พระราชประวัติวัยเยาว์ของ ควีนเอลิซาเบธ ที่สอง: พระราชินีผู้ไม่คาดคิดครองราชย์

ควีนเอลิซาเบธ ที่สอง ทรงอยู่ในลำดับที่ 5 ของการสืบราชสันตติวงศ์ หากแต่เรื่องราวหลายหลากจากประวัติศาสตร์ส่งให้เจ้าหญิงขึ้นครองบัลลังก์อันทรงอำนาจที่สุดของโลก

การสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 หรือ ควีนเอลิซาเบธ ที่สอง แห่งสหราชอาณาจักรในวันนี้ส่งผลให้การครองราชย์ที่นับว่ายาวนานที่สุดของราชวงศ์อังกฤษสิ้นสุดลง แม้ว่าพระองค์จะทรงสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์ แต่เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ผู้นี้ไม่คิดว่าควรจะเป็นราชินี กระทั่งเกิดเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา ส่งให้พระองค์ก้าวไปสู่จุดสูงสุดของสถาบันกษัตริย์ที่ถูกเพ่งเล็งมากที่สุดในโลก

ลำดับราชสกุลวงศ์

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียทรงครองราชย์เหนือจักรวรรดิอังกฤษเป็นระยะเวลาเกือบ 64 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานที่สุดในราชวงศ์อังกฤษ กระทั่งเอลิซาเบธที่ 2 หลานทวดครองราชย์แซงหน้าในเดือนกันยายน 2015 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตหลังขึ้นครองราชย์ได้ 70 ปี

สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย ย่าทวดของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองจักรวรรดิอังกฤษเกือบ 64 ปี ซึ่งนับว่ายาวนานกว่ากษัตริย์อังกฤษพระองค์ใด พระองค์ไม่ได้ทรงเป็นลำดับแรกในราชบัลลังก์ด้วยซ้ำ ทรงเป็นลำดับที่ 5 หากแต่การสวรรคตของพระราชวงศ์หลายต่อหลายครั้งทำให้พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 18 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 พระราชโอรสพระองค์แรกของพระราชินีนาถวิกตอเรีย ทรงเป็นรัชทายาทมายาวนานหลายทศวรรษ หากแต่พระชนม์ชีพอันยืนยาวของพระราชชนนีทำให้พระองค์ทรงครองราชย์ขณะพระชนมายุ 59 พรรษา เพียง 9 ปีก่อนสวรรคคต ในเวลานั้น เจ้าชายอัลเบิร์ต วิกเตอร์ พระราชโอรสองค์แรกสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุเพียง 28 พรรษา พระราชโอรสองค์ที่สองจึงได้ขึ้นครองราชย์ต่อ

สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ทรงครองราชย์ 25 ปี และหลังจากสวรรคตในปี 1936 พระราชโอรสพระองค์แรก สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ซึ่งมีศักดิ์เป็นพระปิตุลา (อา) ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงขึ้นครองราชย์ แต่เมื่อพระองค์ทรงตกหลุมรักวอลลิส ซิมป์สัน สาวสังคมชาวอเมริกันผู้ผ่านการหย่าร้างมาแล้ว 2 ครั้ง พระองค์จึงทรงตัดสินใจสละราชสมบัติ

เส้นทางราชวงศ์ที่หันเหไปหาเอลิซาเบธ

เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดวิกฤตทางรัฐธรรมนูญ และเป็นอีกครั้งที่สายลำดับการสืบราชสมบัติหันเหไปยังอีกฟากหนึ่งของราชตระกูล หากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 มีพระราชโอรสหรือพระราชธิดา พระองค์อาจจะทรงก้าวขึ้นมาครองราชย์ต่อแล้วก็ได้ แต่กลายเป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระราชอนุชาที่ทรงขึ้นครองราชย์อย่างไม่สู้เต็มพระทัย

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ซ้าย) ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงจักรยานสามล้อในสวนสาธารณะลอนดอน ช่วงปี 1935

