เรื่องลับของนักบินสหรัฐฯ ชำระแค้นญี่ปุ่นให้ เพิร์ลฮาร์เบอร์ ในสงครามโลกครั้งที่ 2

เมื่อวันที่ 18 เมษายน 1942 จิมมี่ ดูลิทเทิล คือผู้นำฝูงบินของสหรัฐฯ ในหนึ่งในภารกิจที่ท้ามรณะที่สุดในสงครามโลกครั้งที่สอง

ในสัปดาห์แรกๆ ของปี 1942 สหรัฐฯ ทั้งโกรธแค้น อับอาย และเสียขวัญ เนื่องจากเรือรบประจำกองเรือแปซิฟิกของพวกเขาจมอยู่ใต้เพิร์ลฮาร์เบอร์หลังตกเป็นเหยื่อการโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัวโดยฝ่ายญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941

ในเดือนต่อๆ มา ทั้งประเทศนี้และเหล่าพันธมิตรทำได้เพียงแค่มองดูกองทัพญี่ปุ่นโหมถล่มรุกรานไปทั่วทั้งมหาสมุทรแปซิฟิก และบดขยี้ที่มั่นของสหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ที่ขวางทาง

หลังการโจมตีในเดือนธันวาคม ประธานาธิบดีแฟรงกลิน รูสเวลต์ ออกคำสั่งกดดันอย่างเดือดดาลต่อผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ให้พวกเขาหาทางโจมตีโต้ตอบแผ่นดินใหญ่ของญี่ปุ่น กระนั้น ไม่มีไครทราบว่าจะเอาชนะอุปสรรคทางการขนส่งได้อย่างไร

เครื่องบินรบซึ่งประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินนั้นเล็กเกินกว่าที่จะสร้างความเสียหายครั้งใหญ่ได้ และยังมีน้ำมันไม่เพียงพอสำหรับการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วง ส่วนเครื่องบินทิ้งระเบิดซึ่งสามารถโปรยห่าฝนแห่งการทำล้างได้ก็ถูกมองว่ามีขนาดใหญ่เกินกว่าที่จะบินขึ้นและลงจากเรือบรรทุกเครื่องบิน

และแล้ว ในวันหนาวเหน็บวันหนึ่งในเดือนมกราคม ใครคนหนึ่งผุดความคิดว่าเครื่องบินบี-25 “มิตเชลล์” เครื่องบินทิ้งระเบิดขนาดกลางสองเครื่องยนต์ซึ่งเพิ่งเข้าประจำการไม่นานนักอาจขึ้นบินจากดาดฟ้าลานบินของเรือบรรทุกเครื่องบินได้ และแม้เครื่องบินเหล่านี้ไม่สามารถกลับมาลงจอดบนเรือ น้ำมันที่เหลือหลังภารกิจทิ้งระเบิดแผ่นดินญี่ปุ่นเสร็จสิ้นจะช่วยประคองพวกมันไปลงจอดบนลานบินของฝ่ายพันธมิตรในจีน

นายพลเฮนรี “เฮพ” แอร์โนลด์ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศทัพบกสหรัฐฯ (Army Air Corps) เลือกพันโทเจมส์ “จิมมี” ดูลิทเทิล หนึ่งในนักบินผู้โด่งดังที่สุดในยุคนั้นและเป็นบุรุษที่แอร์โนล์ดทราบว่าเป็น“ผู้กล้าหาญอย่างที่สุด”

ในปี 1922 เจมส์ “จิมมี่” ดูลิทเทิล กลายเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่บินจากชายฝั่งด้านหนึ่งของสหรัฐฯ ไปสู้อีกด้านโดยการเติมน้ำมันเพียงครั้งเดียว PHOTOGRAPH COURTESY SMITHSONIAN INSTITUTION

นักบินกลุ่มเดียวซึ่งผ่านการฝึกฝนจนสามารถขับบี-25 ในการรบได้คือสมาชิกของกองทิ้งระเบิดที่ 17 ซึ่งประจำการที่ฟอร์ตเพนเดิลตัน มลรัฐโอเรกอน ดูลิทเทิลสั่งให้นายทหารและพลทหารกว่า 100 คนจากหน่วยดังกล่าวและบอกว่าเขาต้องการอาสาสมัครสำหรับ “ภารกิจที่อันตรายยิ่ง” ทหารทุกนายต่างพร้อมใจกันอาสา

