หลุมศพราชินีใต้เงาของมหา พีระมิดกีซา ที่ไร้การแตะต้องกว่า 4,000 ปี

ไม่นานหลังการค้นพบหลุมศพของฟาโรห์ตุตันคามุน ก็มีการค้นพบร่องรอยความมหัศจรรย์ของอารยธรรมอียิปต์โบราณอีกครั้งที่ พีระมิดกีซา ในรูปแบบของศิลปวัตถุและเครื่องเรือนทองคำมากมายในหลุมศพของพระราชินีเฮเทเฟเรสที่ 1

ความมหัศจรรย์ของอารยธรรมอียิปต์โบราณมีชื่อเสี่ยงโด่งดั่งขึ้นทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาเมื่อนักโบราณคดี เฮาเวิร์ด คาร์เทอร์ (Howard Carter) ค้นพบหลุมศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ในปี ค.ศ. 1922 กระแสดังกล่าวกลายเป็นแรงบันดาลใจอันล้นหลามสำหรับเหล่านักโบราณคดีในการค้นหาหลุมฟังศพที่ยังคงซ่อนอยู่ภายใต้ที่ราบสูงกีซา (Giza plateau) ที่เหล่านักสำรวจต่างพยายามเร่งการค้นหาของทีมตนเองพร้อมจับตาดูความคืบหน้าของทีมคู่แข่งอื่นๆ

ที่ราบสูงกีซา (Giza plateau) เป็นที่ตั้งของกลุ่ม พีระมิดกีซา ซึ่งมีพีระมิดคูฟูที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงสหัสวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล เป็นพีระมิดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด ในปี ค.ศ. 1902  กาสตัน มาสเพอโร (Gaston Maspero) นักอียิปต์วิทยาชาวฝรั่งเศส ผู้นำกลุ่มนักวิชาการนานาชาติกลุ่มหนึ่ง ต้องการปกป้องกลุ่มพีระมิดจากความเสื่อมสภาพและการถูกขโมยโบราณวัตถุ มาสเพอโรจึงแบ่งพื้นที่ของที่ราบสูงกีซาให้แก่ทีมนักโบราณคดีที่มีศักยภาพในการขุดค้นที่สุด หนึ่งในทีมที่ได้สิทธิในการขุดค้นคือทีมของ จอร์จ ไรส์เนอร์ (George Reisner) ไรส์เนอร์เป็นนักอียิปต์วิทยาซึ่งมีชื่อเสียงในวงการจากการสำรวจภูมิภาคของอาณาจักรนูเบีย ซึ่งปัจจุบันเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของอียิปต์และซูดาน

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1925 ขณะที่โมฮัมเมดานิ อิบราฮิม (Mohammedani Ibrahim) ช่างภาพของไรส์เนอร์กำลังถ่ายภาพอยู่ในบริเวณของพีระมิดคูฟู เขาสังเกตเห็นว่าขากล้องของเขาตั้งอยู่บนพื้นปูนขาวซึ่งอาจเป็นเพดานของสิ่งก่อสร้างที่ซ่อนอยู่ใต้ดิน ตามขั้นตอนแล้ว ไรส์เนอร์ควรได้รับทราบเรื่องนี้ก่อนมีการดำเนินการใดๆ อย่างไรก็ตาม ในตอนนั้น ไรส์เนอร์กำลังทำหน้าที่อื่นอยู่ที่เมืองบอสตัน ในฐานะศาสตราจารย์ด้านอียิปต์วิทยาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

แม้ไรส์เนอร์จะไม่อยู่ที่อียิปต์ แต่ทีมของเขาก็เริ่มการขุดสำรวจล่วงหน้าก่อน พวกเขาพบอุโมงค์เต็มไปด้วยอิฐลึก 25 เมตรซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพวกเขาได้ค้นพบหลุมศพลับเข้าแล้ว แต่ความหวังของการเป็นผู้ค้นพบรายแรกนั้นยังคงต่ำ ตามธรรมชาติของโบราณสถานที่มีอายุนับพันๆ ปี

ภาพวาดโดยนักโบราณคดีในปี ค.ศ. 1926 อธิบายวัตถุที่ค้นพบในหลุมศพของพระราชินีเฮเทเฟเรส รูปภาพโดย ALAMY/ACI

วันที่ 7 มีนาคม ในขณะทีตัวไรส์เนอร์เองยังคงสอนหนังสืออยู่อีกฟากหนึ่งของโลก ทีมของเขาสามารถขุดเปิดอุโมงค์ได้สำเร็จ ดันแคน กรีนลีส์ (Duncan Greenlees) จดในสมุดบันทึกของเขาว่า

“เวลา 15.30 น. มีหินบนพื้นผิวทางทิศใต้พลัดตกหายไป ทำให้เราพบกับประตูด้านบนของห้องลับ

อิฐหินก้อนหนึ่งมีสภาพหละหลวม เราจึงนำอิฐนั้นออกเพื่อมองเข้าไปข้างในและสิ่งที่เราพบเห็นคือโลงศพหินตั้งอยู่บนกองไม้เท้าและคทาซึ่งมีปลายเคลือบทองคำ วัตถุอื่นๆ บางชิ้นในห้องก็ถูกเคลือบทองด้วยเช่นกัน เรามั่นใจว่าห้องนี้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ ยังไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน”

การค้นพบนี้ถือเป็นความสำเร็จของเหล่านักขุดค้น แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้นก็มีคำสั่งจากคุณไรส์เนอร์ผ่านโทรเลขให้หยุดการขุดค้นในอียิปต์และให้หลุมศพถูกผนึกไว้ชั่วคราว

การสำรวจหลุมศพของพระราชินีเฮเทเฟเรสโดยคุณจอร์จ ไรส์เนอร์ในปี ค.ศ. 1926 ทำให้มีการค้นพบโบราณวัตถุมากมาย แต่วัตถุส่วนใหญ่เสื่อมสภาพจากน้ำที่ซึมเข้าในหลุม และต้องถูกบูรณะใหม่ภายหลัง Photograph by MUSTAPHA ABU EL-HAMD/MUSEUM OF FINE ARTS, BOSTON
คุณไรส์เนอร์อธิบายถึงการค้นพบวัตถุในห้องไว้ว่า “บนโลงหินและด้านหลังมีเสาทองของที่บังแดดอยู่นับยี่สิบเสา ด้านทิศตะวันตกของโลงหินมีแผ่นทองแกะสลักอยู่มากมายและในห้องเต็มไปด้วยเครื่องเรือนทองคำ” Photograph by ALAMY/ACI

เฮเทเฟเรสที่ 1

การตัดสินใจผนึกหลุมศพของคุณไรส์เนอร์มีเหตุผลอยู่หลายประการ โดยเขาเชื่อว่าตัวเขาเองสมควรเป็นผู้ดำเนินงานขุดค้นเต็มรูปแบบ แต่แม้ว่าการขุดค้นยังไม่เสร็จสิ้น ข่าวของการค้นพบนี้ก็เริ่มมีการลือสะพัดขึ้นแล้วเมื่อทีมของคุณไรส์เนอร์ได้อนุญาตให้สำนักข่าวลอนดอนได้ถ่ายรูปของการขุดสำหรับทำข่าว ข่าวการค้นพบทำให้เกิดกระแสคาดดำว่าหลุมศพนั้นเป็นของฟาโรห์สเนฟรู (Snefru) ในขณะที่คุณไรส์เนอร์เชื่อว่าหลุมศพนี้เป็นของสตรีราชนิกูล

การสำรวจหลุมศพดำเนินต่ออีกครั้งในเดือนมกราคมปี ค.ศ. 1926 เมื่อคุณไรส์เนอร์กลับจากสหรัฐอเมริกา การเปิดผนึกหลุมศพและการสำรวจนำไปสู่การค้นพบโบราณวัตถุและเครื่องเรือนทองคำมากมาย อย่างไรก็ตาม สิ่งของเหล่านั้นเสื่อมสภาพหนักจากการโดนน้ำที่ซึมเข้าไปในหลุม

แม้เหล่าโบราณวัตถุจะอยู่ในสภาพย่ำแย่แต่ความพยายามในการบูรณะก็ประสบความสำเร็จ การบูรณะนำไปสู่การค้นพบรอยสลักบนบัลลังก์ ซึ่งสื่อถึงผู้เป็นเจ้าของหลุมศพว่าพระองค์คือ “เฮเทเฟเรส” ผู้เป็นพระมารดาของฟาโรห์คูฟู (Khufu) แห่งราชวงศ์ที่ 4 และหลุมศพของพระนางก็ถูกซ่อนลับตาอยู่ใต้เงาของพีระมิดคูฟูมานานถึงสี่พันปี ปัจจุบันหลุมศพของพระนางมักถูกเรียกโดยรหัสทางการว่า “G7000X”

ตราเหยี่ยวทองคำที่ถูกค้นพบจากหลุมศพ G7000X นี้ปัจจุบันได้ถูกเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์ไคโร ภาพโดย SCALA, FLORENCE

ศพที่หายไป

โลงหินเศวตศิลาของเฮเทเฟเรสถูกเปิดขึ้นในเดือนมีนาคม ปี ค.ศ. 1927 แต่ภายในนั้นไม่มีร่างของมนุษย์อยู่ ประเด็นนี้ยังคงเป็นข้อถกเถียงของนักประวัติศาสตร์ คุณไรส์เนอร์สันนิษฐานว่าฟาโรห์คูฟูทรงก่อสร้างหลุมฝังไว้ให้พระมารดาของพระองค์ แต่ร่างของเฮเทเฟเรสไม่เคยถูกเคลื่อนย้ายและยังถูกฝังไว้ที่ดาห์ชูร์ใกล้ๆ กับฟาโรห์สเนฟรู นักวิชาการบางรายคาดว่าร่างของพระนางถูกฝังไว้ที่พีระมิด G1a ใกล้ๆ กับพีระมิดคูฟู

หลังการขุดค้น พระเก้าอี้ของพระนางเฮเทเฟเรสที่ได้รับการบูรณะและถูกจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ไคโร เมื่อคุณไรส์เนอร์เสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 1942 ทำให้ผู้คนสนใจในเศษโบราณวัตถุจากหลุมศพ G7000X อีกครั้ง ซึ่งนำไปสู่กระแสของการสร้างบัลลังก์แบบจำลองของพระนางขึ้นมา  การจำลองประสบความสำเร็จและปัจจุบันบัลลังก์ทองนั้นถูกแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์ “Harvard Museum of the Ancient Near East” ในเมืองแคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์

การจำลองพระบัลลังก์ของพระนางเฮเทเฟเรสที่ 1 ทำจากไม้แกะสลักและเคลือบทองคำ ประดับด้วยสัญลักษณ์เหยี่ยวบนไม้กกอียิปต์ รูปโดย ALAMY/ACI

ห้องของพระราชินี

เสา 25 ชิ้นสามารถถอดและประกอบขึ้นเป็นที่บังแดดได้ เสาหลักถูกสลักด้วยรูปเทพฮอรัสผู้มีพระเศียรเป็นเหยี่ยว หีบสมบัติในรูปถูกสันนัษฐานว่าเป็นกล่องใส่ผ้าบังแดด เก้าอี้ในรูปห่อหุ้มด้วยทองคำเปลว มีลวดลายดอกต้นกกอียิปต์เป็นที่รองแขนและขาเก้าอี้มีรูปทรงดั่งอุ้งเล็บสิงโต เช่นเดียวกับขาของเตียงหุ้มทอง หมอนพนักพิงศีรษะเงินปนทองโบราณถูกเก็บไว้ในหีบอีกหีบ ภาพโดย MUSEUM OF FINE ARTS, BOSTON/SCALA, FLORENCE

ย้อนกลับไปเมื่อครั้งแรกที่คุณไรส์เนอร์นำทีมเข้าสำรวจหลุมศพ G7000X ด้วยตนเองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1926 พวกเขาพบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุทองคำมากมาย เช่น เก้าอี้ ที่นอน และที่บังแดดซึ่งสามารถถอดประกอบได้ แม้วัตถุเหล่านั้นจะอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจากการโดนน้ำที่ซึมเข้าไปในหลุม แต่ความพยายามในการบูรณะทำให้โลกได้เห็นความอลังการและหรูหราราชวงศ์อียิปต์โบราณอีกครั้ง

เรื่อง IRENE CORDON

แปล นิธิพงศ์ คงปล้อง
โครงการสหกิจศึกษา กองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

อ่านเพิ่มเติม หลุมศพที่ไร้การแตะต้องอายุ 4,400 ปี ในอียิปต์

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.