แน่นอนว่าสิ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คือการเดินทางสำรวจเส้นทางทะเลจนไปเจอทวีปอเมริกาเป็นคนแรกๆ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์โลกเป็นอย่างมาก ทั้งการเป็นหนึ่งในหลักฐานที่พิสูจน์ว่าโลกกลม และการค้นพบดินแดนใหม่ที่กลายมาเป็นความหวังของคนทั่วโลก
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้เดินทางด้วยเรือสำรวจจำนวน 3 ลำ มีลูกเรือทั้งหมด 90 คน ไปทางทิศตะวันตกของทะเลแอตแลนติก จนขึ้นฝั่งที่เกาะบาฮามาส์ ทางตะวันออกของอเมริกาในวันที่ 12 ตุลาคม โดยครั้งนั้น โคลัมบัส มีความเชื่อว่ามันคือส่วนหนึ่งของทวีปเอเชีย
การติดต่อครั้งแรกของยุโรปกับหมู่เกาะแคริบเบียน อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ รวมถึงการได้เดินทางบนเรือครบสี่ครั้งทั่วทั้งมหาสมุทรแอตแลนติกของเขาถือการเปิดเส้นทางให้ยุโรปได้สำรวจโลกอย่างกว้างขวาง ตลอดจนนำมาสู่การก่อตั้งดินแดนอาณานิคมในทวีปอเมริกา ส่วนกษัตริย์สเปนและพระราชินีโปรดปรานกับผลงานของเขาจนทรงมอบตำแหน่งผู้บริหารดินแดนใหม่ให้เขาปกครอง
กระนั้น ในช่วงท้ายของชีวิต โคลัมบัส ที่ปกครองแบบเผด็จการในดินแดนใหม่ก็ถูกสั่งปลดและโดนจองจำในสเปนนานหกสัปดาห์ ในปี ค.ศ. 1500 จากข้อร้องเรียนของผู้ตั้งรกรากใหม่ในอาณานิคมเรื่องที่เขาและลูกน้องบ้าอำนาจ ทำร้าย-สังหารชนพื้นเมือง รวมถึงชาวสเปนเป็นว่าเล่น กษัติรย์สเปนจึงออกคำสั่งลงโทษ โคลัมบัส สูญเสียยศฐาบรรดาศักดิ์ที่สั่งสมมานาน และเสียชีวิตลงในปี 1506
คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส เดินเรือมาสำรวจทวีปอเมริกาถึง 4 ครั้งระหว่างปี ค.ศ. 1492 ถึง 1502 ในช่วงแรก คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แต่ไม่นานวีรกรรมของเขาก็สร้างข้อพิพาทกับปัญหาใหม่ๆหลายอย่างตามมา แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปี จนเขาไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว เริ่มตั้งแต่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสเปนกับโปรตุเกส
ก่อนหน้าที่ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะค้นพบทวีปอเมริกา เขาได้ขอทุนสนับสนุนการสำรวจเส้นทางจากกษัตริย์โปรตุเกสแต่ถูกปฎิเสธ และเป็นกษัตริย์แห่งสเปนที่นับถือนิกายคาทอลิกได้ยอมให้เงินสนับสนุนการเดินทางของเขา
ทว่า เมื่อเขาพาเรือสำรวจกลับจากอเมริกาเข้าสู่ยุโรปในรอบแรกเมื่อปี ค.ศ. 1493 กษัตริย์ของสเปนและโปรตุเกสมหาอำนาจการเดินเรือในยุคนั้นตกลงกันไม่ได้เรื่องเส้นทางเดินเรือแสวงหาประโยชน์ทางการค้า โดยเฉพาะเครื่องเทศ จนเกือบนำไปสู่สงคราม โชคดีที่ผู้นำทั้งสองชาติยอมตกลงให้โป๊ปอเล็กซานเดอร์ที่ 6 ช่วยเจรจาระงับข้อพิพาทนี้
ต่อมาข้อพิพาทดังกล่าวจึงกลายมาเป็น สนธิสัญญาทอร์เดซิลลาส (ตอร์เดชิยา) ซึ่งเกิดขึ้นในยุคแห่งการสำรวจและค้นพบดินแดนใหม่ในปี ค.ศ.1494 บ้างเรียกว่าเป็น สนธิสัญญาแบ่งโลก กับการตกลงแบ่งพื้นที่การเดินเรือทั่วโลกใหม่ โดยสเปนตกลงจะเดินเรือไปทางตะวันตก และโปรตุเกสจะเดินเรือไปทางตะวันออก
นักประวัติศาสตร์หลายคนตั้งคำถามว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักเดินเรือในศตวรรษที่ 15 ค้นพบอเมริกาเป็นคนแรกจริงหรือไม่ ซึ่งอาจขัดกับความเป็นจริงที่ว่า ก่อนที่เขาและลูกเรือจะเดินทางมาถึงทวีปอเมริกา ดินแดนแห่งนี้มีผู้คนหลายพันคนอาศัยอยู่บนดินแดนเหล่านี้มานานหลายศตวรรษแล้ว โดยเป็นชาวเอเชียที่เดินเท้าข้ามมาทางเส้นทาง ที่เรียกว่า Bering land bridge ซึ่งเชื่อมระหว่างพื้นที่ที่ปัจจุบันของ รัฐอะลาสกา และ ไซบีเรีย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับการผจญภัยของ เลฟ เอริคสัน (Leaf Erikson) ชาวไวกิ้งรายหนึ่งที่ได้นำกองกำลังจากไอซ์แลนด์รอนแรมข้ามมหาสมุทรไปเกาะกรีนแลนด์ แต่กระแสนํ้าพาเขามาพบทวีปอเมริกาก่อน โคลัมบัส 500 ปี