เหล่านักบินเข้ารับการฝึกอันทรหดในพื้นที่ลับแห่งหนึ่งบนชายฝั่งของมลรัฐฟลอริดา พวกเขาซึ่งเคยชินกับทางวิ่งความยาวกว่า 1.6 กิโลเมตรเหล่านี้เรียนรู้ยุทธวิธีอันน่าหวาดผวาสำหรับการนำเครื่องบินขึ้นจากดาดฟ้าบินสั้นๆ ของเรือบรรทุกเครื่องบิน ในขณะเดียวกัน เครื่องบี-25 ราว 20 ลำสำหรับการปฏิบัติภารกิจ ได้รับการติดตั้งถังน้ำมันเพิ่มเติมพร้อมทั้งนำน้ำหนักที่ไม่จำเป็นออกทั้งหมด

มุ่งหน้าสู่โตเกียว

วันที่ 2 เมษายน ปี 1942 เรือบรรทุกเครื่องบินยู.เอส.เอส. ฮอร์เน็ต เคลื่อนตัวอย่างเงียบเชียบออกจากอ่าวซานฟรานซิสโกพร้อมเครื่องบิน 16 ลำบนดาดฟ้าบิน และมีเรือลาดตระเวนและเรือพิฆาตตามมาสมทบกำลังในทะเล จากนั้น ผู้บังคับการหน่วยเรือเฉพาะกิจได้ส่งข้อความถึงเรือทุกลำในหน่วยว่า “กองกำลังของเรากำลังมุ่งหน้าไปสู่โตเกียว” กะลาสีกว่าห้าพันนายจึงพร้อมใจกันส่งเสียงเฮลั่นไปถึงฟากฟ้าที่กำลังมืดลงเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก

ทีมลูกเรือเตรียมเครื่องบินทิ้งระเบิด B-25 ในการทำภารกิจซึ่งถือเป็นภารกิจลับชนิดที่ว่าประธานาธิบดี แฟรงกลิน รูสเวลต์ ไม่ได้รับแจ้งในตอนแรก PHOTOGRAPH BY UNDERWOOD ARCHIVES, GETTY IMAGES
เครื่องบินทิ้งระเบิดบี-25 ของสหรัฐฯ ซึ่งมีความเร็วแทบไม่เพียงพอสำหรับการขึ้นบิน ออกตัวจากดาดฟ้าทางวิ่งของเรือบรรทุกเครื่องบินยู.เอส.เอส ฮอร์เน็ต เมื่อวันที่ 18 เมษายน 1942 ภาพถ่ายโดย GETTY IMAGES

กองกำลังเฉพาะกิจนัดพบกับเรือบรรทุกเครื่องบินเอ็นเทอร์ไพรซ์ที่กลางทะเลก่อนจะล่องต่อไปทางตะวันตกสู่ญี่ปุ่น บนเรือฮอร์เน็ต เหล่านักบินซึ่งในเวลาต่อมาจะถูกขนานนามว่านักบินจู่โจมของดูลิทเทิล (Doolittle’s Raiders) ถูกบอกให้จดจำและหัดพูดประโยคภาษาจีนซึ่งมีความหมายว่า “lusha hoo metwa fugi – ผมเป็นคนอเมริกัน”

นอกจากนี้ พวกเขายังต้องเรียนรู้วิธีแยกแยะชาวจีนซึ่งอยู่ฝ่ายเดียวกันและชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นศัตรู เนื่องเพราะในขณะนั้น กองทัพญี่ปุ่นยังคงครอบครองพื้นที่หลายส่วนบนแผ่นดินจีน เหล่านักบินศึกษาแผนที่ เล่นพนัน ดูภาพยนตร์และใคร่ครวญถึงชะตากรรมของตน ดูลิทเทิลคาดคำนวนว่าโอกาสที่พวกเขาจะรอดชีวิตกลับมานั้นมีน้อยกว่าครึ่ง

พันโทดูลิทเทิล (คนที่สี่จากขวา) และนักบินผู้ร่วมปฏิบัติการอีกสี่นายถ่ายภาพร่วมกับพันธมิตรชาวจีนที่ช่วยให้พวกเขาสามารถรอดจากการเป็นเชลย ภาพถ่ายโดย UNDERWOOD ARCHIVES, GETTY IMAGES

