ผลตรวจ DNA ชี้โครงกระดูกของ นักรบไวกิ้ง ผู้โด่งดัง เป็นผู้หญิง

การต่อสู้ด้วยหอกและดาบ ไวกิงและชาวสลาฟเผชิญหน้ากันในเทศกาลจำลองการรบในอดีต ที่จัดขึ้นที่เมือง Wolin ในโปแลนด์ จากกองทัพเล็กๆ ในยุคเริ่มแรกในที่สุดไวกิงขยายกองกำลังของพวกเขาจนสามารถยึดครองพื้นที่ขนาดใหญ่ในยุโรปได้

ผลตรวจ DNA ชี้โครงกระดูกของ นักรบไวกิ้ง ผู้โด่งดัง เป็นผู้หญิง

เป็นเวลามากกว่า 1 พันปีแล้ว ที่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสวีเดน ถูกกำหนดให้เป็นสุสานฝังศพของ นักรบไวกิง ผู้มั่งคั่ง ภายในนั้นเต็มไปด้วยอาวุธดาบ หัวลูกศร และม้าอีก 2 ตัวสำหรับการบูชายัญ สุสานแห่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงอุดมคติของบทบาทนักรบชายในวิถีชีวิตของชาวไวกิง หรืออย่างน้อยก็ตามที่บรรดานักโบราณคดีเชื่อ

และผลการศึกษา DNA จากกระดูกล่าสุดออกมายืนยันแล้วว่า เจ้าของร่างที่นอนอยู่ในสุสานนั้นหาใช่บรุษแต่เป็นสตรี

รายงานการศึกษาครั้งใหม่นี้ถูกตีพิมพ์ลงในวารสาร Physical Anthropology ของอเมริกัน สร้างความประหลาดใจแก่นักโบราณคดีสำหรับความเข้าใจที่พวกเขามีต่อชาวไวกิง นักเดินเรือผู้เก่งกาจที่ครอบครองอาณาจักรของพวกเขาในยุโรปมานานหลายร้อยปี

Davide Zori นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเบเลอร์ ผู้ไม่ได้มีส่วนร่วมเกี่ยวกับการวิจัยกล่าวว่า “ผลการศึกษาครั้งใหม่นี้มุ่งไปที่หัวใจหลักของการตีความทางโบราณคดี นั่นคือเรามักตีความไปก่อนล่วงหน้าว่าบทบาททางเพศจะเป็นอย่างไร”

ตำนานของชาวไวกิงนั้นมีประวัติมาอย่างยาวนานว่านักรบไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชายเสมอไป เมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 10 บันทึกของชาวไอริชกล่าวถึง Inghen Ruaidh (สตรีแดง) นักรบหญิงที่นำทัพเรือของชาวไวกิงเดินทางไปยังไอร์แลนด์ และ Zori เองก็อ้างอิงถึงตำนานอื่นๆ เช่น ในศตวรรษที่ 13 นิทาน Saga of the Volsung เล่าถึงนักรบหญิงชาวไวกิงต่อสู้เคียงข้างกับบรรดานักรบชาย

อย่างไรก็ตามนักโบราณคดีพิจารณาว่า เรื่องราวของนักรบหญิงเหล่านี้เป็นเพียงแค่เรื่องแต่งเท่านั้น เพื่อเพิ่มบทบาทในสังคมให้แก่ผู้หญิงในปัจจุบัน

 

ข้อสันนิษฐานว่าเป็นผู้ชาย

นับตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1880 นักโบราณคดีทำงานของพวกเขา ประกอบกับการศึกษา “Birka Warrior” หนังสือที่รวมเอาหลุมศพของนักรบชายเอาไว้ และเมื่อมีการค้นพบหลุมศพของชาวไวกิง พร้อมกับอาวุธและม้าสองตัวสำหรับพิธีบูชายัญ นักโบราณคดีจึงตีความเอาว่าน่าจะเป็นหลุมศพของนักรบไวกิง และแน่นอนพวกเขาต้องเป็นผู้ชาย

ด้านนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกเองเคยตีพิมพ์สารคดีเกี่ยวกับไวกิงไว้ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2017 อย่างไรก็ตามข้อมูลหลายด้านจำต้องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อ Anna Kjellstrom นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์มตัดสินใจตรวจสอบกระดูกเชิงกรานและขากรรไกรของนักรบในสุสานเป็นครั้งแรก ซึ่งขนาดของกระดูกมีความใกล้เคียงกับขนาดของกระดูกมนุษย์เพศหญิงทั่วไป

