ย้อนรอยการค้นพบ ฟาโรห์ ตุตันคามุน และขุมทรัพย์โลกตะลึง

ย้อนรอยการค้นพบ ฟาโรห์ ตุตันคามุนและขุมทรัพย์โลกตะลึง

เลดี้ฟีโอนา เฮอร์เบิร์ต เคาน์เตสคนที่แปดแห่งคาร์นาร์วอน พลิกสมุดลงนามและชี้ไปยังลายเซ็นของแขกประจำชื่อดัง ผู้มาเยือนที่พำนักอันโด่งดังของเธอเมื่อหนึ่งร้อยปีก่อน เราอยู่ที่ปราสาทไฮเคลียร์ ที่ดินผืนใหญ่ในชนบทห่างจากกรุงลอนดอนไปทางตะวันตกราว 90 กิโลเมตร สมุดลงนามนี้มีรายชื่อบุคคลในหนังสือที่เลดี้คาร์นาร์วอนกำลังเขียนถึงปู่ทวดของสามี จอร์จ เอดเวิร์ด สแตนโฮป โมลีเนอ เฮอร์เบิร์ต เอิร์ลคนที่ห้าแห่งคาร์นาร์วอนที่เธอเรียกว่า “ท่านเอิร์ลที่ห้า” ผู้มีชื่อเสียงในฐานะนายทุนสนับสนุนนักโบราณคดีชาวอังกฤษ เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ ในการค้นหาหลุมฝังพระศพที่สาบสูญของ ฟาโรห์ ตุตันคามุน

เลดี้คาร์นาร์วอนหยุดที่หน้าซึ่งลงวันที่ไว้ว่า 3 กรกฎาคม ปี 1920 และแนะนำแขก “นี่คือเฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ แน่นอนละ เขามาพักที่นี่หลายสัปดาห์ในช่วงฤดูร้อนแต่ละปีเพื่อวางแผนการขุดสำรวจกับท่านเอิร์ลที่ห้า…”

มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับยุวกษัตริย์พระนามตุตันคามุนเพียงน้อยนิด แต่ศิลปวัตถุจำนวนมากจากหลุมฝัง พระศพ รวมถึงรูปสลักไม้ขนาดเท่าจริงนี้ เผยเงื่อนงำถึงพระชนม์ชีพและยุคสมัยของพระองค์
หน้ากากงามอร่ามที่ใช้ในพิธีฝังพระศพทำให้พระพักตร์ของตุตันคามุนเป็นอมตะด้วยทองคำ กระจก และอัญมณี ศิลปวัตถุชิ้นเอกนี้ยังสะท้อนความมั่งคั่งของราชวงศ์ที่สิบแปดแห่งอียิปต์ (ศตวรรษที่สิบหกถึงสิบสามก่อน ค.ศ.) เมื่อเส้นทางการค้าต่างๆ บรรจบกันที่ลุ่มน้ำไนล์และกองคาราวานขนสินค้าฟุ่มเฟือยมาจากแดนไกล

ลอร์ดคาร์นาร์วอนเริ่มย้ายไปพำนักช่วงฤดูหนาวที่อียิปต์ในปี 1903 ตามคำแนะนำของแพทย์ เขามีสุขภาพไม่ดี แต่กำเนิด ทั้งยังทรุดลงเนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่รุนแรงเกือบถึงชีวิตทำให้ปอดเสียหายอย่างหนัก เขาเปรียบเปรยว่า การสูดอากาศทะเลทรายในอียิปต์เหมือนการได้ดื่มแชมเปญ

ในไม่ช้าลอร์ดคาร์นาร์วอนก็ชื่นชมโบราณวัตถุของอียิปต์มากพอๆ กับอากาศที่นั่น ในปี 1907 เขาว่าจ้างคาร์เตอร์ ให้หาโบราณวัตถุมาเติมคลังสะสมที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ของเขาที่ไฮเคลียร์ และดูแลการขุดค้นที่เขาให้ทุนสนับสนุน