หลังการเดินเรือเป็นเวลาสองสัปดาห์ เมื่อกองเรือขยับเข้าใกล้อาณาเขตของศัตรู สภาพอากาศกลับเลวร้ายลง ทะเลมีคลื่นสูงขนาดเทียบเท่าอาคารสามชั้น และเมื่อตีสามของวันที่ 18 เมษายน เรดาห์ของกองเรือตรวจพบเรือตรวจการณ์ของญี่ปุ่นก่อนเรือลาดตระเวนลำหนึ่งจะจมมันลง แต่ก่อนจม ลูกเรือก็ได้ส่งสัญญานเตือนภัยออกไปเสียแล้ว

ตามแผนที่วางไว้ ฝูงบินของดูลิทเทิลต้องขึ้นบินเมื่ออยู่ในระยะราว 483 กิโลเมตรจากแผ่นดินญี่ปุ่น แต่เมื่อถูกตรวจพบ กองเรือของสหรัฐฯ ยังอยู่ห่างออกไปนอกฝั่งกว่า 1127 กิโลเมตร กระนั้น เขาก็ได้รับไฟเขียวให้ดำเนินการได้หลังการหารือสั้นๆ กับเหล่าผู้บังคับการเรือ ในทันใด เสียงแตรบนเรือก็ดันขึ้นดังขึ้น และผู้บังคับการของฮอร์เน็ตจึงออกคำสั่งให้ “นักบินทัพบก ประจำการเครื่องบินของพวกคุณ”

เรือฮอร์เน็ตม้วนและสั่นอย่างบ้าคลั่งเมื่อพันโทดูลิทเทิลเป็นคนแรกที่พยายามนำเครื่องขึ้นสู่อากาศ เจ้าหน้าที่ควบคุมการบินประจำเรือจับจังหวะการขยับขึ้นลงของหัวเรือเพื่อให้เครื่องบินของเขาสามารถใช้ข้อได้เปรียบจากดาดฟ้าบินที่ชันขึ้น “มันเหมือนการเล่นม้านั่งเลยครับ” ดูลิทเทิลกล่าว

เมื่อได้รับสัญญาน ดูลิทเทิลเร่งเครื่องยนต์จนลูกเรือกลัวว่าเขาจะทำให้พวกมันเสียหาย และเริ่มแล่นเครื่องอย่างอุ้ยอ้ายไปบนลานบิน “พวกเราต่างสงสัยครับว่ากระแสลมจะส่งผลอย่างไรกับเขา” เท็ด ลอว์สัน นักบินประจำเครื่องบินนามรัพเจอร์ ดั๊ก (Ruptured Duck) ซึ่งเป็นเครื่องลำดับที่สี่ในขบวน “ทุกคนรู้ว่าถ้าเขานำเครื่องขึ้นไม่ได้ เราทุกก็ทำไม่ได้เช่นกัน”

ข่าวของการโจมตีอย่างกล้าหาญตูกตีพิมพ์ลงบนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ต่างๆ และช่วยฟื้นฟูขวัญกำลังใจของฝ่ายสหรัฐฯ ให้กลับมาหลังการโจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ผ่านไปเพียงไม่ถึงห้าเดือน ภาพถ่ายโดย BETTMAN-CORBIS, GETTY IMAGES

ในขณะเดียวกันกับที่เรือถูกคลื่นยกนั่นเอง เครื่องบินของเขาก็ขึ้นสู่อากาศอย่างเฉียดฉิวไปเพียงไม่กี่เมตร “เขาบังคับเครื่องบินให้ตั้งจนเกือบตรง” ลอว์สันกล่าว ทำให้ทุกคนเห็นส่วนด้านบนทั้งหมดของเครื่อง “แล้วเขาก็ไต่ระดับครับ”

เครื่องบินทั้ง 16 ลำขึ้นบินได้สำเร็จ แต่ก่อนหน้านั้น ลูกเรือคนหนึ่งของกองทัพเรือลื่นล้มบนดาดฟ้าบินที่เปียกโชกจนแขนข้างหนึ่งไปถูกเข้ากับใบพัดทีกำลังหมุนอย่างรวดเร็วของเครื่องบินลำสุดท้ายในขบวน

“เราอัดเรือบรรทุกเครื่องบินได้ลำหนึ่ง!”

