ประวัติศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ของ ‘พุกาม’ ในเมียนมา ที่ประดับไปด้วยวัดวานับพัน

ในยุคทองเมื่อนับพันปีก่อน อาณาจักร พุกาม ในเมียนมาคือสถานที่แห่งสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนาที่ส่องแสงแวววาวและดึงดูดผู้แสวงบุญมานานนับหลายศตวรรษ

พุกาม – เป็นเวลานานหลายศตวรรษแล้ว ที่ผู้มาเยือนแม่น้ำอิรวดีอันคดเคี้ยวที่ภาคกลางของเมียนมาได้มีโอกาสสัมผัสความงามวิจิตรอันน่าตะลึงของบรรดาเจดีย์สีกุหลาบ และวัดวาที่ตั้งตระหง่านอยู่เหนือดินสีแดงและพืชพรรณเขียวขจีที่มีอยู่มากมาย

ดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันกว้างใหญ่แห่งนี้คือหนึ่งในสถานที่ที่มีวัดวารวมกันอยู่มากที่สุดบนโลก พุกาม (Bagan) ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นมรดกโลกของยูเนสโกเมื่อปี 2019 คือมรดกของความสัมพันธ์ซับซ้อนระหว่างศาสนาและวัฒนธรรม โดยตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1900 เหล่านักวิชาการได้ศึกษาวิจัยถึงบทบาทที่มันมีต่อการหล่อหลอมอัตลักษณ์ของชาวพม่า

ผงาดขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทั้งคำว่าเมียนมาที่เป็นชื่อสมัยใหม่ของประเทศนี้ และพม่าที่เคยเป็นชื่อเดิม มาจากกลุ่มชนที่ชื่อว่า มะรันมา (Mranma) หรือเบอร์มา (Burman) นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าผู้คนเหล่านี้มาจากดินแดนซึ่งอยู่ติดกับภาคตะวันตกของจีนและธิเบต เมื่อกลางคริสต์ศักราชที่เก้า กลุ่มชนเหล่านี้มุ่งหน้าลงใต้เพื่อยึดครองดินแดนของชาวปยู (Pyu) และตั้งพุกามขึ้นเป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. 849

อย่างไรก็ตาม การยึดครองครั้งนี้มิใช่การกำราบอย่างเบ็ดเสร็จ ชาวปยูถูกหล่อหลอมโดยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกับอินเดีย ผู้คนเหล่านี้นับถือพุทธศาสนา ชาวเบอร์มาผู้มาทีหลังจึงหันมานับถือพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ กลุ่มคนที่เพิ่งมาถึงดินแดนแห่งนี้ และเคยชินกับสภาพภูมิประเทศและอากาศบนที่สูงยังต้องเรียนรู้วิธีการทำนาข้าวแบบเปียก ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในลุ่มสามเหลี่ยมแม่น้ำอิรวดี

พุกามเป็นราชอาณาจักรเล็กๆ เรื่อยมา จนถึง ค.ศ. 1044 เมื่อพระเจ้าอโนรธา ผู้ปกครองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของราชอาณาจักรแห่งนี้ขึ้นครองราชย์ รัชสมัยของพระองค์ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพัฒนาครั้งใหญ่หลวงทั้งในพุกามและในภูมิภาคแห่งนี้

บรรดาเจดีย์ซึ่งมีเครื่องยอดที่เรียกว่าทิ (hti) ประดับประดาเส้นขอบฟ้าของพุกาม ใกล้กับแม่น้ำอิรวดีในเมียนมามากว่าหนึ่งพันปี ภาพโดย STEVE ALLEN PHOTO/GETTY IMAGES

กษัตริย์พระองค์ใหม่ผู้นี้ปรับปรุงระบบการชลประทานเพื่อให้พุกามกลายเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ และพระองค์ยังวางแผนการทหารอันทะเยอะทะยาน โดยในปี 1057 พระองค์ได้ยึดถะทน หรือสะเทิม (Thaton) เมืองหลวงของอาณาจักรมอญซึ่งร่ำรวยในทรัพย์สินและวัฒนธรรมที่ตั้งอยู่ถัดไปทางตอนใต้ การโน้มน้าวให้บรรดาผู้ปกครองของมอญยอมจำนนต่ออำนาจของพุกามทำให้อโนรธาสามารถรวบรวมภูมิภาคอิรวดีทั้งหมดให้อยู่เป็นปึกแผ่นภายใต้ราชอาณาจักรของพระองค์และก่อตั้งอาณาจักรแรกของพม่าได้โดยสำเร็จ

ความสำเร็จของพระเจ้าอโนรธามิได้มาจากการพิชิตด้วยกำลังทหารเพียงอย่างเดียว แต่การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเองก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลของพุทธศาสนานิกายเถรวาทแบบมอญ และเมื่อพระองค์เห็นว่าศาสนาดังกล่าวเป็นวิธีที่มีประโยชน์ต่อการรวบรวมแผ่นดิน พระองค์ก็ทรงเผยแผ่พุธศาสนานิกายนี้ไปทั่วราชอาณาจักร

