หมอกปนควันครั้งใหญ่ของลอนดอน – Donald Acheson เป็นหมอหนุ่มผู้ที่รู้จักและคุ้นเคยในทุกรายละเอียดของกรุงลอนดอนเป็นอย่างดี แต่ในขณะที่เขาทำงานในโรงพยาบาลในเมืองที่วุ่นวายแห่งนี้ในเดือนธันวาคม 1952 เขาก็ต้องพบกับภัยพิบัติที่สามารถคร่าชีวิตของเขาได้
หมอกที่ดูเป็นสัญญาณของลางร้ายปกคลุมไปทั่วทั้งเมือง ห่อหุ้มไปด้วยชั้นของอากาศที่เต็มไปด้วยเขม่าสีดำหนา Donald ถึงกับเดินหลงทางในเมืองที่เขาคุ้นเคย จนเขาต้องค่อยๆ คืบคลานตัวไปบนทางเท้า ไล่กำแพงไปทีละจุด เพ่งมองป้ายชื่อถนนเพื่อกลับไปยังโรงพยาบาลที่เขาทำงาน ต่อมา เขาจำถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่าเป็น “ความเงียบงันที่ชวนขนลุก”
หมอกควันในครั้งนั้นได้เข้าไปที่โรงพยาบาลที่เขาทำงาน รวมไปถึง ‘ปอด’ ของผู้ป่วยที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน เมื่อถึงจุดที่เกินรับไหว สถานที่เก็บศพก็เต็มไปด้วยคนไข้ที่ตายจากอาการระบบทางเดินหายใจ
เหตุการณ์ในครั้งนั้นเรียกขานกันต่อมาในภายหลังว่าเป็น เหตุการณ์ ‘หมอกควันครั้งใหญ่’ (’the Great Smog) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 5-9 ธันวาคม 1952 ถือเป็นภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อมที่คร่าชีวิตชาวลอนดอน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพชาวอังกฤษ รวมไปถึงสภาพภูมิอากาศในอังกฤษจนถึงทุกวันนี้
ลอนดอนมีปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ลอนดอนมีการปล่อยก๊าซและควันพิษจากบรรดาโรงงานและการหุงหาอาหารของชาวเมืองที่ตั้งอยู่บนถนน ในปี 1905 นายแพทย์ Harold Antoine des Voeux ได้คิดค้นคำว่า Smog (หมอกควัน) ซึ่งเป็นคำที่มาจาก Smoke และ Fog เพื่ออธิบายลักษณะอากาศของลอนดอนในช่วงนั้น
นอกจากนี้ ในช่วงเวลานั้น สหราชอาณาจักรเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ อุตสาหกรรมนี้เจริญเติบโตถึงขีดสุดในปี 1913 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการผลิตถ่านหินได้มากถึง 1 ใน 4 ของปริมาณถ่านหินที่ผลิตได้บนโลก ซึ่งในขณะนั้นมีจำนวน 292 ล้านตัน ชาวอังกฤษนิยมใช้ถ่านหินเพื่อให้ความร้อนและหุงหาอาหารภายในครัวเรือน ซึ่งมีการเติบโตเรื่อยมา แม้แต่ในปี 1942 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ถ่านหินอยู่ในภาวะขนาดแคลน แต่ชาวลอนดอนกว่าร้อยละ 78 ก็ยังใช้ถ่านหินในบ้าน
ในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลก ทั้งประเทศต่างก็ถกเถียงกันว่า “จะใช้วิธีสร้างความร้อนภายในบ้านได้อย่างไร” ซึ่งในช่วงนั้น การใช้ถ่านหินภายในบ้านไม่ได้มีการกำกับดูแลแต่อย่างใด
เนื่องจากชาวลอนต้องใช้ถ่านหินจำนวนมากเพื่อรับมือกับความหนาวเย็นในช่วงเดือนธันวาคม 1952 รูปแบบของสภาพอากาศที่ปรากฎขึ้นช่วงนั้นได้เปลี่ยนควันจากถ่านหินให้กลายเป็นหมอกมรณะ
ช่วงเย็นของวันที่ 5 ธันวาคม อุณหภูมิอยู่ที่ประมาณ 32 องศาเซลเซียส ความร้อนและควันจากถ่านหินลอยขึ้นไปบนอากาศอย่างที่เคยเป็น
ทว่า ในช่วงฤดูหนาวเช่นนี้ แทนที่ควันเหล่านั้นจะลอยสูงไปในชั้นบรรยากาศก่อนที่จะถูกพัดหายไป อย่างที่เคยเป็น เรื่องราวนั้นกลับตาลปัตรเนื่องจากเกิดภาวะความกดอากาศสูงที่เรียกกันว่า แอนติไซโคลน (anticyclone) ทำให้อากาศที่ทั้งอุ่นและชื้นซึ่งแผ่กระจายไปทั่วลอนดอน ดันเอาอากาศลงไปในพื้นดิน ที่ซึ่งอุณหภูมิอันหนาวเย็นได้ควบแน่นไอน้ำในอากาศให้กลายเป็นหมอก ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) ทำให้ควันและก๊าซที่ปล่อยออกมาในเมืองถูกขังติดไว้ในเมือง