ห้าชั่วโมงต่อมา ฝูงบินซึ่งบินในระดับต่ำเดินทางมาถึงชายฝั่งญี่ปุ่น ชาวประมงและชาวนามองขึ้นไปบนฟ้าและโบกมือให้ เนื่องจากคิดว่านี่คือเครื่องบินของฝ่ายตนเอง ในขณะนี้ สภาพอากาศกลับมาเป็นปกติแล้ว

เครื่องบินส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปสู่โตเกียว ซึ่งดูมหึมาและกว้างขวางเฉกเช่นกับลอสแอนเจลิส การบินต่ำระดับเดียวกับหลังคาบ้านเรือนทำให้เหล่านักจู่โจมเห็นภาพปืนต่อต้านอากาศยานนับร้อยที่ล้อมเมืองหลวงแห่งนี้อยู่

ดูลิทเทิลเห็นเป้าหมาย ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระสุนขนาดใหญ่ และบินใต่ขึ้นยังความสูง 366 เมตร อันเป็นพิกัดความสูงสำหรับการทิ้งระเบิด พลทิ้งระเบิดทิ้งระเบิดเพลิงลงสี่ลูก ยังผลให้โรงงานมอดไหม้ในเปลวเพลิง

ดูลิทเทิลนั่งข้างๆ ซากเครื่องบินบี-25 ของเขาหลังการลงจอดกระแทกพื้นในจีน เขาคิดว่าตนเองจะถูกนำตัวขึ้นศาลทหารเนื่องจากการสูญเสียเครื่องบินใต้การบังคับบัญชาทั้งสิบหกลำ ภาพถ่ายโดย UNDERWOOD ARCHIVE, GETTY IMAGES

นักบินอีกคนบินข้ามโตเกียวเพื่อมุ่งหน้าสู่ฐานทัพเรือขนาดใหญ่ที่โยโกฮามา ในขณะเดียวกันกับที่ประตูห้องเก็บระเบิดเปิดออก การยิงจากปืนต่อต้านอากาศยานก็ทำให้เครื่องบินสั่นสะเทือน แต่พลทิ้งระเบิดสามารถดึงคันโยกทิ้งระเบิดได้สำเร็จ และในอีกไม่กี่วินาทีต่อมา เขาตะโกนด้วยความดีใจอย่างมหันต์ว่าว่า “เราอัดเรือบรรทุกเครื่องบินได้ลำหนึง”

ทหารทุกนายที่ร่วมภารกิจคาดคะเนอยู่บ้างว่าเครื่องบินขับไล่ซีโร่ของญี่ปุ่นจะรวมฝูงมารุมทึ้งพวกเขา แต่การจู่โจมเมืองต่างๆ อย่างฉาบฉวยและหนีออกมาอย่างรวดเร็วช่วยให้พวกเขาหลบรอดจากโต้กลับครั้งนี้ได้เกือบทั้งหมด

ในห้วงขณะหนึ่งระหว่างการโจมตี นายพลฮิเดกิ โทโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นกำลังเข้าใกล้ฐานบินแห่งหนึ่ง ขณะเครื่องบินที่เขานั่งกำลังลดระดับลงบนทางวิ่ง บี-25 ของดูลิทเทิลได้บินโฉบผ่านไปโดยมิได้ยิงกระสุนแม้สักนัด ผู้ช่วยของเขารายงานว่าเครื่องบินลำดังกล่าว “ [มัน] หน้าตาพิลึก”

เรือเอ็นเทอร์ไพรซ์และฮอร์เน็ตซึ่งกำลังเร่งมุ่งหน้ากลับฐานทัพของฝ่ายตนเองเริ่มได้ยินการประกาศจากสถานีวิทยุโตเกียวเกี่ยวกับการจู่โจมฉาบฉวยครั้งนี้ กะลาสีหลายพันนายบนเรือทั้งสองต่างส่งเสียงเชียร์ดังกระหึ่ม พวกนักบินทำสำเร็จแล้ว อเมริกาได้โจมตีกลับแล้ว