สร้าง พุกาม

พระเจ้าอโนรธายังคงยอมรับประโยชน์อันมากล้นของวัฒนธรรมมอญซึ่งเต็มเปี่ยมไปด้วยอิทธิพลจากอินเดีย และด้วยทรัพย์สินที่ได้มาจากการพิชิตบรรดาท่าเรือของมอญ พระองค์จึงสามารถจ้างศิลปิน วิศวกร ช่างทองคำ และนักแกะสลักไม้ชาวมอญมาประดับประดาพุกามได้ พระองค์ทรงมีบัญชาให้สร้างสถูป เจดีย์ และวัดวามากมายเหลือคณา โดยแต่ละผลงานล้วนดูยิ่งใหญ่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

ยุคทองของพุกามยังคงดำเนินต่อไปหลังพระองค์เสด็จสวรรคต โดยอาณาจักรแห่งวัดวาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วแห่งนี้มีกำลังทรัพย์ที่มาจากการค้าขายที่คล่องตัว กระนั้น เช่นเดียวกับอีกหลายอาณาจักร อิทธิพลของพุกามกลับถูกบดขยี้ลงด้วยการรุกรานโดยชาวมองโกล ในตอนแรก ชัยชนะที่ช่วยซื้อเวลาในอาณาจักรแห่งนี้ทำให้พระเจ้านรสีหบดีต่อต้านการเจรจาทางการทูตกับกุบไลข่าน ผู้นำของชาวมองโกล โชคของอาณาจักรพุกามคงอยู่ได้ไม่นาน ความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญที่ยุทธภูมิงาซองจาน (Ngasaunggyan) ในปีค.ศ. 1277 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ ราชอาณาจักรแห่งนี้ล่มสลายลงในสิบปีให้หลัง

วัดสัพพิญญูคือวัดที่สูงที่สุดในพุกาม โดยมีความสูงห้าชั้น รวม 61 เมตร พระเจ้าอลองสิธู หรือ สิธูที่หนึ่ง ทรงสร้างวัดแห่งนี้ขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1160 ในปลายรัชสมัยของพระองค์ ภาพนี้ถ่ายให้กับ เนชันแนล จีโอกราฟฟิก เมื่อปี 1931 วัดแห่งนี้มีสัญญานของสองภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดสำหรับสถาปัตยกรรมในพุกาม นั่นคือ ความเสียหายอย่างรุนแรงจากแผ่นดินไหว และประติมากรรมรูปนูนซึ่งอาจถูกขโมย ภาพถ่ายโดย POPPERFOTO/GETTY IMAGES

แม้ไม่มีการใช้งานวัดและเจดีย์หลายแห่งเป็นเวลานานในศตวรรษต่อๆ มา แต่พุกามกลับมีความสำคัญขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ 15 ในฐานะสถานที่แสวงบุญของชาวพุทธ อนุสรณ์สถานที่เหลืออยู่หลายพันมีทั้งวัด อาราม สถูปหรือสถาปัตยกรรมรูปเนิน โดมทรงระฆัง หรือกรวย ซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุอยู่ภายใน สถาปัตยกรรมศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เกือบทั้งหมดสร้างขึ้นโดยอิฐฉาบปูน

ในบรรดาสถาปัตยกรรมหลายพันเหล่านี้ — ตั้งแต่วิหารเล็กจิ๋วขนาดหนึ่งห้องไปจนถึงวัดขนาดมโหฬาร — มีหลายแห่งที่โดดเด่น ดังเช่น เจดีย์โลกานันท์ (Lawkananda) ซึ่งสร้างโดยพระเจ้าอโนรธาทำให้ผู้มาชมต้องตะลึงงันด้วยโดมสีอร่ามพร้อมเครื่องยอดทรงกลดร่มซึ่งรู้จักในชื่อว่า ทิ (hti) เจดีย์แห่งนี้มีพระบรมธาตุที่เชื่อกันว่าเป็นพระทนต์ของพระพุทธเจ้าบรรจุอยู่ภายใน โดยพระเจ้าอโนรธาได้รับพระบรมธาตุดังกล่าวมาจากศรีลังกา

ค้นหาเรื่องราว

พุกามไม่สามารถ “ถูกค้นพบ” ได้ เพราะสถานที่แห่งนี้เป็นที่หวงแหนของชาวพม่ามาหลายศตวรรษ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพุกามมาจากพระราชพงศาวดารสองฉบับ คือ มหาราชวงศ์ (Maha Yazawin) จากศตวรรษที่ 18 และมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้ว (Hmannan Yazawin) จากศตวรรษที่ 19

