แม้หน้าตาเส้นสายจะไม่ชัดเจนเหมือนแผนที่สมัยใหม่ แผนที่เก่าพิวติงเจอร์ เทเบิล แผนที่ทางการทหารของอาณาจักรโรมันในอดีต ได้แสดงให้เห็นว่าอาณาจักรโบราณอันยิ่งใหญ่นี้มองโลกอย่างไร โดยมีตนเป็นศูนย์กลาง อาณาเขตของพวกเขาครอบคลุมตั้งแต่อังกฤษไปจนถึงอินเดีย และทั้งหมดเชื่อมต่อกันด้วยนวัตกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ นั่นคือถนน
ในตอนแรก ผู้คนสมัยใหม่อย่างเราอาจต้องใช้เวลาสักหน่อยในการทำความเข้าใจแผนที่เก่านี้ ด้วยความยาวถึง 22 ฟุตความสูง 14 นิ้ว แผนที่นี้ยาวมากทีเดียว มองเข้าไปให้ดี สถานที่ที่มีชื่อเสียงในยุโรปยังคงมองเห็นได้ โดยมีโรมันเป็นศูนย์กลาง ยุโรปและเอเชียถูกบีบอัดลงในช่องแคบๆ บางสิ่งที่ดูเหมือนกับคลองนั้นแท้จริงคือทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเส้นสายสีแดงคือเครือข่ายขนาดใหญ่ของถนน
วัดขนาดโลก
แผนที่พิวติงเจอร์ฉบับนี้ เป็นฉบับสำเนาของแผนที่ดั้งเดิมที่เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 4 หนึ่งเป็นเพราะในแผนที่มีเมืองคอนสแตนติโนเปิล ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 330 นักวิชาการเชื่อว่าแผนที่ฉบับสำเนานี้ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 12 โดยกลุ่มนักบวชจากเมือง Colmar ที่ปัจจุบันคือพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส แผนที่ถูกค้นพบในศตวรรษที่ 15 และถูกมอบเป็นมรดกใหแก่ Conrad Peutinger นักวิชาการหนอนหนังสือชาวเยอรมัน
แม้นักวิชาการจะไม่มั่นใจว่าแผนที่เก่าจากศตวรรษที่ 12 นี้จะเป็นสำเนาจากต้นฉบับหรือไม่ แต่สิ่งประดิษฐ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์นี้ช่วยเปิดโลกทัศน์และความเข้าใจเกี่ยวกับอาณาจักรโบราณอย่างมาก แผนที่ประกอบไปด้วย 12 ส่วน ทั้ง 11 ส่วนอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติออสเตรียในกรุงเวียนนา ส่วนที่ 12 ซึ่งตรงกับสเปนและหมู่เกาะอังกฤษในแผนที่ เป็นเพียงส่วนเดียวที่ขาดหายไปจากผลงานชิ้นเอกนี้
เส้นทางของอำนาจ
แผนที่แต่ละฉบับมีมุมมองที่แตกต่างกัน ผู้จัดทำเน้นข้อมูลบางอย่างโดยเฉพาะ และละทิ้งข้อมูลบางชิ้นไป ยกตัวอย่างเช่นแผนที่ของอาณาจักรกรีกเน้นไปที่องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ในขณะที่แผนที่ของอาณาจักรโรมันเน้นการปฏิบัติลงมือทำมากกว่า พวกเขาแสดงเส้นทางเครือข่ายของถนนที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ เข้ากับอาณาจักร
แผนที่ลักษณะนี้เรียกว่า “itineraria” มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท แบบที่ 1 เรียก “itineraria adnotata” ให้ข้อมูลของถนน สถานีและระยะห่าง แผนที่ลักษณะนี้ที่โด่งดังที่สุดคือแผนที่ Antonine Itinerary ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 3 แสดงเส้นทางบนเกาะอังกฤษ แบบที่ 2 เรียกพิวติงเจอร์ เทเบิล (Peutinger Table) แสดงเส้นทางในลักษณะภาพวาดมากขึ้นดังรูปตัวอย่าง
จากสเปนถึงอินเดีย
แผนที่พิวติงเจอร์ไม่ใช่แผนที่สำหรับอาณาจักรโรมันเท่านั้น มันเริ่มต้นจากตะวันตกไกล หรือสเปนในปัจจุบันลากยาวไปสิ้นสุดที่อนุทวีปอินเดียและศรีลังกา ครอบคลุมทั้งหมดของ ecumene (ในภาษากรีกแปลว่าโลกทั้งหมดที่เราอาศัยอยู่) และยังประกอบด้วยรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายตลอดเส้นทาง