คาร์เตอร์ออกจากอังกฤษไปอียิปต์ตอนอายุ 17 ปีโดยไม่มีพื้นฐานทางโบราณคดี แต่มีพรสวรรค์โดดเด่นในฐานะศิลปิน เขาพัฒนาสายตาที่เฉียบคมในการดูของโบราณ และในปี 1899 ก็ได้เป็นหนึ่งในสองหัวหน้าผู้ตรวจการโบราณวัตถุในกรมโบราณคดีของอียิปต์
ชีวิตของคาร์เตอร์พลิกผันในปี 1905 หลังเหตุการณ์ที่เขาเรียกว่า “การวิวาทอันเลวร้าย” กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศส คาร์เตอร์รู้สึกว่าทางเลือกอันทรงเกียรติเดียวของเขาคือการลาออก ซึ่งเขาทำเช่นนั้นในอีกหลายเดือนต่อมา

ฟาโรห์ตุตันคามุนทรงดำรงพระชนม์อย่างหรูหรา และสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันในช่วงปลายวัยรุ่น ในบรรดา ถนิมพิมพาภรณ์หรือเครื่องประดับกว่า 200 ชิ้นที่พบในหลุมพระศพ จี้รูปเหยี่ยวงามวิจิตรมีร่องรอยการสวมใส่
รูปสลักขนาดเท่าจริงพิทักษ์คูหาฝังพระศพของพระองค์และเป็นร่างให้ คา หรือพลังชีวิตของพระองค์ สิงสถิต ในปรภพ

คาร์เตอร์รู้จักลอร์ดคาร์นาร์วอนในอีกสองปีต่อมา การจับมือของพวกเขาจะนำไปสู่การค้นพบยุวกษัตริย์ซึ่งแทบไม่มีคนรู้จัก ทว่าถูกฝังพร้อมสมบัติมหาศาล และถูกลืมเลือนจากประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่นานกว่า 3,000 ปี การค้นพบนี้คือชัยชนะทางโบราณคดีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง เผยให้โลกได้เห็นภาพอันน่าตื่นตะลึงของอียิปต์โบราณ และปลูกฝังมิติใหม่ของความภาคภูมิใจในชาติ และความมุ่งมั่นที่จะกำหนดอนาคตของตนเองให้ชาวอียิปต์สมัยใหม่

เงื่อนงำสำคัญๆของตำแหน่งที่ตั้งหลุมพระศพตุตันคามุนปรากฏในช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ณ หุบผากษัตริย์ พื้นที่สลับซับซ้อนของหุบผาชันขรุขระคนละฝั่งแม่น้ำไนล์กับเมืองลักซอร์ปัจจุบัน และเป็นที่ตั้งของทีบส์ เมืองหลวงของอียิปต์โบราณ ขณะที่ฟาโรห์ยุคก่อนหน้าถูกฝังในพีระมิดสูงตระหง่านซึ่งตกเป็นเป้าของโจรปล้นสุสานได้ง่าย ฟาโรห์แห่งทีบส์ กลับถูกฝังในหลุมพระศพที่ขุดลึกลงไปใต้ไหล่เขาที่เป็นหินในหุบผาอันเปลี่ยวร้าง

