ประวัติจักรยาน – การเกิดขึ้นของ จักรยาน เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เปลี่ยนโลกไปอย่างไร

ประวัติจักรยาน – การประดิษฐ์จักรยานเมื่อปลายศตวรรษที่สิบเก้า มีความหมายมากกว่าการเดินทางรูปแบบใหม่ แต่คือวิถีชีวิตใหม่ด้วย

ประวัติจักรยาน – ถ้าประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย  มันก็ต้องพ้องจองกันแน่  ด้วยความต้องการจักรยานที่พุ่งสูงขึ้น  และชาติต่างๆ กำลังเตรียมใช้เงินหลายพันล้านในการออกแบบเมืองใหญ่ของตัวเองอีกครั้งโดยมีเป้าหมายใหม่อยู่ที่การใช้จักรยานและการเดิน  นับเป็น โอกาสเหมาะในการรำลึกว่า  การปรากฏโฉมของจักรยานในช่วงปลายศตวรรษที่สิบเก้าเปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างไร

จักรยานเคยเป็นเทคโนโลยีที่สร้างความปั่นป่วนอย่างใหญ่หลวง เทียบง่ายๆ คือพอฟัดพอเหวี่ยงกับโทรศัพท์มือถือยุคปัจจุบัน  ในช่วงสองสามปีอันน่าตื่นเต้นของทศวรรษ 1890 จักรยานเป็น “ของมันต้องมี” อย่างยิ่ง  เพราะเป็นพาหนะขนส่งที่รวดเร็ว  ซื้อไหว  และเก๋ไก๋  ซึ่งใช้ปั่นพาเราไปทุกหนแห่งที่ อยากไปตอนไหนก็ได้ และฟรีด้วย

พวกผู้หญิงแข่งกันในการแข่งขันจักรยานที่เมืองเบรสต์  ประเทศฝรั่งเศส  เมื่อปี 1897  อิสรเสรีที่การขี่จักรยานมอบให้ช่วยขับเคลื่อนขบวนการสิทธิสตรีให้ก้าวหน้า

เราหัดขี่จักรยานกันได้เกือบทุกคน  แล้วก็หัดกันเกือบทุกคน  สุลต่านแห่งแซนซิบาร์ปั่นจักรยานเป็นงานอดิเรก  ซาร์ของรัสเซียก็เหมือนกัน  เจ้าผู้ครองกรุงคาบูลยังซื้อจักรยานแจกสนมทั้งฮาเร็ม  แต่ผู้ที่ใช้จักรยานกันจริงๆ ในวิถีชีวิตก็คือชนชั้นกลางและกรรมาชีพทั่วโลก  เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มหาชนเคลื่อนที่ได้  ไปไหนมาไหนตามอำเภอใจได้เอง ไม่จำเป็นต้องมีม้าและรถม้าแพงๆ อีกต่อไป  มีการเรียกขานจักรยานว่าเป็น “ม้าชราของปวงชน”  ไม่เพียงแต่นํ้าหนักเบา ซื้อหาได้  และบำรุงรักษาง่าย  แต่ยังเป็นของที่วิ่งเร็วที่สุดบนท้องถนนอีกด้วย

สังคมเปลี่ยนโฉมหน้าไปแล้ว  พวกผู้หญิงคึกคักกันเป็นพิเศษ  โยนกระโปรงยุควิกตอเรียสุดเทอะทะทิ้งไป  หันมาใส่กางเกงกับเสื้อผ้าที่ “เข้าท่า”  แล้วพากันลงถนน  “ฉันคิดว่าจักรยานช่วยปลดปล่อยผู้หญิงยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลก”  ซูซาน บี.  แอนโทนี  นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีชาวอเมริกัน  ให้สัมภาษณ์นิวยอร์กซันเดย์เวิลด์เมื่อปี 1896 “ฉันปลาบปลื้มใจทุกครั้งที่เห็นผู้หญิงขี่จักรยานผ่านไป…  เป็นภาพของความเป็นผู้หญิงที่ปราศจากข้อจำกัดและเป็นอิสระ”

