แอนน์ แฟรงค์ คือใคร เหตุใดบันทึกในยุคนาซีของเธอจึงครองใจผู้อ่านทั่วโลก

เด็กหญิงผู้ใช้สมุดบันทึกของเธอถ่ายทอดเรื่องราวระหว่างการซ่อนตัวจากการสังหารหมู่ชาวยิวที่สร้างทั้งความสะเทือนใจและความประทับใจมาจนถึงปัจจุบัน

“แอนน์ แฟรงค์” (Anne Frank) เป็นเด็กหญิงผู้ใช้สมุดบันทึกเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตของเธอระหว่างการซ่อนตัวจากทหารนาซีนานกว่าสองปี ก่อนที่เธอจะถูกพบและจับตัวไปยังค่ายกักกันจนเสียชีวิตลงในที่สุด แต่เรื่องราวของเธอไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เมื่อความคิด ความหวัง และความฝันถึงอนาคตที่ดีกว่าซึ่งเธอได้ถ่ายทอดไว้ในสมุดบันทึกกลายเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจแก่ผู้คนทั่วโลก สมุดบันทึกของเธอถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือกว่า 70 ภาษาและมียอดขายมากกว่า 30 ล้านเล่มในปัจจุบัน ยังคงมีผู้พยายามต่อสู้เพื่อเก็บรักษาความทรงจำของเธอเรื่อยมา

เรื่องราวของเธอเป็นมาอย่างไรและเกิดอะไรขึ้นบ้างกับเธอ

ทำความรู้จักแอนน์ แฟรงค์

กองทัพนาซีขับรถบนถนนสายหลักกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม ช่วง ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ณ ช่วงเวลานั้น มีชาวยิวอาศัยอยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์กว่า 160,000 คน มีเพียงไม่กี่รายที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ PHOTOGRAPH VIA THREE LIONS/HULTON ARCHIVE/GETTY IMAGES

อันเนอลีส มารี แฟรงค์ (Anneliese Marie Frank) เกิดที่เมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนีในปี ค.ศ. 1929 (พ.ศ. 2472) เมื่อพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจในเยอรมนี ครอบครัวและตัวเธอได้ย้ายไปอยู่ประเทศเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) เช่นเดียวกับชาวยิวคนอื่นๆ อีกกว่า 25,000 ชีวิต

เวลาผ่านไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ทหารนาซีได้บุกยึดประเทศเนเธอร์แลนด์ และประกาศยอมแพ้ในอีก 5 วันถัดมา กองทัพนาซีได้กุมอำนาจรัฐบาลและบังคับใช้กฎหมายต่างๆ อย่างรวดเร็ว รวมถึงมาตรการควบคุมชาวยิวเหมือนที่ใช้ในเยอรมนี มาตรการเหล่านั้นระบุว่าไม่อนุญาตให้ชาวยิวใช้ระบบขนส่งสาธารณะและห้ามประกอบอาชีพบางอาชีพ รวมถึงการห้ามเรียนโรงเรียนเดียวกับคนที่ไม่ใช่ชาวยิว แม้กระทั่งของใช้หลายๆ อย่างเช่นรถจักรยานและวิทยุก็ถูกยึดไปให้คนที่ไม่ใช่ชาวยิว

การบุกรุกของทหารนาซีสร้างความกังวลให้คุณอ็อตโต แฟรงค์ (Otto Frank) พ่อของแอนน์เป็นอย่างมาก เมื่อนาซีเริ่มบังคับใช้กฎหมายห้ามชาวยิวประกอบธุรกิจส่วนตัว คุณอ็อตโตจึงขายบริษัท “โอเพคทา” (Opekta) ของเขาให้เพื่อนผู้ไม่ใช่ชาวยิวและพยายามพาครอบครัวของเขาหนีไปยังสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตามเขาไม่สามารถทำวีซ่าได้สำเร็จ เมื่อเริ่มมีการจับชาวยิวไปค่ายกักกัน คุณอ็อตโตจึงตัดสินใจพาครอบครัวของเขาไปซ่อนตัวจากการถูกจับกุม

แอนน์มักจะขึ้นไปบนห้องใต้หลังคาของ “ห้องลับ” อยู่เสมอเมื่อเธอต้องการเวลาส่วนตัว หน้าต่างบานนี้เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ให้เธอได้มองออกไปข้างนอก PHOTOGRAPH VIA ROBERT HARDING PICTURE LIBRARY/NATIONAL GEOGRAPHIC IMAGE COLLECTION

คุณอ็อตโตและเพื่อนของเขาจัดเตรียมพื้นที่ในบริษัทโอเพคทาไว้สำหรับการซ่อนตัว เช้าในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) แอนน์ พี่สาวและพ่อแม่ของเธอพร้อมชาวยิวคนอื่นๆ อีกสามชีวิตเข้าไปหลบซ่อนภายใน “ห้องลับ” ของบริษัทซึ่งเป็นอะพาร์ตเมนต์แคบๆ สองชั้นและมีห้องใต้หลังคาอีกหนึ่งชั้น ทั้งเจ็ดคนใช้ชีวิตในห้องลับอยู่อย่างเงียบๆ ในเวลากลางวันและฟังข่าวสารจากวิทยุในตอนกลางคืน โดยมีบุคคลภายนอกไม่กี่คนคอยแอบช่วยเหลือและนำเสบียงอาหารมาให้พวกเขา

 บันทึกของชีวิตในห้องลับ

แอนน์ได้รับสมุดบันทึกเป็นของขวัญครบรอบวันเกิดอายุ 12 ปีของเธอ ซึ่งสมุดเล่มน้อยที่เธอได้รับก่อนต้องไปซ่อนตัวกลายมาเป็นบันทึกที่ถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ มากมายให้ผู้คนรอบโลกได้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ในห้องลับ การใช้ชีวิตประจำวัน ความชอบและความไม่ชอบของแอนน์ รวมถึงความไม่พอใจต่อผู้ร่วมอาศัยคนอื่นเป็นบางครั้งบางคราว นอกจากนั้น แอนน์ยังบันทึกความคิด ความเชื่อและความรู้สึกของต่อเรื่องต่างๆ ของเธอไว้อีกมากมาย ดังที่เธอเขียนไว้ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1943 ว่าเธอรู้สึกเหมือนตัวเองเป็น “นกไร้ปีกกำลังเหวี่ยงตัวเองไปมาอยู่ในกรงที่มืดสนิท”

“In spite of everything I still believe that people are good at heart” (ไม่ว่ามันจะเป็นยังไง ฉันยังเชื่อว่ามนุษย์มีจิตใจที่ดี) เป็นประโยคของแอนน์ที่ถูกนำออกจากบริบทมากที่สุดประโยคหนึ่ง โดยเธอได้เขียนต่อไว้ว่า “เพียงแต่ว่าฉันไม่สามารถมีหวังได้ท่ามกลางความสับสน ความทุกข์ยากและความตายแบบนี้” ประโยคเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเธอมองโลกในทั้งสองแง่อยู่เสมอ ดังที่เธออธิบายว่าตัวเธอเองเป็น “เด็กน้อยผู้ย้อนแย้ง” (little bundle of contradictions)

คุณอ็อตโต แฟรงค์นำสมเด็จพระราชินีนาถยูเลียนาแห่งเนเธอร์แลนด์ที่เสด็จเยี่ยมชมที่หลบซ่อนตัวของพวกเขาในโอกาสรำลึกวันครบรอบวันเกิดปีที่ 50 ของแอนน์ แฟรงค์ในปี ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) รูปภาพโดย BETTMANN/GETTY IMAGES
แอนน์เรียกห้องที่เธอและครอบครัวใช้ซ่อนตัวว่า “ห้องลับ” (the secret annex) พวกเขาอาศัยอยู่ที่นี่นับเป็นเวลาถึงสองปีตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1942 (พ.ศ. 2485) ถึง เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) ปัจจุบันห้องลับเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ “บ้านแอนน์ แฟรงค์” (Anne Frank House) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อเผยแพร่เรื่องราวชีวิตของแอนน์ รูปภาพโดย ULLSTEIN BILD/GETTY IMAGES

จนเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 (พ.ศ. 2487) ทางการของเนเธอร์แลนด์รณรงค์ผ่านวิทยุให้ประชาชนเก็บสิ่งของในช่วงยุคสงครามไว้เป็นวัตถุทางประวัติศาสตร์ แรงบันดาลใจในการเขียนบันทึกชีวิตประจำวันของแอนน์พรั่งพรูขึ้นอีกครั้ง เธอเริ่มปรับปรุงบันทึกของเธอไว้สำหรับการเผยแพร่ในอนาคต “สิบปีหลังสงครามจบ ผู้คนคงอยากอ่านเรื่องราวของพวกเรา  ว่าเราชาวยิวอยู่กันยังไง กินอะไร พูดเรื่องอะไรกันบ้าง”

สำเนาจากบันทึกของแอนน์ แฟรงค์ในงานนิทรรศการเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) มีการแปลบันทึกของแอนน์กว่า 70 ภาษา ถือเป็นสารคดีที่มีผู้อ่านมากที่สุดชิ้นหนึ่ง PHOTOGRAPH BY ANDREAS ARNOLD, DPA/ALAMY

จุดจบก่อนเวลาอันควร

แต่แล้วความหวังของแอนน์ก็ต้องสลายลงเมื่อตำรวจและทหารเยอรมันเข้าบุกค้นห้องลับและจับกุมตัวเธอรวมถึงชาวยิวคนอื่นๆ ไปยังค่ายกักกันในเช้าวันที่ 4 เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1944 แอนน์ถูกส่งตัวค่ายเอาชวิทซ์ (Auschwitz) ที่ประเทศโปแลนด์ ก่อนจะถูกย้ายมายังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน (Bergen-Belsen) ที่เยอรมนี จนในที่สุด แอนน์ก็เสียชีวิตลงด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus) ด้วยวัยเพียง 15 ปี

คุณอ็อตโตเป็นผู้รอดชีวิตคนเดียวจากการจับกุมในครั้งนั้น เขาเดินทางกลับมาอัมสเตอร์ดัมในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1945 แล้วเขาก็ได้พบกับคุณเมียป กีส์ (Miep Gies) ซึ่งเป็นผู้ที่คอยช่วยเหลือครอบครัวของเขาระหว่างการซ่อนตัวตลอดมา คุณเมียปมอบสมุดบันทึกของแอนน์ให้แก่คุณอ็อตโตซึ่งเธอเก็บไว้หลังจากทุกคนถูกจับตัวไป คุณอ็อตโตทึ่งและประหลาดใจกับเนื้อหาในบันทึกเป็นอย่างมาก เพราะเขาไม่รู้มากก่อนเลยว่าลูกสาวของเขามีความคิดและความรู้สึกลึกซึ้งมากเพียงใด

อนุสรณ์สถาน ณ แบร์เกิน-เบลเซินเป็นที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตในค่ายกว่า 28,000 ชีวิต โดยแอนน์ แฟรงค์เป็นหนึ่งในนั้น PHOTOGRAPH BY MORITZ FRANKENBERG, GETTY IMAGES

บันทึกที่โลกไม่เคยลืม

คุณอ็อตโตแบ่งบันทึกให้เพื่อนและญาติๆ ของเขาอ่าน ต่อมาเขาตัดสินใจเผยแพร่งานของลูกสาวของเขา คุณอ็อตโตปรับปรุงและตัดเนื้อหาบางส่วน (เช่นเรื่องเพศ) ก่อนส่งให้สำนักพิมพ์ดัตช์ตีพิมพ์ ซึ่งหนังสือฉบับตีพิมพ์ครั้งแรกใช้ชื่อว่า “Het Achterhuis” ในปี ค.ศ. 1952 หนังสือถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า “Anne Frank: The Diary of a Young Girl” และมีการตีพิมพ์ภาษาไทยในปี ค.ศ. 1999 โดยใช้ชื่อหนังสือว่า “บันทึกลับของแอนน์ แฟรงค์” หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือขายดีไปรอบโลก รวมถึงมีการนำเรื่องราวไปใช้ในการแสดงเวทีโดยคุณ Albert Hackett และคุณ Frances Goodrich อีกด้วย

รูปของแอนน์ แฟรงค์บนแสตมป์โทโก แอนน์ยังคงเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้คนตระหนักถึงความเลวร้ายของฮอโลคอสต์อยู่เสมอ PHOTOGRAPH VIA PEREGRINE/ALAMY

อย่างไรก็ตาม ความเลวร้ายของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวเป็นสิ่งที่บันทึกของแอนน์ไม่อาจบันทึกไว้ได้ทั้งหมด แอนน์ไม่มีโอกาสได้บันทึกชะตากรรมอันโหดร้ายที่เธอและชาวยิวคนอื่นๆ ต้องเผขิญหลังการถูกจับ และความเป็นอยู่ของแอนน์นั้นถือว่า “ดี” กว่าชาวยิวหลายๆ ชีวิตที่ต้องซ่อนตัวเหมือนเธอ กระนั้น บันทึกของแอน์ก็ยังคงเป็นอุทาหรณ์ความเลวร้ายของสงครามให้ผู้คนได้มากมาย รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการอ่านในหลายโรงเรียน

ใครเป็นผู้ร้ายที่แจ้งที่อยู่ของแอนน์ให้กับตำรวจดัตช์ยังคงเป็นปริศนา ที่หลายคนยังคงตามสืบ เกือบครึ่งของชาวยิวกว่า 28,000 ชีวิตที่ซ่อนตัวในเนเธอร์แลนด์ถูกพบและจับโดยทหารนาซีระหว่างสงคราม ผลการวิจัยชิ้นหนึ่งสรุปว่า ทนายความชาวยิวชื่อ “Arnold van der Bergh” เป็นผู้ทรยศที่อยู่ของห้องลับให้กับตำรวจ แต่ข้อปักปรำจากการวิจัยนี้ก็ยังเป็นข้อกังขาของหลายๆ คน รวมถึงผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านแอน์ แฟรงค์ (Anne Frank House)

ปัจจุบันมูลนิธิ Anne Frank Fonds ซึ่งก่อตั้งโดยคุณอ็อตได้รับสิทธิในการครอบครองบันทึกของแอนน์ ในขณะที่พิพิธภัณฑ์บ้านแอน์ แฟรงค์ได้รับสิทธิครอบครองและรักษาห้องลับหลังการต่อสู้ในชั้นศาลที่จบลงใน ค.ศ. 2013 แม้บันทึกและเรื่องราวของแอนน์เองจะจบลงไปนานแล้ว แต่เธอยังคงเป็นตัวแทนสำคัญของเหยื่อฮอโลคอสต์เสมอมา และมีผู้คนพยายามต่อสู้เพื่อไม่ให้ความทรงจำของเธอเลือนหายไป

โดย ERIN BLAKEMORE

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม นาซีพบที่ซ่อน แอนน์ แฟรงค์ ในช่วงโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้อย่างไร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.