักษาโบราณวัตถุเหล่านี้  พรนัชชาบอกว่า  ถึงวันนี้  โบราณวัตถุที่คายเกลือออกหมดแล้ว  และนำออกมาผึ่งแดดได้  มีเพียงร้อยละห้าของทั้งหมดเท่านั้น

ความที่เรือพนม-สุรินทร์มีอายุร่วมสมัยกับทวารวดี  ซึ่งเป็นยุคเดียวกับที่จีนสมัยราชวงศ์ถังค้าขายกับอาหรับสมัยราชวงศ์อับบาสิยะฮ์บนเส้นทางสายไหมทางทะเลระหว่างทะเลอาหรับ  ผ่านอินเดีย  สู่ทะเลจีนใต้  เป็นไปได้ว่าเรือโบราณลำนี้เข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  ทั้งนี้ยังไม่เคยพบการบันทึกที่ระบุถึงการแวะพักของเรือจากคาบสมุทรอาหรับในเมืองท่าแถบนี้ในเอกสารทางประวัติศาสตร์มาก่อน

บริเวณที่สันนิฐานว่าจะเป็นท้ายเรือกับแผ่นไม้ที่อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์
พื้นที่ทำงานกับเครื่องมือที่ต้องออกแบบให้ปฏิบัติงานเก็บกู้ในพื้นที่ได้

“ถ้ามองเรือ  ศึกษาเกี่ยวกับเรือ  เรือทุกลำมีท่าจอด”  สิรกล่าว  “ถ้าเรือออกจากท่าหนึ่งก็ต้องไปอีกท่าหนึ่ง  ต้องหา นํ้าจืด  หาคน  ข้าว  ยารักษาโรค  เราจะมองว่าเรือมาจากไหน  จะไปไหน  เรามอง การติดต่อระหว่างวัฒนธรรมเหมือนกับ โบราณคดีบก…  ถ้าหากมีเรือขนาดนี้มาจม ได้  น่าจะมีชุมชนใหญ่อยู่ในบริเวณนี้แล้ว” การหาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ต่างดินแดนและมนุษย์กับทะเลจากเรือจมและ โบราณวัตถุเป็นจุดประสงค์หลักประการ หนึ่งของโบราณคดี  นอกเหนือจากการหาค่าอายุและการประกอบสร้างโบราณวัตถุ ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ปลายกันยายน พ.ศ. 2564  การขุด เรือโบราณพนม-สุรินทร์  จังหวัดสมุทรสาคร  ตามปีงบประมาณ 2564  เสร็จสิ้นพร้อมกับการศึกษาที่ดำเนินไปเกินครึ่งลำแล้ว  ในวันท้ายๆ ของการขุดค้นในรอบนี้ สิรเก็บตัวอย่างโบราณวัตถุในบริเวณเรือ เพื่อส่งตรวจและตรวจตราการเก็บหลักฐานให้รัดกุม  ก่อนที่ตัวลำเรือถูกปิดคลุมและปล่อยนํ้าเข้ามาเพื่อรักษาสภาพของเรือเอาไว้  โบราณวัตถุต่างๆจะถูกลำเลียงไปจัดเก็บและเข้าสู่กระบวนการอนุรักษ์ตามขั้นตอน  แต่การปะติดปะต่อความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเดินทางของเรือลำนี้และความสัมพันธ์ของเรือต่อผู้คนในดินแดน ต่างๆ ยังคงดำเนินต่อไป

ภาพมุมสูงบ่อกุ้งรอบๆบริเวณที่พบเรือพนมสุรินทร์ บ่อปลาบ่อกุ้งเหล่านี้เรียงรายไปจนติดกับชายทะเล

เรื่อง นิรมล มูนจินดา

ภาพถ่าย เอกรัตน์ ปัญญะธารา

ตีพิมพ์ในนิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2564


อ่านเพิ่มเติม 100 อัศจรรย์ทาง โบราณคดี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.