เรื่องของสตรีกว่า 10,000 คนที่เป็นนักถอด รหัสลับ ให้สหรัฐฯ ชนะ สงครามโลก

เรื่องของสตรีกว่า 10,000 คนที่เป็นนักถอด รหัสลับ ให้สหรัฐฯ ชนะ สงครามโลก

เรื่องราวของ นักถอด รหัสลับ ผู้หญิงกว่า 10,000 คนทำงานกับกองทัพสหรัฐฯ เพื่อให้ สงครามโลก จบลง

สตรีนักถอด รหัสลับ แห่งสงครามโลกครั้งที่สอง – ในยามบ่ายอันหนาวเย็นวันหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 1941 แอนน์ ไวท์ พบจดหมายแปลกๆ ฉบับหนึ่งในกล่องรับจดหมายจากศาสตราจารย์ดาราศาสตร์ที่อยากพบเธอ ไวท์ซึ่งกำลังศึกษาภาษาเยอรมันที่วิทยาลัยเวลส์ลีย์ในมลรัฐแมสซาชูเซตส์พบว่าศาสตราจารย์ท่านนี้มีคำถามที่อยากถามเธอเพียงสองข้อ คือเธอชอบปริศนาครอสเวิร์ดไหม และเธอหมั้นหรือยัง

มีการถามสองคำถามนี้กับผู้หญิงทั่วทั้งสหรัฐฯ หากคำตอบสำหรับคำถามแรกคือใช่และคำถามที่สองคือไม่ พวกเธอจะได้รับข้อเสนอสำหรับโอกาสฝึกฝนอาชีพลับอย่างการถอดรหัสลับให้กองทัพบกหรือทัพเรือสหรัฐฯ

เพียงสองปีก่อนหน้านั้น เยอรมนีภายใต้การนำของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำพรรคนาซี ได้ยกทัพบุกโปแลนด์และจุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สอง หลังสงครามโลกครั้งแรกจบลงในปี 1918 การเมืองระหว่างประเทศยังคงตึงเครียดอย่างสูง และการบุกโปแลนด์และประเทศอื่นๆ ในยุโรปครั้งนี้ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่แพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก

ประเทศส่วนใหญ่เข้าร่วมหนึ่งในสองฝ่าย คืออักษะ (ซึ่งมีอำนาจสำคัญคือเยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น) และสัมพันธมิตร (ซึ่งมีประเทศเช่นสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และสหรัฐฯ เข้าร่วม) สหรัฐฯ เข้าร่วมสงครามเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 หลังญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือที่เพิร์ลฮาร์เบอร์บนเกาะโอวาฮู มลรัฐฮาวาย

ทหารเรือยืนกลางซากเครื่องบินที่ถูกทำลายฝ่ายญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ในมลรัฐฮาวาย และมองดูเรือยู.เอส.เอส ชอว์ซึ่งกำลังระเบิดเป็นฉากหลัง COURTESY OF THE NAVAL HISTORY & HERITAGE COMMAND

หลายประเทศพัฒนา รหัสลับ เพื่อส่งข้อความลับเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวต่างๆ เช่นการรบที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือการเคลื่อนพล การถอดหรือเจาะรหัสเหล่านี้ช่วยให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสืบทราบถึงแผนการของศัตรูและทราบเกี่ยวกับการรบก่อนที่จะเกิดขึ้นเสียอีก

ในยามที่สหรัฐฯ เตรียมส่งผู้ชายไปสู่สงคราม ประเทศนี้ต้องการผู้ทำหน้าที่ถอดรหัส และเหล่าหญิงสาวซึ่งรวมถึงแอนน์ ไวท์ ได้ตอบรับข้อเสนอนี้ หนังสือ Code Girls ซึ่งเขียนโดยลิซา มันดี้ กล่าวว่ามีผู้หญิงกว่า 10,000 คนหรือครึ่งหนึ่งของนักเจาะรหัสทั้งหมดในสหรัฐฯ ได้รับงานในกองทัพบกและทัพเรือ การทำงานอย่างหนักของพวกเธอคือกุญแจสำคัญสำหรับการชนะสงคราม