น้ำมันเกลี้ยงถัง

ฝูงบินของดูลิทเทิลรวมกลุ่มกันอีกครั้งเหนือทะเลญี่ปุ่นและมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกสู่พระอาทิตย์ที่กำลังตกดิน ไม่มีเครื่องบินลำใดถูกยิงตก ตอนนี้สิ่งที่พวกเขาต้องทำมีเพียงการไปให้ถึงลานบินในอาณาเขตของฝ่ายเป็นมิตรในจีน

กระนั้น ตอนนี้เหล่านักบินต้องนำเครื่องลงจอดในยามค่ำคืน ซึ่งทำให้ภารกิจของพวกเขายิ่งยุ่งยากขึ้นอย่างอักโข และสภาพอากาศที่เริ่มกลับมาเลวร้ายอีกครั้งยังทำให้สิ่งต่างๆ ยิ่งย่ำแย่ลงกว่าเดิม

สหายชาวจีนนำทางเหล่านักบินชาวอเมริกันไปสู่ที่ปลอดภัยหลังเครื่องบินของพวกเขาตกลงใกล้กับหมู่บ้านแห่งนี้ นักบินคนอื่นๆ ที่โชคไม่ดีเท่าพวกเขาถูกทหารญี่ปุ่นสังหารหรือจับเป็นเชลย ภาพถ่ายโดย BY TIME LIFE PICTURES, U.S. AIR FORCE, THE LIFE PICTURE COLLECTION, GETTY IMAGES

ชายฝั่งของจีนนั้นเต็มไปด้วยภูเขาสูงซึ่งทอดลึกเข้าไปบนแผ่นดิน ทัศนวิสัยเป็นศูนย์ และเครื่องบินกำลังน้ำมันหมด ส่วนสัญญาณนำทางซึ่งควรบอกตำแหน่งของทางวิ่งก็ไม่ปรากฏให้เห็น ดูลิทเทิลตัดสินใจว่าทางเลือกหนึ่งเดียวที่เหลือคือการบินต่อไปจนน้ำมันหมดก่อนที่เหล่านักบินจะกระโดดร่มออกสู่ราตรีมืดมิดและฝนพรำ

เมื่อเครื่องยนต์ของเครื่องบินแต่ละลำเริ่มส่งเสียงกึกกักและหยุดทำงาน เหล่านักบินและลูกเรือเริ่มกระโดดออกผ่านทางห้องเก็บระเบิดโดยไม่มีผู้ใดทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ราวปาฏิหารย์ มีผู้เสียชีวิตจากการกระโดดร่มเพียงสามนาย ส่วนอีกแปดนายถูกทหารญี่ปุ่นจับเป็นเชลย ในจำนวนนี้ สามนายถูกประหารชีวิตและอีกห้านายถูกทรมานอย่างโหดเหี้ยมและถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

ดูลิทเทิลดิ่งลงในนาข้าวแห่งหนึ่งซึ่งใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย เขาพยายามตะโกนประโยคภาษาจีนที่ท่องจำมา แต่ไม่มีผู้ใดเข้าใจสิ่งที่เขาพูด

นักบินอีกนายตกลงบนต้นไม้และตัดสินใจสูบบุหรี่ก่อนจะตัดสายร่มชูชีพเพื่อลงพื้น แต่เมื่อเขาทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังติดไฟอยู่ นักบินผู้นี้กลับต้องสยองเมื่อเขาเห็นก้นบุหรี่หายไปในความมืดไกลโพ้นเบื้องล่าง และรู้ตัวว่าต้นไม้ที่เขาห้อยตัวอยู่นั้นยืนต้นอยู่บนขอบหน้าผาที่สูงกว่าสามร้อยเมตร

ประธานาธิบดีรูสเวลต์มอบเหรียญกล้าหาญเมดัลออฟออร์เนอร์ให้ดูลิทเทิลสำหรับการวางแผนและการบัญชาการการโจมตีทางอากาศต่อโตเกียวของเขา ภาพถ่ายโดย BETTMAN-CORBIS, GETTY IMAGES

ทหารอีกนายที่ทั้งต้องการซ่อนตัวและหลบหนีจากความหนาวเริ่มปีนเข้าไปในกล่องไม้ยาวที่ตั้งอยู่บนม้านั่งในโรงนาแห่งหนึ่ง ก่อนค้นพบว่ากล่องใบดังกล่าวคือโลงศพของ “สุภาพบุรุษวัยชราชาวจีนคนหนึ่ง”