การแข่งขันจักรยาน ตูร์เดอฟรองซ์ (Tour de France) จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1903 มีผู้เข้าแข่งขันกว่า 60 คน แต่มีเพียง 21 คนที่ร่วมการแข่งขันในระยะทางราว 2,400 กิโลเมตรซึ่งยากและท้าทายได้จนจบ Henri Desgrange ผู้จัดการแข่งขันกล่าวไว้ว่า ภาพในอุดมคติของ Tour de France คือความแข็งแกร่งซึ่งจะมีเพียงคนเดียวที่สามารถเป็นผู้พิชิต PHOTOGRAPH BY THE PICTURE ART COLLECTION, ALAMY

พอถึงปี 1898  การขี่จักรยานก็กลายเป็นกิจกรรมยอดฮิตในสหรัฐอเมริกาที่ นิวยอร์กเจอนัลออฟคอมเมิร์ซ อ้างว่า มันทำให้ภัตตาคารและโรงภาพยนตร์ขาดทุนปีละกว่า 100 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ  การผลิตจักรยานกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดและใช้นวัตกรรมมากที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งในอเมริกา หนึ่งในสามของการยื่นขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับจักรยานซึ่งมีเข้ามาล้นหลามเสียจนสำนักงานสิทธิบัตรของสหรัฐฯ ต้องสร้างอาคารเสริมเพื่อรองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น

บุคคลซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเป็นผู้ประดิษฐ์จักรยานสมัยใหม่  คือชายชาวอังกฤษชื่อ จอห์น  เคมป์  สตาร์- ลีย์  ลุงของเขาที่ชื่อ เจมส์  สตาร์ลีย์  เคยพัฒนาจักรยาน เพนนี-ฟาร์ทิงในทศวรรษ 1870 มาก่อน  สตาร์ลีย์ผู้หลานคาดว่า  ถ้าหากจักรยานไม่น่ากลัวหรืออันตรายเกินจะขี่  ก็น่าจะมีอุปสงค์มากกว่านี้  พอถึงปี 1885  นักประดิษฐ์วัย 30 ปีผู้นี้จึงเริ่มการทดลองจักรยานที่ขับเคลื่อนด้วยโซ่และมีล้อสองล้อที่เล็กกว่าเดิมมากภายในโรงช่างของตัวเองที่เมืองโคเวนทรี หลังจากทดสอบจักรยานต้นแบบไปหลายคัน  เขาก็ได้จักรยานนิรภัยโรเวอร์หนัก 20 กิโลกรัมที่มีหน้าตาเหมือนสิ่งที่เราคิดว่าเป็นจักรยานในสมัยนี้ไม่มากก็น้อย

ในช่วงทศวรรษ 1890 จักรยานกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงยุคใหม่ที่มีภาพลักษณ์อิสระ หัวก้าวหน้า และต้องการสิทธิเสียงทางการเมือง นี่คือภาพของผู้หญิงบน Godey นิตยสารรายเดือนซึ่งกล่าวไว้ว่า “การครอบครองจักรยานของบรรดาบุตรสาวยุคศตวรรษที่19 ทำให้พวกเธอรู้สึกว่าได้แสดงถึงความเป็นอิสรภาพ” PHOTOGRAPH BY UNIVERSAL HISTORY ARCHIVE, UNIVERSAL IMAGES GROUP/GETTY

ตอนที่นำออกแสดงครั้งแรกในงานไบซิเคิลโชว์เมื่อปี 1886 สิ่งประดิษฐ์ของสตาร์ลีย์ถือเป็นของแปลก  แต่สองปีต่อมา เมื่อมันจับคู่กับยางอัดลมที่เพิ่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่  ซึ่งไม่เพียงช่วยให้การขับขี่นุ่มนวลขึ้น  แต่ยังทำให้จักรยานนิรภัยคันใหม่นี้แล่นเร็วขึ้นร้อยละ 30 ด้วย  ผลที่ได้จึงเป็นดังมนตร์วิเศษ