ปิดปากให้สนิท

มนุษย์ส่งและถอดรหัสลับมานานนับหลายศตวรรษแล้ว เช่นเมื่อครั้งสงครามปฏิวัติอเมริกา ที่จอร์จ วอชิงตัน เป็นผู้นำกลุ่มสายลับที่สื่อสารกันด้วย รหัสลับ  การมาถึงของวิทยุช่วยให้กองทัพต่างๆ ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งส่งข้อความลับได้รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และยังทำให้ฝ่ายอื่นๆ มีโอกาสดักฟังข้อความเหล่านั้นมากขึ้นด้วย

ในปี 1917 กองทัพบกสหรัฐฯ ได้จัดตั้งสำนัก รหัสลับ และการเข้ารหัสหรือ code and cipher bureau (การเข้ารหัสหรือ Cipher คืออีกหนึ่งวิธีสำหรับการทำให้ข้อความเป็นความลับ) ของตนเองขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะจัดตั้งสำนักข่าวกรองทางสัญญาณ (Signal Intelligence Service) ขึ้นในภายหลัง ไม่นานหลังจากนั้น กองทัพเรือได้จัดตั้งหน่วยงานของตนเองขึ้นเพื่อดักฟังการสื่อสารระหว่างเรือดำน้ำและเรือผิวน้ำของศัตรู (หน่วยงานดังกล่าวมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า OP-20-G แต่ผู้ที่ทราบถึงการมีอยู่ของหน่วยนี้มักเรียกมันว่าหน่วยวิจัยหรือ Research Desk) แม้หน่วยถอดรหัสเหล่านี้มีความสำคัญ พวกมันก็ยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก

เมื่อกองทัพทราบว่าพวกเขาอาจต้องเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สองในเร็ววัน พวกเขาจึงค่อยๆ เริ่มหานักถอดรหัสเฉกเช่นแอนน์ ไวท์ มากขึ้น แต่เมื่อเครื่องบินรบญี่ปุ่นกว่า 300 ลำบินโฉบบนน่านฟ้าเหนือเพิรฺ์ลฮาร์เบอร์ โฮโนลูลู ในการโจมตีอย่างไม่ทันตั้งตัว สหรัฐฯ จึงรู้ว่าตนเองต้องเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ เมื่อนั้นเองที่กองทัพเริ่มการเสาะหานักถอดรหัสครั้งใหญ่เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศของตนจะไม่ถูกจู่โจมโดยไม่ทันรับมืออีก และเนื่องจากบุรุษจำนวนมากต้องเดินทางไปสู่สนามรบ เหล่าสตรีจึงเป็นที่ต้องการสำหรับหน้าที่เหล่านี้

นักถอดรหัส, สงครามโลกครั้งที่สอง, รหัสลับ
ทั้งผู้หญิงและผู้ชายถูกฝึกให้ไขรหัสลับในข้อความของฝ่ายเยอรมันในช่วงสงคราม PHOTOGRAPH COURTESY OF THE NATIONAL ARCHIVES, RG 457

ในยุคนั้น ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพ พวกเธอแค่แต่งงานและมีหน้าที่เพียงแค่ดูแลบ้าน สามี และลูกๆ ในช่วงทศวรรษ 1940 มีสตรีเพียงร้อยละสี่เท่านั้นที่จบการศึกษาระดับปริญญา

แต่ความต้องการนักถอดรหัสที่เพิ่มขึ้นอย่างกะทันหันช่วยสร้างโอกาสใหม่ให้กับหญิงสาวที่ศึกษาจบมหาวิทยาลัยและกล่าวว่าตนเองไม่ได้หมั้นหรือแต่งงาน (ผู้ว่าจ้างในยุคนั้นคิดว่าหากผู้หญิงแต่งงานแล้ว เธอจะไม่สามารถประกอบอาชีพที่มีรายได้) หญิงสาวหลายคนในมหาวิทยาลัยได้รับจดหมายแบบเดียวกับที่แอนน์ ไวท์ได้รับ ส่วนคนอื่นๆ ตอบรับโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์หรือสมัครเข้าร่วมหลังจากได้พบและพูดคุยกับผู้เสาะหาอาสาสมัครของกองทัพที่ตะลอนสรรหานักถอดรหัสไปทั่วประเทศ

สตรีเหล่านี้ทุกคนต้องผ่านการฝึกฝนอันยากเย็นเพื่อเรียนรู้การถอดรหัสความลับในข้อความ พวกเธอสัญญาว่าจะไม่ปริปากบอกผู้ใดเกี่ยวกับสิ่งที่ทำอยู่ แม้แต่ครอบครัวของตนเอง เพื่อไม่ให้ถูกฝ่ายข้าศึกดักฟัง พวกเธอมักถูกย้ำเตือนอยู่เสมอว่าความลับที่รั่วไหลจะนำไปสู่ภัยพิบัติ