ภาพสามภาพบนผนังด้านทิศเหนือในคูหาฝังพระศพของตุตันคามุนแสดงลำดับการเสด็จสู่ปรภพของพระองค์ จากขวา ไปซ้าย ภาพแรกเป็นพิธี “เบิกพระโอษฐ์” โดยไอย์ ผู้สืบทอดอำนาจของพระองค์ สวมชุดหนังเสือดาวและถือเครื่องมือ ถากไม้ที่เรียกว่าผึ่ง ทำพิธีชุบชีวิตในเชิงสัญลักษณ์ให้แก่ตุตันคามุน ซึ่งปรากฏพระองค์ในรูปกายของเทพโอซิริส ในภาพกลาง นุต เทพีแห่งท้องนภา ทำพิธีต้อนรับฟาโรห์ตุตันคามุนในฉลองพระองค์แบบฟาโรห์ที่ทรงพระชนม์ชีพ เข้าสู่อาณาจักรแห่งทวยเทพ ในภาพสุดท้าย ตุตันคามุน (สวมผ้าโพกพระเศียรเนเมส) และคาของพระองค์ ทรงสวมกอดเทพโอซิริส ที่พระองค์กำลังจะหลอมรวมเข้าเป็นหนึ่ง
บัลลังก์ทองคำของฟาโรห์ตุตันคามุนแสดงฉากอันอ่อนโยน นั่นคือราชินีอังค์เซนามุนทรงชโลมน้ำมันหอมถวายแด่ พระสวามี ขณะที่ทั้งสองพระองค์ทรงยืนอยู่เบื้องใต้สุริยเทพอเตน ตุตันคามุนทรงสืบราชบัลลังก์ต่อจากฟาโรห์อเคนาเตน ผู้ประกาศให้นับถือเทพอเตนเพียงองค์เดียว ทำให้แผ่นดินปั่นป่วนวุ่นวายครั้งใหญ่ ตุตันคามุนทรงฟื้นฟูการบูชาเทพเจ้าหลายองค์ตามจารีตเดิม โดยเฉพาะอมุน-เร

ในช่วงรอยต่อของศตวรรษที่ยี่สิบ สุสานของเมืองทีบส์เป็นแหล่งโบราณคดีที่พบของล้ำค่าและมีจำนวนมากที่สุดในอียิปต์ การขุดค้นหลายครั้งที่มีนายทุนอย่างทีโอดอร์ เดวิส นักธุรกิจชาวอเมริกัน เป็นผู้อุปภัมภ์ นำไปสู่การค้นพบสำคัญๆอย่างต่อเนื่อง โดยในนั้นมีโบราณวัตถุจำนวนหนึ่งที่ปรากฏนามปริศนาของตุตันคามุน

คาร์เตอร์สั่งสมความรู้เกี่ยวกับหุบผากษัตริย์อย่างลึกซึ้งตลอดหลายปีที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าผู้ตรวจการโบราณวัตถุ แต่ก่อนที่เขากับลอร์ดคาร์นาร์วอนจะเริ่มงานได้ พวกเขาต้องขอใบอนุญาตขุดค้นที่เรียกว่าสัมปทาน ซึ่งเดวิสยึดครองไว้อย่างเหนียวแน่น

นักโบราณคดีและนักล่าขุมทรัพย์ขุดค้นหุบเขาแห่งนี้มาตลอดหลายสิบปี และหลายคนก็เชื่อว่ายุคทองของการค้นพบได้ผ่านไปแล้ว หลังจากให้ทุนสนับสนุนการขุดค้นที่ประสบความสำเร็จอยู่หลายปี เดวิสก็ได้ข้อสรุปเดียวกัน เมื่อเขาตัดสินใจคืนสัมปทาน ลอร์ดคาร์นาร์วอนซึ่งถูกคาร์เตอร์เร่งรัด ก็คว้าไว้ได้ในเดือนมิถุนายน ปี 1914

เครื่องประดับพระอุระของตุตันคามุนแสดงภาพพระองค์ประทับเบื้องหน้าอมุน-เร ซึ่งส่งอังห์ หรือสัญลักษณ์ กุญแจแห่งชีวิตให้พระองค์ เครื่องประดับพระอุระนี้มีสภาพแตกเป็นชิ้นๆ ซึ่งน่าจะเป็นฝีมือของโจรที่รื้อค้นหลุมพระศพ แต่เลือกเอาแต่ของชิ้นเล็กๆ ไปเท่านั้น
รองพระบาทแตะของฟาโรห์ตุตันคามุนประดับภาพเชลยสงคราม ซึ่งมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ว่า องค์ฟาโรห์ทรงบีฑาอริราชศัตรูในทุกก้าวย่าง