ผู้ผลิตจักรยานทั่วโลกต่างแย่งชิงกันนำเสนอจักรยานรุ่นใหม่ๆ ของตัวเอง และบริษัทอีกหลายร้อยก็เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการนี้ ในงานสแตนลีย์ไบซิเคิลโชว์ที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 1895 ผู้ผลิตจักรยาน 200 บริษัทแสดงผลงานกว่า 3,000 รุ่น

บัฟฟาโรโซลด์เจอร์สแห่งกรมทหารราบที่25 ของกองทัพสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหน่วยทหารผิวดำ   ออกปั่นจักรยานทางไกลเพื่อทดสอบความทนทานของจักรยานในฐานะพาหนะของกองทัพ

ผู้ผลิตจักรยานรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งคือโคลัมเบียไบซิเคิลส์ซึ่งมีโรงงานอยู่ที่เมืองฮาร์ตฟอร์ด  รัฐคอนเนตทิคัต  สามารถผลิตจักรยานทั้งคันได้ภายในหนึ่งนาที  ด้วยสายพานการผลิตแบบอัตโนมัติซึ่งเป็นเทคโนโลยีบุกเบิกที่วันหนึ่งจะกลายเป็น เครื่องหมายแห่งมาตรฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์  และในฐานะที่เป็นนายจ้างสุดลํ้าในอุตสาหกรรมที่กำลังเฟื่องฟู โคลัมเบียยังจัดที่จอดจักรยาน  ล็อกเกอร์ส่วนตัว  อาหารราคาพนักงานที่โรงอาหารของบริษัท  รวมทั้งห้องสมุดให้แก่พนักงานของตนด้วย

อุปสงค์ของจักรยานที่พุ่งไม่หยุด  ยังให้กำเนิดอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องอื่นๆ อีก  เช่น  ตลับลูกปืน  ลวดซี่ล้อ  เฟรม จักรยาน  และการผลิตชุดเครื่องมือที่มีความแม่นยำ   ซึ่งจะช่วยก่อร่างอุตสาหกรรมการผลิตต่อไปอีกนาน  แม้กระทั่งหลังจากจักรยานกลายเป็นส่วนหนึ่งของแผนกของเล่น  ศิลปินทั้งหลายได้รับการว่าจ้างให้ทำโปสเตอร์สวยๆ ให้กับตลาดที่เงินสะพัดด้วยกระบวนการพิมพ์แบบลิโทกราฟีหรือภาพพิมพ์หินที่เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่  ทำให้สิ่งพิมพ์มีสีสันสดใส  กลยุทธ์ต่างๆ ทางการตลาด  เช่น  การจงใจทำให้ล้าสมัยและดันจักรยานรุ่นใหม่ๆ ออกมาทุกปี  เริ่มเกิดขึ้นในธุรกิจค้าจักรยานในทศวรรษ 1890

Marshall Walter “Major” Taylor เริ่มต้นอาชีพนักปั่นจักรยานระดับซุปเปอร์สตาร์ในช่วงวัยรุ่นปี 1896 เขาทำสถิติโลก 7 ครั้งในช่วงอาชีพ โดยสถิติสุดท้ายมีอายุถึง 28 ปี PHOTOGRAPH BY GL ARCHIVE, ALAMY

ด้วยจักรยานคันเดียว  อะไรๆ ดูก็เป็นไปได้  และคนธรรมดาสามัญจึงออกเดินทางสุดพิสดาร  เช่น  ในฤดูร้อนปี 1890  นายร้อยหนุ่มจากกองทัพรัสเซียปั่นจักรยานจากเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กไปกรุงลอนดอน  เป็นระยะทางวันละ 115 กิโลเมตร  เดือนกันยายน ปี 1894  แอนนี  ลอนดอนเดอร์รี วัย 24 ปี  ออกเดินทางจากชิคาโกพร้อมเสื้อผ้าสำรองกับปืนสั้นด้ามฝังมุก  เพื่อจะกลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ปั่นจักรยานรอบโลก  และไม่ถึงปีหลังจากนั้น  เธอก็กลับถึงชิคาโกและรับรางวัลเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ในออสเตรเลีย  บรรดาช่างตัดขนแกะพเนจรขี่จักรยานหลายร้อยกิโลเมตรไปทั่วถิ่นทุรกันดารอันแห้งแล้งเพื่อหางานทำ พวกเขาออกเดินทางไกลราวกับเป็นการปั่นจักรยานในสวนสาธารณะ

คนงานหญิงทำล้อจักรยานที่โรงงาน Hercules Cycle เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษในช่วงทศวรรษที่ 1940 โรงงานนี้เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตจักรยานที่ใหญ่ที่สุดในโลกช่วงทศวรรษที่ 1930 PHOTOGRAPH BY HULTON-DEUTSCH COLLECTION, CORBIS/CORBIS

อีกซีกโลกหนึ่งในแถบตะวันตกของอเมริกา  ช่วงฤดูร้อน ปี 1897  กรมทหารราบที่ 25 ของกองทัพสหรัฐฯ  ซึ่งเป็นหน่วย ทหารอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่รู้จักกันในชื่อ บัฟฟาโลโซลด์- เจอร์ส  เดินทางไกลเป็นระยะทาง 3,060 กิโลเมตรด้วย จุดประสงค์พิเศษจากฟอร์ดมิสซูลา  รัฐมอนแทนา  ไปยังเมืองเซนต์ลูอิส  รัฐมิสซูรี  เพื่อแสดงถึงคุณูปการของจักรยานที่มีต่อกองทัพ  เหล่าบัฟฟาโลโซลด์เจอร์แต่งกายเต็มยศและ แบกปืนคาบศิลา  ปั่นจักรยานไปตามเส้นทางขรุขระเฉอะโคลน เฉลี่ยวันละเกือบ 80 กิโลเมตร  นับว่าเร็วเป็นสองเท่าของหน่วยทหารม้า  และใช้งบประมาณน้อยกว่าหนึ่งในสาม

การเกิดขึ้นของจักรยานส่งผลกระทบกับทุกมิติของชีวิตอย่างแท้จริง  ไม่ว่าจะทางศิลปะ  ดนตรี  วรรณกรรม  แฟชั่น หรือแม้แต่แหล่งพันธุกรรมร่วมหรือยีนพูลของมนุษย์  บันทึกของสำนักงานเขตท้องถิ่นในอังกฤษแสดงถึงการแต่งงานระหว่าง หมู่บ้านในช่วงกระแสนิยมจักรยานกำลังมาแรงในทศวรรษ 1890  หนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่เพิ่งเป็นอิสระออกท่องชนบทตามอำเภอใจ  รู้จักกันตามท้องถนน  พบปะกันในหมู่บ้านห่างไกล

หนุ่มสาวปั่นจักรยานที่สวนเซ็นทรัลพาร์กของนิวยอร์กในปี 1942 หลังจากสร้างกระแสไปทั่วโลกในช่วงทศวรรษ 1890 จักรยานได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของพาหนะที่ครองถนน PHOTOGRAPH COURTESY THE LIBRARY OF CONGRESS

นักเขียนคนหนึ่งแสดงความเห็นไว้อย่างฮึกเหิมในนิตยสารสังคมวิทยาฉบับหนึ่งของอเมริกาในปี 1892 ว่า  “ผลกระทบ [ของจักรยาน] ในการพัฒนาเมืองใหญ่จะเทียบเท่ากับการปฏิวัติ”  ในบทความชื่อ “เศรษฐกิจและอิทธิพลทางสังคมของจักรยาน” นักเขียนผู้นั้นทำนายว่าเมืองใหญ่ทั้งหลายจะสะอาดขึ้น  เขียวขึ้น  สงบขึ้นสำหรับชาวเมืองที่มีความสุขมากขึ้น  สุขภาพดีขึ้น  และ มองเห็นคนอื่นมากขึ้น  เขาเขียนว่า  เป็นเพราะจักรยาน  คนหนุ่มสาว “ได้เห็นโลกมากขึ้นและกว้างขวางขึ้นเพราะการติดต่อ  ไม่เช่นนั้นแล้ว  พวกเขาคงแทบไม่ไปไหนไกลเกินกว่าระยะเดินจากบ้าน  แต่ด้วยจักรยาน  พวกเขาจะท่องไปในเมืองรอบๆ อีกหลายแห่ง  และค่อยๆ คุ้นเคยกับทั้งเขตแคว้น  และในช่วงวันหยุด  ก็จะสำรวจรัฐต่างๆ ได้บ่อยๆ  ประสบการณ์เช่นนั้นสร้างความเจริญเติบโตด้านพลังงาน  การพึ่งตนเอง  และความเป็นอิสระให้กับนิสัยใจคอ…”