(ชมวิดีโอความรู้เบื้องต้นเกี่ยวมลพิษทางอากาศ จาก National Geographic ได้ที่นี่)
ตามข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ หมอกมีความหนามากกว่า 200 เมตร และในช่วงเวลานั้น ชาวเมืองได้ปล่อยควันออกมาหลายพันตัน รวมไปถึงปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 2,000 ตันต่อวัน ในขณะเดียวกัน ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ถ่านหินนั้นลอยติดอยู่ในชั้นบรรยากาศ เมื่อรวมกับอนุภาคน้ำในหมดที่กลายเป็นกรดซัลฟิวริก ทำให้ทั้งเมืองปกคลุมไปด้วยหมอกที่เกิดจาก ‘ฝนกรด’
หมอกควันสีดำได้สร้างความโกลาหลไปทั้งเมือง ทัศนวิสัยทั้งเมืองเกือบอยู่ในระดับศูนย์ การจราจรปั่นป่วนจนทำให้เมืองต้องสั่งปิดระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด คนเดินถนนมองไม่เห็นแม้แต่เท้าของตัวเอง
เมื่อช่วงเวลาสุดสัปดาห์ดำเนินไป หมอกควันก็เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพผู้คนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสัปดาห์นั้นมีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยายาลเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 48 ผู้ที่มีการป่วยในระบบทางเดินหายใจเพิ่มมากขึ้นเกินสองเท่า และหมอกควันก็ยังคงปลกคลุมไปอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมในยุคนั้นตอบสนองต่อปัญหาหมอกควันครั้งใหญ่นี้อย่างล่าช้า และบรรดาเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจด้านสาธารณสุขได้ประเมินผลกระทบเอาไว้ต่ำมาก นายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล ไม่เคยให้ความเห็นใดๆ ในเหตุการณ์นี้ต่อสาธารณะหลังจากนั้น
เหตุการณ์หมอกควันเดือนธันวาคมคือสิ่งที่กรุงลอนดอนไม่เคยพบเจอมาก่อน หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปได้สี่วัน ความตายก็ได้เริ่มต้นขึ้น บรรดาร้านดอกไม้ได้ขายดอกไม้ของตัวเองจนเกลี้ยงเนื่องจากถูกซื้อไปใช้ประดับประดาในงานศพ รัฐบาลได้บันทึกไว้ว่าในสัปดาห์นั้นมีคนตายมากกว่า 3,000 คน ซึ่งในความเป็นจริง ยอดผู้เสียชีวิตมีมากกว่านั้น
ในปี 2012 มีการวิเคราะห์หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายชิ้นเพื่อสืบหายอดผู้เสียชีวิตที่แท้จริงในครั้งนั้น และพบว่ามียอดผู้เสียชีวิตมากกว่า 12,000 ราย
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ก่อให้เกิดการควบคุมดูแลทางสิ่งแวดล้อม รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศให้ความสำคัญกับ ‘อากาศสะอาด’ อย่างเร่งด่วน และมีการออกกฎหมายจัดการมลพิษทางอากาศ ปี 1956 (Clean Air Act 1956) ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับอากาศฉบับแรกของประเทศ และมีการแก้ไขให้เข้มงวดมากขึ้นในปี 1968
หลังจากนั้น หมอกควันก็แทบจะไม่ปกคลุมอังกฤษอีกเลย Howard A. Scarrow นักรัฐศาสตร์อธิบายว่าการปล่อยควันทั่วทั้งประเทศอังกฤษลดลงมากถึงร้อยละ 38 ในช่วงปี 1956-1966 โดยในลอนดอนเพียงอย่างเดียว ควันที่เกิดจากการใช้ถ่านหินลดลงมากถึงร้อยละ 76 และเนื่องจากกฎหมายด้านมลพิษ เมืองนี้ก็ไม่เคยปรากฎการณ์ทางมลพิษเช่นนี้อีกเลยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา