ยูเครน และรัสเซีย : ประวัติศาสตร์พันปีแห่งความผูกพันและความขัดแย้ง

ความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายศตวรรษทำให้ ยูเครน อยู่ในจุดที่ต้องเลือกระหว่างความเป็น ยุโรป และความเป็น รัสเซีย

 ความตึงเครียดของสถานการณ์ระหว่าง ยูเครน และรัสเซียในปัจจุบัน อาจเป็นโอกาสในการมองย้อนไปถึงประวัติศาสตร์ที่เป็นทั้งความผูกพันและความแตกแยกระหว่างสองประเทศ ซึ่งเป็นชนวนเหตุที่นำมาสู่เหตุการณ์ ณ ปัจจุบัน

ยูเครน และรัสเซียมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมานับพันปีตั้งแต่อาณาจักรเคียฟรุส (Kyivan Rus) ซึ่งเป็นรัฐแห่งแรกของชาวสลาฟและเรียกได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของทั้งประเทศยูเครนและรัสเซีย ซึ่งเคียฟ (Kiev) เมืองหลวงของยูเครนในปัจจุบันเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรเคียฟรุส

ในปี ค.ศ. 988 เจ้าชายวลาดิเมียร์ที่ 1 (Vladimir I) ผู้เป็นเจ้าเหนือชาวรุสทั้งปวงซึ่งรวมถึงแคว้นนอฟโกรอด (Novgorod) หนึ่งในเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของรัสเซียในปัจจุบัน ทรงเข้าพิธีรับศีลล้างบาปและเปลี่ยนชาวรุสให้เป็นคริสตชน ซึ่งประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินกล่าวถึงอาณาจักรเคียฟรุสว่า ”ทั้งชาวรัสเซียและยูเครนต่างเป็นหนึ่งเดียวกัน” นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ภาพจิตรกรรมเจ้าชายวลาดิเมียร์ที่ 1 (Vladimir I) ทรงบัญญัติศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำอาณาจักรเคียฟรุส (Kyivan Rus) ในปี ค.ศ. 988 (พ.ศ. 1531) ซึ่งอาณาจักรดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของทั้งประเทศรัสเซียและยูเครน ภาพจิตกรรมจาก MUSEUM OF THE HISTORY OF RELIGION โดย BRIDGEMAN IMAGES

ดินแดนใน ยูเครน เป็นที่แย่งชิงของหลากหลายมหาอำนาจในหลายศตวรรษต่อมา อาณาจักรเคียพรุสล่มสลายจากการบุกรุกของกองทัพมองโกลในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีการบุกรุกดินแดนจากทางตะวันตกโดยอาณาจักรโปแลนด์และลิทัวเนียในคริสต์ศตวรรษที่ 16

จนในคริสต์ศตวรรษที่ 17 มีการต่อสู้แย่งดินแดนระหว่างเครือจักรภพโปแลนด์–ลิทัวเนีย (Polish-Lithuanian Commonwealth) และอาณาจักรซาร์รัสเซีย (Tsardom of Russia) อันเป็นจุดสิ้นสุดในการแบ่งแยกดินยูเครนออกเป็นสองฝั่งซึ่งกินเวลานานกว่าร้อยปี โดยฝั่งทิศตะวันตกเป็นของเครือจักรภพและทิศตะวันออกเป็นของอาณาจักรซาร์รัสเซีย มีแม่น้ำนีเปอร์ (Dnieper) กั้นระหว่างสองฝั่ง

จนในที่สุด ในปี ค.ศ. 1793 (พ.ศ. 2336) ยูเครนฝั่งตะวันตกก็ถูกผนวกกับจักรวรรดิรัสเซีย นำไปสู่การใช้นโยบาย “การทำให้เป็นรัสเซีย” (Russification) ซึ่งห้ามการใช้และสอนภาษายูเครน และผู้คนถูกกดดันให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายรัสเซียนออโธดอกซ์

ในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นยุคที่ยูเครนต้องเผชิญกับความยากลำบากแสนสาหัสที่สุดยุคหนึ่ง รัสเซียมีการปฏิวัติเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1917 ซึ่งดินแดนยูเครนส่วนใหญ่ถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต (Soviet Union) หลังผ่านการต่อสู้ในสงครามกลางเมืองในปี ค.ศ. 1922

ต่อมา ภายใต้การปกครองของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำโซเวียตในช่วงปี ค.ศ. 1930 ประชากรจำนวนมากถูกบังคับให้ทำงานในฟาร์มรวมซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของชาวยูเครนหลายล้านคน จนมีนโยบายให้นำประชากรชาวรัสเซียและชนชาติอื่นๆ ในสหภาพโซเวียตมาเพิ่มพลเรือนในยูเครนทางตะวันออก ซึ่งประชากรเหล่านั้นไม่พูดภาษายูเครนและไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นใดๆ

นโยบายเกษตรกรรมรวมของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ในช่วงปี ค.ศ. 1930 นำไปสู่มหาทุพภิกขภัยที่ถูกเรียกว่า “โฮโลโดมอร์” (the Holodomor) ซึ่งมีความหมายว่า “ความตายจากความอดอยาก” ชาวยูเครนหลายล้านคนเสียชีวิตลง ทำให้ต้องมีการนำชาวรัสเซียมาเพิ่มพลเรือนในแถบชนบท รูปโดย AP
การปราศรัยในเชอร์นิฟซี (Chernivtsi) เมืองทางตะวันตกของยูเครนเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1939 หลังจากสหภาพโซเวียตสามารถผนวกยูเครนทางตะวันตกผ่านการร่วมมือกับเยอรมนีบุกรุกประเทศโปแลนด์ ภาพโดย ANATOLIY GARANIN, SPUTNIK/AP