มีหลักฐานว่า เอริคสัน เทียบท่าในจุด Vinland ที่ไหนสักแห่งตามแนวชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือของทวีปอเมริกา แต่ตำแหน่งที่แน่นอนยังเป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการ ซึ่งเชื่อว่าอาจจะเป็นบริเวณ นิวฟันด์แลนด์ ทางตะวันออกของประเทศแคนาดาในปัจจุบัน
แม้ว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส จะเป็นที่ยกย่องในหมู่คนขาว แต่ภายหลังเริ่มมีกระแสต่อต้าน โคลัมบัส ในกลุ่มชนพื้นเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ 12 ตุลาคม เป็นวันหยุดราชการของสหรัฐฯ มาตั้งแต่ ค.ศ. 1937 เพื่อฉลองการเดินของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ถูกเดินขบวนต่อต้านในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี 1992 เมื่อนักวิชาการได้ให้ความสนใจมากขึ้นต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นภายใต้การปกครองของเขาในยุคบุกเบิกของทวีปนี้
ชนพื้นเมืองมองว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส คือ ฆาตกร พวกเขาเกือบสูญพันธ์จากการปฏิบัติที่โหดร้ายทารุณและโรคระบาดที่มาจากยุโรป ผู้สืบเชื้อสายของชาวพื้นเมืองดั้งเดิมถึงขั้นเสนอให้เอาชื่อของ โคลัมบัส ออกจากหลักสูตรในห้องเรียน และผลักดันให้มีการเปลี่ยนชื่อ วันโคลัมบัส วันหยุดของรัฐบาลกลาง โดยต่อมาหลายรัฐยอมเปลี่ยนชื่อวันหยุด 12 ตุลาคม ใหม่ให้เป็น วันชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples’ Day) หรือ Native American Day วันหยุดเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์และการมีส่วนร่วมของชาวพื้นเมืองอเมริกันแทนที่จะเป็นวันฉลองให้ โคลัมบัส จอมโหด
ขณะเดียวกัน ในช่วงปี 2020 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ก็กลายเป็นเป้าโจมตีอีกครั้ง กับกระแสต่อต้านการเหยียดผิวในสหรัฐอเมริกา มีการเดินขบวนประท้วงการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ชายผิวดำที่ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดจนหายใจไม่ออก โดยกลุ่มคนจำนวนหนึ่งได้ทำลายรูปปั้นของ โคลัมบัส ในอนุสรณ์สถานที่เมืองริชมอนด์ รัฐเวอร์จิเนีย พร้อมให้เหตุผลว่า โคลัมบัส เป็นตัวแทนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
ผู้ชุมนุมหลายคนเห็นพ้องว่า โคลัมบัส ได้ก่อวีรกรรมเลวร้ายมากมายเกี่ยวกับการค้าทาส นำมาซึ่งการกดขี่ทั้งชนพื้นเมืองและชาวผิวดำในยุคบุกเบิกทวีปอเมริกา โดยนอกจาก โคลัมบัส บรรดารูปปั้นและอนุสรณ์สถานที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของการเหยียดเชื้อชาติ ต่างทยอยถูกทำลายในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา
สำหรับ รูปปั้นของ โคลัมบัส บางแห่งถูกตัดหัว บางแห่งถูกโยนลงทะเลสาบ บางแห่งถูกลากไปตามพื้นถนน ด้าน มาร์ติน วอล์ช นายกเทศมนตรีเมืองบอสตัน หนึ่งในเมืองที่รูปปั้นของโคลัมบัสถูกทำลาย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งในเมืองบอสตันรวมถึงอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศสะท้อนให้เราเห็นว่า อาจถึงเวลาแล้วที่เราจะกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพื่อทำความเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงบางส่วนเรียกร้องให้มีการ ชำระประวัติศาสตร์ เพื่อให้คนในสังคมโลกในยุคปัจจุบันได้เรียนรู้ว่า บุคคลในอดีตที่เคยถูกยกย่องมาจนถึงทุกวันนี้อาจเคยสร้างผลกระทบเสียหายต่อชีวิตคนจำนวนมหาศาลอย่างไร
สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์
ที่มา
https://th.wikipedia.org/wiki/คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส
https://www.nationalgeographic.com/history/article/christopher-columbus
https://www.nationalgeographic.com/history/article/why-some-celebrate-indigenous-peoples-day-not-columbus-day
https://www.independent.co.uk/news/columbus-ap-philadelphia-christopher-columbus-jim-kenney-b2243844.html