ค้นหารูปแบบ

สตรีนักเจาะรหัสเหล่านี้มีหน้าที่หลากหลาย ตั้งแต่การดักฟังข้อความวิทยุเข้ารหัสจากประเทศอื่นๆ รวบรวมข้อมูลต่างๆ เช่นชื่อของเรือหรือผู้บัญชาการซึ่งอาจอยู่ในข้อความเหล่านั้น อันเป็นข้อมูลซึ่งอาจช่วยให้พวกเธอไขข้อความเหล่านั้นได้ ค้นหารูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจบอกได้ว่าข้อความเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับสิ่งใด เช่นข้อความที่ถูกส่งจากที่ใดและเมื่อไรที่อาจเกี่ยวกับการเคลื่อนพล และแม้แต่ทดสอบรหัสลับของสหรัฐฯ เองเพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายศัตรูจะไม่สามารถเจาะรหัสได้

ทีมที่มักมีหญิงสาวเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ยังแก้และเจาะรหัสต่างๆ ด้วยตนเอง โดยมีการใช้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ซึ่งมีความซับซ้อนมาช่วยเป็นบางครั้ง นักไขรหัสเหล่านี้เพ่งพิจารณาตัวอักษรและตัวเลขยาวเหยียดเพื่อค้นหารูปแบบซึ่งอาจเปิดเผยข้อความที่ซ่อนอยู่ในประโยคที่ดูไม่มีความหมาย

เหล่านักเจาะรหัสต้องมีความเข้าใจในคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากผู้เข้ารหัสจำนวนมากแทนที่ตัวอักษรด้วยตัวเลขและซ่อนข้อความเดิมด้วยสมการ และยังต้องมีความทรงจำ ความอดทน และความเพียรพยายาม พวกเธอเหล่านี้ต้องเรียนรู้เล่ห์เหลี่ยมพลิกแพลงต่างๆ เช่นการหาวลีสั้นๆ เช่น “เริ่มข้อความตรงนี้” ซึ่งบางครั้งเป็นประโยคเริ่มต้นของข้อความลับ กลเม็ดเหล่านี้ช่วยให้พวกเธอเริ่มไขรหัสส่วนอื่นๆ ได้ แม้นั่นไม่ได้หมายความว่างานส่วนที่เหลือจะง่ายดาย

นักเข้ารหัส, รหัสลับ
นักเข้ารหัส (cryptographer) ศึกษาการใช้คณิตศาสตร์แกะรหัสลับขณะที่เธอทำงานในห้องทดลองในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ปี 1944 ภาพถ่ายโดย JAMES JARCHE / POPPERFOTO VIA GETTY IMAGES

รหัสลับและการเข้ารหัสต่างๆ ถูกสลับสับเปลี่ยนตลอดทั้งยามสงคราม และมีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ รหัสลับต่างๆ จึงต้องถูกเจาะซ้ำไปซ้ำมา และนี่ไม่ใช่ความท้าทายเดียวที่สตรีเหล่านี้ต้องพบเจอ

นักเจาะรหัสหญิงเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าเพศชายที่ทำงานเดียวกัน ผู้ชายในกองทัพบางคนปฏิบัติต่อพวกเธออย่างย่ำแย่เพราะคิดว่าผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีความสำคัญ หนังสือของมันดี้กล่าวว่า ทหารเรือกลุ่มหนึ่งเคยสั่งให้พวกเธอเช็ดกระจกจนกระทั่งมีนายทหารหญิงคนหนึ่งมาสั่งให้พวกเธอหยุด

เหล่านักเจาะรหัสทำงานเป็นกะกันอย่างไม่หยุดหย่อน และทราบตลอดเวลาว่าความผิดพลาดอาจหมายถึงความตายของทหารอเมริกัน “ทุกคนที่พวกเรารู้จักและรักสู้รบในสงครามครั้งนี้ค่ะ” ไวท์กล่าวย้อนความในหนังสือของมันดี้

รหัสลับ, นักถอดรหัส, สงครามโลกครั้งที่สอง
ผู้หญิงสร้างและใช้งาน Bombe เครื่องวิเคราะห์การเข้ารหัสของกองทัพเรือตั้งแต่ปี 1943 จนจบสงครามเพื่อแกะรหัส “เอนิกม่า” ของเยอรมัน PHOTOGRAPH COURTESY OF THE NATIONAL CRYPTOLOGIC MUSEUM