มรดกทางประวัติศาสตร์เหล่านี้เป็นดั่งรอยร้าวแบ่งแยกชาวยูเครน ยูเครนทางตะวันออกกลายเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัสเซียอยู่เสมอ ในขณะที่ยูเครนตะวันตกมักอยู่ภายใต้การเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจของยุโรป ความแตกต่างนี้ทำให้ชาวยูเครนทางตะวันออกมีแนวโน้มสนับสนุนนักการเมืองจุดยืนเข้าข้างรัสเซีย

ในทางกลับกัน ยูเครนตะวันตกมักสนับสนุนนักการเมืองเข้าข้างชาติตะวันตก นอกจากนี้ชาวยูเครนตะวันออกมักพูดภาษารัสเซียและนับถือศาสนาศาสนาคริสต์นิกายออโธดอกซ์ ในขณะที่ชาวตะวันตกมักพูดภาษายูเครนและนับถือคริสต์คาทอลิก

ยูเครนเป็นประเทศเอกราชเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 แต่ความแตกต่างยังคงเป็นอุปสรรคของความเป็นหนึ่งเดียวของประเทศ คุณ Steven Pifer อดีตเอกอัครราชทูตในยูเครนของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “ความรู้สึกชาตินิยมไม่มีความลึกซึ้งต่อชาวยูเครนตะวันออกมากเท่าตะวันตก” ในช่วงแรกการเปลี่ยนแปลงจากระบบเดิมสู่ระบอบประชาธิปไตยและทุนนิยมก็เป็นไปอย่างยากลำบาก

ชาวเมืองเดินผ่านป้ายเชิดชูอำนาจโซเวียตในออแดซา เมืองท่าติดทะเลดำทางตอนใต้ของยูเครนเมื่อปี ค.ศ. 1991 ซึ่งเป็นปีที่ยูเครนเป็นประเทศเอกราชหลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย รูปถ่ายโดย BERTRAND DESPREZ, AGENCE VU/REDUX

“รอยแยกที่ลึกที่สุดของชาวยูเครนอยู่ระหว่างผู้ที่ยังผูกพันกับอำนาจของรัสเซียในอดีตและผู้ที่มองอำนาจเหล่านั้นเป็นความเลวร้าย” คุณ Adrian Karatnycky ผู้เชี่ยวชาญด้านยูเครนกล่าว รอยแยกนี้ถูกตอกย้ำโดยการปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ในปี ค.ศ. 2004 ซึ่งชาวยูเครนนับพันคนออกมาสนับสนุนการสานสันพันธ์กับยุโรป

นอกจากนี้ คุณ Serhii Plokhii ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยศาสตร์ยูเครน (Ukrainian Research Institute) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังตั้งข้อสังเกตว่า หากมองจากแผนที่ทางระบบนิเวศ ยูเครนทางทิศตะวันออกและตอนใต้จะเป็นพื้นที่ราบกว้าง ในขณะที่ยูเครนทางทิศตะวันตกและตอนเหนือมักเป็นป่า ซึ่งความแตกต่างนี้มีนัยคล้ายคลึงกับการแผนที่การลงคะแนนเลือกตั้งในปี ค.ศ. 2004 และ 2010

จัตุรัสแห่งเอกราชไมดานท่ามกลางความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในเคียฟปี พ.ศ. 2557 หลังจากที่รัฐบาลยูเครนล้มเลิกแนวทางสานสัมพันธ์กับสหภาพยุโรปภายใต้แรงกดดันจากมอสโก ภาพโดย JEFF J. MITCHELL, GETTY IMAGES
ม่านสีน้ำเงิน-เหลืองเป็นฉากหลังให้นักเต้นสาวในเมืองเคียฟ ชาวยูเครนหลายคนในรุ่นที่เกิดหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตใน ค.ศ. 1991 ยังคงปราถนาถึงวันที่ยูเครนจะหลุดพ้นจากเงามืดของรัสเซียและไปเป็นส่วนหนึ่งของชาติตะวันตก รูปถ่ายโดย AGNIESZKA RAYSS, REDUX

การก่อจลาจลของขบวนการแบ่งแยกดินแดนในดอนบัส (Donbas) ภูมิภาคทางตะวันออกของยูเครนในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) เป็นชนวนให้หลายเหตุการณ์ ตั้งแต่การบุกรุกและผนวกไครเมียโดยรัสเซีย สงครามดอนบัสซึ่งบานปลายจากการจลาจล รวมถึงมีการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสค์และลูฮันสค์ (People’s Republic of Donetsk/Luhansk) ในภูมิภาคดอนบัส เหล่าเหตุการณ์ดังกล่าวยังคงยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน และ ณ เวลานี้เอง ทหารรัสเซียได้กลับมาเยือนพรมแดนยูเครนอีกครั้ง ท่ามกลางการจับตามองของชาวโลก

เรื่อง EVE CONANT

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

บทความที่เกี่ยวข้อง


อ่านเพิ่มเติม 35 ปี หลังอุบัติเหตุนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุด ชีวิตในเชอร์โนบิลยังคงดำเนินต่อไป

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.