อิทธิพลทางการเมืองของนักปั่นหลายล้านคน  และอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งของชาตินำไปสู่การปรับปรุงด้านต่างๆ อย่างรวดเร็วของถนนทั้งในเมืองและชนบท  เมื่อนักปั่นปูทางให้ยุคของรถยนต์ที่ตอนนั้นยังไม่มีใครนึกถึงอย่างแท้จริง  ย่านบรุกลินเปิดเส้นทางเฉพาะสำหรับจักรยานสายแรกของประเทศในปี 1895  และรองรับนักปั่นร่วม 10,000 คนในวันแรกที่เปิดใช้  สองปีต่อมา  นิวยอร์กซิตีออกกฎจราจรฉบับแรกของประเทศเพื่อรับมือกับ “พวกไฟแลบ”  หรือนักปั่นตีนผี

ความที่ราคาถูกและเลี้ยวเลาะไปตามเส้นทางขนาดเล็กของชุมชนต่างๆได้  จักรยานจึงเป็นพาหนะสำคัญสำหรับผู้คนที่อาศัยอยู่ริมคลองที่ไม่มีถนนใหญ่เข้าถึง เช่นชาวชุมชนริมคลองประเวศฝั่งเหนือ กรุงเทพมหานคร ผู้นี้ ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา

แต่ก็เป็นอย่างนั้นได้ไม่นาน  ก่อนสิ้นทศวรรษ 1890 นักประดิษฐ์ในธุรกิจจักรยานทั้งฝั่งยุโรปและอเมริกาก็พบว่า โซ่จักรยานและตลับลูกปืนสามารถรวมเข้ากับมอเตอร์เพื่อสร้างพาหนะที่เร็วกว่านี้ได้  แต่ไม่เงียบเท่าจักรยาน  หรือราคาถูกพอจะขับขี่  แต่มันขับสนุกและทำกำไรได้  ในเดย์ตัน  รัฐโอไฮโอ ช่างจักรยานสองคน  พี่น้องวิลเบอร์กับออร์วิลล์  ไรต์  กำลังสำรวจแนวคิดเรื่องเครื่องจักรบินได้ที่หนักกว่าอากาศโดยผูกปีกเข้ากับจักรยานเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ทางอากาศพลศาสตร์ และหาทุนสำหรับการวิจัยของตนด้วยกำไรจากร้านจักรยาน

กลับมาที่โคเวนทรี  เมืองทางตอนเหนือของอังกฤษ  เจมส์ เคมป์  สตาร์ลีย์  เจ้าของจักรยานนิรภัยโรเวอร์ที่เริ่มต้นสิ่งต่างๆ เอาไว้ในทศวรรษ 1880 เสียชีวิตอย่างกะทันหันในปี 1901 ด้วยวัย 46 ปี ในตอนนั้น บริษัทของเขาก้าวจากจักรยานอันเรียบง่าย ไปสู่การผลิตจักรยานยนต์และรถยนต์ในที่สุด นี่ดูเหมือนเป็นเส้นทางสู่อนาคต  ดังเช่นในอเมริกา  อดีตช่างจักรยานชื่อ เฮนรี ฟอร์ด ก็กำลังไปได้ดีกับเรื่องนี้เหมือนกัน

เรื่อง รอฟฟ์ สมิท

ติดตามสารคดี การปฏิวัติสองล้อ ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนมิถุนายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/547936


อ่านเพิ่มเติม การปั่นจักรยาน : 10 เมืองยอดนิยมที่นักปั่นน่องเหล็กไม่ควรพลาด

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.