ส่วนใหญ่ของลูกเรือห้านายของดูลิทเทิลกลับมารวมกลุ่มกันในวันต่อมา ชาวจีนซึ่งเป็นฝ่ายพันธมิตรช่วยให้ความคุ้มครองและส่งพวกเขาด้วยรถลาก เกี้ยว ลา เกวียน และการขี่หลัง กลับสู่ความปลอดภัยในแนวรบของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษ

วิทยุและหนังสือพิมพ์รอบโลกต่างประโคมข่าวของการโจมตีอย่างกล้าหาญในครั้งนี้ ทำให้กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรที่กำลังเสียขวัญกลับมีขวัญกำลังใจขึ้นมาได้ ที่สำคัญกว่านั้น การโจมตีแล้วหลบหนีในครั้งนี้ยังช่วยให้ฝ่ายวางแผนในกองทัพได้รับข้อมูลข่าวกรองที่จะช่วยเปลี่ยนกระแสของสงคราม

ก่อนการโจมตีฉาบฉวยของดูลิทเทิล ราชนาวีญี่ปุ่นรักษาวินัยการห้ามส่งวิทยุ (radio silence) อย่างเคร่งครัด ทำให้ความพยายามถอดรหัสของฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งในขณะนั้นสามารถไขรหัสลับของราชนาวีได้เพียงร้อยละสิบเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่การโจมตีทางอากาศอันหน้าตกตะลึงต่อใจกลางประเทศแห่งนี้ก่อให้เกิดการสื่อสารด้วยข้อความเข้ารหัสเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล จนทำให้เหล่านักเจาะรหัสของสหรัฐฯ สามารถรับทราบรหัสลับของพวกเขาได้เกือบร้อยละเก้าสิบ

ริเชิร์ด อี. โคล นักจู่โจมของดูลิทเทิลที่เสียชีวิตเป็นคนสุดท้าย เยี่ยมหลุมศพของผู้บังคับการของเขาที่สุสานแห่งชาติอาร์ลิงตัน พันโทโคลซึ่งมีอายุ 101 ปี เมื่อภาพนี้ถูกถ่ายในปี 2017 ทำหน้าที่นักบินผู้ช่วยของดูลิทเทิลในการปฏิบัติการเมื่อครั้งนั้น ภาพถ่ายโดย MELINA MARA, THE WASHINGTON POST, GETTY IMAGES

เพียงหนึ่งเดือนเศษต่อมา ในเดือนมิถุนายน 1942 กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินขนาดใหญ่สี่ลำจากสำนวนหกลำซึ่งพวกเขามี เพื่อโจมตีฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะมิดเวย์ แต่ฝ่ายสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้าสามารถดักซุ่มโจมตีและจมเรือทั้งสี่ลำได้สำเร็จ ความสูญเสียครั้งฉกรรจ์นี้ยังผลให้กองเรือญี่ปุ่นเป็นอัมพาตและช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถช่วงชิงความได้เปรียบในสงครามมาสู่ฝ่ายตนเอง

เมื่อจิมมี่ ดูลิทเทิลกลับมาถึงศูนย์บัญชาการกองทัพอากาศแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ ที่วอชิงตัน เขาพบว่าเฮป แอร์โนล์ด และจอร์จ มาร์แชลล์ ประธานคณะเสนาธิการกองทัพบกกำลังรอตนเองอยู่ และกล่าวว่าเขาต้องไปทำเนียบขาวเพื่อเข้าพบประธานาธิบดี

“เพื่ออะไรหรือครับ” ดูลิทเทิลถามด้วยความกังวลว่าเขาต้องขึ้นศาลทหารเนื่องจากการสูญเสียเครื่องบินทั้งฝูง

“เพราะท่านจะมอบเหรียญเมดัลออฟออร์เนอร์ [เหรียญกล้าหาญชั้นสูงสุดกองทัพสหรัฐ] ให้คุณน่ะสิ” นายพลมาร์แชลล์ กล่าว

เรื่อง WINSTON GROOM

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม เรื่องของสตรีกว่า 10,000 คนที่เป็นนักถอด รหัสลับ ให้สหรัฐฯ ชนะสงครามโลก

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.