ต่อมาในเดือนเดียวกัน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้การค้นหาหลุมฝังพระศพตุตันคามุนอย่างเต็มกำลังชะลอออกไปจนถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1917 ตลอดห้าปีจากนั้น คาร์เตอร์กับแรงงานอียิปต์ขุดดินและหินออกไปมากอย่างน่าทึ่งราว 150,000 ถึง 200,000 ตัน เป็นงานที่ทั้งหนัก เขรอะฝุ่น และเหนื่อยยากใต้ดวงอาทิตย์กลางทะเลทราย

ห้าปีแห่งความเจ็บปวดผ่านไปโดยไม่ให้อะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พอถึงเดือนมิถุนายน ปี 1922 ลอร์ดคาร์นาร์วอนเรียกคาร์เตอร์ไปพบที่ไฮเคลียร์และประกาศยุติการให้ทุน คาร์เตอร์ขอเวลาอีกหนึ่งฤดูกาล ถึงขนาดที่ว่าจะขอจ่ายเงินเองด้วยซ้ำ ลอร์ดคาร์นาร์วอนจึงรับปากอย่างเสียไม่ได้ คาร์เตอร์กลับถึงลักซอร์ในวันที่ 28 ตุลาคม ปี 1922 เจ็ดวันต่อมา การค้นพบโดยบังเอิญทำให้ความหวังของเขาลุกโชน และไม่ช้าก็พลิกชีวิตของเขา

มัมมี่ของฟาโรห์ตุตันคามุนมีกริชประดับสองเล่ม เล่มหนึ่งทำด้วยเหล็กซึ่งอาจมีที่มาจากอุกกาบาต อีกเล่มหนึ่ง (ภาพนี้) ทำด้วยทองคำและมีลวดลายจากต่างแดน ซึ่งอาจเป็นบรรณาการที่ผู้ปกครองดินแดนห่างไกลส่งมาถวาย
พระแท่นที่ใช้เฉพาะในพิธีศพทำเป็นรูปโคศักดิ์สิทธิ์สองตัวซึ่งมีดวงสุริยะอยู่ระหว่างเขาทั้งคู่ พระแท่นปิดทองนี้ซึ่งเป็นหนึ่งในสามหลังที่พบในคูหาแรกสุดในหลุมพระศพ (เรียกว่าคูหาชั้นนอก) แสดงตำนานอียิปต์โบราณว่าด้วยเมเฮต-เวเรต เทพีโคที่ผุดจากทะเลบรรพกาลขึ้นสู่ห้วงเวหาพร้อมกับสุริยเทพเร

วันที่ 4 พฤศจิกายน ลูกทีมคนหนึ่งของคาร์เตอร์ที่ไม่ปรากฏชื่อในประวัติศาสตร์ สะดุดหินสลักก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นบนสุดของบันไดที่ฝังอยู่ใต้ดิน ในสมุดบันทึกขนาดพกพา คาร์เตอร์เขียนไว้แค่ห้าคำ แปลความได้ว่า “พบบันไดขั้นแรกๆของหลุมศพ”

วันรุ่งขึ้น ทีมขุดค้นพบบันได 12 ขั้นและลงไปถึงประตูที่ฉาบปูนขาวปิดทับและมีลัญจกรหรือตราประทับประจำพระองค์ของฟาโรห์ คาร์เตอร์จึงส่งโทรเลขถึงลอร์ดคาร์นาร์วอนในอังกฤษว่า “ที่สุดก็ค้นพบสิ่งสำคัญในหุบผา หลุมศพอัศจรรย์พร้อมลัญจกรที่ยังไม่ถูกแตะต้อง… ขอแสดงความยินดี”