งานของสตรีเหล่านี้คือสิ่งสำคัญในการชนะสงคราม และสตรีคือส่วนสำคัญของทุกๆ ทีม

Genevieve Grotjan ระบุรูปแบบอันเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเจาะรหัส “เพอร์เพิล” ซึ่งใช้ส่งข้อความให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลญี่ปุ่นได้สำเร็จ และส่งผลให้ฝ่ายสหรัฐฯ สามารถสืบทราบข้อมูลสำคัญบางส่วนของแผนการของฝ่ายศัตรูได้ ส่วน Ann Caracristi ได้ช่วยเจาะรหัสซึ่งเปิดเผยตำแหน่งเรือส่งเสบียงของฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อให้ฝ่ายอเมริกันจมลงได้

รหัสลับ, นักถอดรหัส
นักถอดรหัสใช้งานเครื่อง “เพอร์เพิล” ในปี 1944 เพื่อเจาะรหัสลับที่ใช้ในข้อความของฝ่ายญี่ปุ่น ภาพถ่ายโดย ASSOCIATED PRESS

ฟรานเซส สทีน คือหนึ่งในนักเจาะรหัสหญิงซึ่งช่วยถอดรหัสข้อความที่ช่วยให้สหรัฐฯ สามารถสังหารพลเรือเอกอิโซโรกุ ยามาโมโตะ ซึ่งเป็นผู้วางแผนโจมตีอ่าวเพิร์ลฮาร์เบอร์ได้สำเร็จ ส่วนเวอร์จิเนีย ดี. เอเดอร์โฮลต์ คือผู้ถอดรหัสข้อความซึ่งถูกดักฟังจากฝ่ายญี่ปุ่นว่าพวกเขากำลังยอมแพ้ ทำให้สงครามสิ้นสุดลง

บ่อยครั้งที่เพศชายแย่งความสำเร็จของเพศหญิงเป็นมาเป็นของตนเอง เช่น เจ. เอ็ดการ์ ฮูเวอร์ ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานสืบสวนกลางหรือ FBI ประกาศว่าหน่วยของเขาเป็นผู้ทำลายกลุ่มสายลับนาซีในอเมริกาใต้ แต่ที่จริงแล้ว ผลงานนี้เป็นของเอลิซาเบธ สมิธ ไฟรด์แมน นักถอดรหัสซึ่งถอดข้อความลับของศัตรูในสงครามโลกทั้งสองครั้ง และมักถูกเรียกขานว่าเป็นนักถอดรหัสหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

รหัสลับ, นักถอดรหัส
สิ่งนี้อาจดูเหมือนเครื่องพิมพ์ดีด แต่แท้จริงแล้วคือเครื่องซิกาบา ( SIGABA) ซึ่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองใช้ส่งข้อความลับระหว่างกัน PHOTOGRAPH COURTESY OF THE NATIONAL CRYPTOLOGIC MUSEUM

ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าหากไม่มีสตรีเหล่านี้ สงครามอาจดำเนินต่อไปอีกกว่าสองปี แต่พวกเธอหลายคนถูกปลดออกจากกองทัพหลังสงครามสงบลง และเป็นเวลาอีกกว่าหลายทศวรรษกว่าที่วีรกรรมของพวกเธอจะถูกเปิดเผย เนื่องเพราะหญิงสาวเหล่านี้สัญญาว่าจะเก็บสิ่งที่ตนเองทำเป็นความลับ พวกเธอจึงปิดปากเงียบไปนานหลายปี

ในสมัยนั้น ผู้คนจำนวนมากคิดว่ามีแต่เพศชายที่เป็นอัจฉริยะได้ ส่วนเพศหญิงนั้นเหมาะสำหรับงานน่าเบื่อที่ไม่ต้องใช้ความคิดมากมาย แม้จะเป็นเวลาหลายทศวรรษกว่าเรื่องราวของพวกเธอจะถูกเล่าขาน แต่ความสำเร็จของหญิงเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นว่าสตรีเพศชาญฉลาดได้มากเพียงใด และประสบความสำเร็จได้มากเพียงใดหากได้รับโอกาสเฉิดฉาย

เรื่อง MAYA WEI-HAAS

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม เปิดหน้าดินเมืองลำปาง ค้นหานักบินผู้หายสาบสูญในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

Recommend