แม่น้ำและทะเล, ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ตลอดจนบ้านเมืองถูกวาดผ่านสีสันอันสดใส แผนที่ยังแสดงตำแหน่งที่ตั้งของที่พักแรมที่บรรดานักเดินทางสามารถพักผ่อนระหว่างการเดินทางได้อีกด้วย ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจำเป็นสำหรับการเดินทางอันยาวนาน ท่าเรือขนส่งสินค้าของทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพบเห็นได้ในแผนที่
รายละเอียดของข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าแผนที่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการทหาร แม้ว่าจะสามารถใช้ได้ก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดมีความเป็นคู่มือการเดินทาง ยกตัวอย่างเช่น ข้อความที่ระบุถึงคาบสมุทรไซนาย : ทะเลทรายที่ซึ่งโมเสสพาคนอิสราเอลเดินเท้านาน 40 ปี ซึ่งบรรดานักวิชาการไม่มั่นใจว่าข้อความลักษณะนี้ปรากฏในต้นฉบับอยู่แล้ว หรือถูกเขียนขึ้นใหม่ โดยนักเขียนแผนที่ในยุคกลาง
ข้อความระบุถึงตะวันออกไกล พื้นที่ที่เป็นทาร์จิกิสถานในปัจจุบัน แสดงถึงขอบเขตที่พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชจะสามารถแผ่ขยายอาณาเขตไปได้ ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าข้อมูลนี้ถูกเพิ่มขึ้นในยุคกลาง เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิโรมัน
(เหตุใดแผนที่เก่าต้องเติมสิ่งแปลกๆ ลงไปในพื้นที่ว่างด้วย?)
ศูนย์กลางของความยิ่งใหญ่ทั้งหมดคือกรุงโรม แสดงผ่านภาพการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ ในมือของพระองค์มีหอกและโล่ พร้อมข้อความ “โรมคือเมืองหลวงของโลก” ถนนทุกเส้นมุ่งสู่กรุงโรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองเมืองทางตะวันออกนครคอนสแตนติโนเปิล และแอนติออก แม้ว่าภาพที่วาดขึ้นจะมีขนาดเล็กกว่ากรุงโรมก็ตาม และที่น่าสนใจก็คือ เมืองปอมเปอี, เฮอร์คิวเลเนียม และโอโพลอนทิส เมืองโบราณที่ถูกทำลายจากการปะทุของภูเขาไฟวิสุเวียสตั้งแต่คริสตศักราชที่ 1 ก็ถูกวาดอยู่ในแผนที่นี้ด้วยเช่นกัน ชี้ให้เห็นว่าแม้แผนที่จะถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 4 แต่อาจเป็นการยึดข้อมูลตามแผนที่ดั้งเดิมที่เก่าแก่กว่านั้น
เส้นทางอันยิ่งใหญ่
ส่วนสำคัญที่สุดของแผนที่คือถนน ความยาว 70,000 โรมันไมล์นี้มีจำนวนมากกว่าแผนที่ Antonine Itinerary ถนนเกือบทั้งหมดถูกวาดด้วยสีแดง อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถคำนวณระยะทางจริงของถนนหรืออัตราส่วนทางภูมิศาสตร์จากแผนที่นี้ได้ และแผนที่พิวติงเจอร์นี้ยังมีข้อมูลที่ผิดไปจากทิศทางในความเป็นจริงเช่น แม่น้ำไนล์ ไหลจากตะวันตกไปยังตะวันออก แทนที่จะไหลจากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ
คุณลักษณะนี้อาจอธิบายได้ว่าทั้งหมดคือ แนวความคิดเรื่องเส้นทาง (ภาษากรีก hodós แปลว่าถนน) การจะไปสู่อาณาจักรโรมัน เครือข่ายของถนนก่อตัวขึ้นในพื้นที่ที่อาณาจักรขยายตัวออกไป แนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับละติจูดและลองติจูดใช้ไม่ได้กับที่นี่ เพราะทุกอย่างดำเนินเป็นเส้นตั้งและนอน ในฐานะทางหลวงสู่อาณาจักร
โดย อแมนด้า คาสเทรโล
อ่านเพิ่มเติม
รวม แผนที่เกาหลี สะท้อนประวัติศาสตร์จากปี ค.ศ. 1560 ใน คาบสมุทรเกาหลี