เหตุเพราะพระองค์ไม่มีพระราชโอรส (ในขณะนั้น รัชทายาทฝั่งชายสำคัญมากกว่า อันเนื่องมาจากระบบสถานะพระราชโอรสองค์แรกที่จะได้สิทธิการสืบสันตติวงศ์ก่อน ซึ่งราชประเพณีนี้สิ้นสุดเมื่อปี 2013) เอลิซาเบธ พระราชธิดาพระองค์แรกจึงเป็นลำดับแรกในพระราชวงศ์

ณ เวลาที่สมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ทรงสละราชสมบัติ เจ้าหญิงเอลิซาเบธมีพระชมมายุได้ 10 พรรษา พระองค์ทรงใช้ชีวิต วัยเยาว์ทั้งในลอนดอนและชนบทใกล้เคียง แม้ว่าพระตำหนักในลอนดอนของพระองค์ที่ไฮด์ปาร์คจะขนาดใหญ่และหรูหรา แต่กลับอ่อนด้อยเรื่องการรักษาความปลอดภัย เจ้าหญิงทรงได้รับการศึกษาที่พระตำหนักพร้อมกับเจ้าหญิงมาร์กาเร็ต พระขนิษฐา โดยครูผู้สอนหลายคน

ชีวิตของเอลิซาเบธในฐานะเจ้าหญิง

“หากเจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงเติบใหญ่เป็นลูกพี่ลูกน้องหรือพระขนิษฐาของกษัตริย์ พระองค์จะยังได้ทรงงานของราชวงศ์อยู่บ้าง แต่จะทรงได้ดื่มด่ำกับชีวิตที่เงียบสงบมากกว่า การจับตามองจากสื่อน้อยกว่า และทรงมีเวลามากขึ้นให้กับสิ่งที่พระองค์สน พระทัย” แคโรลีน แฮร์รีส นักประวัติศาสตร์และนักวิจารณ์ราชสำนัก กล่าว

ชีวิตของเจ้าหญิงเอลิซาเบธเปลี่ยนไปอย่างยิ่งในปี 1936 เมื่อพระปิตุลาของพระองค์สละพระราชสมบัติ และพระราชชนกของพระองค์ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทันทีทันใด เจ้าหญิงเอลิซาเบธทรงย้ายมาประทับในพระราชวังบักกิ้งแฮม พระอิริยาบถถูกจำกัด การศึกษาของพระองค์เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าแมริออน ครอว์ฟอร์ด พี่เลี้ยงของพระองค์จะพยายามทำให้ชีวิตของพระองค์ดำเนินไปตามปกติ ด้วยการพาออกไปท่องเที่ยว หรือแม้แต่จัดกลุ่มกับลูกๆ ของพนักงานพระราชวัง ตลอดจนพระสหายและพระญาติ แต่ชีวิตของเจ้าหญิงก็ช่างห่างไกลจากคำว่าธรรมดา

เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (ขวา) และเจ้าหญิงมากาเร็ต (1930-2002) ทรงวาดภาพในห้องเรียนที่พระราชวังบักกิงแฮมในกรุงลอนดอน เมื่อเดือนมิถุนายน 1940

เจ้าหญิงถูกคาดหวังให้เชี่ยวชาญในเรื่องของมารยาททางสังคมของราชวงศ์และมีความเข้าใจในเรื่องของประวัติศาสตร์ หลักปฏิบัติและกฎหมายของประเทศหากวันหนึ่งต้องขึ้นครองราชย์ ทรงศึกษาประวัติศาสตร์จากนักจดหมายเหตุประจำราชสำนัก ศึกษาศาสนาจากอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี (Archbishop of Canterbury – อัครมุขนายกและผู้นำหลักของคริสตจักรแห่งอังกฤษ) และทรงเชี่ยวชาญในภาษาฝรั่งเศส

ผู้เชี่ยวชาญไม่เห็นตรงกันในเรื่องของการศึกษาของพระองค์ โดยให้เหตุผลว่า “การครองบัลลังก์นั้นคงต้องเป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับพระองค์ เนื่องจากไม่เคยทรงเข้าโรงเรียน และไม่เคยศึกษาต่อในระดับที่กว้างขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ถือเป็นเรื่อง ปกติธรรมดา” ผู้สื่อข่าวสายราชวงศ์ คริส ช็อป กล่าวกลับสำนักข่าว เดลี่ เอ็กซ์เพรส ในปี 2019