ข่าวการค้นพบแพร่สะพัดอย่างรวดเร็ว และนักข่าวก็รุดเข้าสู่หุบผาเพื่อเป็นประจักษ์พยานการเปิดหลุมศพ ลอร์ด คาร์นาร์วอนมาถึงในวันที่ 23 พฤศจิกายน และพอถึงวันที่ 24 คาร์เตอร์กับลูกทีมก็เปิดประตูทั้งบานได้และพบลัญจกรอื่นๆที่ระบุชื่อที่ค้นหามาเนิ่นนาน “เนบเคเปรูเร” ซึ่งเป็นพระนามในการครองราชย์ของตุตันคามุน

ใจกลางหลุมพระศพของฟาโรห์ตุตันคามุน คือโลงศิลาขนาดมหึมาที่แกะจากหินควอร์ตไซต์ก้อนเดียว ภายในบรรจุโลงรูปมัมมี่ซ้อนชั้นสามใบเหมือนตุ๊กตาแม่ลูกดกของรัสเซีย โลงแต่ละใบสลักพระรูปฟาโรห์ตุตันคามุนไขว้พระหัตถ์ ถือตะขอและแส้ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ โดยทรงพระทาฐิกะหรือเคราปลอม ปลายม้วนแบบโอซิริส เทพแห่ง ผู้วายชนม์
โลงชั้นในสุดทำจากทองคำแท้หนัก 110 กิโลกรัม รักษามัมมี่ขององค์ยุวกษัตริย์ให้คงความงามสง่า อย่างราชัน

คาร์เตอร์กับเพื่อนร่วมงานยินดีปรีดา ทว่าการค้นพบครั้งที่สองเป็นข่าวร้ายที่บั่นทอนความยินดีลง ประตูดังกล่าว พบหลักฐานการบุกรุก มีคนล่วงล้ำเข้ามาก่อนหน้าพวกเขา

ประตูถูกตัดออก ภาพที่ปรากฏหาใช่หลุมศพที่เต็มไปด้วยขุมทรัพย์ แต่เป็นทางเดินลาดที่เต็มไปด้วยกองเศษหิน การขุดต่อไปอีกสองวันนำพวกเขาไปถึงหลุมศพซึ่งอยู่ลึกจากพื้นดินราวเจ็ดเมตร ประตูฉาบปูนอีกบานมีลัญจกรระบุ พระนามตุตันคามุน คาร์เตอร์เจาะรูเล็กๆบนบานประตู ยกเทียนขึ้น และมองเข้าไป ในบทสนทนาที่โด่งดังที่สุดบทหนึ่งในประวัติศาสตร์งานโบราณคดี ลอร์ดคาร์นาร์วอนผู้อดรนทนไม่ไหวถามขึ้นว่า “เห็นอะไรบ้างหรือเปล่า” และคาร์เตอร์ก็ตอบกลับว่า “เห็นครับ มหัศจรรย์เหลือเกิน”

ข้าวของต่างๆที่เขาเห็นผ่านช่องเล็กๆนั้นมหัศจรรย์จริงๆ พระแท่นทองคำหลายหลัง รูปสลักผู้พิทักษ์ขนาดเท่าจริง รถศึกที่แยกเป็นส่วนๆ บัลลังก์ที่ประดับอย่างวิจิตร ทั้งหมดกองรวมกัน คาร์เตอร์เขียนไว้ในภายหลังว่า “พอสายตาผมเริ่มชินกับความมืด รายละเอียดข้างในก็ค่อยๆปรากฏขึ้นจากความสลัวราง สัตว์หน้าตาประหลาด รูปสลัก และทองคำ ทุกซอกทุกมุมล้วนมีประกายสีทองอร่าม”

เรื่อง ทอม มึลเลอร์

ภาพถ่าย แฮร์รี เบอร์ตัน

ติดตามสารคดี องค์ยุวราชัน และชุมทรัพย์สะท้านแผ่นดิน ฉบับสมบูรณ์ได้ที่นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤศจิกายน 2565

สั่งซื้อนิตยสารได้ที่ https://www.naiin.com/product/detail/562334


อ่านเพิ่มเติม 100 อัศจรรย์ทาง โบราณคดี

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.