Kjellstrom รายงานสรุปผลการศึกษาของเธอในปี 2014 และตีพิมพ์รายงานดังกล่าวในปี 2016 อย่างไรก็ตามข้อมูลใหม่นี้กลับไม่ถูกเปิดเผยไปสู่วงกว้างมากนัก ในขณะเดียวกันนักโบราณคดีบางคนเองกล่าวโจมตีการศึกษาของเธอเนื่องจากการขุดค้นหลุมศพของชาวไวกิงมีขึ้นตั้งแต่ร้อยปีก่อน พวกเขาตั้งข้อสังเกตว่ามีความเป็นไปได้ว่าโครงกระดูกในนั้นอาจถูกเข้าใจผิด หรืออาจเป็นโครงกระดูกจากหลุมใกล้เคียงที่บังเอิญตกลงมา

ในการตอบโต้กับข้อสงสัย ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยอุปซอลา ในสวีเดน นำโดย Charlotte Hedenstierna-Jonson ตรวจสอบโครงกระดูกดังกล่าวอีกครั้ง และสกัดดีเอ็นเอออกมาเป็น 2 ประเภท เพื่อหาคำตอบว่าโครงกระดูกนี้เป็นโครงกระดูกของบุคคลคนเดียวหรือไม่ และเขาเป็นเพศอะไรกันแน่

ผลการทดลองสร้างความกระจ่างชัดแจ้ง เมื่อทีมสำรวจไม่พบโครโมโซม Y ในกระดูก รวมทั้งดีเอ็นเอจากกระดูกส่วนอื่นๆ นั้นสามารถเข้ากันได้หมด นั่นหมายความว่าโครงกระดูกนี้เป็นของคนๆ เดียว และบุคคลดังกล่าวเป็นผู้หญิง

Hedenstierna-Jonson และทีมงานของเธอระบุว่า หญิงสาวผู้นี้น่าจะเป็นนักรบ และน่าจะได้รับความเคารพในฐานะนักวางกลยุทธ์ “บนหน้าตักของเธอมีหมากอยู่จำนวนหนึ่ง” เธอกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ “นั่นสนับสนุนข้อสันนิษฐานว่าเธอต้องเป็นคนสำคัญในฐานะนักวางแผนการรบและอาจจะเป็นผู้นำด้วยซ้ำ”

ภาพประกอบโดย Evald Hansen วาดขึ้นจากหลุมศพดั้งเดิมที่ถูกขุดค้นโดย Hjalmar Stolpe ตีพิมพ์เมื่อปี 1889

 

ชีวิตของชาวไวกิง

Zori ยังหลงใหลสิ่งที่เขาค้นพบเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Birka หมู่บ้านของชาวไวกิงที่ใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนสินค้าและสถานที่ฝังร่างของสตรีชาวไวกิง หนึ่งในสถานที่อันโด่งดังได้แก่ Viking burial grounds ศูนย์กลางการค้าขนาดใหญ่ของชาวไวกิงในอดีต และยังเป็นสถานที่ขนสัตว์และทาสลงเรือล่องไปยังแม่น้ำ Dnieper และ Volga

เมื่อผู้คนและสินค้ามากมายหลั่งไหลมายังสถานที่แห่งนี้ ศูนย์กลางดังกล่าวก็กลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น “Birka เชื่อมชาวไวกิงเข้าไว้ด้วยกัน มันเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยน และการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างผู้คน ไม่ใช่แค่การรบราฆ่าฟัน” เขากล่าว

Zori เสริมว่า มีความเป็นไปได้ แม้จะเป็นไปได้น้อย ว่าบรรดาญาติๆ ของหญิงสาวคนดังกล่าวตัดสินใจฝังเธอพร้อมกับอาวุธที่ใช้ในการสู้รบ แม้ว่าสิ่งของเหล่านั้นจะไม่ได้มีบทบาทในชีวิตของเธอเลยก็ตาม อย่างไรก็ตามจากหลักฐานที่มีอยู่ขณะนี้ตัวเขาค่อนข้างมั่นใจกับผลการศึกษาที่ออกมา

“มันเป็นเรื่องน่าสนใจอย่างมาก จากเดิมที่เรื่องราวของนักรบหญิงเหล่านี้เป็นเพียงแค่จารึกหรือตำนานเท่านั้นแต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยี เราสามารถนำตำนานและโบราณคดีเข้ามาใกล้กันได้” เขากล่าว

 

อ่านเพิ่มเติม

โครงกระดูกโบราณฉายพิธีกรรมหลังต่อสู้ของคนเถื่อน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.