ฃ: เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ผู้ไม่คิดว่าจะเป็นราชินี แต่เธอก็ลงเอยด้วยการเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร ในภาพนี้ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (กลาง) และสมาชิกพระราชวงศ์ทักทายพสกนิกรหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบรมราชชนกของพระองค์ในเดือนพฤษภาคม 1937พระบิดา ผู้ที่แม้จะทรงขี้อาย สงบเสงี่ยม และมีปัญหาด้านการพูด แต่ก็ทรงกลายเป็นประมุขผู้เป็นที่รักของประชาชน มีส่วนช่วยด้วยเช่นกัน “เอลิซาเบธทรงเรียนรู้บทบาทในการครองราชย์ของพระองค์ในอนาคตภายใต้เงาของพระราชบิดา สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงรู้ดีว่าพระองค์มิได้เกิดมาเพื่อเป็นกษัตริย์ และไม่รู้สึกสบายพระทัยกับการพูดต่อสารณชน แต่พระองค์ก็ทรงมีความพยายามอย่างมาก” สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 ครองราชย์จนเสด็จสวรรคตเมื่อปี 1952 ซึ่งเป็นปีที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์

เอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ผู้ไม่คิดว่าจะเป็นราชินี แต่เธอก็ลงเอยด้วยการเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดของสหราชอาณาจักร ในภาพนี้ เจ้าหญิงเอลิซาเบธ (กลาง) และสมาชิกพระราชวงศ์ทักทายพสกนิกรหลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 พระบรมราชชนกของพระองค์ในเดือนพฤษภาคม 1937

ภารกิจเรียกหา

พระสหายในวัยเด็ก โซเนีย เบอร์รี กล่าวกับสำนักข่าว ซันเดย์ เทเลกราฟ ในปี 2006 ว่า ดูเหมือนว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงเลือกวิถีชีวิตที่ยากลำบาก หากพระองค์มีสิทธิเลือก “ฉันคิดว่าพระองค์น่าจะมีชีวิตสมรสที่มีความสุขและอยู่ในประเทศนี้กับบรรดาสุนัขและม้าของพระองค์” และเสริมว่า “นี่เป็นงานที่โดดเดี่ยว เพราะแม้ว่าพระองค์จะรู้จักประชาชนดี แต่พระองค์ก็ยังเป็นราชินี และนั่นถือเป็นสิ่งที่กั้นพระองค์จากประชาชน”

แต่ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด หรือโชคชะตา เหตุการณ์นับตั้งแต่ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ข้อยกเว้นถือเป็นกฎของราชวงศ์ แฮร์ริส อธิบายว่า นับแต่อดีตจนวันนี้ การสืบสันตติวงศ์มักเกิดในทิศทางที่ไม่คาดคิด เนื่องจากการสิ้นพระชนม์ การสละราชสมบัติ และการขาดรัชทายาทสายตรงของราชวงศ์

“การสืบสันตติวงศ์ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นรุ่นที่สามของรัชทายาทชายสายตรง [เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าฟ้าชายวิลเลียม และเจ้าฟ้าชายจอร์จ] ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ” เขากล่าว

เฉกเช่นเดียวกับผู้ที่มาก่อนหน้าพระองค์ เอลิซาเบธที่ 2 ทรงทราบอย่างชัดแจ้งถึงหน้าที่ที่พระองค์ต้องกระทำ “ข้าพเจ้าขอประกาศต่อหน้าพวกท่านว่า ชีวิตของข้าพเข้า มิว่าจะสั้นหรือยาวนาน จะขออุทิศเพื่อรับใช้ท่านทั้งหลายและเครือจักรภพ อันยิ่งใหญ่ของเรา” พระองค์ตรัสแก่พสกนิกรในอนาคตของพระองค์ ทางสถานีวิทยุในวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 21 เมื่อ
เดือนเมษายน 1947

เป็นเวลากว่า 75 ปีให้หลัง พระองค์ทรงปฏิบัติตามที่ทรงให้สัญญาในวันนั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ทรงคาดคิดไว้ตั้งแต่แรก

เรื่อง ERIN BLAKEMORE


อ่านเพิ่มเติม 15 ภาพถ่ายประวัติศาสตร์ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.