นอกจากเพ หม่อง ติน ผู้เป็นทั้งผู้ช่วยและเพื่อนที่คบหากันทั้งชีวิตแล้ว กอร์ดอน ลุซ ยังสนิทสนมกับปัญญาชนชาวพม่าคนอื่นๆ ด้วย ในภาพนี้ ลุซนั่งอยู่ด้านขวาสุด ส่วนคนซ้ายสุดคือ Bohmu Ba Shin ผู้เชี่ยวชาญภาษามอญและพม่า คนถัดมาคือ U Bo Kay ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ศิลป์พุกาม และคนที่นั่งอยู่ข้างลุซคือ มิงตุ๊หวุ่น นักกวีผู้เป็นบิดาของอดีตประธานาธิบดีถิ่น จอ ผู้เป็นประธานาธิบดีคนแรกของเมียนมาที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 โดยเขาเป็นผู้นำประเทศเมียนมาที่ไม่มีส่วนเกี่ยวโยงกับกองทัพตั้งแต่การรัฐประหารปี 1962

พงศาวดารทั้งสองกล่าวถึงต้นกำเนิดของพุกามในอดีตอันแสนไกล ผสมผสานตำนานเข้ากับประวัติศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 1900 เหล่านักวิชาการชาวพม่าได้เสาะหาข้อมูลใหม่ๆ เพื่อให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรแห่งนี้มีความแม่นยำมากขึ้น คนเหล่านั้นรวมถึงเพ หม่อง ติน (U Pe Maung Tin) นักวิชาการชาวพม่า และกอร์ดอน ลุซ นักวิชาการชาวอังกฤษ

หลังจบการศึกษาในสาขาวรรณคดีคลาสสิกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ลุซได้สอนวิชาวรรณคดีในย่างกุ้งเมื่อครั้งพม่ายังเป็นอาณานิคมของบริเตน โดยที่นี่ทำให้เขาได้เป็นเพื่อนกับ เพ หม่อง ติน ผู้เชี่ยวชาญภาษาบาลีซึ่งเป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ความเป็นเพื่อนนี้จุดประกายให้ลุซเกิดความหลงไหลต่อประวัติศาสตร์ของพม่า เขาใช้เวลามากมายที่บ้านของหม่องตินและได้แต่งงานกับพี่สาวของเขาในเวลาต่อมา

ในปี 1918 ลุซตีพิมพ์บทความชิ้นแรกเกี่ยวกับพุกาม สองปีต่อมา เขาสมัครเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากการแต่งงานกับหญิงสาวชาวพม่า

ด้วยความผิดหวัง เขาเดินทางกลับไปยุโรปและศึกษาประวัติศาสตร์ ภาษา และวัฒนธรรมของพม่าต่อในกรุงปารีสและลอนดอนที่ซึ่งเขาศึกษาภาษาจีน ในปี 1923 เขาและหม่อง ตินร่วมกันแปลมหาราชวงศ์ฉบับหอแก้วเป็นภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรก

เจดีย์โลกานันท์ซึ่งพระเจ้าอโนรธาทรงมีพระบัญชาให้สร้างตั้งแต่ค.ศ. 1059 สถานที่แห่งนี้คือสถานที่บรรจุพระบรมธาติที่เชื่อกันว่าเป็นพระทนต์ซี่หนึ่งของพระพุทธเจ้า ภาพถ่ายโดย MCPHOTO/AGE FOTOSTOCK

ในเวลาต่อมา เมื่อลุซกลับมาอาศัยในย่างกุ้ง เขาทุ่มเทไปกับการวิจัยเกี่ยวกับอาณาจักรพุกามโดยการรวบรวมจารึกภาษาจีนจากยุคกลางที่อ้างอิงถึงอาณาจักรแห่งนี้ เขารวบรวมความรู้ดังกล่าวเข้ากับการศึกษาข้อความจารึกของพุกามโดยหม่อง ติน และทั้งคู่ก็ได้สืบค้นประวัติศาสตร์ของพม่าและพุกาม ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในทุกวันนี้ นั่นคือชาวพม่ากำเนิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่เก้า เมื่อชาวเบอร์มาพิชิตชาวปยู ไม่ไช่หลายร้อยปีก่อนหน้านั้นเหมือนเช่นที่กล่าวอ้างในพงศาวดาร

พุกามต้องเผชิญกับความท้าทายในศตวรรษที่ 20 การฟื้นฟูสถานที่แห่งนี้โดยรัฐบาลทหารของเมียนมาถูกวิจารณ์โดยเหล่านักโบราณคดี และแผ่นดินไหวสองครั้งในปี 1975 และ 2016 ได้ทำลายสถาปัตยกรรมมากมาย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พุกามหวังว่า การแต่งตั้งให้เป็นแหล่งมรดกโลกจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือระหว่างบรรดาผู้เชี่ยวชาญและรัฐบาลของเมียนมาในการรักษาสถาปัตยกรรมศักดิ์สิทธิ์ของพุกามในภายภาคหน้า

เรื่อง JULIUS PURCELL

แปล ภาวิต วงษ์นิมมาน


อ่านเพิ่มเติม รวมสุดยอดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งเมียนมา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.